ช่างหลวง กรมช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ช่างหลวง กรมช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ช่างหลวง กรมช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

“ช่างสิบหมู่” หรือ “ช่างหลวง” เป็นคำไทย ภาษาอังกฤษคือ Ten Essential Traditional Craftsmenship ทำหน้าที่ราชการจำเพาะด้านการช่างที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปกรรมต่าง ๆ ทั้งในด้านวิจิตรศิลป์และประณีตศิลป์ภายในพระบรมราชูปถัมภ์มาแต่โบราณ แต่เดิมกรมช่างสิบหมู่และข้าราชการซึ่งเป็นช่างต่าง ๆ ในกรมมีหน้าที่รับสนองพระราชประสงค์ในองค์พระมหากษัตริย์รวมถึงทำหน้าที่รวบรวมช่างมีฝีมือเพื่อเป็นกำลังในกิจการงานศิลปกรรมรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย

อิสริยา เลาหตีรานนท์ โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้อธิบายถึง “กรมช่างสิบหมู่” ไว้ว่า “ช่างสิบหมู่ คือหน่วยงานที่รวมช่างประณีตศิลป์ไว้เพื่อปฏิบัติงานถวายพระมหากษัตริย์หรืองานราชการ เดิมงานเหล่านี้กระจัดกระจายสังกัดในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ปัจจุบันเป็นหน่วยงานระดับสำนักในกรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม”

ความเป็นมาแต่โบราณ

            การมีอยู่ของช่างสิบหมู่ปรากฏเป็นหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว โดยมีอยู่ในทำเนียบศักดินาพลเรือนและทหารในกฎหมายเก่า (กฎหมายตราสามดวง) ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) สันนิษฐานว่าตระกูลช่างในสมัยอยุธยาน่าจะมีมากกว่า 10 หมู่

            ช่างสิบหมู่ในสมัยโบราณนั้นอยู่ในกำกับดูแลของราชสำนัก ทำงานก่อสร้างและตกแต่งเหล่าปราสาทราชมณเฑียร ตำหนัก เรือนหลวง วัดวาอาราม และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อสร้างความงดงามทางศิลปกรรมตามพระราชประสงค์ ทั้งนี้ การทำงานของช่างสิบหมู่จะประสานงานกับช่างมหาดเล็กและช่างทหารในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย

            ช่างสิบหมู่ในสมัยอยุธยาประกอบด้วยหมู่ช่างผู้เชี่ยวชาญงานช่างแขนงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

          1. ช่างเขียน (Drawing) คือ บุคคลที่มีฝีมือและคามสามารถกระทำการช่างในทางวาดเขียนและระบายสีให้เกิดเป็นลวดลายหรือรูปภาพต่าง ๆ ได้อย่างงาม ช่างเขียนแต่โบราณมีคำเรียกต่างกันออกไป อาทิ ช่างแต้ม ช่างเขียนสีน้ำกาว ช่างเขียนลายรดน้ำ เป็นต้น ในบรรดาช่างต่าง ๆ ในหมวดช่างสิบหมู่ด้วยกัน ช่างเขียนจัดว่าเป็นช่างที่มีความสำคัญยิ่งกว่าช่างหมู่ใด ๆ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นสื่อที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน เป็นต้นแบบที่มีความสำเร็จและมีคุณค่าเฉพราะในตัวชิ้นงาน

          2. ช่างปั้น (Sculpting) คือ ช่างฝีมือกระทำการประมวลวัสดุต่าง ๆ อาทิ ดิน ปูน ขี้ผึ้ง อย่างใดอย่างหนึ่งมาประกอบเข้าด้วยกัน สร้างเป็นรูปทรงที่มีศิลปลักษณะพร้อมอยู่ในรูปวัตถุที่ได้สร้างขึ้นนั้นเป็นอย่างดีและมีคุณค่าในทางศิลปกรรม

          3. ช่างสลัก (Engraving) เป็นผู้ที่มีความสามารถและฝีมือในการช่างทำลวดลายหรือรูปภาพ

ต่างๆ ขึ้นด้วยวิธีการที่เรียกว่า สลัก อาจเรียกว่า จำหลักหรือฉลักก็มี เป็นวิธีการของช่างทำให้เป็นลวดลายหรือรูปภาพโดยวิธีใช้สิ่วเจาะ เป็นต้น วัสดุที่ใช้สลัก อาทิ ไม้ หิน หนัง กระดาษ เป็นสื่อสำหรับถ่ายทอดความคิด ความเชื่อ ความงาม และความสามารถของฝีมือให้ปรากฏอาจแสดงออกเป็นรูปลักษณ์ด้วยงานสลักรูปลอยตัว รูปกึ่งพื้นราบ รูปบนพื้นราบ

          4. ช่างกลึง (Turning) เป็นการสร้างทำสิ่งของบางสิ่งขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ โดยวิธีการกลึงเป็นรูปทรงต่างๆ มีรูปลักษณ์ที่ประกอบด้วยด้วยศิลปะลักษณะ เป็นงานสร้างทำเครื่องอุปโภคและเครื่องสำหรับประดับตกแต่งซึ่งโดยมากเป็นลักษณะทรงกลม ทรงกระบอก หรือรูปทรงกรวยกลม จัดเป็นงานประณีตศิลปะอีกประเภทหนึ่ง วัสดุในอดีตที่ใช้ในงานกลึงที่ยังคงอยู่ให้เห็น อาทิ ไม้ งาช้าง เขาสัตว์บางชนิด เช่น เขาวัว เขาควาย เป็นต้น

          5. ช่างหล่อ (Casting) เป็นศิลปกรรมประเภทวิจิตรศิลปะ งานของช่างหล่อเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกับการปั้น บางคนความสามารทั้งงานหล่อและงานปั้น ทั้งนี้เนื่องด้วยงานปั้นที่เป็นประติมากรรมแบบไทยประเพณี เป็นต้นว่า พระพุทธปฏิมากร เทวปฎิมากร รูปฉลองพระองค์ พระมหากษัตริย์ ฯลฯ เมื่อจะทำเป็นรูปอย่างโลหะหล่อ ก็จะต้องจัดการปั้นหุ่นรูปนั้น ๆ ขึ้นเสียก่อนด้วยขี้ผึ้ง และจึงทำการเปลี่ยนสภาพรุปหุ่นนั้นแปรไปเป็นรูปโลหะหล่อ ดังนี้ช่างหล่อจึงมักเป็นช่างปั้นในตัว

          6. ช่างแกะ (Carving) จัดเป็นผู้ที่มีความสามารถและมีฝีมือในการช่าง อาจทำการสร้างสรรค์รูปลักษณ์ที่ประกอบไปด้วยศิลปะลักษณะ ประเภทลวดลายหรือรูปภาพให้ปรากฏขึ้นด้วยการแกะ หมู่ของช่างแกะจะประกอบด้วยช่างแกะตรา ช่างแกะลาย ช่างแกะพระ ช่างแกะภาพ ทั้งยังหมายรวมไปถึงช่างเงิน ช่างทอง และช่างเพชรพลอยอีกด้วย

          7. ช่างหุ่น (Model Building) “หุ่น” ในที่นี้คือ “ตัว” หรือ “รูปร่าง” คือการประกอบสร้างรูปของคน สัตว์ หรือสิ่งของที่ต้องทำเป็นรูปร่าง ดังนั้น ช่างหล่อ ช่างปั้น และช่างหุ่นจึงมีงานสัมพันธ์กันและอาจสร้างงานด้วยคน ๆ เดียวกัน

          8. ช่างรัก (Lacquering) ประกอบด้วย ช่างผสมรัก ลงรักพื้น ช่างปิดทอง ช่างประดับกระจก และช่างมุก เพื่อการทำลวดลายประดับมุก “รัก” คือยางไม้ที่ได้จากต้นรักนั่นเอง ซึ่งสามารถนำมาใช้งานทางศิลปกรรมได้ โดยเฉพาะงานปิดทองในการทำ “ลายรดน้ำ”

          9. ช่างบุ (Metel Beating) “บุ” คือการตีแผ่ให้แบน ทั้งเป็นแผ่นเรียบ ๆ และเป็นรูปร่างต่าง ๆ ช่างบุต้องชำนาญด้านงานโลหะทุกชนิด เช่น ทองแดง เงิน นาก และทองคำ อุปกรณ์คือ ทั่งและค้นเหล็ก ซึ่งมีหลายขนาดและรูปร่างต่างกันไป

          10. ช่างปูน (Plastering) งานปูนจะมีทั้งงานซ่อมและสร้าง แบ่งเป็น หมู่ปูนก่อ เป็นเพียงการเรียงอิฐ ไม่ต้องประณีต หมู่ปูนฉาบ คือการตกแต่งอิฐที่ก่อให้เรียบงาม และหมู่ปูนปั้น หมู่นี้จะสร้างงานให้มีความงดงามทางศิลปะ ลายปูนปั้นต้องทำตอนปูนยังไม่แข็งตัว

ช่างสิบหมู่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

สมัยรัชกาลที่ 1 งานประณีตศิลป์สาขาต่าง ๆ ที่เจริญก้าวหน้าในสมัยอยุธยาตอนปลายต้องสลายตัวไปหลังการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 เพราะช่างฝีมือบางส่วนถูกกวาดต้อนไป ส่วนที่เหลือมีการรวบรวมขึ้นใหม่ในสมัยกรุงธนบุรีและจัดตั้งเป็นสำนักช่างอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ช่างเหล่านี้สร้างสรรค์ปราสาทและพุทธสถานในกรุงเทพฯ ให้วิจิตรงดงามเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา การจัดตั้งกรมช่างสิบหมู่ได้อาศัยแบบฉบับในการลำดับหน้าที่ ตำแหน่ง บรรดาศักดิ์ ราชทินนามและศักดินาสำหรับข้าราชการช่างในกรมช่างสิบหมู่ ที่ตั้งใหม่ตามแบบฉบับของกรมช่างสิบหมู่สมัยกรุงเก่าเป็นแบบอย่างต่อมา

            การบังคับบัญชาราชการกรมช่างสิบหมู่ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการผู้ใหญ่ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมีความรู้และสามารถทางการช่างดำรงตำแหน่ง อธิบดีว่าราชการกรมช่างสิบหมู่มาโดยลำดับ

            ผู้กำกับการหรืออธิบดีกรมช่างสิบหมู่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลต่างพระเนตรพระกรรณในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ

1. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) เสนาบดีกรมวัง

2. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)

            ช่างสิบหมู่ไม่เพียงแต่จะจัดตั้งสำหรับ “วังหลวง” เท่านั้น แม้แต่ฝ่าย “วังหน้า” สมเด็จพระบวร-ราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อทำการก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พระราชวังหน้า และช่วยกิจการของวังหลวง หรือฝ่ายพระบรมมหาราชวัง เช่นในการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  และการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในสมัยรัชกาลที่ 1

            ต่อมาหมู่ช่างในสังกัดวังหน้าได้ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมการประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งพระมหาอุปราช (วังหน้า) เมื่อ พ.ศ. 2428

สมัยรัชกาลที่ 2 กรมช่างสิบหมู่จัดว่าเป็นกรมช่างที่มีความเฟื่องฟูมากสมัยหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นช่างวิจิตรศิลป์ ทรงมีฝีพระหัตถ์เป็นเอกทั้งในด้านการช่างเขียน ช่างสลัก และช่างปั้น งานช่างที่ได้ทรงทำไว้ก็มีอยู่ให้ผู้คนทั้งหลายได้ประจักษ์เห็น เป็นต้นว่า บานประตูประจำพระวิหารพระศรีสากยมุนี ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงแกะสลักไม้ทำเป็นลวดลายประกอบรูปภาพต่าง ๆ ซ้อนทับกันถึง 4 ชั้นในไม้แผ่นเดียว ซึ่งกระทำด้วยฝีพระหัตถ์อันชำนิชำนาญยิ่งยากที่จะหาช่างในชั้นหลังทำเทียบให้เสมอได้

การที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสามารถเป็นช่างวิจิตรศิลป์ดังกล่าว ย่อมจะทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการทำนุบำรุงการช่างเป็นพิเศษ กรมช่างสิบหมู่เป็นส่วนราชการรับภาระในด้านการช่างโดยตรงอยู่แล้ว น่าที่จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เฟื่องฟูมากในรัชกาลนี้

            ผู้กำกับการหรืออธิบดีกรมช่างสิบหมู่ ในสมัยรัชกาลที่ 2 คือ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าชายทับ กรมหมื่นจิตรภักดี

          สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธ- ศาสนาเป็นอันมาก ทรงสร้างพระอารามและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ทั้งในพระนคร และตามหัวเมืองอย่างมากมาย เป็นผลให้ฝีมือช่างในรัชกาลนี้มีความงดงามถึงระดับสูงสุดเพราะเป็นช่วงที่มีเศรษฐกิจมั่นคงจาการค้าสำเภากับจีน และได้นำช่างจีนเข้ามาเป็นอันมาก

            ผู้กำกับการหรืออธิบดีกรมช่างสิบหมู่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ

1. พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าชายทับ กรมหมื่นจิตรภักดี

2. พระองค์เจ้าดารากร กรมหมื่นศรีสุเทพ

สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธศาส- นาอย่างลึกซึ้งและมีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น จึงมีการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ มากพอสมควร โดยเฉพาะวัดวาอาราม พระองค์ทรงปรับปรุงและจัดตั้งช่างต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งช่างสิบหมู่ ช่างทหารใน และช่างมหาดเล็ก เพื่อให้งานช่างครบถ้วนตามพระราชประสงค์

            ผู้กำกับการหรืออธิบดีกรมช่างสิบหมู่ ในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ

1. พระองค์เจ้าชายชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม

2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทร์ภักดี

สมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้มีการจัดการเปลี่ยนแปลงและแบ่งส่วนราชการบริหารแผ่นดินอย่างใหม่แล้ว กรมช่างสิบหมู่ได้รับโอนไปสังกัดอยู่ในกรมวังระยะหนึ่ง ต่อมาได้ย้ายไปสังกัดอยู่กับกรมวังนอก

            ผู้กำกับการหรืออธิบดีกรมช่างสิบหมู่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ

1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ (หม่อมเจ้าชายดิศ)

2. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์

สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อศิลปะวัฒนธรรมยุโรปหลั่งไหลเข้ามาในสยามอย่างและมีอิทธิพลต่อรูปแบบงานก่อสร้างและสถาปัตยกรรมราชสำนักอย่างสูงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว งานศิลปกรรมแบบไทยในวัดวาอารามจึงประสบภาวะซบเซาจนทำให้ความสำคัญของช่างสิบหมู่ค่อย ๆ ถูกลดทอนลงจนถูกโยกไปรวมกับ “กรมช่างมหรสพ”ภายหลังมีการก่อตั้ง “กรมศิลปากร” ช่างสิบหมู่จึงถูกโยกมาอยู่ในสังกัดกรมศิลปากร กระทั่ง พ.ศ. 2481 มีการจัดตั้ง “กองสถาปัตยกรรม” ขึ้นในสังกัดกรมศิลปากร ซึ่งกองนี้ทำหน้าที่ของงานช่างสิบหมู่

            ระหว่าง พ.ศ. 2495-2518 ช่างสิบหมู่ในสังกัด กรมศิลปากรถูกโยกย้ายไป-มา ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงศึกษาธิการตาม   นโยบายของรัฐบาล  ที่ต้องการส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ   จวบจนกระทั่งมีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กรมศิลปากร (พร้อมด้วยสำนักช่างสิบหมู่) จึงมาอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรมอย่างถาวรจวบจนปัจจุบัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้