ตำนานการสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง

ตำนานการสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง

..พระสมเด็จวัดระฆัง จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง..

ตำนานการสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง

กล่าวกันว่า เหตุที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ปรารภถึงพระมหาเถรในสมัยก่อนว่า มักสร้างพระบรรจุไว้ในปูชนียสถานต่าง ๆ เพื่อเป็นการสืบทอดต่ออายุพระพุทธศาสนา ท่านปรารภทําตามคตินั้นจึงได้จัดการสร้างพระพิมพ์ขึ้นไว้เป็นจํานวนมาก

ในระยะแรกเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดําริใช้ช่างทางบ้านช่างหล่อ (เดิมเรียกบ้านชาวเหนือ ซึ่งเป็นชาวเหนือที่เป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง) ทําแม่พิมพ์ ภายหลังบรรดาผู้ที่เคารพนับถือและพวกสานุศิษย์ที่สามารถทําแม่พิมพ์ได้ ได้ทําแม่พิมพ์ถวาย เพราะเหตุนี้พระสมเด็จจึงมีหลายแบบหลายอย่างต่างชนิดกันและแม่พิมพ์รุ่นแรกใช้หินลับมีดโกนแกะเป็นแม่พิมพ์ ต่อมาจึงใช้หินอ่อนบ้าง ไม้แก่นบ้าง ส่วนวัตถุที่ใช้ทำพระนั้น ใช้วัตถุหลายอย่างต่างกันคือ ผงดินสอ ที่ได้จากการเรียนมูลกัจจายน์   ตามวิธีโบราณ  ดินสอเหลือง ปูนขาว เกสรดอกไม้ กล้วยน้ำว้า เปลือกกล้วย ชานหมาก  ใบลานเผา อาหารสํารวม และน้ำอ้อย เป็นต้น

วิธีการสร้างพระสมเด็จ

เจ้าคุณธรรมกิติ (ลมูล สุตาคโม ป.5) วัดระฆังโฆสิตาราม ได้อธิบายดังนี้

เจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง จนฺทโชติ)
ศิษย์ก้นกุฎิเจ้าประคุณสมเด็จฯ
การสร้างพระสมเด็จครั้งแรกนั้นว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ ฉันกล้วย แล้วเอาเปลือกใส่ภาชนะเก็บไว้ ท่านมีดินสอเหลืองใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง จึงให้นายน้อยผู้เป็นง่อยซึ่งอยู่กับท่าน เอาเลื่อยๆ ดินสอเหลืองเป็นชิ้นเล็กๆ ประสมกับเปลือกกล้วยน้ำเจือด้วยน้ำผึ้ง น้ำอ้อยเคี่ยวบ้าง ตําจนละเอียดเข้ากันดีแล้ว จึงให้นายน้อยกับเจ้าคุณพระธรรมถาวร (เวลานั้นเป็นพระสมุห์ในฐานานุกรมของท่าน) ช่วยกันพิมพ์พระด้วยพิมพ์อย่างเล็ก เป็นรูปหลังเบี้ยฐานสามชั้น เสร็จแล้วให้เก็บไว้ในกุฏิชั้นในและให้ทําโดยวิธีนั้นต่อไปอีกจนพอแก่ความต้องการ ท่านก็เริ่มทําพิธีปลุกเสกวันละสามครั้ง คือเช้ากลางวันและเย็นเป็นนิจมิได้ขาด แล้วเอาออกแจกจ่ายแก่ผู้ต้องการทุกคน ต่อมาทําโดยวิธีนั้นอีกแต่วิธีพิมพ์แปลกออกไป คือเมื่อผสมผงได้ที่แล้วให้เอาออกมาปั้น แล้วคลึงให้เป็นท่อนยาวคล้ายควั่นเทียนแล้วตัดเป็นข้อๆ กดใส่ในพิมพ์ เมื่อแกะออกจากพิมพ์แล้ว ท่านเอามีดเจียนข้างๆ ให้มนเข้าแล้วทําพิธีปลุกเสกเช่นเคย แจกนำไปแจกชาววังเมื่อเวลาไปบิณบาตเสมอ ท่านทําดังนี้จนหมดดินสอเหลือง เมื่อทำพระได้ร้อยองค์ ให้ทําพระชนิดหลังหนึ่งเรียกว่า พระคะแนนร้อย ทําได้พันองค์ ให้ทําพระขนาดใหญ่กว้าง ราว 4.2 ซม. ยาว 6.1 ซม. เรียกว่าพระคะแนนพัน ดังจะกล่าวต่อไป

ภายหลังต่อมาท่านใช้ดินสอขาวที่ทําเป็นแท่งแล้วลบเอาผงเก็บสะสมไว้จนพอแก่ความต้องการ ท่านจึงได้กะเทาะปูนขาวที่ล่อนๆ ตามกําแพงโบสถ์บ้าง เสมาบ้าง ซึ่งมีตะไคร่น้ำติดอยู่เป็นส่วนมาก แล้วมาตำผสมกับดินสอขาวที่ท่านทําไว้แล้วจึงพิมพ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในองค์พระเป็นปรกโพธิ์และทรงเจดีย์และชนิดอื่นๆ จึงได้ความว่าพระสมเด็จบางองค์เนื้อเหลือง ก็เพราะท่านประสมดินสอเหลืองนั่นเอง บางองค์เนื้อขาวเจือเขียวเล็กน้อย เมื่อหักออกดูจะเห็นผงดําๆ ติดอยู่ประปราย สันนิษฐานว่าที่เนื้อติดจะเขียวเล็กน้อยนั้น ก็เพราะกะเทาะปูนขาวที่เอามาตำนั้น เมื่อส่วนผสมที่เจือด้วยของเหลว ตะไคร่น้ำก็คลายความดําของมันออกประสมกับผงที่ประสมนั้นๆ ที่เนื้อมีผงดําติดอยู่ ประปรายก็เพราะตะไคร่น้ำนั้นไม่ได้ถูกย่อยจนละเอียดโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

อนึ่ง เจ้าคุณธรรมถาวรเล่าว่า เมื่อพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ. ทัด เสนีวงศ์) แต่ยังดํารงสมณศักดิ์ที่พระพุทธบาทปิลันท์ จะทําพระผงดําทุกคราว ได้มาขอผงขาวจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปประสมกับผงของท่านด้วย (พระนั้นเรียกกันว่าพระพุทธบาทปิลันท์) ทําบรรจุไว้ในพระเจดีย์มุมพระอุโบสถด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งทางวัดระฆังได้เปิดกรุแล้วและยังเก็บพระนั้นไว้จนบัดนี้

เจ้าคุณธรรมกิติเล่าว่า ท่านได้ค้นพบเศษพระพิมพ์ของพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์) อยู่บนเพดานหอไตรวัดระฆังจํานวนมากจึงรวบรวมจัดสร้างพระพิมพ์ขึ้นใหม่ประกอบพิธีปลุกเสกโดยพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในทางวิทยาคม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2495 พระนั้นลักษณะเป็นแบบพระสมเด็จชนิดปรกโพธิ์ สีขาวเป็นส่วนมาก มีผงดําปนเล็กน้อย เมื่อขัดถูแล้วสีดําที่เป็นคราบจะหายไป

เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างพระพิมพ์เสร็จแล้วท่านให้ใส่บาตร กระบุง และสัด ไปตั้งไว้ในหอสวดมนต์ตรงหน้าพระพุทธรูปแล้วโยงสายสิญจน์จากพระพุทธรูปไปวนที่พระพิมพ์นั้น บอกกับพระสงฆ์ที่มาประชุมเจริญพระพุทธมนต์ในพรรษาว่า ขอให้ช่วยปลุกเสกพระของท่านด้วย การที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทําดังนั้นด้วยประสงค์จะแสดงให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายให้รู้โดยปริยายว่าพระพิมพ์ของท่านได้ปลุกเสกแล้ว ต่อมาจึงให้ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดต่างๆ คือ วัดระฆัง วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) วัดไชโย วัดตะไกร (แขวงกรุงเก่า) เรียกที่บรรจุตามนามวัดว่า กรุวัดระฆัง กรุวัดชีปะขาว กรุวัดไชโย กรุวัดตะไกร พระสมเด็จที่กรุวัดใหม่อมตรส และกรุวัดใหม่ทองเสน

      “พระสมเด็จ” ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างนั้นว่ามี 73 พิมพ์ แต่ตามประวัติที่สืบทราบพบว่ามีเพียง 29 พิมพ์ จากคําบอกเล่าของพระอาจารย์ขวัญ วิสิฏโฐ พระเถระเก่าแก่ของวัดระฆัง ปากคําของท่านเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง) พระครูธรรมราต (เที่ยง) ไว้ว่าพระสมเด็จและพระเครื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มีดังนี้

            1. พระคะแนนพัน รุ่นแรกฐาน 3 ชั้น มี 2 อย่าง คือ อยู่คงกระพันชาตรีอย่างหนึ่ง สีขาวมีกลิ่นหอม แก้โรค อย่างหนึ่ง สีขาวไม่มีกลิ่น ทางเมตตามหานิยมอย่างหนึ่ง ขนาดเดียวกัน กว้าง 4.2 ซม. ยาว 5.9 ซม.

2. พระขอบกระดัง หลังกาบกล้วยฐาน 3 ชั้น เป็นพระคะแนน กรุวัดไชโยรูปไข่ กว้าง 5.5 ซม. ยาว 4.5 ซม.

3. พระคะแนนพัน รุ่นหลังฐาน 7 ชั้น กว้าง 2.3 ซม. ยาว 5.5 ซม.

4. พระหูบายศรี พระกรรณยาวงอน ดุจบายศรี ฐาน 5 ชั้น กว้าง 2.2 ซม. ยาว 3.3 ซม.

     5. พระหูบายศรี ฐาน 7 ชั้น กว้าง 2.5 ซม. ยาว 3.5 ซม. ว่าหูบายศรี ฐาน 5 ชั้น หายากกว่าฐาน 7 ชั้น

6. พระเศียรบาตร พระเศียรโต เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ทรงไกเซอร์” ฐาน 3 ชั้น ด้านหลังมีรอยนิ้วหัวแม่มือ 2 รอย กว้าง 2.5 ซม. ยาว 3.8 ชม.

7. พระหลวงพ่อโต สีอิฐเจือดํามี 3 อย่างคือ ที่ใต้ฐานมีรอยเล็บหัวแม่มือสองรอยอย่างหนึ่งที่ด้านหลังมีรู 1 รู อย่างหนึ่ง

8. พระเศียรกระแต พระพักตร์เรียว ฐาน 3 ชั้น กว้าง 2 ชม. ยาว 3.5 ซม.

9. พระเจดีย์ ลักษณะพระงาม ฐาน 3 ชั้น กว้าง 2.2 ซม. ยาว 3.5 ซม.

10. พระประจําวัน ว่ามีครบทั้ง 7 วัน พระประจําวันพุธ อุ้มบาตร กว้าง 2 ซม. ยาว 4 ชม. พระประจําวันนอกนี้จะมีขนาด อย่างไรหาทราบไม่

11. พระขุนแผน หลังกาบกล้วยกว้าง 2.5 ซม. ยาว 4.7 ซม.

12. พระใบลานเผา สีดํา ฐาน 3 ชั้น กว้าง 2 ซม. ยาว 3.2 ซม.

13. พระชานหมาก สีดํา ฐาน 3 ชั้น กว้าง 2.5 ซม. ยาว 3.5 ซม.

14. พระนางพญา รูปหน้าจั่วไม่มีฐาน มี 2 อย่าง คือ สีแดงหม่นค่อนดํา และสีขาวขนาดเดียวกันฐานล่างสุด กว้าง 1.5 ซม. ยาว 2.5 ซม.

15. พระปรกเมล็ดโพธิ์ ที่บริเวณพระเศียร มีปุ่มกลมเล็กหลายปุ่ม สีเขียวคล้ำเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “สมเด็จเขียว” ฐาน 3 ชั้น กว้าง 2 ซม. ยาว 3.5 ซม.

16. พระเจ้าสิบทิศ มีพระเรียงลําดับบนแผ่นกระเบื้องไทย 10 องค์ สีดํา มี 2อย่าง คือ พระปางมารวิชัยและพระปางสมาธิ ขนาดเดียวกัน กว้าง 10.5 ซม. ยาว 17.2 ชม.

17. พระปรกโพธิ์ใบ บริเวณเบื้องบนพระเศียรมีกิ่งใบโพธิ์ 4 ชั้นกว้าง 2.5 ซม. ยาว 3.6 ซม.

18. พระอกร่องหูยาน คือพระอุระเป็นร่อง พระกรรณยาวงอน สีเหลืองฐาน 7 ชั้น

19. พระคะแนนร้อย รุ่นแรกหลังเบี้ย ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย

20. พระรูปโพธิ์ รูปลักษณะเหมือนใบโพธิ์

21. พระไข่ผ่าซีก รูปลักษณะเหมือนไข่ผ่าซีก ว่ามีอยู่ที่กรุวัดชีปะขาว

22. พระหัวแม่มือ รูปลักษณะเหมือนนิ้วหัวแม่มือ สีอย่างเดียวกับสมเด็จ เขียนว่า เป็นพระหมอเมื่อจะรักษาโรค ให้เอาพระนี้ ใส่บาตรที่มีน้ำ ถ้าพระจมว่าคนไข้ตาย ถ้าพระลอยว่าคนไข้หายว่าพระชนิดนี้เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักให้แก่ผู้ที่เป็นหมอ

23. พระรูปเจดีย์คือ ทําเป็นรูปพระเจดีย์ในม่านแหวก

24. พระฐานแซมคือ ฐานมีชั้นเล็กแซมชั้นใหญ่ ว่าทางเมตตามหานิยมดีนัก

25. พระเม็ดขนุน รูปลักษณะกลมรีดุจเม็ดขนุน ว่าพระชนิดนี้เก็บรักษายาก มักจะสูญหายเสียโดยมาก

26. พระปิดทอง คือปิดทองทึบทั้งด้านหน้าและหลัง

27. พระดินสอเหลือง หลังเบี้ยฐาน 3 ชั้น รุ่นแรก

28. พระเปลือกกล้วยน้ำ คือ ทําด้วยเปลือกล้วยน้ำ

29. พระเกสรดอกไม้ ทําด้วยเกสรดอกไม้ต่างๆ

           

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้