พระพิมพ์ที่สร้างช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆัง ปี พ.ศ. 2395 - 2415
1. พระสมเด็จวัดระฆังยุคต้น (พ.ศ. 2395 - 2400)
ในปี พ.ศ. 2395 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระธรรมกิตติและดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ สำหรับการเริ่มต้นสร้างพระครั้งแรกของท่านที่วัดระฆังฯ นั้น มีความเชื่อถือเดิมว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระพิมพ์หลวงพ่อโต ในปี พ.ศ. 2397 ซึ่งตามคตินิยมในการสร้างพระเครื่องมาแต่โบราณนั้น ก่อนที่จะสร้างพระเครื่องตามแบบที่ประสงค์ พระอาจารย์ผู้สร้างจะสร้างพระพิมพ์หลวงพ่อโตเป็นพระชัยเสียก่อน ดังนั้นเมื่อพระพิมพ์หลวงพ่อโตของท่านเจ้าประคุณฯ สร้างในประมาณ ปี พ.ศ. 2397 แล้ว สันนิษฐานว่าปีนี้เป็นปีเริ่มแรกแห่งการสร้างพระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ
พระหูไห พิมพ์หลวงพ่อโต สันนิษฐานว่าเป็นพระยุคแรกที่ท่านสร้างในปี พ.ศ. 2397
การสร้างพระช่วงแรกเป็นพิมพ์ที่ท่านคิดและก็สร้างด้วยตัวท่านเอง พระพิมพ์ช่วงแรกที่ท่านสร้างแม่พิมพ์จะไม่ได้สัดส่วนแต่มีความเข้มขลังด้วยอิทธิวัสดุและพลังพุทธมนต์
พิมพ์ที่พบได้แก่ พิมพ์หูไห พิมพ์ขนมเปี๊ยะ พิมพ์หอยเบี้ย พิมพ์ใบพุทรา พิมพ์ขดหอย พิมพ์ระฆัง พิมพ์ลูกอม พิมพ์เล็บมือ พิมพ์พดด้วง พิมพ์แท่งดินสอ พิมพ์ไข่ผ่าซีก พิมพ์ใบมะขาม พิมพ์ใบมะยม พิมพ์ใบเสมา พิมพ์ฝาบาตร ฯลฯ และยังมีพิมพ์อีกมากมายที่ไม่ทราบ
คำว่าพระหูไห มาจากด้านหลังพระมีหูไว้ร้อยเชือกคล้ายไหจีนโบราณที่มีหู พระชุดนี้ท่านแจกควาญช้างไปมาก ถ้าองค์ใหญ่ไว้แขวนคอช้างศึก องค์เล็กย่อมลงมาไว้แขวนคอม้าศึก และขนาดองค์เล็กทั่วไปสำหรับคน ปัจจุบันหาชมยากเช่นกัน พระยุคแรกเป็นเนื้อข้าวสุกผสมผงกฤตยาคม ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสาน
กลุ่มพระพิมพ์ยุคแรกที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จฯ
หลังจากที่สร้างพระพิมพ์เอง ต่อมามีญาติโยมเข้ามาช่วย ความสวยงามก็มีมากขึ้นผู้ออกแบบพิมพ์ก็ออกแบบมาให้ พิมพ์ส่วนใหญ่มาจากพระนวกะที่เข้ามาจากหัวเมืองมาเรียนธรรมบาลี ที่วัดระฆังฯ เมื่อเรียนจบแล้ว พระนวกะมาจากถิ่นฐานใดและมีพระอะไรที่สําคัญในภูมิลำเนานั้น ท่านก็อนุญาตให้กดพิมพ์ไปโดยท่านมีพระเมตตาให้ผงของท่านและก็ปลุกเสกให้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่พระพิมพ์ก็มักจะเป็นพระที่มีชื่อเสียง มีความสําคัญของชาติและเป็นพระกรุโบราณจากสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านเคยธุดงค์ไป ท่านก็นำแบบพิมพ์มาทำตามมีทั้งถอดพิมพ์เดิมและมาแกะพิมพ์ใหม่ หรือที่นิยมเรียกกันว่า พระล้อพิมพ์ สร้างเป็นพิมพ์พระแบบต่าง ๆ เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป ได้แก่ พิมพ์พระปฐมเจดีย์, พิมพ์พระบรมธาตุ, พระกำแพงเขย่ง (เม็ดขนุน), พิมพ์พระผงสุพรรณ, พิมพ์จุฬามณี, พิมพ์พระขุนแผน, พิมพ์พระพลูจีบ, พิมพ์พระนางพญาพิษณุโลก, พิมพ์พระนางพญาสุโขทัย, พิมพ์พระพุทธลีลา, พิมพ์พระพุทธชินราช, พิมพ์พระธาตุพนม, พิมพ์พระประธานวัดระฆัง, พิมพ์พระประธานวัดบวรนิเวศวรมหาวิหาร (บางลําภู), พิมพ์เกศไชโย, พิมพ์พระไสยาสน์วัดสะตือ, พิมพ์วัดโพธิ์บางปะอิน, พิมพ์วัดพระแก้ว, พิมพ์พระซุ้มกอ, พิมพ์พระรอด, พิมพ์พระคงลำพูน, พิมพ์พระปิดตา, พิมพ์พระสังกัจจายน์, พิมพ์วัดกลางราชบุรี, พิมพ์พระประจําวันแบบต่าง ๆ, พิมพ์พระประจํานักษัตรทั้ง 12 เดือน, พิมพ์ทับหลังนารายณ์ และยังมีอีกมาก
หลังจากที่ท่านได้สร้างพระพิมพ์ไว้หลากหลายพิมพ์แต่ไม่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะของวัดระฆังในปี พ.ศ. 2400 ท่านจึงเริ่มออกแบบพระพิมพ์โดยยึดแบบพระเครื่องของสมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่าน โดยได้นำเอาเค้าโครงพิมพ์จากพระสมเด็จอรหัง มาแปลงแบบเป็นพระพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือที่เรียกกันว่า “สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก” มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กหลายขนาด (ข้อมูลจากหนังสือ สามสมเด็จ โดย ประชุม กาญจนวัฒน์ ปี พ.ศ. 2523)
เมื่อเริ่มมีการสร้างพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ในครั้งนั้น “นายเทศ” และบรรดาช่างแห่งบ้านช่างหล่อ ธนบุรี ได้เป็นผู้แกะพิมพ์ถวายตามความประสงค์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีหลายพิมพ์โดยยึดแบบพระประธานประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานสามชั้นในซุ้มระฆังเป็นเอกลักษณ์พิมพ์ของวัดระฆัง แต่เปลี่ยนพุทธศิลป์และรูปแบบพิมพ์ให้หลากหลาย
ตำราในการสร้างพระสันนิษฐานว่าท่านได้ตำราเก่ามาจากเมืองกำแพงเพชร ตอนที่ท่านขึ้นไปเยี่ยมญาติในปี พ.ศ. 2392 ดังได้กล่าวใน จดหมายเหตุเรื่องเสด็จประพาสต้น ในรัชกาลที่ 5 ไว้ดังนี้
“พระเจดีย์สามองค์นี้ นายชิดมหาดเล็กหลานพระยาประธานนคโรไทย ซึ่งเป็นนายอำเภออยู่ในมณฑลนครไชยศรีป่วยลาออกรักษาตัว ไปได้ตำนานและพระพิมพ์มาให้ ว่ามีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงนามพระยาศรีธรรมาโศกราช จะบํารุงพระพุทธศาสนา จึงไปเชิญพระธาตุมาแต่ลังกา สร้างเจดีย์บรรจุไว้ในแควน้ำปิงและน้ำยมเป็นจํานวนพระเจดีย์ 84,000 พระฤษีจึงได้สร้างพระพิมพ์ขึ้นถวายพระยาศรีธรรมาโศกราชเป็นอุปการะ จึงได้บรรจุพระธาตุและพระพิมพ์ไว้ในพระเจดีย์แต่นั้นมา เหตุที่จะพบพระพิมพ์กําแพงเพชรขึ้นนี้ว่า เมื่อปีระกา เอกศกจุลศักราช ๑๒๑๑ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังขึ้นมาเยี่ยมญาติที่เมืองกําแพงเพชร ได้อ่านแผ่นศิลาจารึกอักษรไทยโบราณ มีอยู่ที่วัดเสด็จได้ความว่า มีพระเจดีย์ โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่น้ำปิงฝั่งตะวันตกตรงหน้าเมืองข้าม จึงได้ค้นคว้ากันขึ้นพบพระเจดีย์ ๓ องค์นี้ชํารุดทั้ง ๓ องค์
เมื่อพญาตก่า ขอสร้างรวมเป็นองค์เดียว รื้อพระเจดีย์ลงจึงได้พบพระพิมพ์กับได้ลานเงินจารึกอักษรขอมเป็นตํานานสร้างพระพิมพ์และวิธีบูชา นายชิด ได้คัดตํานานและวิธีบูชามาให้ด้วย ของถวายในเมืองกําแพงนี้ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น ได้คัดตํานานติดท้ายหนังสือนี้ไว้ด้วย
เมืองกําแพงเพ็ชร
วันที่ ๒๕ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕
ข้าพระพุทธเจ้า นายชิด มหาดเล็กเวรเดช หลานพระยาประธาน นคโรไทยจางวางเมืองอุทัยธานี เดิมได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นตําแหน่งนายอําเภอ อยู่มณฑลนครไชยศรี ข้าพระพุทธเจ้าป่วยเจ็บทุพลภาพ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ราชการ ขึ้นมารักษาตัวอยู่บ้านภรรยาที่เมืองกําแพงเพชร ข้าพระพุทธเจ้า ได้สืบเสาะหาพระพิมพ์ของโบราณ ซึ่งมีผู้ขุดค้นได้ในเมืองกําแพงเพชรนี้ได้ไว้หลายอย่างพร้อมพิมพ์แบบทําพระ ๑ แบบ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย ข้าพระพุทธเจ้า ได้สืบถามผู้เฒ่าผู้แก่ถึงตํานานพระพิมพ์เหล่านี้อันเป็นที่เชื่อถือกันในแขวงเมืองกําแพงเพชรสืบมาแต่ก่อน ได้ความว่า
พระพิมพ์เมืองกําแพงเพชรนี้ มีมหาชนเป็นอันมากนิยมนับถือลือชามาช้านาน ว่ามีคุณานิสงส์แก่ผู้สักการะบูชาในปัจจุบัน หรือมีอานุภาพ ทําให้สําเร็จผลความปรารถนา แห่งผู้สักการะบูชาด้วยอเนกประการ
สัณฐานของพระพุทธรูปพิมพ์นี้ ตามที่มีผู้ได้พบเห็นแล้วมี ๓ อย่าง คือ พระลีลาศ (ที่เรียกว่าพระเดิร) อย่าง ๑ พระยืน ๑ พระนั่งสมาธิอย่าง ๑
วัตถุที่ทําเป็นองค์พระต่างกันเป็น 4 อย่าง คือ ดีบุก (หรือตะกั่ว) อย่าง ๑ ว่านอย่าง ๑ เกสรอย่าง ๑ ดินอย่าง ๑ พระพิมพ์นี้ ครั้งแรกที่มหาชนจะได้พบเห็นนั้นได้ในเจดีย์วัดพระธาตุฝั่งตะวันตกเป็นเดิม
และการที่สร้างพระพิมพ์นี้ขึ้นนั้น ตามสามัญนิยมว่า ณกาลครั้งเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มีพระบรมกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ทรงมหิทธิเดชานุภาพแผ่ไปในทิศานุทิศตลอดถึงทวีปลังกา ทรงอนุสรคํานึงในการสถาปนูปถัมภกพระพุทธศาสนา เพื่อให้แผ่ไพศาลยิ่งขึ้นจึงเสด็จสู่ลังกาทวีปรวบรวมพระบรมธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นํามาสร้างเจดีย์บรรจุไว้ในคํากล่าวว่าแควน้ำปิงและน้ำยมเป็นต้น เป็นจำนวนพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์
ครั้งนั้นพระฤษีจึงได้กระทําพิธีสร้างพระพิมพ์เหล่านี้ถวายแก่พระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นการอุปการในพระพุทธศาสนา ครั้งแรกที่จะได้พบพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุและพระพิมพ์เหล่านี้ เดิมณปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ (นับโดยลําดับมาถึงศกนี้ได้ ๕๘ ปี) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง กรุงเทพ ฯ ขึ้น มาเยี่ยมญาติ ณ เมืองกําแพงเพชร์นี้ ได้อ่านแผ่นศิลาจารึกอักษรไทยโบราณที่ประดิษฐานอยู่ ณ พระอุโบสถวัดเสด็จได้ความว่า โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่น้ำปิง ตะวันตกตรงหน้าเมืองเก่าข้าม ๓ องค์ ขณะนั้นพระยากําแพง (น้อย) ผู้ว่าราชการเมือง ได้จัดการค้นคว้าพบวัดและเจดีย์สมตามอักษรในแผ่นศิลา จึงป่าวร้องบอกบุญ ราษฎรช่วยกันแผ้วถางและปฏิสังขรณ์ขึ้น เจดีย์ที่ค้นพบเดิมมี ๓ องค์ ๆ ใหญ่ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุอยู่กลางชํารุดบ้างทั้ง ๓ องค์ ภายหลังพระยากําแพง (อ๋อง) เป็นผู้ว่าราชการเมือง แซงพอกะเหรี่ยง (ที่ราษฎรเรียกกว่าพญาตะก่า) ได้ขออนุญาตรื้อพระเจดีย์สาม องค์นี้ทําใหม่รวมเป็นองค์เดียว
ขณะที่รื้อพระเจดีย์ ๓ องค์นั้น ได้พบกรุพระพุทธรูปพิมพ์เงินจารึกอักษรขอมกล่าวตํานานการสร้างพระพิมพ์ และลักษณะการสักการะบูชาด้วยประการต่าง ๆ พระพิมพ์ชนิดนี้มีผู้ขุดค้นได้ที่เมืองสรรคบุรีครั้งหนึ่ง แต่หามีแผ่นลานเงินไม่ แผ่นลานเงินตํานานนี้ กล่าวว่ามีเฉพาะแต่ในพระเจดีย์วัดพระธาตุฝั่งน้ำปิงตะวันตกแห่งเดียว”
2. พระสมเด็จยุคกลาง (พ.ศ. 2401 – 2407) พิมพ์ทรงเป็นฝีมือช่างสิบหมู่หรือช่างหลวงมีบทบาทมากขึ้น ส่วนพิมพ์ช่างชาวบ้านค่อย ๆ ลดน้อยลงไป เนื้อพระมีความละเอียดมากขึ้นเพราะใช้เครื่องบดยามาช่วยบดผงพระและมีการนำปูนฝรั่งหรือปูนปอตแลนด์มาใช้ พิมพ์ทรงพระสมเด็จยุคนี้เส้นซุ้มจะเรียบร้อยกลมเสมอต้นเสมอปลายแบบเส้นขนมจีน องค์พระจะหนา อกใหญ่ ฐานชั้นพระจะโค้งรับเข่าแบบรางระนาดเอก พระยุคนี้บางองค์บางพิมพ์จะมีเส้นกรอบแม่พิมพ์ แต่กรอบจะลากยาวเกือบมาถึงฐานขั้นล่างทั้งซ้ายและขวา เส้นกรอบแม่พิมพ์จะหน้าใหญ่กว่าพิมพ์นิยมยุคปลาย
ข้อสังเกตพระยุคกลางอีกประการคือ นิยมลงรัก-ชาด-เทือก-ปิดทอง ไว้ที่ด้านหน้าหรือทั้งสองด้านกันพระแตก บางองค์รักจะร่อนมีรอยแตกที่ผิวเป็นแตกลายงา พระยุคกลางมีทำ 2 แห่งคือ ที่วัดระฆังและวังหน้า
3. พระสมเด็จยุคปลาย (พ.ศ. 2408 – 2415) พระสมเด็จที่สร้างในยุคนี้ช่างหลวงเข้ามามีบทบาทในการแกะแม่พิมพ์แทบทั้งสิ้น องค์พระสวยสง่างาม เส้นซุ้มใหญ่หนาแบบหวายผ่าซีกคว่ำ ฐานพระเป็นแบบคมขวาน ฐานสิงห์รองรับองค์พระให้สง่างามยิ่งขึ้น มีเส้นกรอบแม่พิมพ์หรือเรียกว่าเส้นวาสนาทำให้ตัดขอบง่าย พุทธศิลป์ขององค์พระมีความสวยงามเพราะนำศิลปะของพระบูชาในสมัยเชียงแสน - สุโขทัย - อู่ทอง มาแกะผสมผสานกันเป็นพระสมเด็จ อาทิ
- พิมพ์เกศบัวตูมเป็นพุทธศิลป์พระสมัยเชียงแสน
- พิมพ์พระประธานเป็นพุทธศิลป์พระสมัยสุโขทัย
- พิมพ์ฐานแซมเป็นพุทธศิลป์พระสมัยอู่ทอง
- พิมพ์เจดีย์เป็นพุทธศิลป์พระสมัยเชียงแสนและสุโขทัย