พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆัง
เท่าที่ทราบกันมาแต่เดิมว่าพระพิมพ์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มี 73 พิมพ์ทรง ที่แจกแจงได้มี 29 พิมพ์ นอกจากนั้นยังหาผู้ใดทราบโดยครบถ้วนไม่ ทราบแต่เพียงพิมพ์ที่เป็นที่นิยม อันที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงจัดแบ่งเป็นกลุ่มตามความประสงค์ของการสร้าง ซึ่งจะแยกออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 : สร้างตามลักษณะพระเครื่องที่คนรุ่นเก่ามีความนิยมเลื่อมใสกันมาแต่เดิมซึ่งได้แก่ พระบางพิมพ์ในสกุลทวาราวดี, หริภุญชัย พระบางพิมพ์ในสกุลสุโขทัย, กำแพงเพชร พระบางพิมพ์ในสกุลอู่ทอง และอยุธยา
กลุ่มที่ 2 : สร้างตามรูปลักษณะของพระพิมพ์ประจำวัน ซึ่งมี 9 ปางด้วยกันคือ
พระพิมพ์ปางถวายเนตร เป็นพระประจำวันอาทิตย์
พระพิมพ์ปางห้ามญาติและห้ามสมุทร เป็นพระประจำวันจันทร์
พระพิมพ์ปางไสยาสน์ เป็นพระประจำวันอังคาร
พระพิมพ์ปางอุ้มบาตร เป็นพระประจำวันพุธ
พระพิมพ์ปางสมาธิ เป็นพระประจำวันพฤหัส
พระพิมพ์ปางรำพึง เป็นพระประจำวันศุกร์
พระพิมพ์ปางนาคปรก เป็นพระประจำวันเสาร์
พระพิมพ์ปางป่าเลไลย์หรือปางมารวิชัย เป็นพระประจำพระเกตุกับพระราหู
กลุ่มที่ 3 : สร้างตามลักษณะรูปเหมือนท่านเจ้าประคุณฯ ซึ่งมักจะเป็นรูปนูนสูงและลอยตัวตามอิริยาบถต่าง ๆ ที่ท่านปฏิบัติเป็นวัตร เช่น นั่งบริกรรม นั่งแสดงพระธรรมเทศนา นั่งในลักษณะพระพุทธปางมารวิชัยเพื่อการโปรดสัตว์ นั่งเอกเขนกพิงหมอนขวานเพื่อการพักผ่อน ฯลฯ
กลุ่มที่ 4 : สร้างรูปพระพุทธองค์ เป็นรูปนูนต่ำ ที่มีทรงและกรอบหลายลักษณะ เช่นทรงสี่เหลี่ยม ทรงกลีบบัว โดยจะมีขนาดพอเหมาะที่จะพกติดตัว
กลุ่มที่ 5 : สร้างเป็นรูปพระพุทธองค์ ในเรื่องราวตามพุทธประวัติตอนสำคัญ โดยนิยมสร้างบนพื้นฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตามขนาดและสัดส่วนใกล้เคียงมาตรฐาน