สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๕.๔ ตำนานพระผงสมเด็จ (สมเด็จอรหัง ต้นตระกูลพระสมเด็จ)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๕.๔ ตำนานพระผงสมเด็จ (สมเด็จอรหัง ต้นตระกูลพระสมเด็จ)

พระสมเด็จอรหัง ต้นสกุล “พระสมเด็จ”

พระเครื่องที่สร้างด้วยผงและดินว่าน ๑๐๘ นั้น รูปแบบการสร้างพิมพ์พระมักนิยมทําเป็นรูปสามเหลี่ยม อย่างพระนางพญา พระผงสุพรรณ, รูปเล็บมืออย่าง พระซุ้มกอ หรือ พระกําแพงทุ่งเศรษฐี หรือ พระรอดลําพูนยังไม่มีพระเครื่องรูปทรงสี่เหลี่ยม ด้วยเหตุนี้การสร้างพระเครื่องพิมพ์รูปสี่เหลี่ยมแบบชิ้นฟัก หรือพระเครื่อง “พระสมเด็จ” นั้น ถึงน่าจะเกิดขึ้นในชั้นหลัง เพราะพระเครื่องสุโขทัย แบบอยุธยา นั้นยังไม่ปรากฏว่ามีการสร้างแบบนี้ขึ้น

พระเครื่องที่เป็นต้นแบบ “พระสมเด็จ” นั้นคือ พระสมเด็จอรหัง ซึ่งเป็นพระเครื่องที่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) พระมหาเถระผู้ยิ่งยงในวิทยาคมด้านเมตตามหานิยมได้สร้างขึ้น และได้ถ่ายทอดการสร้าง “พระสมเด็จ” นี้ไปยังสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม ผู้เป็นศิษย์คนโปรดซึ่งต่อมา “พระสมเด็จวัดระฆัง” นี้ได้เป็นพระเครื่องยอดนิยมดังกล่าว

เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงนั้น มีพระอาจารย์สําคัญที่แก่กล้าในวิชาอาคมยิ่งอยู่รูปหนึ่ง พระอาจารย์สุก อยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม เมืองกรุงเก่า (คือ จ. อยุธยา) มีกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วถึงความเมตตามหานิยม ขนาดไก่ป่าที่ปราดเปรียว ต้องพากันยกฝูงมารับการโปรยทานอาหารจากท่านด้วยอาการเชื่องแบบไก่บ้านที่เลี้ยงกันทั่วไปจน เรียกกันทั่วไปว่า พระอาจารย์สุกไก่เถื่อน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ เมื่อสถาปนาราชวงศ์จักรีเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองแล้ว ก็ปรารถนาที่จะทํานุบํารุงพระพุทธศาสนา จึงโปรดให้อาราธนาพระอาจารย์สุกมาอยู่ที่ วัดราชสิทธาราม (คือ วัดพลับ) ทรงตั้งให้เป็นที่ พระญาณสังวรเถร ตําแหน่งวิปัสสนาธุระ

พระอาจารย์สุก หรือ พระญาณสังวร ประสูติในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันศุกร์ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ. ๒๒๗๖ หลังจากได้อุปสมบท แล้วก็จําพรรษาอยู่ที่วัดท่าหอย จนสมัยกรุงธนบุรี พระอาจารย์สุกได้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหอยแห่งนั้น

ด้วยกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือถึงความเป็นพระอาจารย์สุกไก่เถื่อน มีคุณธรรมวิเศษในทางวิปัสสนาธุระ จนสามารถแผ่พระเมตตาพรหมวิหารธรรมจนทําให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้ มีคาถาเสกข้าวให้ไก่กินคือ “เว. ทา. สา. กุ." พระองค์ (รัชกาลที่ ๑) จึงอาราธนาให้ท่านมาอยู่ที่วัด ราชสิทธาราม (คือ วัดพลับ) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๕ และทรงตั้งให้ พระอาจารย์สุก เป็นพระราชาคณะที่ “พระญาณสังวร” ตําแหน่ง วิปัสสนาธุระต่อมาได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ของพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒, กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และกรมพระราชวังหลัง เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรในรัชกาลที่ ๒

ต่อมาท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะพิเศษมีนามว่า “สมเด็จพระญาณสังวร” ดังปรากฏในคําประกาศแต่งตั้ง ดังนี้

“ศรีศยุภมัศดุ ฯลฯ ลงวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ํา เดือน ๔ ปีขาล พุทธศักราช ๒๓๕๙ ให้พระญาณสังวรเถร ขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร อดิศรสังฆเถรา สัตตวิสุทธิจริยาปริญายก สปิฎกธาร มหาอุดมส่งอนันต์ อรัญวาสี สถิตในราชสิทธาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง ให้จารึกกฤศกาลอวยพรพระชนมายุ ศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิมลทฤฆายุศมในพระพุทธศาสนาเถิด”

ในสมัยนั้น สมเด็จพระญาณสังวรมีพระชนมายุพรรษามากกว่า สมเด็จพระสังฆราช (มี) จึงนั่งอยู่อันดับก่อน เหตุที่ท่านยังไม่ได้เป็น สมเด็จพระสังฆราชก็เพราะมีพระราชนิยมว่า สมเด็จพระสังฆราชต้องเป็นพระราชาคณะฝ่ายคันถธุระ ภายหลังที่สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์แล้ว รัชกาลที่ ๒ ทรงมีพระราชดําริว่า พรรษาอายุของสมเด็จพระญาณสังวรสูงมากอยู่แล้ว จะทรงใคร่สนองพระเดชพระคุณให้สูงสุด จึงทรงอาราธนาให้ท่านดํารงตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราช โดย ทรงโปรดให้ตั้งกระบวนแห่จากวัดราชสิทธารามมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๔ ค่่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ และโปรดสถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระสังฆราช (ฝ่ายวิปัสสนาธุระเป็นองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ในวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่่ำเดือนอ้าย ดังคําประกาศแต่งตั้ง ดังนี้

“ศรีศยุภมัศดุ อดีตกาลพระพุทธศักราช ชะไมยสหัสสสังวัจฉรไต รสถาธฤกไตรสังฏญีสัตมาศ ปรัตยุบันกาล นาคสังวัจฉรมฤคศฤระมาศ ศุกขปักขคุรุวารนวมีดิถีปริจเฉกกาลอุกฤษฐ์ สมเด็จพระบรมธรรมมฤกะมหาราชารามาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรมอนันตคุณวิบูลยปรีชาอันมหาประเสริฐ มีพระราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสิงหนาทดํารัสสั่ง พระราชูทิศถาปนาให้สมเด็จพระญาณสังวรเป็นสมเด็จพระอริยวงษาญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมญตมาปริณษยก ติปิฎกธรา จารย์สถทธิขัติสารสุนทรมหาคณฤศววรทักษิณสฤทธิสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี เป็นประธานถานาทุกคณานิกร จัตุพิธบรรพสัทสถิตในพระศรีรัตนมหาธาตุ วรวิหาร”

สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) สมเด็จพระสังฆราชได้ย้ายจาก วัดราชสิทธารามมาอยู่วัดมหาธาตุได้เพียง ๑ ปีเศษก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์เดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๖๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดพระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้เสมอด้วยชั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระเกียรติยศสูงสุด และในรัชกาลที่ ๓ ได้โปรดให้ช่างหล่อพระรูปสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ไว้ ๓ รูป ปัจจุบัน พระรูปหล่อนี้ประดิษฐานอยู่ในหอพระเจ้าสําหรับทรงบูชา ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ และวัดราชสิทธาราม

สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) นับว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์เดียวที่มีอายุได้เห็นเหตุการณ์และผนวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนบุรีและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รวมพระชนมายุ ถึง ๙๐ ปี

ในระหว่างที่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) จําพรรษาอยู่ที่วัดราชสิทธารามนั้น ปรากฏว่าท่านเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ตลอดจนเชื้อพระวงศ์ต่างๆ ก็พากันเลื่อมใสพากันไปฝากตัวเป็นศิษยานุศิษย์เป็นจํานวนมาก ด้วยท่านเป็นที่เลื่องลือในกฤตยาคมอันขลังในทางเมตตาพรหมวิหาร ที่สามารถเรียกไก่เถื่อนจากป่ามาเป็นฝูงๆ ออกมารับการโปรยอาหารได้ทุกวันจนเรียกขานกันทั่วไปว่า สมเด็จพระสังฆราชสุกไก่เถื่อน หรือ “พระญาณสังวรสุกไก่เถื่อน”

วัดราชสิทธาราม เดิมชื่อ วัดพลับ อยู่ในเขตบางกอกใหญ่ กรุงธนบุรีเมื่อรัชกาลที่ ๑ ได้อาราธนาพระอาจารย์สุกไก่เถื่อน จากวัดหาหอย กรุงศรีอยุธยา มาอยู่จําพรรษาและตั้งเป็น พระญาณสังวรนั้น วัดนี้ได้เจริญรุ่งเรืองตามลําดับ พระบรมวงศาสนุวงศ์ก็มักจะทรงผนวชและเสด็จไปศึกษาวิปัสสนา ณ สํานักของ พระญาณสังวรสุก ไก่เถื่อน เป็นประจํา นับเป็นพระมหาเถระที่ได้เป็นพระบรมราชาจารย์ของพระมหากษัตริย์ถึง ๓ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ขณะทรงผนวชเป็นสามเณร และพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ขณะบวชเป็นสามเณร

เมื่อครั้งที่ พระญาณสังวร (สุก) ดํารงตําแหน่งเป็นพระราชาคณะอยู่ที่วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) นั้นท่านได้คิดแบบและสร้างพระเครื่องสําคัญขึ้น คือ พระสมเด็จอรหัง เป็นพระพิมพ์รูปสี่เหลี่ยมชิ้น ฟัก หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในเป็นรูปพระปางสมาธิประทับนั่งบนฐาน ๓ ชั้น อยู่ในซุ้มกรอบโค้งด้านบน อันถือเป็นต้นตระกูล “พระสมเด็จ” ที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) นําแบบพิมพ์นี้ไปสร้างและปรับปรุงใหม่ ส่วนที่สําคัญก็คือ ส่วนผสมของเนื้อพระพิมพ์ พระญาณสังวรได้คิดส่วนผสมขึ้นเอง โดย สร้างและผสมจากผงวิเศษ ได้แก่ ผงปถมัง ผงอิธะเจ ผงมหาราช ผงพุทธคุณและผงตรีนิสิงเห ตามตําราโบราณแล้ว ยังประกอบด้วยมวลสารจาก งา เปลือกหอยข้าวสุก เกสรดอกไม้ และว่าน ๑๐๘ รวมทั้งปูนขาว เป็นส่วนผสมที่ทําให้มวลสารทั้งหมดเข้าเป็นเนื้อเดียวจนสามารถรวมเป็น องค์พระพิมพ์นี้ได้

พระสมเด็จอรหังนี้เรียกตามชื่อผู้สร้างที่ครองตําแหน่ง สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งแท้จริงแล้วท่านน่าจะสร้างพระเครื่องพิมพ์นี้ก่อน ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๕๙-๒๓๖๐ และที่เรียก “อรหัง” ด้วยก็เพราะด้านหลังพระสมเด็จนี้มีการจารอักขระขอมไว้ว่า “อะระหัง” หรือมีอักขระพิมพ์นูนขึ้นมาว่า “อะระหัง” ในระยะแรกก็คงจะสร้างแล้วออกแจกกัน ตั้งแต่ท่านอยู่ที่วัดราชสิทธาราม แต่ไม่มากนัก แต่เมื่อได้รับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชและจะต้องย้ายวัดไปอยู่วัดมหาธาตุเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ จึงได้นําพระสมเด็จอรหังที่สร้างไว้ก่อนแล้วหรือสร้างเพิ่มเติมเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่แสดงมุทิตาจิต เหลือจากนั้นได้นําส่วนหนึ่งบรรจุไว้ ณ เจดีย์ของวัดมหาธาตุ ต่อมาภายหลังจึงได้ค้นพบ “พระสมเด็จอรหัง” จากกรุวัดมหาธาตุ

อีกกรุหนึ่งคือ วัดสร้อยทอง ได้พบพระสมเด็จอรหังพิมพ์นี้เหมือนกัน แต่แตกต่างกันทั้งเนื้อมวลสาร และคําว่าอะระหัง ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างภายหลังมากกว่าที่จะสร้างในคราวเดียวกันกับกรุวัดมหาธาตุหรือไม่ก็สร้างหลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เรื่องนี้ต้องศึกษากันให้ได้

พระสมเด็จอรหัง หรือ อะระหัง สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) สร้างหลายพิมพ์ แต่ที่พอจะแยกให้เห็นความแตกต่างได้นั้น มี ๕ พิมพ์ คือ

๑. พระสมเด็จอรหัง พิมพ์สังฆาฏิ ซึ่งเป็นพิมพ์ที่นิยมกันมาก มีขนาดกว้าง ๒ ซม. สูง ๓ ซม. ครึ่ง ดูใกล้เคียงกับขนาดพระสมเด็จวัดระฆัง เนื้อพระเป็นผงสีขาว พุทธลักษณะเป็นพระปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐาน ๓ ชั้น พระพิมพ์นี้เห็นสังฆาฎิห้อยชัดเจน ส่วนเกศจะแหลม ด้านข้างองค์จะตัดด้วยเส้นตรง และด้านหลังมีอักขระขอมที่ใช้เหล็กจารคําว่า “อะระหัง" ลงในเนื้อพระ
๒. พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ ลักษณะเหมือนกับพิมพ์สังฆาฏิ ที่แตกต่างกันตรง ฐาน ๓ ชั้น เป็นเส้นเล็กคู่ เช่นเดียวกับพระสมเด็จบางขุนพรหม พระปางสมาธิที่เข่ากว้างกว่าพิมพ์สังฆาฏิ ดูเป็นเข่าโค้ง
๓. พระสมเด็จอรหัง พิมพ์เกศอุ หรือ เปลวเพลิง เป็นพระพิมพ์ที่มีจํานวนน้อย เป็นพิมพ์ที่แตกต่าง ตรงส่วนเกศจะมีตัว อุ อยู่ส่วนบน และฐาน ๓ ชั้น เป็นเส้นคู่แต่หนากว่าด้านหลังเป็นแบบราบไม่มีคําว่าอะระหังจารไว้
๔. พระสมเด็จอรหัง พิมพ์โต๊ะกัง เป็นพระเนื้อดินเผาผสมว่านต่างๆ ทําให้สีค่อนข้างแดงคล้ายปูนแห้งเนื้อหยาบ ลักษณะพระพิมพ์เหมือนกับพิมพ์อื่นๆ และด้านหลังอักขระ “อะระหัง” จะเป็นอักขระนูนขึ้นมาโดยลักษณะปั๊มลึกลงบนเนื้อ
๕. พระสมเด็จอรหัง พิมพ์เล็ก มีขนาดสูงเพียง ๒.๓ ชม. ลักษณะเหมือนพระพิมพ์ใหญ่ มีทั้งแบบมีประภามณฑลรอบเศียร และไม่มีประภามณฑล ด้านหลังมีอักขระนูนคําว่า อะระหัง เหมือนกัน

การสังเกต พระสมเด็จอรหัง ว่าพิมพ์หรือเนื้ออย่างไรเป็นพระกรุ วัดมหาธาตุหรือกรุวัดสร้อยทองนั้น คงมีแนวทางที่พอจะกําหนดได้ว่า พระสมเด็จอรหัง กรุวัดมหาธาตุนั้น พบเฉพาะพิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เล็กและพิมพ์เกศอุหรือเปลวเพลิงจะดูได้จากเนื้อมวลสารซึ่งมีความละเอียดและแน่นอยู่ในตัวมาก จนเกือบจะใกล้เคียงกับเนื้อพระสมเด็จวัดระฆัง พระที่ไม่ได้ใช้เมื่อออกจากกรุใหม่ๆ จะมีคราบฝ้าขาวนวลหุ้มติดอยู่ทุกองค์ บางองค์จะมีลักษณะเนื้อพระงอกเหมือนพระวัดพลับ ส่วนพระ กรุวัดสร้อยทองนั้น พบพิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์โต๊ะกังและพิมพ์ฐานคู่ หรือเข่าโค้งซึ่งเป็นพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด เนื้อพระจะดูหยาบกว่ากรุวัดมหาธาตุบางองค์จะมีทรายปนอยู่บ้างเล็กน้อย คราบกรุจะมีคราบขาวนวลและจุดเทาหม่นอมเหลืองเกาะติดอยู่ด้วย สําหรับพิมพ์โต๊ะกังจะมีคราบกรุจับเนื้อสีปูนแห้งขาวนวลไปทั่วองค์ พิมพ์เล็กไม่พบจากกรุวัดนี้

สําหรับพระสมเด็จอรหังพิมพ์โต๊ะกังนั้น เรียกมาจากการประทับตรา “อะระหัง” ลึกเหมือนตราปั๊มทองที่ห้างตั้งโต๊ะกัง ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเท่าไร แต่ที่นิยมเรียกกันก็เพราะวัดสร้อยทองนั้น ชาวจีนนิยมทำบุญที่วัดนี้มาก เมื่อพบพระพิมพ์นี้เลยนิยมเรียกตามกัน สําหรับพระสมเด็จอรหังกรุวัดสร้อยนั้น มีเรื่องเล่าว่าอาจารย์กุยซึ่งน่าจะเป็น ลูกศิษย์คนหนึ่งสร้างขึ้นเช่นเดียวกับสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ที่สร้าง พระสมเด็จวัดระฆังขึ้น เพียงแต่ว่าท่านได้เปลี่ยนแบบพิมพ์ให้สวยงามขึ้นไม่ให้เหมือนพระอาจารย์ ส่วนอาจาย์กุย คงจะใช้พิมพ์อย่างอาจารย์ จึงทําให้เข้าใจว่าพระสมเด็จอรหังกรุวัดสร้อยทอง เป็นพระสมเด็จอรหังของสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เช่นเดียวกับ พระพิมพ์วัดพลับซึ่งหลวงตาจัน พระรามัญเป็นผู้สร้างจากการที่เป็นผู้ใกล้ชิด สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) จึงเหมาเอาว่า พระวัดพลับเป็นพระที่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) สร้างเช่นกัน

ฝากระมัดระวัง “สมเด็จอรหัง” กันให้ดี ของแท้ๆ นั้นมีน้อยองค์ และมีการสร้างพระพิมพ์นี้ขึ้นใหม่ใช้ “อะระหัง” เหมือนกัน อย่ารีบร้อนอยากได้บูชาครับ

อ่านต่อ>>

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้