สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๒.๑ ตำนานชาติภูมิสมเด็จโต

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๒.๑ ตำนานชาติภูมิสมเด็จโต

ชาติภูมิของสมเด็จพุฒาจารย์โตนั้น มีตํานานเล่ากันหลายความ ทุกความมีประเด็นสําคัญที่สุดก็คือ ไม่ปรากฏชื่อ บิดา มีแต่ มารดา เท่านั้นที่ยังปรากฏความสับสนปนความระหว่างชื่อ ละมุด หรือ หงุด จนสรุปไม่ได้ว่าความจริงชื่ออะไร ...ละมุด หรือ หงุด

ในเบื้องต้นนั้น ต้องเล่าความตามตํานานเสียก่อน เรื่องนี้ไม่รับรองว่าถูกต้อง เพราะเล่าตามเรื่องที่ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์อะไร นอกจากเล่าต่อความกัน กล่าวคือ

ครั้งหนึ่งสมัยอยุธยา... กองทัพพม่า โดยการนําของมังมหานรธา ทัพหนึ่ง โปสุพลา ทัพหนึ่ง และโปแยงทัพหนึ่ง ได้พากันยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น พระยาตาก (สิน) ขณะนั้นเป็นเจ้าเมืองตาก ได้รับความดีความชอบจากการสู้รบอย่างกล้าหาญที่คอยระวังข้าศึกที่เข้ามาทางเมืองตาก

คราวนั้น พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์เมืองพม่า ได้นํากําลังทหารยกกองทัพจากพม่าเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์นั้นได้ทําให้พระภิกษุเจ้าฟ้าอุทุมพร ที่ผนวชอยู่ได้ลาสิกขาบทออกมาบัญชาการสู้รบ ในฐานะที่พระองค์นั้นทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาก่อน การป้องกันพระนครคราวนั้นทหารได้สู้รบอย่างเข้มแข็งจนสามารถป้องกันพระนครได้

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ ทรงโปรดให้แต่งตั้งให้พระยาตาก (สิน) เจ้าเมืองตาก ขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกําแพงเพชร ให้มีหน้าที่ดูแลและระวังข้าศึกเข้ามาทางด้านเมืองกําแพงเพชร

พระยาตาก (สิน) เจ้าเมืองตาก พร้อมด้วยจ้อย นักมวย (ภายหลัง เป็น หลวงพิชัย) ทหารคู่ใจ และเหล่าทหาร จึงเดินทางจากเมืองตากเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อรับพระราชทานตําแหน่งตามธรรมเนียม การแต่งตั้งขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณ มีข้อสังเกตว่า พระยาตากนั้นน่าจะเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาก่อนหรือหลังจากพม่ายกทัพเข้ามา ด้วยการเข้ามาในช่วงกองทัพพม่าล้อมกรุงแล้ว พระยาตากจะเข้ากรุงศรีอยุธยาได้อย่างไร?

ครั้นเมื่อพระยาตาก และพวกเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระยาตากจึงถูกให้อยู่รักษาพระนครได้ตั้งค่ายรับศึกพม่า ซึ่งขณะนั้น พระเจ้ามังระ กรุงอังวะ(...น่าจะผิด? หรือไม่ก็เป็นกองทัพหน้า) ได้ ส่งกองทัพลงมาตีกรุงศรีอยุธยา ๓ ทัพ สรุปว่าพม่าเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาพอดี

ครั้งหลังสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ทรงเสด็จกลับไปทรงผนวช ณ วัดทองคําหยาด ด้วยทรงเอือมพระทัยในความระแวงสงสัยของสมเด็จพระเชษฐาธิราช จึงทําให้ข้าราชการบริพาร  หมู่มุขอํามาตย์ราชมนตรี ต่างเสียขวัญไม่มีแก่ใจในการที่จะป้องกันรักษาพระนคร เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์นั้น ทรงสําราญอยู่แต่การเสพสุรามัวเมาอยู่กับอิสตรีและดนตรี ไม่ค่อยเอาพระทัยในราชกิจ และไม่มีความเที่ยงธรรมลําเอียงไปกับคําเพ็ดทูลของขุนนางช่างประจบสอพลอ ถึงขนาดฝ่ายทหารจะยิงปืนใหญ่โต้ตอบข้าศึกที่ยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ยังต้องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน

ด้วยเหตุว่าเสียงปืนใหญ่นั้นทําให้บรรดาสนมกํานัลตื่นตระหนกตกใจเสียขวัญ แล้วพากันส่งเสียงวีดว้ายจนพระองค์รําคาญพระทัย จึงเป็นเหตุที่ชวนให้เหล่าทหารทั้งหลายต่างมีความท้อแท้ในการป้องกันพระนครมากขึ้น

กรณีนี้ทําให้พระยาตาก (สิน) พร้อมด้วย หลวงพิชัย ทหารคนสนิท พระเชียงเงิน ขุนอภัยภักดี และหมื่นราชเสน่หา คุมพลที่ฝ่ากําลังรักษาด่านของพม่าทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ในตอนดึกของคืนวันเสาร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ โดยนําพลร่วมใจจากเมืองตากจํานวนมาก (สมัยนั้นใช้คําว่า ๕๐๐ เป็นคําแทนจำนวนมากมายไม่ใช่จํานวนทหาร ๕๐๐ คน เหมือนพูดนับร้อยนับพัน หรือห้าร้อยห้าพันหมื่นแสน)

เหล่าทหารนั้นได้ลอบเข้าตีฝ่าวงล้อมของกองทัพพม่าทางด่านวัดพิชัยออกไปได้ โดยมุ่งหวังเพียงเอาตัวรอดเพื่อที่จะไปรวบรวมกําลัง คิดอ่านแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองในข้างหน้า เรียกว่า ตายดาบหน้า

เมื่อข่าวพระยาตาก (สิน) นํากําลังจํานวนมาก (ห้าร้อยห้าพัน) ออกมาตั้งตัวต่อสู้กําลังพม่านั้นแพร่กระจายไปพร้อมกับข่าวการที่ข้าศึกล้อมตีกรุงศรีอยุธยาจนสามารถยึดเอาพระนครได้นั้น มีความปรากฏใน พระราชพงศาวดารว่า

“ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ (พ.ศ. ๒๓๑๐) เพลาบ่าย 4 โมง พม่ายิงปืนสูง วัดการ้อง วัดแม่นางปลื้ม ระดมเข้ามาในกรุงแล้วเอาเพลิงจุดเชื่อมที่รากกําแพงทรุดลงหน่อยหนึ่ง พม่าก็เข้ากรุงได้แล้วเผาพระราชวังและวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วท้าวพระยาเสนาบดีอพยพครัวทั้งปวงพาไป แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นหนีออกจากพระนครไปแต่พระองค์เดียวได้ความลําบาก ก็ถึงซึ่งพิราลัยไปสู่ปรโลก ชนทั้งปวงจึงเอาศพมาฝังไว้”

บาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อ มองเชนเยอร์ บรีโกต์ ซึ่งถูกพม่า จับตัวได้ในครั้งนั้น ได้เล่าไว้ในจดหมายเหตุ มีความว่า

“เมื่อพม่าเข้ากรุงได้แล้วนั้น พม่าได้เอาไฟเผาบ้านเรือน  ทุบต่อยทำลายข้าวของต่างๆ อยู่ 15 วัน และได้ฆ่าฟันผู้คน ไม่เลือกว่าคนมีเงินหรือไม่มีเงิน ก็ฆ่าฟันเสียสิ้น แต่พวกพม่าพยายามฆ่าพวกพระสงฆ์มากกว่าและได้ฆ่าเสียนับจํานวนไม่ถ้วน

ข้าพเจ้าเองได้เห็นพม่าฆ่าพระสงฆ์ในตอนเช้าเวลาเดียวเท่านั้นกว่า ๒๐ รูป เมื่อพม่าได้เผาบ้านเรือนราษฎรในพระนครตลอดจนพระราชวังและวัดวาอารามหมดสิ้นแล้ว พวกพม่าเตรียมการที่จะยกกลับไป พวกพม่าได้ยกทัพออกจากกรุงเมื่อวันที่ ๑๕ เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๓๖๗ (พ.ศ. ๒๓๑๐)”

ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดเช่นนี้ ข่าวคราวของ พระยาตาก (สิน) หรือพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกําแพงเพชรที่เพิ่งรับตําแหน่งใหม่ (ยังไม่ได้ขึ้นไปเมืองกําแพงเพชร) จึงได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก เพราะเป็นความหวังของคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันกู้ชาติบ้านเมือง ทําให้มีผู้นําไพร่พลมาสมทบกับทหารของพระยาตากจนเป็นกองกําลังขนาดใหญ่

เมืองจันทบุรีนั้นจึงเป็นจุดหมายสําคัญสําหรับความปลอดภัยและมั่นคง ด้วยหัวเมืองตั้งแต่ชายทะเลฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราดนั้น เป็นเมืองที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นส่วนมาก และเป็นเมืองที่พม่าติดตามไปถึงได้ยาก พร้อมกันหากพลาดท่าเสียทีก็มีหนทางหนีไปทางเมืองพุทไทมาศ

ด้วยเหตุนี้ พระยาตาก (สิน) จึงนํากําลังพลทั้งหมดนั้นมุ่งไปตั้งมั่นอยู่ทางทิศตะวันออก ตลอดระยะทางได้ผ่านการสู้รบกับพม่าไปตลอดระยะทาง และได้หยุดประทับที่เมืองระยอง จนพระยาตาก ทราบว่ากรุงศรีอยุธยาถูกเผาย่อยยับ และเสียเมืองแก่พม่าไปเสียแล้ว

เวลานั้นเหล่าทหารหาญ และราษฎรทั้งปวงได้พร้อมใจกันยกย่องให้พระยาตาก (สิน) ขึ้นเป็นผู้นําแผ่นดิน เพื่อกอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมา และพากันเรียกขานว่า “ขุนหลวงตาก” (หรือพระเจ้าตาก)

เหตุการณ์ที่เล่าดังกล่าวนี้ ได้ถูกนํามาเชื่อมโยงเข้ากับตํานานการเกิดของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ซึ่งมีความเล่ากันอย่างละเอียด มีตัวละครเหมือนนวนิยายว่า หมู่บ้านเสม็ด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองจันทบุรีนั้น เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีบ้านเรือนตั้งอยู่นับร้อยหลังคาเรือน ทุกคนมีอาชีพทําสวน และทํานา

พ่อฉุน และแม่ผ่อง ซึ่งมีอาชีพปลูกสวนละมุด (บ้านสวนละมุด) ได้ข่าวคราวเรื่อง พระยาตาก (สิน) รวบรวมกําลังกู้ชาติ มีผู้คนต่างให้ความเชื่อถือมาก ไปถึงที่ไหน หัวหน้าหมู่บ้านก็พาคนมาสมัครเป็นพวกด้วย นักเลงหัวไม้ที่เข้าเป็นพวกด้วยก็มี และที่หนีไปเป็นโจรปล้นสะดมชาวบ้านก็มี

ในขณะนั้นพวกโจรได้ส่งพวกออกไปดูลาดเลาว่า บ้านช่องใครจะมีทรัพย์สินให้ปล้น หากมีลูกสาวก็จะพากันเข้าฉุดเอาไปด้วย ยิ่งเมื่อมีข่าวว่า พระยาตาก (สิน) จะเข้าตีเมืองจันทบุรีด้วยแล้ว พวกโจรก็จะเข้ามาผสมโรงทําการปล้นและฉุดคร่าผู้หญิง

พ่อฉุนและแม่ผ่อง ได้ประมาณแล้วว่า หมู่บ้านเสม็ดนี้ต่อไปจะประสบภัยพิบัติจากเหตุดังกล่าว และประกอบกับลูกบ้านหลายคนได้พากันอพยพทิ้งบ้านกันเสียก่อนแล้ว ดังนั้น พ่อฉุนและแม่ผ่องจึงได้รวบรวมทรัพย์สินที่พอนําติดตัวได้ พาลูกชายลูกสาวเดินทางไปตายดาบหน้า โดยให้พ่อฉายน้องชายคอยดูแลบ้านช่องและส่งข่าวถึงกัน

“พ่อฉุนพานังหนูหลบไปก่อน ข้าจะดูแลบ้านให้ ข้าไม่มีลูกสาวจึงไม่ต้องหนี เจ้าตากนั้นคงจะรบกับเจ้าเมืองจันทบุรีแน่ ด้วยเป็นคนใจคอเข้มแข็งนัก พูดกันไม่ดี ก็คงจะโต้ตอบให้เห็นฝีมือกัน ความเดือดร้อนจะเข้ามาถึงบ้านเราแน่ บ้านเมืองรบกัน พวกโจรมันจะพลอยผสมโรงด้วย”

พ่อฉุน กับ พ่อฉาย สองพี่น้องนี้ ในสมัยเป็นหนุ่มถือว่าเป็นนักดาบคนสําคัญของหมู่บ้านในยามว่างทั้งสองจะประลองดาบต่อกัน ใครแพ้ต้องหุงข้าวเลี้ยงดูผู้ชนะ ผู้ชายทุกคนในสมัยนั้นจึงเรียนรู้เพลงดาบ และวิชารบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมวยไทย พลอง ง้าว หลาว กระบอง ดาบโล่ ดาบสองมือ เป็นต้น คนในหมู่บ้านไม่ว่าชายหญิงจะหาโอกาสเรียนและฝึกไว้ป้องกันตนเองและใช้ช่วยชาติบ้านเมืองยามสงคราม ที่มักจะกะเกณฑ์กําลังผู้คนไปจากหมู่บ้านเสมอ

“ละมุด” เป็นลูกสาวคนหนึ่งในจํานวนลูก ๗ คนของพ่อฉุนและแม่ผ่อง เหตุที่ชื่อ “ละมุด” ก็เนื่องมาจาก แม่ผ่องเป็นคนชอบรับประทานละมุดมาก เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีและหอม เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๒ ก่อนตั้งท้องได้ฝันว่าชาวบ้านที่นับถือตน นําละมุดใส่จานมาให้เป็นละมุดผลใหญ่ เปลือกบางหอมหวานและกรอบ ด้วยความที่ชอบละมุดอยู่แล้ว จึงยินดีและรับประทานไป ๒-๓ ลูก พอดีได้ตั้งท้อง แม่ผ่องจึงปลูกต้นละมุด พอต้นโตใหญ่ แม่ผ่องก็คลอดลูกสาวผิวพรรณงดงาม ชื่อว่า “ละมุด" (บางความว่าชื่อ หงุด แต่ไม่มีที่มาเหมือนเรื่องนี้ ต่อมาสวนละมุดที่ปลูกนั้น เกิดผลละมุดที่มีรสชาติดีและหวานกรอบจนเป็นที่มีชื่อเสียงมาก จนชาวบ้านพากันเรียกขานพื้นที่นี้ว่า บ้านสวนละมุด

ในการอพยพย้ายที่อยู่นั้น “ละมุด” ผู้เป็นพี่สาว และ ผู้เป็นน้องสาวได้แต่งตัวให้ดูคล้ายเป็นผู้ชาย สวมหมวกปีกใหญ่ขึ้นมาตามเกวียนที่พ่อฉุนแม่ผ่องและน้องๆ คอยระมัดระวังภัยที่จะเกิดขึ้นสอง ข้างทาง ส่วนเกวียนอีกเล่มหนึ่งให้ “อาจ” น้องชายขับร่วมไปกับขบวนเกวียนอพยพ

พอเกวียนออกจากหมู่บ้านไปได้สักพักคนที่มาจากพ่อฉายก็ควบม้าเร็วไล่กวดขบวนเกวียนอพยพแจ้งข่าวว่า

“อย่าเพิ่งเดินทางไป ได้ข่าวว่าหนทางข้างหน้าสัก 500 เส้นนั้น พม่ามันคุมกําลังผ่านมาราว ๓๐ คน มีปืนมาด้วย กําลังมีมากกว่าเกรงจะพบกัน ควรหลบซ่อนก่อนไม่แน่ใจว่าพม่าจะไปทางไหน...”

พ่อฉุนกับเพื่อนบ้าน ๕-๖ ครอบครัว จึงพากันหลบซ่อน สักพักหนึ่งก็มีเกวียนชาวบ้านตามมาอีกเป็น ๑๐ ครอบครัว มีคนรวมกลุ่มเป็น ชาย ๑๕ คน หญิง ๑๔ คน และเด็ก ๕ คน ต่างก็พากันหลบซ่อนโดยแยกพักพอมองเห็นกัน

ครั้นเวลาบ่ายเห็นว่าไม่มีใครแปลกหน้าผ่านมา จึงพากันเดินทางต่อไป พอตกค่ำก็ถึงวัดเล็กที่มีพระสงฆ์อยู่องค์เดียวกับเด็กวัด จึงได้พากันไปขออาศัยหลับนอนซึ่งพระสงฆ์ได้เอ็นดูและกระซิบบอกพ่อฉุนว่า

“วัดนี้กลางคืนพวกโจรเคยมาอาศัยนอนเสมอ หากมีข้าวของ สิ่งใดก็ซุกซ่อนให้ดี”

พ่อฉุนได้บอกให้ทุกคนระมัดระวังตัว และสวดมนต์แผ่เมตตา ภาวนาให้พระคุณเจ้าปกป้องคุ้มภัย แม้จะมีคนมาขอข้าวกิน ๓ คนก็ไม่เป็นภัยแต่อย่างใด เมื่อคนแปลกหน้าจากแล้วตอนดึก ม้าเร็วจาก พ่อฉาย ก็ส่งข่าวว่าพวกพม่าแยกไปทางอื่นแล้ว

เช้าวันรุ่งขึ้นทุกคนก็รีบกินข้าวแล้วออกเดินทางต่อโดยนําขบวนเกวียนหลบหนีอันตรายจากโจรผู้ร้ายและพม่าจนเข้าเมืองระยอง ชาวบ้านได้วิตกเรื่องพม่าจะจัดทัพยกมาปราบพระเจ้าตาก (สิน) ต่างปรึกษาว่าจะหันไปอยู่ทางไหนดี บางคนจะขออยู่ที่นั่นก่อน หากพระเจ้าตาก (สิน) รบชนะ ก็จะกลับบ้าน บางคนจะแยกไปสระบุรี อ่างทอง ปทุมธานี เพื่ออยู่กับญาติก่อน

ส่วนพ่อฉุนกับครอบครัวนั้นคิดจะไปอยุธยาเพื่อเยี่ยมญาติผู้เฒ่า เป็นห่วงว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ผู้เฒ่านั้นจะอยู่หรือเป็นตายร้ายดีอย่างไร พ่อฉุนจึงนําครอบครัวมุ่งหน้าไปทางเมืองชลบุรี ได้พบพม่าประมาณ ๒๐ คนถือดาบขวางหน้า

พ่อบ้านแห่งหมู่บ้านเสม็ดกระโดดลงจากเกวียนพร้อมผลักลูกสาวคนเล็กให้หลบอยู่ในเกวียนแล้วตะโกนบอกผู้ชายแยกกันต่อสู้ ไม่ช้านักผู้ชายต่างก็กําดาบประจันหน้าและอีกส่วนหนึ่งอยู่บนหลังม้า ฟังความพอรู้ว่าพม่าต้องการอาวุธและเงินทอง

พ่อฉุนไม่ยอมให้จึงต่อสู้อย่างไม่เกรงกลัว ขณะที่กําลังของพ่อบ้านเสม็ดต่อสู้กับพม่าอยู่นั้น ได้มีเสียงโห่ร้อง และแสงสว่างเข้ามาตีทางด้านหลังของพม่า พม่าเห็นดังนั้นจึงส่งเสียงบอกให้ถอยหลังหนีไป

เสียงโห่ร้องและคบเพลิงที่ตีทางด้านหลังพม่านั้น เป็นอุบายของ “ละมุด” ลูกสาวของ “อาจ” ลูกชาย ที่นํา “สีดา” น้องสาว เอมกับอิ่ม สองพี่น้องคู่ซ้อมดาบของ “ละมุด” หลอกพม่าเมื่อเห็นว่ากําลังน้อยกว่า ดังนั้นในการเดินทางจึงต้องระมัดระวัง อาศัยหลบหนีพม่า หลีกไม่ทันก็ต้องต่อสู้กัน พ่อฉุนใช้เวลาเกือบเดือนจึงพาครอบครัวถึงกรุงศรีอยุธยา

สภาพของกรุงศรีอยุธยานั้นทรุดโทรมมาก ร่องรอยการถูกเผาทําลายและการร้างผู้คน ทําให้พ่อฉุนสลดใจร้องไห้กับสภาพหายนะของเมืองหลวง เมื่อถามหาจึงพบผู้เฒ่าอุ่นเรือนผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ แล้วทั้งหมดก็พักเมืองร้างแห่งนั้น

“วาสนาของบ้านเมืองคงหมดสิ้นแล้วพ่อฉุนเอ๋ย ไม่ว่าใครยกทัพออกไปรบก็แพ้มันหมดกําลังใจ ทหารไม่มี ปืนก็ไม่กล้าที่จะยิงกับมัน เวรกรรมจริงๆ ที่มีแต่คนขี้ขลาดตาขาวกันเกือบทั้งนั้น พระยา ตากหนีออกไป จะสู้กับมันไหวหรือไม่ไหวก็ไม่รู้ เจ้าพระคุณขอให้พระยา าตากได้ต่อสู้กู้บ้านเมืองให้ได้เถอะ” ผู้เฒ่ายกมือท่วมหัวด้วยความหวังสุดท้าย

“อาอุ่นเรือน ไม่ต้องห่วงพระยาตากตีได้เมืองระยองแล้ว โดยไม่ถึงกับรบกันใหญ่โตเจ้าเมืองเขายอมแพ้ เวลานี้พระยาตากจะยกกําลังเข้าตีเมืองจันทบูรและคงตีได้ อาอย่าวิตกเลย ตลอดทางมีแต่คนชมบุญบารมีกันทั้งนั้น” พ่อฉุนเล่าเรื่องพระยาตาก (สิน) ให้ฟัง

เรื่องนี้เล่าอย่างละเอียดลออห่อหมกดี ส่วนจะเชื่อแค่ไหนนั้น เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ความสรุปก็ตรงที่ ตายายของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต คือ พ่อฉุน แม่ผ่องนั้นเป็นคนหมู่บ้านเสม็ด เมืองจันทบูร (จันทบุรี) มีลูกสาวชื่อ ละมุด ซึ่งต่อไปนั้นเป็นมารดาของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ซึ่งพากันอพยพไปยังอยุธยาเพื่ออาศัยญาติ ก็คงจะประมาณว่ามาอยู่ที่แถววัดไก่จ้น เพื่อให้เข้าเรื่องนั่นแหละ

ความตอนนี้หากเทียบกันทางประวัติศาสตร์แล้ว เป็นเหตุการณ์เมื่อคราวพระยาตาก (สิน) ทรงนําทหารไทยจีน ที่ชุมพลสู้ข้าศึกอยู่ที่วัดพิชัยแล้วตีหักด่าน เมื่อเดือน ยี่ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ ต้องใช้เวลา เดินทางรอนแรมต่อสู้พม่าปราบโจรและปราบหัวเมืองที่แข็งขัน จนสามารถรวมพลได้ ๕,๐๐๐ คนนั้น ใช้เวลาถึง ๕ เดือน โดยตั้งมั่นอยู่ที่ เมืองระยอง

ครั้งสุดท้ายก่อนจะบุกตีเข้าเมืองจันทบูร (จันทบุรี) นั้น เนื่องจาก ขุนราม หมื่นช่องและพวกเหล่าร้ายจากเมืองระยองได้หนีไปเข้าด้วยกับพระยาจันทบูร ครั้งนั้นพระยาตาก (สิน) ได้ส่งตัวขุนรามหมื่นช่องไปเพื่อจะได้เป็นไมตรีต่อกัน จนพระยาจันทบูรรับทําตามและเชิญ พระยาตาก (สิน) เสด็จเข้าไปในเมือง

แต่ครั้งหลังพระยาจันทบูรได้ใช้หลวงปลัดออกมาแจ้งเหตุการณ์ขัดขืน ว่า “ซึ่งพระยาจันทบูรจะไม่ตั้งอยู่ในสัตย์สวามิภักดิ์นั้นหามิได้ จะใคร่ส่งขุนรามหมื่นซ่อง ออกมาถวายอยู่แต่คนทั้งสองนั้นกลัวพระอาญาด้วยตัวเป็นคนผิดจะออกมาเฝ้ามิได้”

พระยาตาก (สิน) จึงตรัสว่า “พระยาจันทบูรมิได้ตั้งอยู่ในสัตย์ ไม่ยอมเป็นไมตรีด้วยเราแล้วเห็นว่าขุนรามหมื่นช่องจะป้องกันเมืองไว้ได้ ก็ให้ตกแต่งบ้านเมืองให้มั่นคงเถิด เราคงจะตีเอาให้จงได้แล้วตรัสสั่งให้ หุงอาหารกินพร้อมแล้ว เหลือนั้นให้สาดเสียเทเสียจงสิ้นไปในเพลา กลางคืนวันนี้เร่งเข้าตีเอาเมืองจันทบูรให้จงได้ เข้าไปกินข้าวเช้าเอาในเมือง แม้นมิได้เมืองก็จงตายเสียให้พร้อมกันทีเดียวเถิด

ครั้นค่ำลงเพลาประมาณยามสาม จึงตรัสสั่งให้ยกทัพบ่ายหน้าต่อทิศอีสานเข้าตีเมืองจันทบูร จัดพลทหารไทยจีนลอบเข้าไปประจําด้านอยู่ทุกด้าน กําหนดเวลาเมื่อจะเข้าอย่าให้โห่ร้องขึ้นก่อน ต่อเข้าเมืองได้แล้วจึงให้โห่ขึ้นพร้อมกัน จึงเสด็จทรงช้างพระที่นั่งตั้งขนานนาม “พังคีรีบัญชร” ขับเข้าทําลายประตูเมือง พลชาวเมืองซึ่งรักษาประตูและป้อมเชิงเทินนั้นก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกมาดังห่าฝน ด้วยเดชะพระบารมีกระสุนปืนหาถูกผู้ใดไม่ ควาญท้ายจึงเกี่ยวช้างพระที่นั่งให้ถอยออกมา ก็ทรงเงื้อพระแสงดาบขึ้นจะฟันควาญท้าย ควาญท้ายร้องทูลขอชีวิต  จึงทรงกฤชแทงช้างพระที่นั่งขับเข้าทําลายประตูเมืองพังลง ทหารหน้าช้างเข้าไปในเมืองได้แล้วโห่ร้องขึ้นพร้อมกันตามสัญญา และพวกชาวเมืองหน้าที่อยู่นั้นก็ตื่นแตกหนีออกจากเมือง พระยาจันทบูรก็พาบุตรภรรยา หนีออกจากเมืองลงเรือแล่นไป ณ เมืองพุทไธมาศ พวกพลไทยจีนเข้าไปจับได้ครอบครัวและได้ทรัพย์สิ่งของทองเงิน ปืนใหญ่น้อย เครื่องศัสตราวุธต่างๆ เป็นอันมาก”

พระยาตาก (สิน) ยกทัพเข้าเมืองจันทบูรในวันอาทิตย์ เดือน ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ (๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๑๐) ภายหลังที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าไปแล้ว ๒ เดือน

เหตุการณ์ช่วงนี้คงเป็นเวลาเดียวกับที่พ่อฉุนและครอบครัวไปอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่เช่นนั้น พ่อฉายคงจะไม่ส่งม้าเร็วบอกข่าวมาถึงพ่อฉุนได้ว่า “ให้พ่อฉุนหาที่ทางทํากินใหม่เถิด เพราะบ้านเก่านั้นหลังจากที่พระเจ้าตาก (สิน) ตีได้เมืองจันทบูรแล้วก็เลยไปตีเมืองตราด จึงทําให้พวกของเจ้าเมืองจับผิดคนในหมู่บ้านว่าเอาใจไปใส่กับพระเจ้าตาก (สิน) เมื่อบ้านใดไม่มีคนอยู่ก็คิดพาลไปว่าได้ไปกับพระเจ้าตาก (สิน) หมดแล้ว พรรคพวกคนพาลจึงพากันไปอยู่ยึดเป็นเจ้าของ แม้ใครจะว่ากล่าวอย่างไรก็ทําเฉย พวกโจรผู้ร้ายมีมากขึ้น จนตั้งตัวกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ถ้าพ่อฉุนเห็นว่าเมืองไหนไม่มีภัยก็ให้ไปอยู่ที่นั่นเถิด อย่าเพิ่งกลับบ้านเลย พวกนักเลงชั่วมันมาก”

พ่อฉุนจึงพาครอบครัวเดินทางไปทางเมืองอ่างทอง เมืองอุทัยธานี เมืองสะพานหิน และเมืองพิจิตร เข้าไปขออยู่ที่เมืองกําแพงเพชร เนื่องจากเจ้าเมืองกําแพงเพชรนั้นเป็นเพื่อนเก่ากับพ่อฉุน (เจ้าเมืองกําแพงเพชร น่าจะเป็นคนใหม่ที่ขึ้นไปแทนพระยาตากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาวชิรปราการแล้ว อยู่รักษาพระนครยามช่วงพระนครมีศึกสงคราม หรือไม่ก็เป็นปลัดเมืองกําแพงเพชรที่รักษาราชการแทน)

ครอบครัวของพ่อฉุนได้ยึดอาชีพทํามาค้าขายที่เมื่องกำแพงเพชร ทําให้ลูกของพ่อฉุนได้เรียนและฝึกเพลงดาบกับเจ้าเมืองจนมีฝีมือและช่วยเหลือเจ้าเมืองรบขับไล่พม่าที่บุกรุกเข้าดินแดน พออยู่ได้ ๓ ปี พ่อฉุนพอมีฐานะจึงอยากมีบ้านมีสวนอย่างที่เคยทำสวนอยู่ที่หมู่บ้านเสม็ด

ครั้นเมื่อมีเพื่อนจากเมืองพิษณุโลกพาไปเที่ยวก็นีึกชอบใจที่ดินซึ่งที่เป็นสวนเก่าของพ่อเฒ่าสีกับแม่เฒ่าตวน ซึ่งได้ตกลงแบ่งขายให้ครึ่งหนึ่ง เป็นสวนที่มีมะพร้าว ขนุน กล้วย หมาก พลู และอยู่ไม่ไกลจากเมืองพิษณุโลกนัก

พ่อฉุนพาครอบครัวมาอยู่ที่สวนเมืองพิษณุโลกแห่งนี้เมื่อ ๒๓๑๕ แม่ผ่องได้นําพันธุ์ละมุดและต้นอ่อนปลูกเป็นสวนละมด รสชาติดีและหอมหวานเหมือนบ้านสวนละมุด ที่เมืองจันทบูร ส่วนหน้า บ้านหลังใหม่แม่ผ่องได้ปลูกต้นมะลิ ออกดอกขาวสะอาดส่งกลิ่นหอมไปทั่วบ้าน ครอบครัวนี้ได้ช่วยกันทําสวน ค้าขาย ไปมาหาสู่กับชาวเมื่องจนเป็นที่รักใคร่นับถือของคนทั่วไป

สรุปแล้วตํานานเรื่องนี้ ได้เล่าให้พ่อฉุน แม่ผ่อง นางละมุด มาอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ทําสวนละมุดเช่นเดิม ไม่ได้อยู่อยุธยาที่ไก่จนกับญาติ ต่างจากตํานานบางแห่งว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้นเกิดที่บ้านไก่จัน แขวงอยุธยา

พระยาตาก (สิน) นั้นหลังจากที่พระองค์นํากําลัง ๕,๐๐๐ คน ตีด่านธนบุรี ซึ่งมีนายทองอิน คนของพม่าดูแลอยู่ แล้วยกกําลังเข้ายึดกองบัญชาการใหญ่ของพม่าที่สุกี้พระนายกอง แม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น จนสามารถยึดอํานาจกลับคืนมาได้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งต่อมานั้นพระยาตาก (สิน) ได้สถาปนาตั้งกรุงธนบุรีราชธานีและเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๑ ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาหัวเมืองต่างๆ ได้แยกตัวเป็นใหญ่ จึงเป็นภารกิจแรกที่กษัตริย์องค์ใหม่นั้นจะต้องสู้รบปราบชุมนุมต่างๆ เพื่อรวมความเป็นปึกแผ่นของชาติกลับคืนมา โดยมี พระพิชัย (จ้อย) พระมหามนตรี (นายสุดจินดา) และ พระราชวรินทร์ (หลวงยกกระบัตร หรือ นายทองด้วง) สองพี่น้องเป็นทหารคนสําคัญ

สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือพระเจ้าตากสิน ทรงสะสางกิจการบ้านเมืองจนเป็นระเบียบและทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่สูญหายให้กลับคืนดังเดิม ขยายอาณาเขตกว้างขวางและโปรดตั้งเจ้าเมืองกรมการให้ออกไปครองหัวเมืองใหญ่น้อย ซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตใกล้ๆ นั้นทุกเมือง พร้อมกับให้ตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมอาณาประชาราษฎรที่แตกฉานช่านเซ็นไปนั้นให้กลับมาอยู่ตามภูมิลําเนาเหมือนแต่ก่อน ครั้งนั้นพระองค์ทรงนํากองทัพออกกู้ชาติด้วยกองทัพเรือที่มีพลเมือง ๕,๐๐๐ คนเศษ

พระองค์ ได้ทําการปราบปรามชุมนุมต่างๆ จนรวบรวมแผ่นดินไทยเป็นปึกแผ่นได้ในที่สุด ด้วยการรบของยอดทหารเสือที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ตามลําดับ คือ

พระมหามนตรี (บุญมา) ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยาอนุชิตราชา จางวางตํารวจฝ่ายซ้าย พระยายมราช และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ครองเมืองพิษณุโลก

พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางพระตํารวจฝ่ายขวา พระยายมราช และเจ้าพระยาจักรี

พระพิชัย (จ้อย) ข้าหลวงเดิมเป็นพระยาพิชัย (คือ พระยาพิชัยดาบหัก ที่รู้จักกัน) เจ้าเมืองพิชัย (บ้านเกิดของนายจ้อย) ซึ่งยกฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสําคัญ

ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๗ อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพของพม่า ซึ่งเป็นแม่ทัพอาวุโส อันดับรองของพระเจ้าแผ่นดินพม่านั้นได้ยกทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แล้วตีเอาหัวเมืองตัดกําลังหัวเมืองสําคัญทางเหนือของไทยซึ่งมีเมืองพิษณุโลกเป็นศูนย์กลาง

ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรีได้รับพระบรมราชโองการให้นํากําลังขึ้นไป สมทบกับเจ้าพระยาสุรสีห์ พิษณุวาธิราช ผู้สําเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือที่เมืองพิษณุโลก ส่วนกองทัพพม่านั้นได้นําไพร่พล ๓๕,๐๐๐ คน กระจายกําลังแยกย้ายออกตระเวนตีหัวเมืองต่างๆ เช่น เมืองกําแพงเพชร เมืองสุโขทัยและเมืองพิษณุโลกนั้นได้ถูกกองทหารพม่าเข้าทำการสู้รบไปพร้อมกัน เจ้าเมืองกําแพงเพชรได้ระดมเรียกผู้คนออกสู้รบว่าเป็นลูกศิษย์ชายหญิงของเจ้าเมือง) ในจํานวนนั้นมี “ละมุด" และ “อาจ” น้องชาย เข้าเป็นกําลังสู้รบ ซึ่งเล่าว่าทั้งสองนั้นเคยสู้รบขับไล่พม่ามาแล้วด้วย

กองทัพของอะแซวุ่นกี้ได้ยกเข้ามาทางเมืองตาก เมืองกําแพงเพชรจํานวนมากจนกรมการเมืองเห็นเหลือกําลังที่จะตั้งรับ จึงพากําลังและครอบครัวเข้าป่าซุ่มโจมตี เมื่อทัพพม่าผ่านไปแล้ว เจ้าเมืองกําแพงเพชร จึงได้นํากําลังที่ซุ่มอยู่ในป่าขับไล่ตีทัพหลังของพม่า จนถอยร่นไปทางเขตเมืองสุโขทัย

ขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ได้นํากําลังติดตามกองทัพพม่าที่มาจากเชียงแสนและรุกไล่ข้าศึกแตกพ่ายมาถึงด้านใต้ เมืองสุโขทัย ก็เห็นทหารของเจ้าเมืองกําแพงเพชรต่อสู้อยู่กับกองทหารพม่าอย่างอาจหาญ

แม่ทัพทั้งสองได้เห็นเด็กหนุ่มสองคนเข้าต่อสู้ตัวต่อตัวกับพม่า แม้ร่างกายจะเล็กกว่าพม่าก็มีทีท่าว่องไว นึกนิยมชมชอบฝีมืออยู่ พอดีขณะนั้นกําลังทหารของเมืองสุโขทัยได้ออกมาช่วยรบขับไล่ทหารพม่า ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการสู้รบ ปลัดเมืองกําแพงเพชรจึงได้โอกาสนําสองคนพี่น้องคือ ละมุด กับ อาจ นั้นถวายตัวต่อแม่ทัพทั้งสอง

เจ้าพระยาจักรี ได้ถามว่า “ไอ้หนุ่มสองคนนั้นลูกศิษย์ใคร ใจมันกล้าและมีฝีมือคล่องแคล่วว่องไวนัก”

“เป็นศิษย์ของเจ้าเมืองกําแพงเพชร แต่อยู่ที่เมืองพิษณุโลกนี่เอง ได้ออกมารบช่วยเจ้าเมือง”

เวลานั้นกองทัพพม่าได้หวนยกทัพกลับเข้ามาตีกองทัพไทยอีกครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรีห์ฯ จึงช่วยกันรบจนพม่าถอยหนีออกไป จากนั้นเจ้าพระยาทั้งสองก็นํากําลังเข้าไปรักษาเมืองพิษณุโลก ส่วนละมุดและอาจน้องชาย หลังจากช่วยเจ้าเมืองกําแพงเพชรรบแล้วก็ลากลับบ้านที่เมืองพิษณุโลก

เจ้าพระยาจักรีได้นํากําลังเข้าไปจัดแจงเมืองพิษณุโลก โดยให้กองกําลังของพระยาสุโขทัย พระยาอักษรวงศ์ พระยาพิชัยสงคราม ยกไปรับทัพพม่าที่บ้านกงธานี ส่วนเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพบัญชาการรบกับพม่าอยู่ที่บ้านไกรป่าผาก ทําการตั้งรับอยู่ ๓ วัน เมื่อเห็นว่ากําลังพม่ามีจํานวนมากเหลือกําลังสู้รบ จึงถอยเข้ามาตั้งหลักอยู่ในเมืองพิษณุโลก เช่นเดียวกันกําลังกองทัพไทยที่บ้านกงธานี เมื่อกองทัพพม่าตีเมืองสุโขทัยได้แล้ว ก็ถูกตีแตกจนต้องถอยตั้งหลักในเมืองในที่สุด

กองทัพพม่านั้นได้เข้าล้อมเมืองพิษณุโลกในเดือนอ้าย ข้างขึ้น โดยมีเจ้าพระยาทั้งสองป้องกันเมืองอย่างเป็นสามารถ ทหารพม่าได้พยายามที่จะขุดอุโมงค์เข้าไปในเมืองพิษณุโลกเพื่อเผาเมือง โดยขุดจากค่ายของตนเข้าไปโผล่ที่กลางเมือง ส่วนฝ่ายทหารไทยก็เช่นกัน ได้วางแผนที่จะบุกค่ายพม่าที่กลางค่ายเช่นกัน จึงขุดอุโมงค์ใต้ดินกันทั้งวันทั้งคืน ปรากฏว่าช่องทางอุโมงค์ที่พม่าขุดนั้นโผล่มาตรงที่อุโมงค์คนไทยขุดไว้พอดี ฝ่ายพม่าเห็นอุโมงค์ทะลุถึงกันก็พากันพรวดพราดออกมาให้ทหารไทยจับได้หลายสิบคน

ขณะที่พม่าล้อมเมืองพิษณุโลกนั้น ละมุด ได้แต่งกายเป็นชายใช้ชื่อ “องค์” และ “อาจ” น้องชาย ทั้งสองคนพากันสมัครเป็นทหารอาสาช่วยเมืองพิษณุโลกสู้รบกับข้าศึก ครั้งหนึ่งเมื่อเจ้าพระยาจักรี พระยาสุรสีห์ ยกกําลังออกตั้งค่าย ได้เกิดการสู้กับกับพม่าอย่างประชิดตัวด้วยอาวุธสั้น สองพี่น้องนั้นได้ติดตามไปกับกองทหารของเจ้าพระยาทั้งสองด้วย

ครั้นเมื่อเจ้าพระยาจักรีถูกรุมล้อมด้วยทหารพม่า สองพี่น้องจึงเข้าสู้รบช่วยอย่างอาจหาญ แม้ว่ากําลังของทหารพม่าจะมีกําลังมากกว่าก็ไม่ย่อท้อ ขณะนั้นฝนได้ตกหนักท้องฟ้ามืดครื้ม เจ้าพระยา กําดาบหวดซ้ายป่ายขวาไม่ให้ข้าศึกเข้าประชิดตัวได้ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ทหารหนุ่มสองพี่น้องนั้นตกอยู่ในวงล้อมและต่อสู้กับพม่าจนอ่อนกําลังลง

เจ้าพระยาจักรีสามารถปัดดาบของข้าศึกได้ จึงจะเข้าไปช่วยสองพี่น้อง แต่ในพริบตานั้นสองพี่น้องก็แก้เชิงหลุดจากวงล้อมด้วยดาบคู่ทั้งสองมือ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาถึงชั้นเชิงการสู้รบชั้นเชิงด้วยเพลงดาบที่คล่องแคล่ว พอดีจังหวะนั้นกําลังกองทัพของเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ยกเข้าตีกระหนาบหลังเข้ามา ทําให้ทหารพม่าแตกพ่ายหนีไป กองทัพไทยจึงยึดค่ายกลับคืนได้ จากนั้นก็พาทหารกลับเข้าเมืองพิษณุโลก

เหตุการณ์สู้รบกลางฝนตกหนักดังกล่าวนั้น ได้ทําให้เจ้าพระยาจักรีถึงกลับล้มป่วยเช่นเดียวกับเหล่าทหารหาญหลายคน นายกอง “ทองอยู่” ได้จัดให้ทหารอาสาสมัคร “องค์” และ “อาจ” สองพี่น้องคอยปรนนิบัติ ดูแลแม่ทัพใหญ่ ซึ่งเป็นไข้หวัด ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่

ละมุด หรือ องค์ นั้นได้ให้อาจน้องชายรับใช้ใกล้ชิดอยู่ข้างใน ส่วนตนเองนั้นคอยรับคําสั่งอยู่ด้านนอกที่จะใช้ให้ไปตามใครหรือสั่งการอะไร เจ้าพระยาจักรีนั้นเห็นหน้า “อาจ” เด็กหนุ่มที่เข้ามารับใช้นั้น แล้วก็มีความสงสารที่คนหนุ่มสองคนนั้นมาสู้รบในยามศึกจวนตัว จึงถามว่า

“คนที่หน้าตาคล้ายเจ้านั้นเป็นอะไรกัน”

“เป็นพี่ของข้าเอง” อาจหนุ่มทหารอาสาสมัครตอบ

“เจ้าสองคนยังเด็กนัก จงกลับไปดูแลพ่อแม่เถิด ข้าหายแล้วก็จะตีฝ่าออกไปเจ้าอย่าห่วงข้าเลย วันหน้าคงได้พบหน้ากันอีก ค่ำวันนี้เจ้าจงแอบออกไป มีอุโมงค์ลับที่จะออกไปได้ อยู่ทางท้ายโรงม้า เอ็งพาพี่ของเอ็งไปเถิด ไปได้แล้ว ข้าอวยพรให้เอ็งออกไปพบพ่อแม่ได้โดยตลอดรอดฝั่ง”

“อาจ” รับคําแม่ทัพแล้วรู้สึกขอบพระคุณรีบกราบออกมาชวนพี่สาวหลบหนีออกไปจากเมืองพิษณุโลก แต่ละมุดเห็นว่าในยามเช่นนี้ควรจะอยู่ช่วยทําการรบต่อไปจึงไม่ได้คิดหนีกลับบ้าน

ต่อมากองทัพไทยซึ่งถูกพม่าปิดล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่นั้นเกิดอัตคัดเสบียงอาหารและต้องสูญเสียพลในการรักษาพระนคร ส่วนกองทัพพม่านั้นยังสามารถตระเวนออกหาอาหารได้และคอยซุ่มตี ชิงเสบียงฝ่ายไทยอยู่ได้

อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพนั้นแม้จะระดมกําลังเข้าตีหักเอาเมืองพิษณุโลกครั้งใด ก็เป็นต้องถูกเจ้าพระยาทั้งสองช่วยกันนําทหารออกมาทําการรบ ฆ่าฟันพลให้สูญเสียอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุที่ทําให้ อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าอยากดูตัวแม่ทัพไทยจึงขอเชิญพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ แม่ทัพออกไปพบกัน พร้อมกับกล่าวสรรเสริญยกย่องความปรีชา สามารถของเจ้าพระยาสองพี่น้อง มีความในพระราชพงศาวดารว่า

 อ่านต่อ>>

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้