สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๕.๓ ตำนานพระผงสมเด็จ (ต่อ)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๕.๓ ตำนานพระผงสมเด็จ (ต่อ)

๑๐. ผงอิธะเจ สูตรทําผงอิธะเจในหนังสือคัมภีร์พระเวทตติยะ บรรพว่าได้อย่างพิสดาร ใครนึกขลังอยากทําได้ ข้อสําคัญต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามแบบแผนจึงสําเร็จผลดังประสงค์ มิเช่นนั้นอาจผิดครูเสียสติกลายเป็นบ้าได้ง่ายๆ ส่วนจะมีประสิทธิภาพอย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับพลังจิตของพระคณาจารย์แต่ละองค์

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เวลาประกอบพิธีทําผงอิธะเจแต่ละครั้ง พระคุณท่านจะทําได้พิเศษยิ่งยวดอย่างไรนั้น ไม่มีใครเคยพูดถึงหรือเล่าให้ฟัง ได้ยินเพียงคําพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดว่าผงของท่านทรงคุณภาพทางเมตตามหานิยมอย่างหาที่เปรียบมิได้ พระคณาจารย์อื่นๆ ปลุกเสกผงอิธะเจเข้าขั้นมาตรฐานก็มีหลายรูป แนวปฏิบัติที่ต้องทําอย่างเคร่งครัด ผิดพลาดตกหล่นไม่ได้แม้แต่นิดเดียวมี ๔ อย่าง คือ ตั้ง-ตัด-เรียก-ลบ

ตั้ง หมายถึงการเขียนตัวอาคม (อักษรขอม) เต็มตามจํานวน บนกระดานชนวน

ตัด หมายถึง ตัดตัวอาคมตัวใดตัวหนึ่งออก

เรียก หมายถึง เรียกชื่อตัวอาคมทีละตัวๆ ตามลําดับ

ลบ หมายถึง ลบตัวอาคม อย่างหนึ่งแล้วบังเกิดตัวอาคมอีกตัวหนึ่ง หรือลบตัวอาคมทั้งหมดแล้ว เปลี่ยนสภาพเป็นมิติอื่น เช่น ตั้งตัว อิติ แล้วตัดออกเรียกชื่อตัว อิ ตั้งตัดเรียกลบไปเรื่อยๆ ไม่ขาดระยะจนบังเกิดเป็นองค์พระเป็นอัฑฒจันทร์และอุณาโลมลบองค์พระอัฑฒจันทร์อุณาโลมบังเกิดเป็นอุณาโลม เพิ่มขึ้นอีก ๕ รวมเป็น ๖ อัน แล้วลบอุณาโลมเหล่านั้นออกเสีย จึงบังเกิดเป็นนิพพาน

กิริยาที่ ตั้ง-ตัด-เรียก-ลบ จากมิติหนึ่งสู่อีกมิติหนึ่ง จนถึงขั้นเป็นนิพพานมหาสูญต้องภาวนาคาถาเป็นคาบๆ กํากับแต่ละบททุกครั้งไป จึงเป็นอันยุติได้ว่าสูตรท่านมีมาอย่างไรก็ทําไปตามสูตรนั้นเป็นไม่ผิด พลาด ท่านผู้มีความชํานาญสําเร็จทางอาคมอย่างสูง ขณะเรียกอักขระ มาตั้งบนกระดานอักขระย่อมปรากฏเหมือนลอยเป็นแถวเรียงหนึ่งมาจากนภากาศและลอยกลับ ในขณะลบเพื่อเก็บเศษผลคาถาอิธะเจมีคำเต็มว่า “อิธะเจตะโสทัฬ หังคัณหาหิถามสา” ขอนําความบางตอนจากคัมภีร์พระเวทมาประกอบคําชี้แจงดังนี้

สิทธิการิยะ ถ้ากุลบุตรผู้ใดจะกระทําผงอิธะเจตามพระมูลกัจจายนสูตรนี้ จึงให้จัดเครื่องบูชาคํานับครู มีดอกไม้ ธูปเทียนอย่างละ ๕ หัวหมู ๒ บายศรีปากชามสํารับ ๑ เครื่องกระยาบวชเท่าที่จะหาได้ คือขนมต้มขาว ขนมต้มแดง มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำไทย เงินบูชาครู อย่างต่ำ ๖ สลึง อย่างกลาง ๖ บาท อย่างสูง ๒๒ บาท แล้วเอากระดาน และดินสอที่จะกระทํานั้นไว้กับเครื่องบูชานั้น พึงจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย ให้ระลึกถึงครูผู้เป็นเจ้าของตํารานี้ จึงกล่าวคาถานมัสการ ฯลฯ

นี้เป็นเพียงมูลบทของสูตรทําผงอิธะเจคงพอมองเห็นเป็นรางๆ ว่าท่ามกลางกลิ่นธูปควันเทียนและดอกไม้ อันหอมตลบอบอวลทั่วสถานที่ทําพิธี สมมุติให้ตัวเรานั่งเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สํารวมจิตระลึกถึงพระรัตนตรัยคุณครูบาอาจารย์ระงับอารมณ์กระเจิดกระเจิงฟุ้งซ่านกับสิ่งภายนอก หันมาจดจ่อยึดมั่นในคาถาอาคม เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิได้ที่ดีแล้วจึงลงมือทําคงได้ลงอิธะเจขนานแท้แน่นอน

๑๑. ผงปถมัง การทําผงตามสูตรในพระคัมภีร์ปถมังนี้ จัดว่าเกินวิสัยของสามัญมนุษย์ไม่เบา เพราะวิธีการทุกอย่างคล้ายข้อปฏิบัติในพระกรรมฐาน พระมหาเถระผู้เฒ่าเจ้าของคัมภีร์บอกว่าเป็นสูตรเลี่ยงบารมี ใครทําได้อย่างครบเครื่องถือว่าไม่เสียแรงเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาฟังตามฝอยแล้ว ให้คิดอยากทดลองบ้าง สมณพราหมณารย์เจ้ามหากษัตริย์ พระเถระเณรชี แม้สตรีเพศทําได้ทั้งนั้น ท่านประสิทธิ์ประสาทไม่จํากัดบุคคลหรือเพศพรรณ ค่อนข้างยากตรงที่ต้องปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ทั้งภายนอกและภายใน ร่างกายจิตใจสกปรกห้ามทํา ขืนทําก็ไม่ได้ผงปถมังมีพลังฤทธิ์อันสะอาด ดีไม่ดีเจ้าตัวอาจผิดของผิดของผิดครูเกิดวิปริตกลายเป็นมนุษย์ครึ่งคนครึ่งผีจะลําบาก

การกโยคีสังเกตว่าเล็บยาว หนวดยาว ผมยาวต้องตัดหรือโกนให้เรียบร้อย ร่างกายสกปรกมอมแม จึงอาบน้ำชําระให้สะอาดสะอ้าน เครื่องนุ่งห่มต้องซักฟอกให้สะอาดปราศจากกลิ่นเหม็นสาบสาง ถ้าเป็นคฤหัสถ์ควรนุ่งขาวห่มขาวพาดสไบเฉียง แบบชีพราหมณ์พรหมบุตรจะเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ขึ้น สถานที่ประกอบพิธีต้องเก็บกวาดเช็ดถูให้หายสกปรกรุงรัง ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครมรบกวนโสตประสาทให้หงุดหงิดรําคาญใจ เป็นโบสถ์ป่าช้าหรือถ้ำอันสงบเงียบไม่จุ้นจ้านวุ่นวายยิ่งดี

เมื่อร่างกายและสถานที่สะอาดเรียบร้อยแล้ว จึงทําบุรพกิจ เบื้องต้นด้วยการตั้งเครื่องบูชาบวงสรวง มีบายศรีปากชามหนึ่งสํารับ เงิน ๖ บาท ผ้าขาวหนึ่งผืน ขันน้ำล้างหน้าหนึ่งใบ เมี่ยงหมากดอกบัวสิ่งละ ๕ เล่ม เท่าจํานวนพระเจ้า ๕ พระองค์ แป้งหอมน้ํามันหอม (น้ํามันจันทน์) สําหรับเจิม

เสร็จกิจเบื้องต้นแล้ว พึ่งเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัย จุดเทียนธูป บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์เจ้าของคัมภีร์ สงบใจ ปลดความรู้สึกต่ออารมณ์หยาบๆ ภายนอกให้หมดไป ใส่ใจถึงกุศล ศีลทานที่ได้สั่งสมอบรมไว้ อัญเชิญมาเป็นบารมีเพิ่มพลังจิตให้เข้มแข็ง องอาจกล้าหาญ แล้วจึงนมัสการไหว้ครู คือ พระเจ้า ๕ พระองค์ พร้อมกับมอบร่างกายถวายชีวิต กระดูกเลือดเนื้อและหัวใจแด่พระรัตนตรัยเจ้าทั้ง ๓ ประการ คือ พระคาถาในสูตรปถมัง

การกโยคีทําถูกวิธีดังนี้แล้ว เมื่อเกิดเหตุเภทภัยในระหว่างพิธี ก็ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงทําลายตบะของตนง่ายๆ เพราะมุ่งหวังให้เป็นผลดีแก่พระศาสนา โยมุขอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทําแบบเหตุปัจจะโดยอาศัย พอเป็นเครื่องมือทํามาหากิน ถ้าเป็นอย่างว่า ต่อให้ทําตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ไม่ได้ผงปถมังชั้นหนึ่ง นอกจากคําครหาค่อนขอดภายหลัง และสร้างจุดเสื่อมแก่วงการพระเครื่องเพราะมือไม่แน่จริง

การกโยคีใจบริสุทธิ์จงรักภักดีต่อพุทธศาสนาทําด้วยกุศลเจตนาโดยตลอดเหมือนผู้บําเพ็ญฌานสมาบัติ ถือว่าบารมีถึง ฟังเหตุมีใจเป็นกลางในคนและสัตว์ทุกหมู่เหล่า อย่างผู้หยั่งถึงแก่นแท้ของศาสนา สําเร็จรูปออกมาเป็นผงปถมังแม้จะยังไม่เป็นองค์พระก็อาจสามารถนําไปใช้ป้องกันภัยเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย อุปัทวอันตรายทั้งปวง และอาจป้องกันสรรพศาสตราวุธ เช่น หอก ดาบ แหลน หลาว จ้าว ทวน ปืนผาหน้าไม้ เป็นต้น เพราะอานุภาพแห่ง อาคมขลังโดยการกโยคีผู้สําเร็จบารมีดําเนินการตามฌานสมาบัติ

เริ่มทําต้องเสกดินสอผสมด้วยสิ่งมงคล เช่น ดินแสงอรุณ ดินสอพองขาวบริสุทธิ์ ดินจากสังเวชนียสถาน ๔ ตําบล เป็นต้น ปั้นทําให้เป็นแท่งใหญ่เล็กสั้นยาวตามต้องการ เขียนรูปพินธุก่อนแล้วลากเส้นเป็น ทัณฑะ-เภทะ-อังกุ-สิระ ตามลําดับ ทุกขณะที่ลากเส้นเสร็จต้องเสกคาถาเฉพาะบทกํากับเรื่อยไปขาดตอนไม่ได้ ต่อไปจึงลบปถมังพินธุ บังเกิดเป็นตัว “นะ” ลบทัณทะบังเกิดเป็นตัว “โม” ลบเภทะบังเกิดเป็น ตัว “พุท” ลบอังกุบังเกิดเป็นตัว “ธา” ลบสิระบังเกิดเป็น “ยะ”  สําเร็จรูปเป็น “นะโมพุทธายะ” หมายถึง พระเจ้า ๕ พระองค์ แล้ว กล่าวคาถานมัสการพระเจ้า ๕ พระองค์ดังนี้ “นะกาโร กุกกุสันโธ โมกาโร โกนาคะมะโน พุทกาโร กัสสะโป พุทโธ ธากาโร โคตะโม พุทโธ ยะกาโร อะริยะเมตตัยโย ปัญจพุทธา นะมามิหัง”

เสร็จแล้วกล่าวคาถาขึ้นฌาน ๑-๒-๓-๔ แบ่งพระเจ้า ๕ พระองค์ เป็นขันธ์ ๕ คือ รูป-เวทนา- สัญญา-สังขาร-วิญญาณ อีก ๓ คาบ จึงบริกรรมลบนะโมพุทธายะ เขียนลากเส้นให้บังเกิดเป็น “มะอะอุ” ต่อไป  เสร็จแล้วกล่าวคาถาสําหรับเสกและนมัสการมะอะอุ อีก ๓ หน ดังนี้

“มะอะอุ สักขะณังชาดัง มะกาโร พุทธะลักขะณัง อะกาโร ธัมมะลักขะณัง อุกาโร สังฆะลักขะณัง อิจเจตังระตะนัตตะยัง”

“มะอะอุ เมตตา จะ มหาราชา สัพพะสิเนหา จะปูชิโต สัพพะ สุขา จะ มะหาลาภา สัพพะโกธา วินาสสันติ” เสร็จแล้วบริกรรมลบ มะอะอุ ให้เป็นพระควัมบดี ตั้ง-ตัด-เรียก-ลบ จากมิติเก่าสู่มิติใหม่โดยลําดับ จนเหลือเพียงนิพพานสูญ

๑๒. ผงใบลาน สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้มีการแลกเปลี่ยนสมณทูตระหว่างกรุงสยามกับลังกาทวีปบ่อยครั้ง พระภิกษุสงฆ์ของประเทศทั้งสองไปมาหาสู่กันเสมอ ในลังกาทวีปก็มีพระสงฆ์สยามวงศ์ ในกรุงศรีอยุธยาก็มีพระสงฆ์ลังกาวงศ์ การศึกษาทางด้านปริยัติ ปฏิบัติได้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเจริญแพร่หลาย ใบลานยิ่งมีบทบาททางประโยชน์มากขึ้นถูกนํามาจดจารึกพระธรรมคําสั่งสอนทั้งพระไตรปิฎก-อรรถกถา-ฎีกา-อนุ-ฎีกา-มหาชาติคําหลวง-ประวัติศาสตร์ กฎหมายและคาถาอาคม ความนิยมได้กระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ อีก หลายหัวเมือง เช่น เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และเชียงใหม่ เป็นต้น

๑๓. ผงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ พระรัตนตรัย เป็นประหนึ่ง ดวงแก้วสถิตอยู่ในเรือนใจของพระพุทธศาสนิกชน เป็นสิ่งที่เราชาวพุทธภูมิใจและเทิดทูนเป็นหนักหนาว่า ประลองล้ำเลิศ หาสิ่งใดเท่าเทียมหรือเพียงแค่ตีเสมอไม่มีอีกแล้ว ยามอนุสติ ระลึกถึงเป็นดังเกิดแสงสว่างส่องทางอันมืดมิดให้เห็นชัดทั้งโลกนี้ และโลกหน้า

กิริยาที่ระลึกถึงของท่านพุทธศาสนิกชนเหล่านี้ มิใช่เกิดแต่โมหะในศาสนาอย่างงมงาย หากเกิดจากเรียนรู้หลักธรรมโดยชัดแจ้ง ขจัดความสงสัยของตนด้วยเหตุผลที่พร้อมมูลในศาสนา แต่ละท่านยอมอบกายถวายชีวิตอุทิศเสมอเครื่องสักการะบูชา รับใช้พระพุทธศาสนา ตราบเท่าลมหายใจครั้งสุดท้าย เพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ผุดผ่องใสห่างไกลจากกิเลสของพระพุทธเจ้า ความหมดจดงดงามมีแก่นสารแน่นอนแห่งพระธรรม และการปฏิบัติขัดเกลามลทินโทษทางใจอันละเมียด ละไมแห่งพระสงฆ์

พระรัตนตรัยจึงเป็นปูชนียวัตถุสิ่งอธิษฐานอ้างเอาความบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดผลศักดิ์สิทธิ์มีพลังบันดาลเหมือนวิชาไสยศาสตร์ว่าอันที่จริงแล้ว ตามแบบฉบับของลัทธิศาสนาพราหมณ์ไม่เคยปรากฏมีในวงการพระพุทธศาสนา แม้จะเคยมีพุทธพิธีครั้งยิ่งใหญ่ในเมืองไพสาลี โดย พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระอานนท์เถระเรียนรัตนสูตรจากพระองค์ ประกอบพิธีทําน้ําพระพุทธมนต์ในบาตรศิลาที่ทรงใช้รับบิณฑบาตจากชาวบ้าน เดินเที่ยวประพรมทั่วเมืองไพสาลีกับพวกเจ้าลิจฉวี เพื่อระงับภัย ๓ อย่าง อันเกิดจากความอดอยาก เกิดจากมนุษย์ เกิดจากโรคระบาด พุทธพิธีครั้งนั้นไม่มีเค้าว่าจะเป็นไสยศาสตร์ซ้ำแบบพิธีพราหมณ์

เวลาเริ่มประกอบพิธีแทนที่พระอานนท์เถระจะปลุกเสกเลขมนต์ คาถาพึมพํา ท่านกลับกล่าวคําอธิษฐานอ้างความบริสุทธิ์แห่งพระรัตนตรัย ขอให้รวมพลังทรงอํานาจอาจชําระล้างสิ่งที่เป็นพิษภัยแล้วช่วยบันดาลความสุขสวัสดีแก่ประชาชน เหมือนเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอธิษฐานบารมีธรรม เพื่อผจญมารในวันตรัสรู้ ทํานองใช้ความดีล้างสิ่งที่ชั่วช้าลามกตามสูตรคําสอนในพระพุทธศาสนาว่า “สิ่งสกปรกล้างตัวมันเองให้สะอาดไม่ได้”

ครั้งพุทธกาลสตรีมีครรภ์ชาวเมืองสาวัตถี ใช้น้ำล้างอนุสาวรีย์ สถานที่อธิษฐานสัจวาจาของพระอังคุลิมาลเถระ แล้วรองรับน้ำนั้นมารับประทานเพื่อเป็นครรภ์รักษา และอีกเรื่องหนึ่งพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระสงฆ์สวดพระปริตร ๗ วัน ๗ คืน เพื่อเป็นการต่ออายุให้อายุวัฒนกุมารก็เป็นแบบเดียวกับพระสงฆ์ชุมนุมสวดมนต์ตามพิธีต่างๆ ในปัจจุบันทั้ง ๒ เรื่อง ไม่น่าจะเป็นไสยศาสตร์ เพราะเจตนาของผู้ทํา และผู้นําไปรักษาไม่ส่อไปทํานองนั้น

พระพุทธศาสนาไม่เคยมีไสยศาสตร์มาก่อน ก็เกิดมีขึ้นในระหว่างนี้เอง ทั้งถูกยืนยันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เหนือคาถาอาคมในคัมภีร์พระเวทย์เก่า เวทมนต์คาถาในคัมภีร์พระเวทใหม่ทุกบททุกตอน แทนที่จะมีชื่อเทพเจ้าตนนั้นตนนี้สถิตอยู่ กลับมีแต่ชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์สถิตแทน เป็นการถอดเทพเจ้าออกจากตําแหน่งต่างๆ ในพระคาถาโดยปริยาย

เพราะพระพุทธศาสนายุกาล ถูกแบ่งออกเป็นยุคๆ คือยุคนิพพาน, ยุคฌานสมาบัติ, ยุคสมาธิ, ยุคศีล, ยุคทาน, ยุคมิคสัญญี ผลิตผลแห่งการปฏิบัติของคนแต่ละยุคก็ต่างกัน ยุคพระนิพพานมีพระอรหันต์มาก ยุคฌานสมาบัติ ยุคสมาธิและยุคศีลมีคนไปสู่พรหมโลก สุคติโลกสวรรค์มาก ยุคทานมีคนไปสู่สุคติครึ่งหนึ่ง ไปสู่ทุคติครึ่งหนึ่ง ยุคมิคสัญญี ส่วนมากชอบไปอบายภูมิ นี่พูดตามมาตรฐาน การกระทําของคนในยุคนั้นๆ เป็นประมาณ

ไสยศาสตร์แผนใหม่ถูกแทรกซึมเข้ามาในพระพุทธศาสนาอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ยุคสมาธิลงมา พื้นฐานทางจิตของผู้ได้สมาธิมีศีลบริสุทธิ์นั้น พบความสําเร็จในวิชาไสยศาสตร์ไม่ยากนัก ต่อมาในยุคทาน ยุคมิคสัญญี คนที่สําเร็จในวิชาไสยศาสตร์อย่างแท้จริงหายากเหมือนงมเข็มในแม่น้ํามหาสมุทร แต่ก็ไม่พ้นการหยั่งรู้หยั่งเห็นของท่านผู้ทรงในยุคศีลสมาธิ ท่านย่อมทราบอย่างชัดแจ้งว่าอะไรบ้างจะเกิด พระพุทธศาสนาในอนาคตและกําลังความสามารถของท่านพอจะช่วยกู้สถานการณ์ไม่สู้จะดีนั้นอย่างไร เพื่อเป็นอุบายป้องกันมิให้พระศาสนา อันประมาณค่ามิได้ต้องพังโครมในระยะเวลาอันสั้น การสร้างปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานตลอดทั้งเครื่องรางของขลังจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งในจํานวนท่านเหล่านั้นที่ใช้ปัญญาญาณ อ่านปัญหาอนาคตได้แม่นยําถูกต้องและได้ประพฤติปฏิบัติได้สร้าง ได้ทําหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อเป็นการเสริมสร้างที่แข็งแรงในพุทธศาสนา จากพฤติกรรมที่แสดงออกปรารภพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณตลอดเวลา กายวาจาจิตของพระคุณท่าน จึงประหนึ่งเรือนแก้วที่สถิตประทับของพระรัตนตรัย ดังนั้นไม่ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะสร้างปูชนียสถานหรือปูชนียวัตถุอะไรขึ้นมา เพื่อให้เกิดผลดีแก่พระพุทธศาสนา เป็นต้องได้รับความนิยมและเชื่อถือจาก ประชาชนมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อย่างอัศจรรย์

การสร้างพระเครื่องตระกูลสมเด็จนั้น “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมร์สี) ทําพิธีปลุกเสกลงอักขระเลขยันต์บรรจุอาคาอาคมเสร็จ เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ทําผง เมื่อพิมพ์เป็นพระเครื่องสมเด็จแล้ว จึงไม่จําเป็นต้องประกอบพิธีอะไรซ้ําอีก เพียงแต่นํามาตั้งไว้บนที่บูชาสักการะ สวดมนต์ไหว้พระบริกรรมคาถาชินบัญชรทุกวัน ท่านปฏิบัติเช่นนี้แต่ลําพังผู้เดียวเท่านั้น สําเร็จในวิชามีความเชี่ยวชาญทําแล้วไว้ใจได้” ด้วยเหตุนี้ “พระตระกูลสมเด็จจึงนิยมเล่นผงไม่เล่นพระ” ด้วยพระเครื่อง ตระกูลสมเด็จนั้นคนนิยมในเนื้อผงอันพิเศษสุด ไม่นิยมเพียงความสวยงามภายนอกอย่างเดียว ดังนั้นพระที่สัณฐานหักแตกยุบหมดแล้ว เหลือแต่เศษผง มีเพียงครึ่งค่อนองค์ทะนุถนอมรักษาไว้อย่างพระสมเด็จ เก่าๆ จึงมีคุณค่ามาก

สําหรับไสยศาสตร์สูตรนั้น พระมหาเถระผู้เฒ่าเจ้าตํารับนี้ได้ชี้แนวทางไว้ว่า การทําผงลงอักขระหรือบริกรรมเวทมนต์คาถาทุกชนิด จุดสําคัญอย่างที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทั้งเบื้องต้นท่ามกลาง และ ที่สุดหลักการส่วนใหญ่จึงหนักไปทางทําจิตให้เป็นสมาธิบรรลุถึงฌานสมาบัติ เพราะจิตที่ถูกหลอมให้บริสุทธิ์ด้วยสมาธิและฌานสมาบัติแล้ว ย่อมพบความสําเร็จในวิชาไสยศาสตร์ง่ายขึ้น อนึ่งผู้ประกอบพิธีใจบริสุทธิ์สูงส่งมากเท่าไร ปูชนียวัตถุในพิธีย่อมมีประสิทธิภาพสูงเท่านั้น

กรรมวิธีการทําผงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณนั้น เบื้องต้นต้อง สะสมผงให้มากพอแก่ความต้องการก่อน วิธีจะได้ผงมากๆ มีทางเดียว คือสอนหนังสือ เรียกตามโบราณว่า “เรียนสนธิเรียนนาม” หรือ “เรียนหนังสือใหญ่” ทั้งผู้สอนผู้เรียนต่างก็มุ่งมั่นตั้งอกตั้งใจจริงจัง ผู้ดํารงอยู่ในสมณเพศเรียนจบตามหลักสูตรได้ย่อมมีอัตภาพเบาพร้อมเจนจบใน พุทธศาสตร์มีตานอกตาในสว่างไสว เข้าใจสภาพธรรมทะลุปรุโปร่งหยั่งรู้ หยั่งเห็นสัญชาตญานของคนและสัตว์ได้เหมือนมีพรายกระซิบ เพียงแค่ ได้ยินเสียงฝูงกากลับจากหากินในเวลาเย็นร้องเป็นกลุ่มๆ ตามดงไม้ก็อาจรู้ได้ว่านกกาฝูงนั้นหากินมาจากไหนและรุ่งขึ้นนกกาจะไปหากินที่ไหนเช่นนี้เรียกว่า “ผู้แตกหนังสือใหญ่” หากผู้เรียนไม่สําเร็จก็จะชอบ ฝอยฟุ้ง มีอาการงกๆ เงิ่นๆ อยากพูดก็พูดขึ้นมาลอยๆ จะยิ้มก็ยิ้มเอง บทจะหัวเราะก็ปล่อยเอิกอ้ากออกมาโดยไม่มีปีไม่มีขลุ่ย อาการเช่นนี้ เรียกว่า “บ้าหนังสือใหญ่” ถ้าชอบพูดชอบสวดไม่รู้หยุดเรียกว่า “พวกมุตโตแตก”

การสอนอาจารย์เริ่มสอนตั้งแต่ “อัตโถอักขระสัญญาโต” เป็นทีเดียว วิธีสอนต้องใช้ชอล์กเขียนอักขระบนกระดานดํา แล้วอธิบายชี้ให้นักเรียนอ่านทําตัวทีละองค์ วันหนึ่งๆ มีชั่วโมงสอนมากกว่า จะหยุดพักเฉพาะเวลาฉันภัตตาหารเช้าเพลและเวลาทําวัตรสวดมนต์เท่านั้น สอนเป็นระยะติดต่อกันทั้งภายในพรรษาและออกพรรษา เฉพาะภายในพรรษามีเวลาสอนเต็มที่ ๖๘ วัน วันโกนวันพระหยุดให้ นักเรียนพักผ่อนตามสบาย ปีหนึ่งๆ ใช้ชอล์กเขียนหลายสิบกล่อง โดย วิธีเขียนอักขระบนกระดานดําสอนอธิบายให้นักเรียนอ่านทําตัว

อาจารย์บางท่านใช้เวลาสอนถึง ๑๐ ปี บางท่านใช้เวลาสอนถึง ๒๐ ปี นานที่สุดถึง ๓๐ ปี ก็มี สะสมผงอักขระได้นับเป็น ๑-๕ ปีขึ้นไป ถือว่าผงอักขระเหล่านี้บริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพราะเหตุ ๕ ประการ คือ

อาจารย์และศิษย์สอนและเรียนด้วยศรัทธาอันมั่นคงในพระรัตนตรัย

อาจารย์มีอุดมคติในฐานเป็นครูประกอบด้วยเมตตาถ่ายทอดวิชา ให้ศิษย์โดยยึดหลักธรรมทานเป็นที่ตั้ง

ศิษย์มีความเคารพในอาจารย์เหมือนบิดามารดาบังเกิดเกล้า สําคัญในวิชาที่เรียนเหมือนได้แสงสว่างส่องทางอันมืดมิด

ขณะสอนขณะเรียนอาจารย์และศิษย์มีอนาคตญาณตรงกัน คือ สอนและเรียนเพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวร

วิชาที่สอนใช้เรียนคือพระไตรปิฎก มีแต่สอนให้คนละชั่วประพฤติชอบประกอบดี

ความดี ๕ ประการนี้ผนึกรวมอยู่ในผงอักขระ เมื่อเก็บสะสมไว้สร้างพระเครื่องของขลัง ครั้นถึงวันดีคืนดี เช่นวันเสาร์ ๕, อังคาร ๘ หรือในเทศกาลพรรษา พระอาจารย์เหล่านั้นจะนําผงที่ตนได้สะสมไว้ผ่อนใส่บาตรบ้างถาด ผ่อนใส่บาตรบ้างถาดบ้าง ปลุกเสกด้วยพระคาถารัตนมาลา เริ่มบริกรรมคาถาเป็นขั้นๆ ตามลําดับ คือในห้องพระพุทธคุณ ๑๐๘ จบ ห้องพระธรรมคุณ ๑๐๘ จบ ในห้องพระสังฆคุณ ๑๐๘ จบ รวม ๓๒๔ จบ เสร็จแล้วบริกรรมภาวนาอิติปิโส เบ็ดเตล็ดอื่นๆ อิติปิโสห้ามโจร, อิติปิโสห้ามไฟ, อิติปิโสห้ามโรคาพยาธิ, อิติปิโสห้ามอุบาทว์ ฯลฯ อิติปิโสถอยหลัง, อิติปิโสหูช้าง, อิติปิโส ๘ ทิศ, หัวใจอิติปิโส, อิติปิโสมงกุฎพระพุทธเจ้า ภาวนารวมกันให้ได้ ๑๐๘ จบ อันดับสุดท้ายบริกรรมภาวนาพระคาถาชินบัญชรอีก ๑๐๘ จบ

ขณะบริกรรมภาวนาให้ใช้เหล็กจารหรือนิ้วมือเขียนยันต์ต่างๆ เช่นยันต์อริยสัจย์, ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ เป็นต้น ตามถนัด ปกติพระคณาจารย์ท่านจะเลือกประกอบพิธีเวลากลางคืน เพราะเงียบสงัดดี พอบริกรรมภาวนาคาถาจบทุกบทก็ได้เวลาพระอาทิตย์ขึ้น เรียกว่า ปลุกเสกกันตลอดคืนยันรุ่งสว่าง ท่านจะประกอบพิธีเช่นนี้เป็นระยะๆ หรือประจําในวันดีคืนดีหรือตลอดไตรมาส จนแน่ใจว่าผงของท่านมี พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณสูงสุดไว้ใจได้ พอพิมพ์เป็นองค์พระแล้วจะประกอบพิธีพุทธาภิเษกหรือไม่ ก็มีคุณวิเศษข้อนี้ชอบพูดกันว่า “เล่นผงไม่ได้เล่นพระ”

พระสมเด็จผสมผงพุทธคุณฯ นั้นข้างนอกถูกอาบด้วยน้ำปูนขาว เพื่อรักษาเนื้อผงชั้นในให้คงทน มีคราบกรุละอองธุลีเกาะติดอีกชั้นหนึ่ง ทําให้มองดูด้วยตาเปล่าเป็นสีขาวอมเหลืองค่อนข้างแก่จัด ชั้นแห่งน้ำปูนที่อาบไว้คงปรากฏให้เห็นเป็นส่วนมาก บางส่วนกะเทาะหลุดให้เห็นเนื้อพระข้างใน อันขาวบริสุทธิ์ ผนึกแน่นแข็งแกร่งแห้งสนิท ไม่ใช่ปูนขาว พระผงสมเด็จฯ จึงคงมีพุทธคุณวิเศษ และประกอบด้วยผงสําคัญ ต่างๆ ตามที่พระศรีวิสุทธิโสภณ ได้เล่าอธิบายไว้ทุกประการ

อ่านต่อ>>

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้