สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๕.๒ ตำนานพระผงสมเด็จ (ต่อ)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๕.๒ ตำนานพระผงสมเด็จ (ต่อ)

พระสมเด็จเนื้อว่าน หนูและแมลงชอบแทะกิน เฉพาะหนูถ้ามีโอกาสมันจะคาบไปใส่ไว้ในรังทั้งองค์ เก็บไว้แทะกินวันละเล็กละน้อย ไม่แทะกินทั้งหมดครั้งเดียว คล้ายกับมันจะรู้กลิ่นและรสทางฆาน ประสาทตามสัญชาตญาณว่า “นี้เป็นตัวยา” ดังนั้น ถ้าใครมีพระสมเด็จเนื้อว่านอยู่ๆ มีอันหายไปลึกลับ ยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุจะตรวจดูให้ดีเสียก่อนว่า พระสมเด็จแอบไปซุกอยู่ในรังหนูหรือเปล่า?

๕. ผงชานหมาก พระสมเด็จมีชื่อเกี่ยวกับหมากมีอยู่ ๒ พิมพ์ พิมพ์หนึ่งเรียกว่า “สมเด็จชานหมาก” อีกพิมพ์หนึ่งเรียกว่า “สมเด็จยันหมาก” สมเด็จชานหมากเป็นพระรูปเหมือนพระพุทธเจ้า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างเมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีที่ผ่าน ยันหมาก เป็นพระรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมรํสี) พระเทพสิทธินายก (หลวงปู่นาค) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังสร้างเมื่อ ปี ๒๔๙๕ เรียกกันในสนามพระเครื่องว่า “สมเด็จรุ่น ๙๕”

เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ กําลังเคี้ยวหมากได้ใช้ยาเส้นฉุนจัดสีไปรอบๆ เหงือก ทําให้เกิดอาการยันหมากต้องนั่งสงบนิ่งบรรเทาอาการยันครู่หนึ่งจึงหาย นี่เองเป็นสาเหตุให้หลวงปู่นาคผู้มาอยู่วัดระฆังช้ากว่ากาลมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ๑๒ ปี สร้างสมเด็จยันหมากขึ้น เพราะเห็นเป็นเรื่องแปลกดี พระรูปเหมือนท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ พิมพ์นี้สังเกตง่ายเพราะริมฝีปากด้านบนข้าง ขวาปลิ้นตุ่ยออกมาผิดปกติ

อีกข้อหนึ่ง จากการยืนยันของท่านผู้มีอายุซึ่งทราบประวัติหลังกาลมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่ถึง ๒๐ ปี และจากการตรวจดูในหนังสือประวัติสมเด็จฯ รุ่นเก่าหลายเล่มความปรากฏตรงกัน ข้อหนึ่งว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมร์สี) ไม่เคยสร้างรูปเหมือนตัวท่านเอง

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดระฆังผู้เคร่งในพระกรรมฐานเรื่อง วิชาอาคมไม่เคี้ยวหมากอย่างคนทั่วไป หรือบางคนเคี้ยวหมากแล้วอาการโอ้กอ้ากขากถุยคายลงกระโถน แต่ในเวลาเคี้ยวท่านจะปฏิบัติตัวเหมือนการฉันภัตตาหารทุกอย่าง พิจารณาด้วยปัจจเวกขณ์ญาณหรือภาวนาคาถาอย่างใดอย่างหนึ่งกํากับชานหมากของท่านเจ้าประคุณฯ จึงต่างจากกากหมากธรรมดากลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนต้องการ ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงไม่คายชานหมากลงกระโถนหรือคายทิ้งแดงเถือก เลอะเทอะสถานที่ แต่จะเก็บใส่กระด้งใบย่อมหรือใส่ถาดตากแดดไว้ เมื่อรวบรวมได้มากก็บดผงทําพระเครื่องเสียหนหนึ่ง

พระเครื่องพิมพ์นี้ โดยพุทธลักษณะทั่วไปมีความสวยงามเรียบร้อยสมบูรณ์เป็นพิเศษแม้อายุกาลผ่านมา ๑๕๐ ปี แล้วก็ตาม น้ำหนักเบามากเนื้อพระหนึกแน่นแกร่งสีคล้ำคงเดิม เพราะปูนหมากเกาะ มีความเหนียวคงทนกะเทาะกร่อนแตกทําลายยาก เหมือนน้ำหมากกระเซ็นถูกจีวรซักให้หายรอยด่างดํายากใช้แว่นขยายส่องดูจะเห็นเนื้อพระมีหินปูนและราหมากปรากฏชัด พระสมเด็จพิมพ์นี้ไม่อยู่ในสนใจของประชาชน เพราะหายาก เนื่องจากมีจํานวนจํากัดตามปริมาณคําหมากของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เข้าใจว่าพระคุณท่านคงไม่มีเวลาว่างไว้เคี้ยวหมากสร้างพระเครื่องเท่าไรนัก จะทําก็ต่อเมื่อนึกขลังเท่านั้น นอกนั้นเคี้ยวๆ แล้วคงคายทิ้ง

พูดถึงอภินิหารทางแคล้วคลาดเมตตามหานิยม ชานหมากของพระเถระผู้ทรงอาคมบางรูป เช่น พ่อท่านคล้ายทางภาคใต้ หลวงพ่อรอด พรหมสรทางโคราช เวลาท่านคายมอบให้ใครเก็บไว้นานๆ บีบดูแข็งเป๋ง คล้ายก้อนหิน มีคนจ้องคอยเก็บเอาตลอดเวลา บางครั้งถึงกับเข้ายื้อแย่งกัน ในความรู้สึกของประชาชนเหล่านี้ หมากของท่านแต่ละคํามีค่ายิ่งกว่าทองคํา ใครนําไปบูชาสักการะติดตัวไปไหนมาไหนย่อมคุ้มครอง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ได้ แม้ใช้ในทางทํามาหากินก็ประสบผลสําเร็จ นับเป็นความเชื่อถือของประชาชนอีกแบบหนึ่ง ที่มีต่อพระภิกษุสงฆ์ที่ตนเคารพนับถือซึ่งเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนเอาการอยู่

เท่าที่ทราบ พระคุณท่านไม่ค่อยให้ใครง่ายนักเข้าทํานองของดีมีน้อย คนที่ได้ไปถือว่ามีโชคมหาศาล เพราะในจํานวนหมากเป็นร้อยคํา เพียงคําหนึ่งเท่านั้น พระคุณท่านประสงค์จะให้ใครหรือใครสมควรได้ก็ สํารวมจิตภาวนาคาถาอาคมพร้อมๆ กับการเคี้ยว นอกนั้นเคี้ยวแล้วคายทิ้งไม่ให้ใครเห็น บางคนไม่เข้าใจหาว่าท่านหวงเฝ้ารอคอยตื๊อเอาอยู่นั่นเอง

คําว่า “หมาก” เป็นคําจํากัดความ รวมเอาของหลายสิ่ง ถ้าจาระไนเครื่องปรุงทั้งหมดให้ครบ หมากคําหนึ่งประกอบด้วยเครื่องหลายอย่าง มีพลู ปูน การบูร ก้านพลู สีเสียด และยาเส้น แต่ที่พูดว่า “เคี้ยวหมาก” เพราะหมากเป็นเครื่องปรุงหลัก หมากล้วนๆ มีแต่ฝาดและฝืด ต้องหาใบพลูป้ายปูนเคี้ยวรวมด้วย จึงจะเกิดเมื่อกลิ่นมีรสเค็มนิดๆ ค่อยบรรดารสฝาดลงบ้าง เมื่อเครื่องปรุง ๓ อย่างมีครบ เวลาเคี้ยวทําให้เพลินมีรสชาติ เคี้ยวนานๆ ยิ่งป่นและละเอียดยุบตัวลงเรื่อยๆ แต่กลับเกาะกลุ่มรวมเป็นเนื้อเดียวยิ่งขึ้น เพราะแรงบดของฟัน และลิ้นซึ่งทําหน้าที่ช่วยพลิกกลับไปกลับมาเศษส่วนที่แยกออกจากกลุ่ม จะไถลเลื่อนไปรวมอยู่ระหว่างเหงือกกับกระพุ้งทั้งบนและล่าง ต้องใช้ยาเส้นสีไปรอบๆ เหงือก เพื่อกวาดเอาเศษหมากเหล่านั้นออก ถ้ามิเช่นนั้น เวลาพูดคุยหรือรับประทานอาหารอะไรย่อมไม่สะดวกโดยประการทั้งปวง เคี้ยวพลางบ้วนน้ําหมากทิ้งพลาง ไม่นานนักหมากก็จืด แล้วคายทิ้งทั้งหมด ส่วนที่คายทิ้งนี้เรียกว่า “ชานหมากหรือกากหมาก” เป็นอันยุติว่าหมากที่นํามาผสมสร้างพระเครื่องโดยมิได้เคี้ยวก่อนไม่เรียก พระสมเด็จชานหมาก

หมากมีความสําคัญทางประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไร พระภิกษุสงฆ์ ในอดีตแทบทุกระดับชั้นจึงต้องเคี้ยว ความจริงสมัยก่อน หรือเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมา หมากพลูมีความสําคัญต่อสุขภาพฟัน อย่างยิ่ง ช่วยรักษาฟันให้คงทน ป้องกันรํามะนาดและช่วยบรรเทา กลิ่นปากเป็นที่หนึ่ง พูดชื่อๆ หมากพลูคล้ายแปรงสีฟันเราดีๆ นี้เอง พระภิกษุสมัยนั้นเสร็จจากฉันภัตตาหารแล้วจึงต้องเคี้ยวหมาก ถึงจะมีหินปูนและยางหมากจับเกาะที่ฟันเป็นคราบดําคล้ำก็ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ กลับเป็นที่รสนิยมของคนในสมัยนั้นเสียอีก

ในหนังสือวิสุทธิมรรคคัมภีร์สําคัญเล่มหนึ่งของพระพุทธศาสนา ตอนอรรถาธิบายเรื่องการเจริญพรหมวิหาร ระบุพาดพิงถึงหมากพลูโดย ภาษาบาลีว่า “ตัมมพละ” ตรงกับภาษาไทยว่า “หมากพลู” แสดงว่า คนในภาคพื้นเอเชียหลายชาติเคี้ยวหมากพลูหลายศตวรรษมาแล้ว ดังนั้นสมเด็จชานหมากของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมุรสี) นอกจากมีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประจักษ์แก่ชุมชนแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของคนในแถบภาคพื้นเอเชียอีกโสดหนึ่งด้วย ต่อไปในอนาคตนับวันแต่จะหายาก

๖. ผงตะไคร่ใบสีมา ในจํานวนพืชผงหลายชนิด ที่ลอยตัวอยู่ในบรรยากาศอาศัยกําลังลมเป็นพาหะพัดพาไปทั่วสารทิศ เมื่อกําลังลมอ่อนเพราะกระทบกับสิ่งกีดขวางต่างๆ บรรยากาศถึงภาวะสงบนิ่งพืชผง เหล่านั้นก็ร่วงหล่นสู่พื้นดินได้รับความชุ่มชื้นในฤดูฝนย่อมงอกงามตาม ธรรมชาติ ตะไคร่ เป็นพืชผงชนิดหนึ่งลอยมากับกระแสลม ลมพัดพาไป ตกที่ไหนไม่ว่าจะเป็นใบสีมา ภูเขา กําแพง เจดีย์ พระปรางค์ ปราสาท ราชวัง หรือตึกรามบ้านช่อง ที่ก่อสร้างด้วยอิฐปูนหิน เมื่อสถานที่ ดังกล่าวถูกน้ําเย็นชื้นแฉะ เจ้าพืชพันธุ์ตะไคร่ย่อมเจริญงอกงามขึ้นเป็นแผงกระจายทั่วบริเวณชั้นแฉะทันที หน้าฝนมองดูเขียวขจี หน้าแล้งสีหม่นดํา ไม่ทําให้เกิดอารมณ์ทางสวยงามเป็นพืชแบบบางแต่ตายยาก เพราะสามารถดูดซับน้ําไว้เลี้ยงตัวเองได้นาน เช่นตะไคร่ใบสีมา ตะไคร่ภูเขา พืชตะไคร่ภูเขาทางตําราเภสัชศาสตร์ระบุว่าเป็นยารักษาโรค พืชตะไคร่ชนิดอื่นไม่มีสรรพคุณทางนั้น แต่มีประโยชน์ทางดูดซับน้ํา

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ใช้ตะไคร่ไบสีมาบดผงผสมทําพระเครืองอาศัยประโยชน์ ๒ ประการ คือ

๑. มีประโยชน์ทางดูดซับน้ํา เพราะอาโปธาตุที่ยังเหลือซึมซาบอยู่ในตะไคร่เป็นส่วนประสานมีคุณภาพดีเยี่ยม สามารถรักษาเนื้อพระให้คงทนได้นานไม่ผุกร่อน สังเกตได้จากโบราณสถานมีอายุตั้งแต่ ๑๐๐ ปีขึ้นไป ตะไคร่ขึ้นเกาะอยู่ในบริเวณส่วนใดของสิ่งก่อสร้างบริเวณ นั้นมักจะกะเทาะกร่อน แต่ผิวนอกบางๆ ส่วนชั้นในคงอยู่ ในสภาพเดิมได้ดี ดังนั้น ตะไคร่แม้จะถูกบดคลุกเคล้ากับ ผงอื่น จนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร พอกดพิมพ์เป็นองค์พระเครื่องแล้ว ทิ้งไว้นานๆ จนเกิดไออบ ตะไคร่ก็คงเป็นตะไคร่ ถึงจะเป็นพืชแบบบาง แต่มิได้สลายตัวไปไหน ยังคงปรากฏอยู่ในองค์พระมองดูด้วยตาเปล่า เห็นเป็นสีเขียวหม่นแสดงว่ายังไม่ตายคงมีชีวิตอยู่ในสภาพของเนื้อพระ รักษาเนื้อพระให้ถาวรด้วยน้ําหล่อเลี้ยงที่ยังมีอยู่ต่อไป

๒. มีความหมายซ่อนเร้นอันเป็นเคล็ดลับเกี่ยวกับพระศาสดา เพราะพุทธศาสนิกชนทั่วไปมีความเห็นว่า สีมาเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์เป็นปูชนียสถาน มีพระพุทธเจ้าประทับอยู่เวลาผูกสําเร็จด้วยญัตติสังฆกรรมมีอาณาเขต เบื้องล่างหยั่งลึกถึงน้ำรองแผ่นดิน อาณาเขตเบื้องบนแผ่ขึ้นไปสุดชั้นบรรยากาศ ทั้งมีพระบรมราชูทิศให้เป็นศาสนสมบัติอย่างเด็ดขาด คล้ายเฉือนแผ่นดินออกเป็นอีก อาณาเขตหนึ่งจากพระราชอาณาจักร โดยใช้คําว่า “วิสุงคามสีมา” แดนอื่นแยกจากบ้าน อันเป็นราชอาณาบัตรพระบรมราชูทิศมีระบบการคล้ายสถานทูต ซึ่งมีผลบังคับตามกฎหมาย เวลานี้อาจหาดูได้จากพระอารามหลวงใหญ่ๆ เช่น วัดเบญจมบพิตร เขตสีมาใครแตะต้องรุกล้ำไม่ได้ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในรัชกาลก่อนๆ เคยมีพระเถระผู้ใหญ่ระดับสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่งถูกพระราชากริ้ว ท่านกลัวราชภัยหนีเข้าไปอยู่ภายในพระอุโบสถ พระราชาทรงทราบไม่อาจรุกล้ําเข้าไปในเขตสีมา ดินแดนส่วนหนึ่งที่พระองค์อุทิศเป็นพุทธอาณาแล้ว

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เก็บตะไคร่ใบสีมาเป็นเสมือนหนึ่งมีอยู่ระหว่างราชอาณาเขตกับพุทธอาณาเขต บดผงทําพระเครื่องสมเด็จ ย่อมมีความหมายทางรักษาเนื้อพระให้คงทนถาวรอย่างหนึ่ง มีความหมายทางคุ้มครองป้องกันภัยพิบัตินานาอย่างหนึ่ง ซึ่งแม้แต่พระราชาก็ไม่กล้าใช้พระราชอํานาจในเขตสีมาเพราะพุทธคารวะ ไม่จําต้องพูดถึงมนุษย์หรืออมนุษย์เหล่าอื่น ตะไคร่ใบสีมาถือว่าศักดิ์สิทธิ์ผสมทําองค์พระแล้ว ย่อมทรงตะบะเดชะเป็นที่เกรงขามในหมู่อมิตร ตามที่เคยได้ เห็นส่วนมากเป็นพระสมเด็จ ๗-๙ ชั้น ฐานเส้นด้าย สูงนูนเหนือระดับ เรือนแก้ว มีจุดพรุนทั้งองค์ทําให้มองเห็นสีสันของตะไคร่ชัดเจน และไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก

๗. ผงกรุเก่า ตามคําบอกเล่าของคนแก่เก่ารู้จักวัดระฆังมานาน พอติดต่อเรื่องราวได้ว่า วัดระฆังมีกรุพระเครื่องสมเด็จ ๖ แห่ง ส่วนจะบรรจุไว้กี่มากน้อยนั้นไม่ทราบ กรุแรกได้แก่ พระปรางค์สร้างขึ้นในยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชศรัทธาสร้างร่วมพระกุศล กับสมเด็จพระพี่นางองค์ใหญ่สมเด็จ พระยาเทพสุดาวดี กรุ ๒-๓-๔-๕ คือ พระเจดีย์ ๔ มุมทางทิศอีสาน บูรพา หรดี พายัพ ของพระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางใต้วัดห่างจากกําแพงพระอุโบสถด้านทิศตะวันตก เจดีย์แต่ละแห่งภายในกลวงเป็นโพรงรูปสัณฐานเป็นไปตามแนวข้างนอก ลักษณะคล้ายห้องใต้ดินหรืออุโมงค์ถ้ำในภูเขา อับทึบเนื่องจากไม่มีช่องระบายลม เฉพาะพระปรางค์ ทำห้องพิเศษชั้นบนไว้หนึ่งห้อง ปิดเปิดได้ มีบันไดขึ้นลงทางทิศตะวันออก สูงจากระดับพื้นดินถึงห้องิเศษประมาณ ๑๐ เมตร ภายในเทพื้นคอนกรีตเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อพระศรีอริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์ ใต้ฐานบรรจุพระอัฐิของพระสังฆราชศรี อดีตพระสังฆราช ๒ แผ่นดินแห่งวัดระฆัง

ปัจจุบันอาราธนาไปไว้ที่พระวิหารใกล้ประตูพระอุโบสถทาง เรียกชื่อใหม่ว่า “พระวิหารสมเด็จพระสังฆราชศรี” พื้นห้องพิเศษชั้นบนเคยมีปล่องทะลุถึงตัวกรุชั้นล่าง กว้างยาวประมาณ ๑ ฟุต ไม่ทราบว่ามีพร้อมหรือหลังการสร้างพระปรางค์ ต่อมาถึงยุคของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้บรรจุพระเครื่องสมเด็จบางส่วนไว้ในกรุพระปรางค์ทางปล่องนี้

คนรุ่นหลังรู้แกวอยากได้พระเครื่องสมเด็จ ต่างก็หาดินเหนียวผูกปลายเชือกข้างหนึ่งไว้หย่อนลงทางปล่องนี้ยกขึ้นยกลงประมาณว่า พระสมเด็จติดแปะกับดินเหนียวจึงค่อยสาวเชือกขึ้นมาดู เคยมีคนได้คนละหลายองค์ วิธีหาพระแบบนี้เรียกว่า “ตกเบ็ดพระ” เห็นจะมีแต่พระปรางค์วัดระฆังและวัดใหม่อมตรสเท่านั้น เดี๋ยวนี้ปล่องนั้นทางวัดลาดปูนปิดไว้อย่างมิดชิด

กรุเจดีย์ ๔ มุม พระอุโบสถเท่าที่ทราบเคยเป็นสถานที่บรรจุพระสมเด็จปิลันท์ของท่านเจ้าพระคุณพระพุทธบาทปิลันท์ทั้ง ๔ แห่ง เจดีย์ด้านทิศพายัพมีพระเครื่องชนิดอื่น เช่น หลวงพ่อโป้ปนคละอยู่บ้างไม่มากนัก กรุท้ายวัดเป็นเจดีย์ทรงเดียวกับเจดีย์มุมพระอุโบสถบรรจุพระสมเด็จเนื้อผงดินสอทั้งกรุเป็นของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ แหวนเงินทองเจือปนอยู่บ้างประปรายเข้าใจว่าเป็นของผู้มาร่วมในพิธี

การบรรจุพระเครื่องสมเด็จในเจดีย์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ใช้ไม้ระแนงไขว้กันเป็นตาหมากรุกตะปูตอกตรึงให้แน่นเสร็จแล้วเอาพระเครื่องสมเด็จวางเรียงแถวเป็นตับๆ ทําเช่นนี้เกือบถึงยอดเจดีย์บางแห่งบรรจุไว้ในไหโบราณวางซ้อนกันไว้ ครั้นกาลเวลาผ่านไปนับศตวรรษเนื้อผงฉาบภายนอกองค์พระหมดน้ําเชื้อสมานกะเทาะกร่อนร่วงลงมากองอยู่พื้นกรูเรียกว่า “ผงกรุ” ถ้าเป็นพระปรางค์เก่าเจดีย์เก่าเรียกว่า “ผงกรุพระเก่า”

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นําผงจากกรุพระเก่าที่พบเห็นตามโบราณสถานต่างๆ เล่าว่ากิริยาที่นํามาของท่านมิได้หยิบฉวยเอาเฉยๆ แต่จะหาดอกไม้ธูปเทียนมาตั้งจุดบูชาสักการะพระรัตนตรัย และพูดบอก กล่าวเจ้าที่เจ้าทางเทวาอารักษ์ภูตผีปีศาจผู้เฝ้ารักษาให้รู้เรื่องเข้าใจความประสงค์ นั่งสวดมนต์ภาวนาบทพระธรรมจักรและบทอื่นๆ หลายเที่ยว ถ้าที่ไหนเจ้าที่เจ้าทางแข็ง ต้องเสียเวลาสวดมนต์ภาวนาหลายวัน เพื่อปรับความเข้าใจกันระหว่างท่านกับอมนุษย์ ผู้เฝ้ารักษาทางญาณสัมผัส โดยวิธีนี้ของที่ได้มาย่อมบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีเสนียดจัญไรหรือเกิดเหตุเภทภัยภายหลัง ปุถุชนบางท่านไม่คํานึงถึงข้อนี้อาศัยโลภ เจตนาเป็นที่ตั้ง พบวัตถุเก่าแก่ตามโบราณสถานเห็นไม่มีเจ้าของ ใจเร็วด่วนได้หยิบฉวยเอาโดยอาการอันไม่ชอบไม่เกรงใจเทวดาฟ้าดินต้องประสบเคราะห์กรรมเพราะเทวทัณฑ์มากราย

เนื้อพระสมเด็จที่ผสมด้วยผงกรุเก่า ส่วนมากเนื้อจะซุยมักมีเศษของโลหะหินกรวดทราย และพระธาตุปรากฏให้เห็นดวงเล็กจิ๋วแต่ไม่เหมือนพระสมเด็จประดับมุกประดับพลอยสมัยนี้

๘. ผงดินสอ ออกจะเป็นเรื่องพิสดารไม่น้อย ที่ดินเหนียวใจกลางภูเขาบ้านป้อมหรือมะขามป้อม อําเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัย มีสีเหลืองอ่อน คล้ายแสงพระอาทิตย์ฉาบฟ้าเมื่อรุ่งสาง และเกิดไปเหมือนดินแสงอรุณใต้บาดาลในนาคพิภพ ตามคําพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดีย รจนาไว้ในหนังสือพระธรรมบท ท้องเรื่องตอนหนึ่งมีใจความว่า พระเจ้าโกศลรับสั่งใช้ทหารมหาดเล็กคนใดคนหนึ่งให้ไปนําดินแสงอรุณกับใบบัวโกมุทวัตถุมงคลสำคัญยื่งเพื่อใช้ประกอบในงานพระราชพิธีโสรจสรงของพระองค์ ทหารมหาดเล็กนั้นรําพึงรําพันว่า ของ ๒ อย่าง หายากจะได้จากที่ไหนในมนุษยโลก มีอยู่แต่ใต้บาดาลนาคพิภพ

พูดถึงดินแดนแสงอรุณ บ้านมะขามป้อมในถ้ำใจกลางภูเขามีทุ่งนาล้อมรอบ เนื้อที่ติดต่อเขาหลวง ชาวบ้านแถบนั้นถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เขตแดนหวงห้ามโดยอํานาจลึกลับที่มองไม่เห็นใครดูถูกล่วงละเมิดมักประสบอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ สิ่งมหัศจรรย์ซ่อนเร้นอยู่ในถ้ำ คือบ่อน้ําใสสะอาดกับดินสีนวลเหลืองอ่อน น้ำในบ่อบางคน เชื่อว่าทรงคุณภาพทางยา ตักมาอาบกินระงับโรคภัยไข้เจ็บได้ บางรายก็หายบางรายก็ไม่หาย ที่หายจะเป็นเพราะแร่ธาตุในบ่อหรืออํานาจลึกลับ อะไรบันดาลก็เหลือเดา ทุกวันนี้คนเชื่อถือยังมีอยู่ไม่น้อย สําหรับดินแสงอรุณนั้นเหนียว และเหลืองเองโดยธรรมชาติไม่มีกรวดหินดินทรายเจือปน เวลาตําหรือบีบดูเนื้อดินละเอียดยิบ ทั่วเมืองไทยคงมีแต่ที่นี่เท่านั้น ยังไม่เคยได้ยินหรือทราบข่าวว่าที่ไหนมีอีกเป็นดินชนิดเดียวกับที่ชาวอินเดียครั้งพุทธกาลถือว่าเป็นมงคล

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาแตก ตกกลางคืนพม่าได้จุดไฟเผาบ้านเมือง วัดวาอาราม สร้างความเสียหายประมาณค่ามิได้ หนังสือประวัติศาสตร์ของชาติ พระไตรปิฏกรวมทั้งอรรถกถา  ฏีกา และหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาอื่นๆ ถูกไฟไหม้เผาเป็นจำนวนมาก ยังเหลืออยู่ก็ชํารุดเสียหายใช้การไม่ได้

ลุถึงปีพุทธศักราช ๒๓๓๑ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อบ้านเมืองสงบสุขเรียบร้อยประชาชนอุ่นหนาฝาคั่งเป็นปึกแผ่นมั่นคง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชปรารภถึงความมั่นคง ของพระพุทธศาสนา จึงมีการทําสังคายนาครั้งที่ ๙ ขึ้นในกรุงสยามที่วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุ) โดยมีสมเด็จพระสังฆราชศรีวัดระฆังเป็น สังฆปาโมกข์ พร้อมด้วยพระราชาคณะที่คัดเลือกแล้ว ๒๘ รูป และราชบัณฑิตอาจารย์ ๒๓ คน ทําอยู่ประมาณ ๕ เดือน จึงชําระพระไตรปิฎก ได้เรียบร้อย

การค้นหาหลักฐานต้นตอของศาสนธรรมคงเป็นไปอย่างขนานใหญ่ คัมภีร์ใบลานเอกสารเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจะต้องมีการลําเลียงขนมาจากทั่วสารทิศ ทั้งจากกรุงศรีอยุธยาเมืองเก่าและจากหัวเมืองอื่น เพื่อนํามาเก็บไว้ ณ สถานที่ทําสังคายนา คือกรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าคุณใหญ่หนตะวันออกได้ให้ข้อคิดไว้ว่า

“หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาพม่าเผาทําลายบ้านเมืองวัดวาอารามแทบทั้งหมด พระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ ทางพุทธศาสนาถูกไฟไหม้เสียหาย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอีก เราได้พระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ จากเมืองเพชรบุรี และนครศรีธรรมราช เป็นส่วนมาก”

การขนลําเลียงคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากหลายๆ ทางจําเป็นจะต้องมีการจัดสรรเลือกเฟ้นส่วนถูกต้องบริบูรณ์ไว้ทําสังคายนา ส่วนที่ชํารุดเสียหายนํามาจากอยุธยากรุงเก่า เป็นต้น คงถูกคัดลอกทิ้งตามระเบียบ และจะต้องนํามาเก็บไว้ที่วัดระฆังแน่นอน เพราะสมเด็จพระสังฆราชศรีวัดระฆังเป็นสังฆปาโมกข์ในการทําสังคายนา

อนึ่งวัดหลวงใหญ่ๆ แห่งอื่นอย่างดีก็มีหอพระไตรปิฎกเพียงหนึ่งแห่งเท่านั้น ส่วนวัดระฆังมีหอพระไตรปิฎก ๒ แห่ง คือ หอไตรพระตําหนักของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และหอพระไตรปิฎกประจําวัด การที่ต้องใช้หอไตรพระตําหนัก เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกเพิ่ม เข้าใจว่าหอพระไตรปิฎกประจําวัดไม่เพียงพอ อันนี้เองที่เป็นมูลเหตุให้มีการสร้างพระสมเด็จเนื้อผงใบลาน

เล่าว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีความคารวะในพระธรรมอย่างสูง เวลาไปไหนมาไหนพบใบลานที่จารึกพระธรรมตกวางอยู่ตามถนนหนทางหรือสนามหญ้า ท่านจะยกจบเหนือศีรษะแล้วนําไปวางในสถานที่อันควร วันหนึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เดินไปไหนไม่ทราบแต่ บังเอิญผ่านมาทางศาลาการเปรียญ ญาติโยมกําลังประชุมฟังธรรมอยู่ สามเณรน้อยกําลังเทศน์ ท่านเจ้าประคุณยืนพนมมือฟังจบกัณฑ์แล้วเดินต่อไป

ดังนั้นการที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้พบเห็นคัมภีร์พระธรรม คือใบลานชํารุดตกเรี่ยราดเกลื่อนกลาด หรือกองสุมเป็นรังหนูเช่นนั้น วิสัยนักปราชญ์อย่างท่านคงทนดูอยู่ไม่ได้ จะต้องหาวิธีทําอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกุศโลบาย ถ้าปล่อยอย่างนั้นนอกจากรกเป็นรังหนูแล้ว พระเณรศิษย์วัดอาจเหยียบย่ำข้ามพระธรรม เป็นบาปกรรมเพราะความ ประมาทเลินเล่อโดยแท้ ท่านจึงยุบเผาทําเป็นผงสร้างพระเครื่อง ประเสริฐกว่าปล่อยทิ้งไว้ให้คนเหยียบย่ำเป็นบาปกรรม เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ถ้าจะมองด้วยปัญญาญาณ การเผาใบลานเป็นประหนึ่งการถวายพระเพลิงพุทธองค์ครั้งที่ ๒ นั่นเทียว ผงใบลานเปรียบด้วยพระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดา ผสมพิมพ์เป็นพระเครื่องพร้อมด้วยผงอื่นแล้ว คล้ายกับพระบรมสารีริกธาตุที่กระจัดกระจายตามปูชนียสถาน สิริรวมเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง จะเรียกว่า "สมเด็จทวิชาติ” ก็คงไม่ผิด

สมเด็จเนื้อผงใบลานมีพุทธลักษณ์ชวนให้ซึ้งอยู่กับตัว บันดาลให้เย็นใจคลายกังวลเรื่องภยันตรายทั้งปวง เนื้อพระสังเกตง่ายเพราะสีดําทั้งองค์ เข้าใจว่าผงใบลานซึ่งมีจํานวนมากกว่าข่มสีอื่นเลือนหายหมด ต่างจากสมเด็จพระพุทธบาทปิลันท์ ตรงเรือนแก้วสัณฐานขนาดมวลสารแร่ธาตุ มีความซึ้งคมขําหนักแน่นและเข้มข้นดีกว่าพระพุทธบาทปิลันท์

นอกจากใบลานแล้ว ยังมีต้นไม้อีกชนิดหนึ่งคือต้นข่อย กระดาษที่ได้มาจากต้นข่อยเป็นกระดาษต้นตระกูลไทยขนาดดั้งเดิมเรียกกันมา แต่โบราณว่า “สมุดไทย” มีความสําคัญพอๆ กับใบลาน บรรพบุรุษไทย เริ่มใช้กระดาษข่อยเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคําแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยเริ่มเปลี่ยนมาใช้ใบลานบ้าง เมื่อพระสงฆ์ลังกาวงศ์เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในกรุงสยาม

คนไทยโบราณใช้กระดาษข่อยบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติ กฎหมาย ตํารายา เวทมนตร์ คาถาและยันต์ต่างๆ ส่วนใบลานใช้บันทึก เกี่ยวกับทางศาสนาเป็นส่วนมาก ปัจจุบันสมุดข่อยและใบลาน เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เผาผงใบลานทําพระเครื่อง สมุดข่อยคงถูกเผาเป็นผงในคราวเดียวกันด้วย

กรรมวิธีทําสมุดข่อยนั้นไม่ง่ายไม่ยาก แต่ต้องอาศัยความละเอียดนิดหน่อย เบื้องต้นตัดกิ่งข่อยทอนเป็นท่อน ขูดเปลือกออกให้หมด ลอกเอาเฉพาะเยื่อทุบตําสับโขลกให้ละเอียด ใช้ผ้าขาวสี่เหลี่ยมยาวสั้นตามต้องการ ขึงให้เคร่งวางปริ่มเหมือนน้ําในบ่อสระหรือในภาชนะตุ่มอย่างใด อย่างหนึ่งแล้วแต่จะหาได้ เมื่อโขลกเพื่อให้เป็นยางเหลวดีแล้ว จึงเทลงหนากว่า พยายามแตะไล่ส่วนสูงหรือหนากว่านั้นให้เสมอกับส่วนอื่น แล้วยกผ้าขาวให้พ้นจากน้ําเพียงชั่วครู่ เยื่อข่อยบนผ้าจะแห้งกลายเป็นกระดาษทันที

ถ้าต้องการให้เป็นกระดาษดําเขียนจารึกให้เห็นชัด ต้องใช้น้ํามันยางถ่านไฟหรือรักทา มันจะซึมเข้าเนื้อกระดาษเอง กระดาษข่อยทําด้วยวิธีง่ายๆ อาศัยความละเอียดนิดหน่อยนี้แหละ ใช้เขียนบันทึกเหตุการณ์ของชาติไทยมีอายุอยู่ได้เป็น ๑๐๐  - ๑,๐๐๐ ปีขึ้นไป สันนิษฐานว่าต้องมีส่วนเป็นผงร่วมกับใบลานเหมือนกัน

๙. ผงพอกช้างเผือก สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงถือปฏิสนธิ คืนหนึ่งขณะพระนางศิริมหามายาพุทธมารดาบรรทมหลับ ทรงสุบินนิมิตเห็นพระยาช้างเผือกปรากฏตัวอยู่ใกล้ช่องพระบัญชร หลังจากนั้น พระครรภ์และประสูติพระราชโอรส ณ ป่าลุมพินีราชอุทยานในกาลต่อมา จึงเกิดคําวิเคราะห์ของคนโบราณแบบไทยๆ ว่า “ช้างเผือกไม่เกิดในกรุง” โดยถือเรมิตตะกะนามเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น แต่คล้ายกับเป็นคําพูดศักดิ์สิทธิ์ ช้างเป็นสุบินนิมิตมิ่งขวัญของผู้เป็นใหญ่ ทั่วๆ ไป ไม่จําเป็นแต่ช้างเผือก ช้างพลาย ช้างพังธรรมดา ถ้าฝันเห็นก็เป็นมงคลนิมิตได้ บางครั้งเจ้าตัวฝันเห็นเอง บางครั้งผู้อื่นมีมารดาบิดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น ฝันแทน ความฝันมักตรงกับคําพยากรณ์เสมอเพราะปรากฏว่าผู้นั้นเจริญด้วยชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นใหญ่เป็นโตภายหลังทุกรายไป

ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ชนิดเดียวในโลกที่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดมนุษย์ มีนิสัยเข้ากับมนุษย์ได้อย่างไม่เกะกะ เมื่อฝันเห็นจึงเป็นลางบอกเหตุว่า อะไรๆ ใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นแก่เราผู้ผ่านประสบการณ์ย่อมประจักษ์แก่ตัว ไม่ว่ายุคใดสมัยใดประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยเสมอ เช่นคืนหนึ่งขณะสมเด็จพระสังฆราชศรี จําวัดอยู่เกิดนิมิตฝันไปว่า ลูกช้างเผือกขาวปลอดน่ารักเชือกหนึ่ง มาจากไหนไม่ปรากฏ ก้าวขึ้นไปบนกุฏิของท่าน แล้วเดินตรงเข้าหาตู้พระธรรมใช้งวงเหนี่ยวน้าวตู้ฟังกระจายคุ้ยเขี่ย พระธรรมกระจุยเกลื่อนไปหมด เสร็จแล้วลูกช้างเผือกไม่ได้หนีไปไหน กลับคุกเข่าสงบนิ่งอยู่บนกุฏินั้นเอง ท่านตกใจตื่นรําพันว่า “นิมิตแปลกดี ดังนี้ เห็นทีจะได้คนดีมาอยู่ด้วย” พอรุ่งวันใหม่ก็มีคนพาสามเณรน้อยรูปหนึ่งมาฝาก สามเณรรูปนั้นภายหลังก็ได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ตรงกับความฝันของสมเด็จพระสังฆราชศรีทุกประการ

เรื่องทํานองนี้ยังมีอีกมาก รวมความแล้วคนแถบเอเชียหลายชาติ ถือว่าช้างเผือกเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประเสริฐเหนือช้างธรรมดา เช่นคนอินเดียนับถือช้างเผือกเสมอเทพเจ้าว่าสามารถยึดบ้านยึดเมืองหรือบันดาลให้ฝนตกได้ เมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามีสงครามประวัติศาสตร์ ครั้งที่ ๓ กับพม่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๐๖ เรียกว่า “สงครามช้างเผือก”

ตามตําราคชศาสตร์กล่าวตระกูลช้างเผือกไว้ ๔ ชนิด คือ ชาติพงศ์พรหม ชาติอิศวรพงศ์ ชาติพิษณุพงศ์ ชาติอัคนิพงศ์ ช้างเผือกทั้ง ๔ ตระกูลนี้ ถ้าประกอบด้วยศุภลักษณ์ย่อมเกิดนิมิตดีหลายประการแก่บ้านเมือง มงคลลักษณะของช้างมี ๗ ประการ

๑. ตาขาว

๒. เพดานขาว

๓. เล็บขาว

๔. ขนขาว

๕. พื้นหนังขาว หรือสีคล้ายหม้อดินใหม่

๖. ขนหางขาว

๗. อัณฑโกศขาวหรือสีคล้ายดินหม้อใหม่

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เอาผงพอกช้างเผือกในป่าไม่เอาผงพอก ชางเผือกในบ้าน เพราะช้างเผือกในบ้านนายคชบาลรักษาความสะอาดอย่างดี ละอองธุลีที่ผิวหนังไม่มีส่วนพิเศษอะไร ควรนํามาทําผง ส่วนช้างเผือกในป่า นอกจากเป็นมงคลหัตถีประกอบด้วยศุภลักษณะ ๗ ประการแล้ว ยังมีผงพิเศษหายากพอกติดผิวหนังอีกด้วย กล่าวคือโขลงช้างในป่า ถ้าช้างเชือกใดในโขลงมีสีเผือกผ่องตลอดร่าง ช้างเผือกเชือกนั้นนับว่าเป็นแก้วกลางโขลง ช้างทุกเชือกจะช่วยกันระมัดระวัง ตั้ง อารักขาความปลอดภัยให้คล้ายกับรู้ว่า “เจ้าแผ่นดินช้างเกิดขึ้นใน ท่ามกลางพวกเราแล้ว”

วิธีอารักขาง่ายๆ พวกช้างจะหายางไม้หรือเคี้ยวเปลือกไม้ต้นไม้ ดอกไม้สมุนไพรต่างๆ พ่นพอกทาขนและผิวหนังพรางตาไม่ให้มนุษย์รู้ว่าเป็นช้างเผือก อันอาจเป็นอันตรายแก่โขลงช้าง คนเราจะรู้ว่าเป็นช้างเผือกต่อเมื่อช้างเผือกนั้นลงอาบน้ํา พอผงพอกถูกชําระล้างเปื่อยหลุดออก สีเผือกผ่อง ปรากฏยามปกติขนผิวกลมกลืนกับช้างทุกเชือก เวลาโขลงช้างท่องเที่ยวไปตามป่าดงพงเขา ยุงเห็บทากตัวเหลือบเกาะสูบกินเลือด เกิดอาการคันขึ้น สะกิดเกาเองไม่ได้ ต้องอาศัยเอาร่างกาย เสียดสีกับต้นไม้บรรเทาอาการคัน ขณะที่เอาร่างกายอันใหญ่โตมหึมา ถูกับต้นไม้นั้นแหละ ถ้าเป็นช้างเผือกผงพอกผิวจะหลุดออกเป็นสะเก็ด บ้างเล็กบ้างใหญ่บ้าง ติดตามต้นไม้หรือล่วงกองกับพื้นดินใกล้โคนไม้

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ รู้ได้อย่างไรว่าเป็นผงพอกช้างเผือก ท่านรู้ได้ด้วยสังเกต คือสะเก็ดผงที่หลุดติดตามต้นไม้หรือร่วงลงกองใกล้โคนไม้ จะต้องมีขนช้างหลุดติดมาด้วยไม่มากก็น้อย ถ้าเป็นช้างเผือกสะเก็ดผงลองต้องมียางไม้สมุนไพรผสม และขนต้องขาวตลอด ถ้าเป็นช้างเผือกแก่อายุมากขนหงอก สะเก็ดผงไม่มีเชื้อสมุนไพร ขนหงอกตามธรรมชาติย่อมไม่สม่ําเสมอขาวบ้างดําบ้างคละกัน

เรื่องที่น่าสนใจคือผงเหล่านี้ผสมกับพระเครื่องแล้ว ทําให้มีคุณภาพได้อย่างไร ผสมกับพระเครื่องจริงหรือไม่ และรู้ได้อย่างไร ผงพอกช้างเผือกอาจมีอะไรดีหลายอย่าง เช่นมีรัศมีป้องกันคุ้มครองสูง ตามเคล็ดช้างซึ่งอาศัยอยู่ในป่าดง ย่อมรู้ธรรมชาติป่าดีกว่ามนุษย์หลายเท่า ผงพอกจึงมีอาการเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีรัศมีป้องกันภยันตรายได้ เช่นเหล็กไหล, อานุภาพบุญกุศล, เขากวางคุด, เขี้ยวหมูตัน, ฟันเสือ โคร่ง, เมล็ดขนุนทองแดง, ไหลปรือเหล็ก, ไข่นกแต้ดแต้หิน, ลูกอัณฑะหิน, กบตายพราย, ดินขุยปู, งูวงจันทร์ สิ่งเหล่านี้มีดีในตัว ไม่ต้องปลุกเสกก็มีอภินิหารและคลายรัศมีป้องกันเมื่อหมดอายุของเจ้าของ ยกเว้นเหล็กไหล

ใช้แว่นขยายส่องดูเนื้อพระสมเด็จชนิดผงเกสรและผงว่าน จะพบจุดสีแดงมัวเหมือนทับทิมที่ยังไม่ถูกช่างเจียระไน จุดนั้นแหละคือยางไม้ชนิดหนึ่ง หาใช่แก้วหรือเมล็ดในของดอกไม้พันธุ์ใดไม่ ยางไม้ชนิดนี้รักษาเนื้อพระดีนัก ยางรักหรืออะไรอื่นสู้ไม่ได้ทั้งนั้น มักพบยางไม้ชนิดนี้ในเนื้อพระเก่าแก่ที่มีอายุนับเป็นสองร้อยสามร้อยปีขึ้นไป ถ้าใช้ผสมมากเนื่อพระยิ่งทนทาน ทางประเทศจีนใช้ยางไม้หล่อพระทั้งองค์เรียกว่า “พระพุทธรูปอำพัน”

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จมักใช้ผสมเฉพาะผงเกสรผงว่าน เพราะผงสองอย่างนี้ซุยร่วนเกาะกันยาก ได้ยางไม้ผสมด้วยย่อมคงทนถาวรเนื้อแน่นและแกร่ง

การสร้างพระเครื่องเนื้อผงตามสูตรย่อมขึ้นเงาสวย ผสมยางสนน้ำมันที่ใช้กับเครื่องยนต์ทุกชนิด น้ำมันยางใช่เป็นส่วนหนึ่งของยางซากไม้ ตั้งแต่ครั้งดึกดําบรรพ์ทับถมพื้นดินเป็นล้านปี ยางสังเคราะห์ทําเทียมยางไม้หาใช้ประโยชน์ได้ดีเท่า โดยธรรมชาติไม่ถึงตอนนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบายก็ได้ละกระมังว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เสาะหาผงพอกช้างเผือกมียางไม้เจือปน ผสมสร้างพระเครื่องสมเด็จเพื่ออะไร

พระสมเด็จเนื้อผงดินสอ สร้างจากดินเหนียวสีเหลืองอ่อนเหมือนกัน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ดินเหนียวสีเหลืองอ่อนจากไหนไม่ทราบ เล่าว่ายามว่างท่านใช้ให้คนคลึงปั้นเป็นดินสอแท่งเขื่องกว่าชอล์กตากแห้ง แล้วจึงเขียนอักขระบนกระดานชนวน เขียนไปลบไปพร้อมกับการกวาดเศษผงในบาตรเก็บไว้ เพื่อผสมทําพระเครื่องต่อไป

กรรมวิธีทําผงดินสอ อาศัยประสาทสามัคคีมีสมาธิจิตเป็นพื้นฐาน ปากว่า ตาเพ่ง หูฟัง ใจนึก มือเขียน ประสาททั้ง ๕ นี้จะต้องสัมพันธ์กันตลอดเวลา คราใดเกิดความไม่พร้อมเพรียงกัน ใจมีอันพลาดจากสมาธิ เพราะสื่อประสาทภายนอกปรากฏทาง ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ คราวนั้นตัวอักขระที่เขียนบนกระดานชนวน ถือว่าเป็นโมฆะต้องลบทิ้งเสียไม่เก็บรวมไว้ในบาตร เริ่มต้นกรรมวิธีใหม่ ผงดินสอแต่ละอณูสําเร็จด้วยสมาธิแน่วแน่ ไม่วอกแวกหวั่นไหว พระพิมพ์นี้จึงมีพระพุทธคุณสูงสุด พูดได้ว่า “ประเสริฐแท้” ลักษณะเนื้อเป็นสีน้ําตาลแก่อมเหลืองยุ่ยและเปื่อยง่าย ไม่ควรให้ถูกน้ํา มี ๒ แบบ คือฐาน ๓ ชั้นทรงนิยม ฐาน ๔ ชั้นอกร่องหูยาน

อ่านต่อ>>

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้