สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๕.๑ ตำนานพระผงสมเด็จ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๕.๑ ตำนานพระผงสมเด็จ

มูลเหตุที่สร้างพระพิมพ์นั้น เกิดจากพวกสัปปุรุษนิยมไปบูชายังที่สังเวชวัตถุทั้ง ๔ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ประทานปฐมเทศนาและปรินิพพานซึ่งพากันไปปีละมากๆ อย่างเช่นชาวเราขึ้นไปบูชาพระพุทธบาท พวกสัปปุรุษชอบหาสิ่งซึ่งเป็นปูชนียวัตถุ พากลับไปบูชาที่บ้านเมืองของตน พวกชาวเมืองที่ในเจดียสถานนั้นๆ จึงคิดทําพระพิมพ์ขึ้น สําหรับจําหน่ายในราคาถูกให้ซื้อหาได้ทั่วกัน พวกสัปปุรุษได้พากันนิยมยินดีจึงเกิดชอบสร้างพระพิมพ์ขึ้นด้วย ประการฉะนี้ แต่พระพิมพ์ที่มาสร้างกันในเมืองไทยนี้ความประสงค์ เพื่อจะให้สืบต่ออายุพระศาสนาให้ถาวร จึงสร้างกันคราวละมากๆ และมักฝังดินหรือบรรจุไว้ในพระเจดีย์โดยถือว่าเมื่อต่อไปข้างหน้าช้านานถึงพระเจดีย์วิหารสูญไป ใครไปขุดพบพระพิมพ์ก็จะได้เห็น

พระพุทธรูป รู้ว่าพระพุทธเจ้าเคยมี เคยโปรดสัตว์ในโลกนี้ ระลึกถึงพระพุทธคุณต่อไป

การที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) กล่าวกันว่าเกิดจากเหตุที่ท่านได้ปรารภถึงพระมหาเถรในปางก่อนว่า มักสร้างพระพิมพ์ บรรจุไว้ในปูชนียวัตถุสถานต่างๆ เพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระศาสนาให้ถาวรอยู่ตลอดเวลา ท่านปรารภจะทําตามคตินั้นจึงได้จัดการสร้างพิมพ์ขึ้นไว้เป็นจํานวนมากคือ สร้างถึง ๘๔,๐๐๐ เท่าจํานวนพระธรรมขันธ์กล่าวว่า ครั้งแรกเจ้าประคุณสมเด็จ ได้สร้างพระพิมพ์ครบจํานวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ครั้งที่ ๒ จะสร้างอีก ๘๔,๐๐๐ เป็นพระชนิด ๗ ชั้น ด้วยประสงค์จะนําไปบรรจุไว้ที่ วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง แต่สร้างได้ยังไม่ครบตามจํานวนที่ต้องการนั้น (จะสร้างจํานวนเท่าไรไม่ทราบ)

วันหนึ่งท่านบอกกับนายเทศ บ้านถนนดินสอ หลังตลาดบ้านขมิ้น ว่าพระของท่านจะไม่สร้างแล้ว เพราะท่านจะถึงมรณภาพเสียก่อน จึงให้เอาพระคะแนนร้อยและพระคะแนนพันที่สร้างในครั้งแรกมาเพิ่ม เข้ากับพระที่สร้างในครั้งหลังจนครบจํานวน ๘๔,๐๐๐ องค์ แล้วนําไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์วัดไชโย ต่อมาท่านก็ถึงมรณภาพ เพราะเหตุนี้พระสมเด็จที่กรุวัดไชโยส่วนมากจึงเป็นพระชนิด ๗ ชั้น

ในระยะแรกเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดําริจะใช้ช่างทางบ้านช่างหล่อ (เดิมเรียกบ้านชาวเหนือ ซึ่งเป็นชาวเหนือที่เป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง) ทําแม่พิมพ์ ภายหลังบรรดาผู้ที่เคารพนับถือและพวกสานุศิษย์ที่สามารถทําแม่พิมพ์ได้ ได้ทําแม่พิมพ์ถวายเพราะเหตุนี้พระสมเด็จจึง มีหลายแบบหลายอย่างต่างชนิดกัน และแม่พิมพ์รุ่นแรกใช้มีดโกนแกะเป็นแม่พิมพ์ ต่อมาจึงใช้หินอ่อนบ้าง ไม้แก่นบ้าง ส่วนวัตถุที่ใช้ทำพระนั้น ใช้วัตถุหลายอย่างต่างกันคือ ผงดินสอ ที่ได้จากการเรียนมูลกัจจายน์ตามวิธีโบราณ ดินสอเหลือง ปูนขาว เกสรดอกไม้ เปลือกกล้วย เปลือกกล้วยน้ำว้า ชานหมาก ใบลานเผา อาหารสํารวม และน้ำอ้อย เป็นต้น

พระสมเด็จนั้นบางพิมพ์ทําด้วยวัสดุสิ่งเดียว บางพิมพ์ทําด้วยวัตถุหลายประสมกัน ตามปกติเจ้าประคุณสมเด็จฯ มักฉันอาหารสํารวม คือ ในเวลาฉันเช้าท่านจะหยิบอาหารคาวหวานทุกชนิดใส่ลงในบาตรคลุกเคล้ากับข้าวสุก แล้วแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วน ๑ ให้บูชาพระพุทธรูป ณ ที่บูชา (เรียกกันว่าถวายข้าวพระ) ส่วน ๑ ให้ทานสัตว์ อีกส่วน ๑ ท่านฉัน ครั้นเวลาเที่ยงแล้วให้เอาอาหารที่บูชาพระพุทธรูปนั้นไปตากแดด เก็บรวบรวมไว้สําหรับทําพระพิมพ์ต่อไป กล่าวว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านทําดังนั้นเสมอเป็นอาจิณปฏิบัติ เว้นแต่ไปฉันในกิจนิมนต์

การทําพระสมเด็จ เจ้าคุณธรรมกิติ (ลมูล สุตาคโม ป.๖) วัดระฆังโฆสิตาราม ได้อธิบายดังนี้

การสร้างพระสมเด็จครั้งแรกนั้น ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ฉันกล้วย แล้วเอาเปลือกใส่ภาชนะเก็บไว้ ท่านมีดินสอเหลืองใหญ่อยู่ก้อน ๑ จึงให้นายน้อยผู้เป็นง่อยซึ่งอยู่กับท่าน เอาเลื่อยๆ ดินสอเหลืองเป็นชิ้นเล็กๆ ประสมกับเปลือกกล้วยน้ําว้าเจือด้วยน้ำผึ้ง น้ำอ้อยเคี่ยวบ้าง ตําจนละเอียดเข้ากันดีแล้ว จึงให้นายน้อยกับ เจ้าคุณธรรมถาวร (เวลานั้นเป็นพระสมุห์ในฐานานุกรมของท่าน) ช่วยกันพิมพ์พระด้วย พิมพ์อย่างเล็ก เป็นรูปหลังเบี้ยฐาน ๓ ชั้น เสร็จแล้วให้เก็บไว้ในกุฏิชั้นในและให้ทําโดยวิธีนั้นต่อไปอีกจนพอแก่ความต้องการ ท่านก็เริ่มทําวิธีปลุกเสกวันละ ๓ ครั้ง คือเช้า กลางวันและเย็นเป็นนิจมิได้ขาด แล้วเอาออกแจกจ่ายแก่ผู้ต้องการทุกคน ต่อมาทําโดยวิธีนั้นอีกแต่วิธี พิมพ์แปลกออกไป คือเมื่อประสมผงได้ที่แล้วให้เอาออกมาปั้น แล้วคลึงให้เป็นท่อนยาวคล้ายควันเทียนแล้วตัดเป็นข้อๆ ผ่ากลางเอากดลงในพิมพ์ เมื่อแกะออกจากพิมพ์แล้ว ท่านเอามีดเจียนหัวและท้ายกับข้างๆ ให้มนเข้าแล้วทําพิธีปลุกเสกเช่นเคย ว่าท่านเอาไปแจกชาววังเมื่อเวลาไปบิณบาตเสมอ ท่านทําดังนี้จนหมดดินสอ พระได้ร้อยองค์ ให้ทําพระชนิดหลังหนึ่งเรียกว่า พระคะแนนร้อย ทําได้พันองค์ ให้ทําพระขนาดใหญ่กว้าง ราว ๔.๒ ซม. ยาว ๖.๑ ซม. องค์ ๑ เรียกว่าพระคะแนนพัน ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ภายหลังต่อมาท่านใช้ดินสอขาวที่ทําเป็นแท่งแล้ว ลบเอาผงเก็บสะสมไว้จนพอแก่ความต้องการ ท่านจึงได้ กะเทาะปูนขาวที่ล่อนๆ ตามกําแพงโบสถ์บ้าง เสมาบ้าง ซึ่งน้ำติดอยู่เป็นส่วนมาก แล้วมาทําประสมกับดินสอขาวที่ท่านทําไว้แล้ว ทีนี้จึงพิมพ์เป็นรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้า ในองค์พระเป็นปรกโพธิ์แบบทรงเจดีย์และชนิดอื่นๆ จึงได้ความว่าพระสมเด็จบางองค์เนื้อเหลือง ก็เพราะท่านประสมดินสอเหลืองนั่นเองบางองค์เนื้อขาวเจือเขียวเล็กน้อย เมื่อหักออกดูจะเห็นผงดําๆ ติดอยู่ประปราย จึงให้ได้ความ สันนิษฐานว่าที่เนื้อติดจะเขียวเล็กน้อยนั้น ก็เพราะกะเทาะปูนขาวที่เอามาตำนั้น เมื่อส่วนประสมที่เจือด้วยของเหลว ตะไคร่น้ําก็คลายความดําของมันออกประสมกับผงที่ประสมนั้นๆ ที่เนื้อมีผงดําติดอยู่ประปรายก็เพราะตะไคร่น้ำนั้นไม่ได้ถูกย่อยจนละเอียดโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

อนึ่ง เจ้าคุณธรรมถาวรเล่าว่า “เมื่อหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) แต่ยังดํารงสมณศักดิ์ที่พระพุทธบาทปิลันท์ จะทําพระผงดําทุกคราว ได้มาขอผงขาวจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปประสม กับผงของท่านด้วย (พระนั้นเรียกกันว่าพระพุทธบาทปิลันท์) ทําบรรจุไว้ในพระเจดีย์มุมพระอุโบสถด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งทางวัดระฆังได้เปิดกรุเมื่อ ๒๕ ปีล่วงแล้วและยังเก็บพระนั้นไว้จนบัดนี้"

เจ้าคุณธรรมกิติเล่าว่า ท่านได้ค้นพบเศษพระพิมพ์ของหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) อยู่บนเพดานหอไตรวัดระฆังจํานวนมากจึงรวบรวมจัดสร้างพระพิมพ์ขึ้นใหม่ ประกอบพิธีปลุกเสกโดยพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในทางวิทยาคม เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ พระนั้นลักษณะเป็นแบบพระสมเด็จชนิดปรกโพธิ์ สีขาวเป็นส่วนมาก มีผงดําปนเล็กน้อย เมื่อขัดถูแล้วสีดําที่เป็นคราบจะหายไป

เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างพระพิมพ์เสร็จแล้วท่านให้ใส่บาตร กระบุง และสัด ไปตั้งไว้ในหอสวดมนต์ ตรงหน้าพระพุทธรูปแล้วโยงสายสิญจน์จากพระพุทธรูปไปวนที่พระพิมพ์นั้น บอกกับ พระสงฆ์ที่มาประชุมเจริญพระพุทธมนต์ในพรรษาว่า ขอให้ช่วยปลุกเสกพระของท่านด้วย การที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทําดังนั้นด้วยประสงค์จะแสดงให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายให้รู้โดยปริยายว่าพระพิมพ์ของท่านได้ปลุกเสกแล้ว ต่อมาจึงให้ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดต่างๆ คือ วัดระฆัง วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) วัดไชโย วัดตะไกร (แขวงกรุงเก่า) เรียกที่ บรรจุตามนามวัดว่า กรุวัดระฆัง กรุวัดชีปะขาว กรุวัดไชโย กรุวัดตะไกร บางท่านว่า พระสมเด็จที่กรุวัดใหม่อมตรสและกรุวัดใหม่ทองเสน

“พระสมเด็จ” ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างนั้น ว่ามี ๗๓ พิมพ์ แต่ตามประวัติที่สืบทราบพบว่ามีเพียง ๒๙ พิมพ์ จากคําบอกเล่า ของพระอาจารย์ขวัญ วิสิฏโฐ พระเถระเก่าแก่ของวัดระฆัง ปากคําของท่านเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง) พระครูธรรมราล (เที่ยง) ไว้ว่าพระสมเด็จและพระเครื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มีดังนี้

๑. พระคะแนนพัน รุ่นแรกฐาน ๓ ชั้น มี ๒ อย่าง คือ
อยู่คงกระพันชาตรีอย่างหนึ่ง สีขาวมีกลิ่นหอม แก้โรคต่างๆ อย่างหนึ่ง สีขาวไม่มีกลิ่น ทางเมตตามหานิยมอย่างหนึ่ง ขนาดเดียวกัน กว้าง ๔.๒ ซม. ยาว ๖.๑ ซม.

 ๒. พระขอบกระดัง หลังกาบกล้วยฐาน ๓ ชั้น เป็นพระคะแนน กรุวัดไชโยรูปไข่ กว้าง ๕.๕ ซม. ยาว ๘.๕ ซม.

๓. พระคะแนนพัน รุ่นหลังฐาน ๗ ชั้น กว้าง ๒.๓ ซม. ยาว ๕.๕ ซม.

๔. พระหูบายศรี พระกรรณยาวงอน ดุจบายศรี ฐาน ๖ ชั้น กว้าง ๒.๒ ซม. ยาว ๓.๓ ซม.

๕. พระหูบายศรี ฐาน ๗ ชั้น กว้าง ๒.๔ ซม. ยาว ๓.๕ ซม. ว่าหูบายศรี ฐาน ๖ ชั้น หายากกว่าฐาน ๗ ชั้น 

๖. พระเศียรบาตร พระเศียรโต เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ทรงไกเซอร์” ฐาน ๓ ชั้น ด้านหลังมีรอยนิ้วหัวแม่มือ ๒ รอย กว้าง ๒.๕ ซม. ยาว ๓.๘ ชม.

๗. พระหลวงพ่อโต สีอิฐเจือดํามี ๓ อย่างคือ ที่ใต้ฐานมีรอยเล็บหัวแม่มือสองรอยอย่างหนึ่งที่ด้านหลังมีรู ๑ รู อย่างหนึ่งขนาดเดียวกันกว้าง ๒.๕ ซม. ยาว ๓ ซม.

๘. พระเศียรกระแต พระพักตร์เรียว ฐาน ๓ ชั้น กว้าง ๒ ซม. ยาว ๓.๔ ซม.

๙. พระเจดีย์ ลักษณะพระงาม ฐาน ๓ ชั้น กว้าง ๒.๒ ซม. ยาว ๓.๕ ซม.

๑๐. พระประจําวัน ว่ามีครบทั้ง ๗ วัน พระประจําวันพุธ อุ้มบาตร กว้าง ๒ ซม. ยาว ๔ ชม. พระประจําวันนอกนี้จะมีขนาด อย่างไรหาทราบไม่

๑๑. พระขุนแผน หลังกาบกล้วยกว้าง ๒.๕ ซม. ยาว ๔.๗ ชม.

๑๒. พระใบลานเผา สีดํา ฐาน ๓ ชั้น กว้าง ๒ ซม. ยาว ๓.๒ ซม.

๑๓. พระชานหมาก สีดํา ฐาน ๓ ชั้น กว้าง ๒.๕ ซม. ยาว ๓.๕ ซม.

๑๔. พระนางพญา รูปหน้าจั่วไม่มีฐาน มี ๒ อย่าง คือ สีแดงหม่นค่อนดํา และสีขาวขนาดเดียวกันฐานล่างสุด กว้าง ๑.๘ ซม. ยาว ๒.๕ ซม.

๑๕. พระปรกเมล็ดโพธิ์ ที่บริเวณพระเศียร มีปุ่มกลมเล็กหลายปุ่ม สีเขียวคล้ำเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “สมเด็จเขียว” ฐาน ๓ ชั้น กว้าง ๒ ซม. ยาว ๓.๕ ซม.

๑๖. พระเจ้าสิบทิศ มีพระเรียงลําดับบนแผ่นกระเบื้องไทย ๑๐ องค์ สีดํา มี ๒ อย่าง คือ พระปางมารวิชัยและพระปางสมาธิ ขนาดเดียวกัน กว้าง ๑๐.๕ ซม. ยาว ๑๗.๒ ชม.

๑๗. พระปรกโพธิ์ใบ บริเวณเบื้องบนพระเศียรมีกิ่งใบโพธิ์ 4 ชั้น กว้าง ๒.๔ ซม. ยาว ๓.๖ ซม.

๑๘. พระอกร่องหูยาน คือพระอุระเป็นร่อง พระกรรณยาวงอน สีเหลืองฐาน ๗ ชั้น หนา

๑๙. พระคะแนนร้อย รุ่นแรกหลังเบี้ย ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย

๒๐. พระรูปโพธิ์ รูปลักษณะเหมือนใบโพธิ์

๒๑. พระไข่ผ่าซีก รูปลักษณะเหมือนไข่ผ่าซีก ว่ามีอยู่ที่กรุวัดชีปะขาว

๒๒. พระหัวแม่มือ รูปลักษณะเหมือนนิ้วหัวแม่มือ สีอย่างเดียวกับสมเด็จเขียนว่า เป็นพระหมอเมื่อจะรักษาโรค ให้เอาพระนี้ใส่บาตรที่มีน้ำ ถ้าพระจมว่าคนไข้ตาย ถ้าพระลอยว่าคนไข้หาย ว่าพระชนิดนี้เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักให้แก่ผู้ที่เป็นหมอ

๒๓. พระรูปเจดีย์ คือทําเป็นรูปพระเจดีย์ในม่านแหวก ว่าพระชนิดนี้ใครจับต้องมักขนลุก

๒๔. พระฐานแซม คือฐานมีชั้นเล็กแซมชั้นใหญ่ ว่าทางเมตตา มหานิยมดีนัก

๒๕. พระเม็ดขนุน รูปลักษณะกลมรีดุจเม็ดขนุน ว่าพระชนิดนี้เก็บรักษายาก มักจะสูญหายเสียโดยมาก

๒๖. พระปิดทอง คือปิดทองทึบทั้งด้านหน้าและหลัง

๒๗. พระดินสอเหลือง หลังเบี้ยฐาน ๓ ชั้น รุ่นแรก

๒๘. พระเปลือกกล้วยน้ํา คือ ทําด้วยเปลือกล้วยน้ํา

๒๙. พระเกสรดอกไม้ ทําด้วยเกสรดอกไม้ต่างๆ

พระสมเด็จแท้ นั้นมีรูปลักษณะอธิบายได้ยากด้วยปรากฏว่า พระสมเด็จและพระพิมพ์แบบพระสมเด็จที่สร้างกันในชั้นหลังนั้น มีลักษณะเหมือนพระสมเด็จแท้มาก ผู้รอบรู้ชํานาญเรื่องพระสมเด็จ ได้ให้ข้อสังเกตว่า พระสมเด็จแท้มีรูปลักษณะดังนี้

- พระนั่งขัดสมาธิ ฐาน ๓-๕-๖-๗-๙ มีเส้นนูนขึ้นมา ๑ เส้น เป็นรูปโค้งครึ่งวงรูปไข่รอบองค์พระ

- รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งขึ้นทางด้านสูงตามเศียรพระ มีขนาดต่างๆ แต่โดยมาก มีขนาดกว้าง ๒ ซม. ยาว ๓ ชม. เศษ

- มีหลายสี คือ ดํา ดําปนแดง-เจือเหลือง เหลืองอ่อน ขาวนวลดุจงาช้าง และสีอิฐ

- น้ําหนักเบากว่าพระพิมพ์อื่น

- เนื้อละเอียด ทํานองอ่อน ยุ่ย หรือชื้น แต่แข็งแกร่ง ว่ามักมีวัตถุชนิดหนึ่งขนาดเล็กสีดํา หรือสีแดงฝังอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

- มักแตกเป็นลายงาช้าง หรือลายสังคโลก ถ้าใช้ไปนานๆ

สมเด็จพระพุฒาจารย์นั้นสร้างพระพิมพ์แบบต่างๆ ไว้มาก แต่แบบมีรูปลักษณะไม่เหมือนกันเช่น วัดระฆังโฆสิตารามมี ๔ แบบ

๑. พิมพ์ทรงใหญ่ ทรงประธาน ๓ ชั้น

๒. พิมพ์ทรงเจดีย์ ฐาน ๑ ชั้น

๓. พิมพ์ทรงหูยาน ฐานแซม ทั้งอกร่องและอกไม่ร่อง

๔. พิมพ์ปรกโพธิ์ ฐาน ๓

วัดบางขุนพรหมมี ๔ แบบ

๑. พิมพ์เส้นด้าย แขนโค้ง แขนทิ้ง

๒. พิมพ์ทรงใหญ่

๓. พิมพ์ทรงเจดีย์

๔. พิมพ์ฐานแซม

พระสมเด็จบางขุนพรหมนั้น ตามคําบอกเล่าของพระครูบริหาร คุณวัตร ประธานอํานวยการทําพิธีเปิดกรุเจดีย์วัดใหม่อมตรส เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ ได้เล่าว่ามีทั้งหมด ๘ พิมพ์คือ

๑. ทรงอกครุฑ หรือเศียรบาตร ทรงไกเซอร์

๒. ทรงเส้นด้าย

๓. ทรงเจดีย์

๔. ทรงฐานแซม

๕. ทรงฐานคู่

๖. ทรงสังฆาฏิ

๗. พิมพ์ปรกโพธิ์

๘. พิมพ์ทรงใหญ่ มีพิมพ์พิเศษ เช่น พระพิมพ์ไสยาสน์ พระพิมพ์ตะกั่วถ้ำชาปนคละอยู่บ้างอย่างละ ๑-๒ องค์

วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง พิมพ์ฐาน ๗-๘ ชั้น หูบายศรียกร่อง

พระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์ ๗ ชั้น ของเก่าส่วนมากเนื้อนุ่ม เหลืองใสละเอียดชัดกว่าของวัดระฆัง ผสมมวลสารต่างๆ คล้ายวัดระฆัง แต่มองเห็นลึกละเอียดมากกว่า พระสมเด็จวัดเกศไชโย โดยมากด้าน หลังขององค์พระจะถูกปาดด้วยรอยมีดเรียบทั้ง ๔ ด้านทุกองค์

พระสมเด็จวัดเกศไชโยทรง ๗ ชั้น อกร่องหูบายศรี ขอบกระจก ด้านหน้า ๒ ชั้น

สมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ ๗ ชั้น ที่นิยมกันในชั้นหลังนี้ เนื้อไม่จัด และไม่เก่าเหมือนพิมพ์ทรง ๓ ชั้น

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้สร้างพระสมเด็จขึ้นโดยมีรูป ลักษณะดังนี้

๑. รูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า หมายถึง พื้นแผ่นดินที่ทางพระอริยสัจจ์อยู่

๒. วงโค้งในรูปสี่เหลี่ยม หมายถึง อวิชชาที่คลุมพิภพอยู่

๓. รูป ๓ เหลี่ยมในวงโค้ง หมายถึง พระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้พบอริยสัจจ์

๔. รูปพระนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ หมายถึง พระพุทธเจ้าปางตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โพธิบัลลังก์

๕. ฐาน ๓ ชั้น หมายถึงพระไตรปิฎก

๖. ฐาน ๗ ชั้น หมายถึง อปริหานิยธรรม

๗. ฐาน ๙ ชั้น หมายถึง มรรค ๙ ผล ๔ นิพพาน ๑

พุทธศิลป์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นิยมสร้าง

พระพิมพ์ใหญ่ ทรงประธาน เลียนพุทธศิลปะสมัยสุโขทัย

ทรงเจดีย์ เลียนพุทธศิลปะสมัยเชียงแสน

ทรงหูยาน อกร่อง เลียนพุทธศิลปะสมัยอู่ทอง

ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดํารัสถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถึงเหตุที่พระพิมพ์ของท่านมีคุณานุภาพศักดิ์สิทธิ์เลื่องลือกันทั่วไป ท่านถวายพรว่าเพราะท่านบริกรรมด้วย “ชินปญฺชรคาถา” และว่าคาถานั้นเป็นของเจ้าประคุณสมเด็จฯ จนเรียกกันว่าเป็นสามัญว่า “คาถาสมเด็จ”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างพระเครื่องตระกูลสมเด็จขึ้นมา ด้วยมีความประสงค์ให้เกิดอภินิหารศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง และประสงค์จะให้เป็นเอกลักษณ์ทางธรรม ในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งความประสงค์ ๒ ประการนั้นมีเจตนาให้พระพุทธศาสนาเจริญเป็นพื้นฐาน ดังนั้น คนในยุคนั้นหรือปัจจุบันต่อให้มีความอุตสาหะเพียงไร ก็ไม่สามารถมีคุณวิเศษเหมือนเจ้าพระคุณสมเด็จ ซึ่งพระสมเด็จนั้นมีผงสําคัญดังนี้

๑. ผงข้าวสุก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไม่ได้เอาข้าวสุกที่หุงเอง หรือข้าวสุกที่ให้คนอื่นหุง และไม่ได้เอาข้าวสุกจากข้าวสารอันชาวบ้านทั่วไปหุงใส่บาตรทั้งหมด ท่านเลือกข้าวสุกหัวบาตรยังไม่ได้แบ่งไว้ฉันหรือแบ่งให้ใคร โดยปกติท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จะแบ่งเฉลี่ยอาหารบิณฑบาตออกเป็น ๕ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ แบ่งไว้ทําพระเครื่องสมเด็จ ส่วนที่ ๒ แบ่งถวายพระภิกษุด้วยกัน ส่วนที่ ๓ แบ่งไว้ฉันเอง ส่วนที่ ๔ แบ่งให้สามเณรศิษย์วัดและพวกวิฆาสาท (คนกินเดน) คนใดคนหนึ่ง ส่วนที่ ๕ แบ่งให้ทานสัตว์ดิรัจฉาน

บรรดาส่วนแบ่งทั้ง ๕ นี้ข้าวสุกส่วนที่ ๑ นับว่าเป็นเลิศ จัดเข้าในประเภทข้าวสุกหัวบาตร เมื่อท่านหยิบออกจากบาตรจะนําไปใส่ในภาชนะสําหรับบูชาข้าวพระ เป็นการเทิดทูนและเพื่อรักษาความศรัทธาให้ถาวรยืนยาว เจ้าประคุณสมเด็จจึงเอาข้าวที่ลาจากบูชาพระแล้ว ตากให้แห้งบดให้ละเอียด นําผงมาผสมทําเป็นพระเครื่องสมเด็จเนื้อข้าวสุกต่อไป บางครั้งข้าวสุกบดไม่ละเอียดหมดทุกเมล็ดจึงมักเห็นเศษข้าวสุกชิ้นเล็กๆ ปรากฏอยู่ในองค์พระก็มีข้าวสุกหัวบาตรที่ทําบุญด้วยศรัทธาต่อพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงยังเหลือปรากฏอยู่ในองค์พระจนทุกวันนี้ วิธีสร้างพระเครื่องของท่านเจ้าประคุณสมเด็จเช่นนี้เป็นการรักษาศรัทธาของชาวบ้านให้เก็บยาวนับเป็น ๑๐๐ ปี ขึ้นไป คราวใดมีโอกาสได้สัมผัสเนื้อพระ สิ่งพิมพ์ของแท้ของท่าน จะเกิดศรัทธาและปีติอย่างแรงกล้า บางครั้งถึงขนาดขนลุกชูชันด้วยกําลังศรัทธาของคนในปัจจุบันได้ซึบซาบเชื่อมต่อกับศรัทธาของคนครั้งอดีตตามหลักจิตตานุภาพ

บรรดาสรรพผงที่ประกอบเป็นองค์พระสมเด็จ นอกจากข้าวสุกตากแห้งบดละเอียด ยังมีผงอื่นๆ รวมผสมอยู่ด้วย เป็นที่ยอมรับนับถือ ในวงการพระเครื่องว่าสมบูรณ์ด้วยเนื้อผงหายากนานาชนิดมีสารแร่ธาตุมากที่สุด จะมีจุดต่างๆ ในองค์พระอันเกิดจากผงหรือแร่ธาตุบางชนิดที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้แสวงหามา เมื่อคราวเดินธุดงค์ไปตามป่าดง พงเขาเพื่อต้องการหาที่สงบบําเพ็ญสมณธรรม

ผงเหล่านั้นได้ผสมตําคลุกเคล้าเข้ากัน บางอย่างป่นละเอียดเป็นปรมาณูทีเดียว เวลากดพิมพ์ทําเป็นองค์พระแล้ว จะมีเนื้อหนึกแน่น แกร่ง หรือหนึกนุ่ม ตามปริมาณของผงส่วนมากกว่า ผู้เฒ่ารุ่นเก่าได้คุย เรื่องผงพระสมเด็จว่ามีผงข้าวสุกตากแห้ง ผงกระยาสารท ผงเกสรและ ว่านต่างๆ ผงชานหมาก ผงตระไคร่ใบเสมา ผงกรุพระเก่า ผงดินสอ ผงอิธะเจ ผงปถมัง ผงใบลาน ผงพอกช้างเผือก ผงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ

ดังนั้น ผงชนิดอื่นได้มีข้อสันนิษฐานพอเป็นหลักพิจารณาอยู่ดัง ข้อความจากประวัติที่พระศรีวิสุทธิ์โสภณเล่าไว้ดังนี้

๒. ผงกระยาสารท เป็นผงที่ได้ในวันเทศกาล คือเทศกาลสารท เทศกาลเข้าพรรษา เทศกาลออกพรรษาหรือวันตรุษสงกรานต์ ในวันเทศกาลที่ว่านี้ มีประชาชนทําบุญตักบาตรมาก เครื่องบริโภคขบฉันเหลือเฟือ กระยาสารทเป็นอาหารประเภทขนมหวาน มีของหลายอย่างผสมคลุกเคล้ากัน เช่น ข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่วงา มะพร้าว แบะแซ แต่ละอย่างล้วนเป็นวัตถุสมานประสานให้เหนียวหนืดเป็นเนื้อเดียวกันได้ง่าย เล่ากันว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จจัดหาตุ่มเรียงรายไว้หลังกุฏิ เมื่อบิณฑบาตได้หรือมีคนนํากระยาสารทถวายท่านจะคัดส่วนที่เหลือทั้งหมดเก็บหมักไว้ในตุ่มเหล่านี้ แม้ขนมอื่นๆ ไม่ทําให้เกิดอาการเน่าเหม็นก็ถูกใส่รวมลงในตุ่มนี้เหมือนกัน แต่ที่พูดกันว่า “ผงกระยาสารท” เพราะมีกระยาสารทมากกว่าของอื่น และมีความ สําคัญทางสมานประสานให้วัตถุอื่นเข้ากันได้เร็ว

เมื่อกระยาสารทและขนมต่างๆ ในตุ่มเปื่อยเหลวรวมตัวกันดีแล้ว ท่านจะใช้ให้คนตําผสมกับผงอื่น ตําจนเกาะติดกันแน่นไม่เหลวเละใช้มือหยิบบีบดูผงไม่ติดเปื้อนจึงพิมพ์เป็นพระสมเด็จเนื้อกระยาสารท นับเป็นการเจริญศรัทธาของญาติโยม โดยวิธีการอันแยบคาย ทําสิ่งที่น่าจะสูญเปล่าให้มีคุณหาประมาณมิได้ เครื่องบริโภคขบฉันที่เหลือถ้าเททิ้งลงคลองน้ําก็เน่าเสีย ถ้าสาดทิ้งเททิ้งตามบริเวณวัดก็สกปรกเลอะเทอะ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จึงแปรสภาพอาหารบิณฑบาต จากศรัทธาของ คนหมู่มากให้กลายเป็นปูชนียวัตถุอันล้ําค่า

๓. ผงเกสรและว่านต่างๆ ผงเกสรคือ ผงที่ได้จากมวลดอกไม้ เช่น เกสรดอกบัว บางอย่างรวมหมดทั้งเกสรและกลีบดอก เช่น มะลิ พิกุล จําปี จําปา ส่วนมากใช้ดอกมะลิ ดอกพิกุล และเกสรดอกบัว เป็นพื้น ดอกไม้เหล่านี้มีคนถวายเวลาออกบิณฑบาตบ้าง นํามาถวายที่กุฏิบ้าง เมื่อบูชาพระรัตนตรัยตามหลักศาสนาพิธีแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะรวบรวมไว้ทั้งหมดไม่โยนทิ้ง แต่จะผึ่งแดดตากแห้งบดผงผสมทําพระเครื่อง มีปัญหาชวนให้คิดว่า ดอกไม้ที่ยังไม่ได้บูชาพระ ท่าน เจ้าประคุณสมเด็จตากบดผสมทําพระเครื่องด้วยหรือไม่ สูตรทําพระเครื่องผสมผงเกสรไม่ปรากฏเป็นหลักฐานทั้งผู้สันทัดกรณีก็ให้ความอะไรไม่ได้ ขอตอบปัญหาทางสันนิษฐานว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จเอาเฉพาะดอกไม้ที่บูชาพระแล้วเท่านั้น ไม่เอาดอกไม้ที่ยังไม่ได้บูชาพระ เพราะไม่มีความสําคัญต่อพระพุทธศาสนาดอกไม้บูชาพระตรัยสําเร็จด้วยกุศลจิตของผู้มีศรัทธาจดจ่อแน่วแน่ต่อคุณความดี

อธิษฐานอุทิศ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นไปตามกระแสจิต อันสูงส่งของผู้บูชา นับว่าอยู่สูงสัมผัสใกล้ชิดปูชนียวัตถุ ไม่สมควรร่วงลงสู่พื้นดิน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จจึงเก็บรักษาไว้ เพื่อบดผงผสมทำพระเครื่องให้ประชาชนได้บูชาสักการะต่อไป เข้าทํานองว่า “สูงมา สูงไป” ยิ่งถ้าเป็นดอกไม้ในงานเทศกาลใหญ่ๆ เช่นงานเทศน์มหาชาติ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจฟังเป็นร้อยเป็นพัน เวลาฟังมีจิตจดจ่ออยู่กับสุ้มเสียงท่วงทํานองของพระธรรมกถึกเอก ซึ่งแสดงได้ไพเราะเสนาะโสต ถึงตอนสําคัญของเรื่อง เช่นตอนเทศน์โหยหวนโศกสลดโอดโอยมีคนฟัง ร้องไห้สะอึกสะอื้นน้ําตาร่วงไหลโดยไม่รู้ตัว เพราะเกิดธรรมปิติ ดอกไม้ ขี้ธูปน้ําตาเทียนที่บูชากัณฑ์เทศน์ ในวันนั้นถือว่าทรงอาถรรพณ์ ถ้าได้เป็นส่วนผสมพระเครื่องของขลัง จะมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มหาละลวย อาจสะกดจิตคนและสัตว์ให้อยู่ในอํานาจฉมังนัก ดอกไม้และเกสรเป็นส่วนผสมผนึกนุ่มมีกลิ่นหอม เมื่อจบเหนือศีรษะสักการบูชารําลึกถึงจิต เป็นสมาธิ ได้เร็ว เพราะเคยเป็นศูนย์รวมกระแสจิตของคนหมู่มาก เครื่องรางของขลังจะอยู่ยงคงกระพันหรือเกิดอภินิหาร สําคัญที่คนถือมีจิตเป็นสมาธิ ถ้าหาไม่ก็ไร้ประสิทธิภาพ

๔. ผงว่านต่างๆ จากตํารากบิลว่านบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ จิณนาพฤษชาติตระกูลว่านไว้มากมายนับเป็นร้อยชนิดขึ้นไปบอก ลักษณะราก ลําต้น กิ่งใบ ขนาดความเล็กใหญ่ ปฏิกิริยาโดยธรรมชาติและสรรพคุณไว้เสร็จ ส่วนมากใช้เป็นยารักษาโรค บางอย่างใช้คุ้มครองตัว ทางอยู่ยงคงกระพัน บางอย่างใช้บดฝนพอกทาถอนพิษ จากบาดแผลที่ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น ว่านสบู่เลือด ว่านไก่ ว่านกีบแรด ว่านยางู ว่านนาคราช เป็นต้น

พืชพันธ์ุตระกูลว่านเหล่านี้มีขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มในป่าดง และ ภูเขาทั่วไปในเมืองไทย ป่าดงและภูเขาบางแห่งมีพืชว่านขึ้นหนาแน่น) ทั่วบริเวณไม่มีต้นพันธุ์อื่นขึ้นแทรกแซงแม้แต่คนและสัตว์ก็ไม่กล้ากล้ำกรายเข้าใกล้ เมื่อแตะต้องอาจเจ็บปวดหรือพิกลพิการได้ ดงว่านเช่นว่านี้กําหนดเป็นเขตอันตรายในป่าเขาโดยธรรมชาติ ปัจจุบันว่านพันธุ์ดีบางชนิดอาจสูญพันธุ์แล้วก็ได้ เนื่องจากทนต่อการตัดไม้ทําลายป่าของคนยุคนี้ไม่ไหว

อนุสนธิจากการที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จถือธุดงควัตรจาริกไป ตามป่าและภูเขาแทบทุกแห่งในเมืองไทย ขณะจาริกไปอาจพบว่านพันธุ์ดีมีสรรพคุณสูงทางบําบัดโรค แล้วเก็บมาบดผงผสมทําพระเครื่อง แน่นอนที่พูดเช่นนี้มิใช่ยกเมฆ

ข้อเท็จจริงมีหลักฐานพิสูจน์ได้จากพระเครื่องเนื้อว่าน ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จสร้างขึ้นนั่นเอง เพราะปรากฏว่าเวลาปวดหัวตัวร้อน หรือเจ็บป่วย หาแพทย์หมอหรือยารักษาที่ไหนไม่ได้เพียงเอาพระสมเด็จเนื้อว่าน จบเหนือศีรษะระลึกถึงท่านประคุณสมเด็จ อาราธนาใส่ลงในภาชนะทําน้ํามนต์อธิษฐานให้หายจากโรคาพยาธิเสร็จแล้ว เอาน้ํามนต์นั้นประพรมบนศีรษะ ล้างหน้าล้างตาลูบทั่วศีรษะและรับประทาน อาการเจ็บป่วยจะค่อยผ่อนคลายหรือหายขาดทันตาเห็น คล้ายมีสิ่ง บันดาลให้เป็นไป สาเหตุทําให้อาการเจ็บป่วยผ่อนคลายหรือหายขาด ซึ่งมีทางเป็นไปได้เพราะเหตุ ๓ ประการ

ประการแรก เป็นเพราะพระสมเด็จนั้นผสมด้วยเนื้อว่านตัวยาชั้นยอด พออาราธนาใส่ลงในภาชนะทําน้ํามนต์ อนุปรมาณูของเนื้อว่านอันป่นละเอียดอย่างยิ่ง แผ่กระจายตัวเองซึมแทรกน้ำทั่วทุกหยดหยาด น้ำมนต์จะแปรสภาพจากน้ําธรรมดากลายเป็นยารักษาโรคโดยอัตโนมัติ

ประการที่สอง อาจเป็นเพราะเดชานุภาพของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่พระคณาจารย์อาราธนา ประทับทรงในองค์พระเครื่อง รู้กันมานานในหมู่พุทธศาสนิกชนว่า พระรัตนตรัยคือพุทธโอสถ ธัมมโอสถ สังฆโอสถ

ประการหลัง เป็นเพราะอํานาจเวทมนตร์ คาถา และพลังอธิษฐานของท่านเจ้าประคุณสมเด็จซึ่งมี ประสงค์ให้พระสมเด็จเนื้อว่านมีอภินิหารทางระงับโรคาพยาธิโดยตรง


อ่านต่อ>>

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้