สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๔.๒ ปูชนียสถานของสมเด็จโต (ต่อ)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๔.๒ ปูชนียสถานของสมเด็จโต (ต่อ)

๓. พระศรีอริยเมตตรัย วัดอินทรวิหาร พระนคร เป็นพระพุทธปฏิมาขนาดใหญ่มหึมาสูง ๑๖ วาเศษ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสมัยที่ท่านยังเป็นทารก เมื่อโยมมารดาได้นําท่าน มาพํานักอยู่ ณ ตําบลขุนพรหมนอกนี้ ซึ่งท่านก็ได้สอนยืนและสอนเดินได้ที่นี่ เป็นพระพุทธรูปประทับยืน ปางอุ้มบาตร (น่าจะเป็นพระประจําวันเกิดของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มากกว่า ซึ่งท่านเกิดวันพุธ ปีวอก ตามตํานานเดิม ส่วนที่ว่าเกิดวันพฤหัสบดี ปีวอกนั้นจากฉบับของหอสมุดแห่งชาติ) ก่ออิฐถือปูน มีความสูงที่ปรากฏในทุกวันนี้ถึง ๑๖ วาเศษ ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโตวัดอินทร์ฯ” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มิได้สร้างให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ หากได้สร้างไว้เพียงครึ่งองค์ คือสูงประมาณ ๙ วาเศษเท่านั้น ท่านก็สิ้นชีพิตักษัยเสียก่อน

พระครูธรรมมานุกูล ภู “จนทสโร” (หลวงพ่อปู่ภู) ศิษย์เจ้าพระคุณสมเด็จเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหารในสมัยนั้น ได้รับภาระปฏิสังขรณ์เสริมต่อหลวงพ่อโตต่อมา แต่ทําได้ไม่มากนักก็ถึงมรณภาพเสียก่อนเช่นเดียวกัน เพราะในระยะนั้นท่านชรามาก มีอายุ ๙๔ ปีแล้ว ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้เคยเล่าเรื่องเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตอนสร้างพระศรีอริยเมตตรัยให้หม่อมเจ้ากิติเดชาฯ ฟังเป็นความว่า เมื่อสร้างหลวงพ่อโตนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้มานั่งอยู่โคนไม้ริมทางเดินในวัดดูช่างก่อสร้างองค์พระ และท่านได้นําพระสมเด็จฯ ใส่ย่ามมาด้วย เมื่อมีคนเดินผ่านไปมา ท่านก็ล้วงย่ามหยิบพระสมเด็จฯ แจกให้พร้อมกับกล่าวว่า “นี่แน่ะจ๊ะ เอาไว้เถอะจ๊ะ วันหน้าจะหายาก” คนเหล่านั้นได้รับแจกไป คนละองค์ เป็นจํานวนมาก

พระครูสังฆบริบาล แดง เจ้าอาวาส วัดอินทรวิหารองค์ต่อมา เข้ารับช่วงการปฏิสังขรณ์ต่อเติมจากพระครูธรรมานุกูล (ภู) ต่อไป และ ได้กระทําเสร็จลงโดยสร้างเป็นปางอุ้มบาตรซึ่งเกี่ยวกับประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่าท่านบรรพชาเป็นสามเณร ณ พระอารามนี้ คือ ได้บิณฑบาตเป็นครั้งแรกในชีวิตของท่าน

ศิลาจารึก วัดอินทรวิหาร ปรากฏอยู่ที่บริเวณพระศรีอริยเมตตรัย ด้านตะวันตก จารึกเรื่องราวการปฏิสังขรณ์ต่อเติม ในสมัยพระครูสังฆบริบาล (แดง) มีความดังต่อไปนี้

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงได้ ๒๔๖๓ ปีจอ สัมฤทธิศก พระครูสังฆบาล (แดง) ได้ลงมือทําการปฏิสังขรณ์ เมื่อเดือน ๑๑ ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑ ค่ํา ประวัติเดิมที่แขวง ตะนาว เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้มาสร้างวัดเขาขั้นบันได ที่จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ แล้วมาเล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัย ณ สํานัก วัดบวรนิเวศ ในพระบารมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา วชิรญาณวโรรส ๕ พรรษา เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์แล้ว จึงได้มาทําการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์โตนี้ พร้อมเจ้าฟ้า ทายก ทายิกา ราษฎร จนถึงกาลบัดนี้ สิ้นเงินรายได้รายจ่ายไปในกาลปฏิสังขรณ์เป็นเงินประมาณ ๕ หมื่นบาทเศษ

ประวัติเดิมของพระพุทธรูปโตองค์นี้ จึงมีพระนามว่า “พระศรีอริยเมตตรัย” นี้ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นผู้ก่อสร้างไว้แต่ รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ครึ่งองค์ สูง ๙ วาเศษ ยังหา สําเร็จไม่ถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านพระครูธรรมานุกูล (ท่านอธิการภู) ผู้ชราภาพอายุ ๙๔ พรรษา ๗๐ เศษ ซึ่งยกเป็นกิตติมศักดิ์อยู่ในวัดอินทรวิหาร ได้จัดการปฏิสังขรณ์ต่อมาแต่ก่อน แต่ยังไม่สําเร็จท่านจึงมอบให้พระครูสังฆบริบาล (แดง) ปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสําเร็จ (แต่บางส่วน เช่น พระเศียร พระกร เป็นต้น)

การปฏิสังขรณ์นั้น เดิมองค์พระกว้าง มีต้นโพธิ์ และต้นไม้ขึ้นปกคลุมจึงได้จัดทําการเปลี่ยนแปลงให้แข็งแรง ส่วนข้างในองค์พระผูกเป็นโครง ภายนอกหล่อคอนกรีตด้วยปูนซีเมนต์ เป็นพระยืนพิงพระวิหารสูงเป็นชั้นๆ ได้ ๕ ชั้น ถึงพระเกศ ขาดยอดพระเมาฬีและมีพระจุฬามณีเจ็ดสถาน เพื่อให้เป็นที่ระลึกและนมัสการแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายสิ้นกาลนาน ทุกวันเสมอไปในพระพุทธศาสนา

ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๗ พระครูอินทรสมาจาร (เงิน อินทสโร) เมื่อยังเป็นพระครูสังฆรักษ์ย้ายจากวัดปรินายกมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร ได้จัดการก่อสร้างต่อมา โดยเป็นประธานบอกบุญเรี่ยไรจากประชาชนทั่วไป ผู้ช่วยเหลือที่เป็นกําลังสําคัญของท่านพระครูอินทร สมาจารในครั้งนั้น คือพระยาปริมาณสินสมรรถและคุณหญิง, พระประสานอักษรกิจ, สิบเอกอินทร์ พันธุเสนา และนางพลัด พันธุเสนา พระครูอินทรสมาจารทําการก่อสร้างอยู่ ๔ ปี จึงสําเร็จบริบูรณ์ (สิ้นเงิน ประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท) มีงานสมโภชเมื่อวันที่ ๔-๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ต่อมาอีก ๑ ปี ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒ ทางวัดได้จัดให้มีงาน นมัสการและปิดทองเริ่มในเดือนมกราคม เป็นงานนักขัตฤกษ์ประจําปีสืบมา พระโตวัดอินทรวิหารนี้ สูง ๑๖ วาเศษ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง

นอกจากสร้างพระพุทธรูปใหญ่เป็นอนุสรณ์ดังกล่าวมา  สมเด็จโตยังได้สร้างถาวรวัตถุสถานอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น

สร้างกุฏิเล็กๆ ไว้ที่วัดอินทรวิหารทางด้านใต้ ๒ หลัง ให้โยมผู้ชายและโยมผู้หญิงของท่านอยู่คนละหลัง มีรูปโยมผู้ชายและผู้หญิงปั้นด้วยปูนอยู่ในกุฏินั้นด้วย แต่รูปนั้นหักพังเสียนานแล้ว

๔. ศาลาวัดดาวดึงส์ ธนบุรี ได้สร้างศาลาไว้หลัง ๑ ที่ปากคลองวัดดาวดึงส์ อยู่ใน น้ำข้างอู่ชุงของหลวง กว้าง ราว ๕ วาเศษ ในศาลานั้นมีอาสน์สงฆ์อยู่ด้านใต้ ที่กลางศาลามีธรรมาสน์ฯ ศาลานี้อยู่ ติดกับบ้านท่านราชพิมล ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐาก ท่านไปบิณฑบาตที่ไหนมาแล้ว ก็ไปแวะฉันที่ศาลานี้เนื่องๆ ฉันแล้วก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ มีสัปปุรุษมาฟังกันมาก เมื่อท่านราชพิมลถึงแก่กรรมแล้ว ท่านก็ห่างไม่ใคร่ไปศาลานี้ ต่อมาท่านได้ไปสร้างศาลามุงจากไว้อีกหลัง ๑ อยู่ในละแวกบ้านลาว ข้างตรอกวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม เป็นหอฉันของท่านเหมือนศาลาหลังก่อน นายเถื่อนเป็นโยมอุปัฏฐาก

๕. วิหารพระหันหลังบางขุนพรหม ได้สร้างวิหารหลัง ๑ ใกล้ศาลาหลังที่กล่าวมา วิหารนั้นกว้างประมาณ ๓ วา ยาวประมาณ ๕ วาเศษ ฝาผนังก่ออิฐถือปูน หลังคามุงจาก ในวิหารนั้นมีพระพุทธรูป ก่ออิฐถือปูนองค์ ๑ หน้าตักกว้าง ๑ ศอกหันพระพักตร์เข้าข้างฝาผนังด้านตะวันออก องค์พระห่างฝาผนังราว ๑ ศอก ทางด้านตะวันตกนั้น มีพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนองค์ ๑ ฐานล่างกว้างประมาณ ๒ ศอก ห่างจากฝาผนังราว ๑ ศอกเศษ วิหารนี้ท่านควรจะสร้างไว้ในวัดใดวัดหนึ่งท่านก็ไม่สร้าง ท่านไปสร้างไว้ในละแวกบ้านซึ่งไม่ควรจะมีวิหาร ต่อมาทางราชการได้ตัดถนนสามเสนมาทางวิหาร วิหารก็ถูกรื้อหมด วิหารมีพระพุทธรูปเป็นเจ้าของ พระพุทธรูปก็หันพระพักตร์เข้าฝาผนัง เสีย ดูประหนึ่งว่าท่านจะทราบล่วงหน้า ว่าวิหารนี้จะถูกถนนทับ จึงแกลังสร้างไว้เล่นฉะนั้น

๖. หลวงพ่อโตกลางแจ้ง สร้างพระโตนั่งกลางแจ้ง ที่วัดพิตเพียน (วัดกุฎีทอง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์ ๑ เป็นพระก่อถือปูน ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ วา ๓ ศอก พระโตนี้อธิการสืบสาย อนุจาโร ชี้แจงว่า ได้ทําการปฏิสังขรณ์ถึง ๔ ครั้งแล้ว คือครั้งที่ ๑ เข้าใจว่าเดิมสร้าง ค้างอยู่ นายพลอย นางแตงไทย และนางอู่ ร่วมกันปฏิสังขรณ์ เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๐ สิ้นเงิน เท่าไรไม่ทราบ ครั้งที่ ๒ พระพักตร์แบะพระนาภีเป็นรูปทะลุ เนื่องจากอสุนีบาตตกลงในที่ใกล้เคียงปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ สิ้นเงิน ๕๐๐ บาท ครั้งที่ ๓ พระพาหาเบื้องขวาหลุด เนื่องจากฝนตกหนัก ปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ สิ้นเงิน ๓๐๐ บาท ครั้งที่ ๔ พระศอและพระกรรณพัง ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยเริ่มปฏิสังขรณ์วันที่ ๑ มีนาคม สําเร็จ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๙๕ สิ้นเงิน ๖,๘๑๔.๔๐ บาท เงินที่ใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์ทุกครั้งเป็นเงินส่วนเรี่ยไร

๗. หลวงพ่อโต วัดกลาง ได้สร้างพระยืนปางอุ้มบาตร ที่วัดกลาง ตําบลคลองข่อย (ใต้โพธาราม) แขวงจังหวัดราชบุรีองค์ ๑ เป็นพระก่ออิฐถือปูนสูง ๖ วาเศษ มีคําเล่ากันมาว่าบริเวณพื้นที่ที่เจ้า ประคุณสมเด็จฯ สร้างพระยืนนั้นเดิมเป็นป่ารกมาก ท่านเอาเงินพดด้วงชนิดกลมมาแต่ไหนไม่ทราบ โปรยเข้าไปในป่านั้น ไม่ช้าป่านั้นก็โล่งเตียนไปหมด ท่านก็ทําการได้สะดวกว่าเงินนั้นเป็น ตราเก่าๆ ด้วยและว่าในตอนที่จะสร้างพระองค์นี้ ท่านต้องการไม้ไผ่ เผอิญมีผู้ล่องไม้ไผ่มา ทางนั้นท่านไม่มีเงิน จึงไปที่ต้นโพธิ์ในบริเวณนั้น ก็ได้เงินมาซื้อไม้ไผ่ตามประสงค์ ต้นโพธิ์นั้นปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่ พระพุทธรูปองค์นี้ชํารุดหักพัง (พระเศียร แตกร้าว พระกรทั้งสองหัก) อยู่ช้านาน ต่อมาพระอาจารย์ด้วน พรหมสโร วัดมหาธาตุกรุงเทพฯ ซึ่งมีภูมิลําเนาเดิมอยู่ในถิ่นนั้นย้ายมาอยู่วัดกลางได้เป็นประธาน หลวงพ่อโต วัดกลางจัดการบูรณะปฏิสังขรณ์จนสําเร็จเรียบร้อยเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๗๔ ตามเสียงเล่าลือของชาวบ้านว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง

๘. เจดีย์นอนวัดละครทํา สร้างพระเจดีย์นอน ที่หลังโบสถ์ วัดละครทํา ตําบลบ้านช่างหล่อ จังหวัดธนบุรี ๒ องค์ หันฐานหากัน ห่างราว ๒ ศอก แต่องค์ทางด้านใต้รื้อเสียแล้ว นัยว่ามีผู้ลักลอบทําลายด้วยประสงค์จะค้นหาพระสมเด็จฯ ยังคงปรากฏอยู่แต่องค์ทางด้านเหนือ ซึ่งชํารุดทรุดโทรมมาก

มูลเหตุที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระเจดีย์นอนนั้น เล่ากันว่า เกิดแต่ท่านได้ปรารภว่าในชั้นเดิมพระเจดีย์ที่สร้างกันนั้น สําหรับเป็นที่บรรจุพระธรรม เช่น คาถาแสดงอริยสัจ-เย ธมมา เหตุป ปภวา ฯลฯ เป็นต้น เป็นสําคัญเรียกว่า “พระธรรมเจดีย์” แต่พระเจดีย์ที่สร้างในชั้นหลังต่อมาความประสงค์มาแปรเป็นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของสกุลวงศ์หรืออุทิศให้ผู้ตาย แม้ได้บรรจุปูชนียวัตถุในพระศาสนาไว้ด้วย ก็ไม่นับเป็นพระเจดีย์ในพระพุทธศาสนาจัดเป็นอนุสาวรีย์เฉพาะบุคคล ดังนี้ท่านจึงได้สร้างพระเจดีย์นอนขึ้นไว้เป็นปริศนาอันหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า ต่อไปเบื้องหน้าจะไม่มีใครสร้างพระธรรมเจดีย์อีกแล้ว

วัดละครทํา เป็นพระอารามโบราณ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ นายบุญยัง นาฏยศิลปินเอก ในยุคนั้นเป็นผู้สร้างอุทิศเป็นปูชนียารามไว้ในพระบวรพุทธศาสนา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติ อมรพันธ์ ทรงพระนิพนธ์บันทึกไว้ว่า “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้สร้างวัดไว้หลายวัด ท่านชอบสร้างของแปลกๆ และโตๆ กล่าวกันว่า เพื่อจะให้สมกับนามของท่านที่ชื่อ โต คือ สร้างวัดอินทราราม (วัด อินทรวิหาร) ที่บางขุนพรหม ในกรุงเทพฯ นี้ มีหลวงพ่อโตนั่งห้อยพระบาทสร้างค้างอยู่องค์ ๑ วัดช่องลม แขวงจังหวัดธนบุรี สร้างพระเจดีย์นอนองค์ ๑ ที่วัดท่าหลวง (เหนือท่าเรือพระพุทธบาท) สร้างพระนอนใหญ่องค์ ๑ ที่วัดไชโย แขวง จังหวัดอ่างทอง สร้างพระโต (องค์เดิม) องค์ ๑ ฯลฯ”

พระนิพนธ์ของเสด็จในกรมพระสมมติฯ คงเข้าใจว่า พระโตที่วัดอินทรวิหาร ที่สร้างค้างอยู่นั้นเป็นส่วนล่างที่น่าจะเหมือนพระนั่งวัด ป่าเลไลย์ เมืองสุพรรณบุรี จึงเข้าใจว่า เป็นพระพุทธรูป นั่ง ส่วน เจดีย์นอน วัดละครทํา คงสับสนเป็นวัดช่องลมซึ่งข้อเท็จจริงนั้นอยู่ที่วัดละครทํา

สิ่งก่อสร้างที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้สร้างนั้น ส่วนมากเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่โต หรือสร้างให้ผิดแปลกจนเป็นที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่ายังมีอยู่ในที่อื่นอีกหลายแห่งที่ไม่รู้ เช่น พระพุทธรูปป่าเลไลย์ และหอไตรเก่าที่วัดใหม่ทองเสน บางซื่อ กรุงเทพฯ และโบสถ์เจดีย์วัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม เป็นต้น

สําหรับวัตถุมงคลนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้สร้างพระสมเด็จซึ่งเป็นพระเครื่องยอดนิยม โดยนําต้นแบบและวิชาการสร้าง มาจากต้นตํารับ พระสมเด็จพระอรหัง ของสมเด็จพระสังฆราช(สุก ญาณสังวร) ซึ่งนับว่าเป็นพระนิยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้รับความนิยมหายากที่สุด

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้น แม้ว่าจะอายุมาก ท่านก็ยังปฏิบัติภารกิจด้วยความเพียบพร้อม ยังคล่องแคล่วว่องไว การโอภาปราศรัยและให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไปไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ จนเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่ได้แก่ชราภาพไปตามวัย สุขภาพแข็งแรงและมีความแจ่มใส

ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ไปดูการก่อสร้าง หลวงพ่อโตที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม แล้วได้เกิดอาพาธด้วยโรคชรา และถึงแก่มรณภาพในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ เวลาประมาณ ๒๔.๐๐ เศษ ณ บนศาลาใหญ่ที่วัดอินทรวิหาร ที่ท่านมักจะไปจําวัดอยู่เป็นประจํานั่นเอง

พระศพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้รับพระราชทานน้ําสรงศพและบรรจุในโกศทอง ไม้สิบสอง เชิญลงเรือมาที่วัดระฆังโฆสิตาราม ตั้งโกศพระศพบนกุฏิของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ซึ่งอยู่
ท้ายวัดริมคลองคูท้ายวัดระฆัง พระครูปลัด สัมพิพิฒน์ (ช้าง) ได้ตักพระพิมพ์สมเด็จแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่มาสักการะศพ จนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ นัยว่ามากถึง ๑๕ กระถางมังกร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดําเนินพระราชทานเพลิงศพ แต่ปรากฏว่าเมื่อพระองค์เสด็จถึงท่าวรดิษฐ์ เกิดฝนตกหนักจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบําราบปรปักษ์ เสด็จไปแทนพระองค์

ในวันนั้นฝนตกเทลงมาอย่างโชกโชนไปทั่ว วัดอรุณราชวราราม สถานที่ตั้งพระศพสมเด็จพระมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)  มรณภาพ ณ วันเสาร์ แรม ๒ ค่่ำ เดือน ๔ (ต้น) ปีวอก จ.ศ. ๑๒๓๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕ เวลา ๒ ยาม อายุ ๘๕ ปี มีดวงชะตามรณะ

เมื่อพระราชทานเพลิงศพแล้ว ต่อมาปีใดไม่ทราบ คณะศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่านมาร่วมฉันทะกันจัดการหล่อรูปของท่านขึ้นรูป ๑ หน้าตักกว้าง ๔๐.๒ ซม. ลงรักปิดทอง โดยหลวงวิจิตรนฤมล (พึ่ง ปฏิมาประกร) เจ้ากรมช่างสิบหมู่ บ้านตําบลช่างหล่อ จังหวัดธนบุรี เป็นผู้ปั้นหุ่น แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ในมุขหลังพระอุโบสถ วัด ไชโย จังหวัดอ่างทอง (ปัจจุบันอยู่ในพระวิหาร)

ภายหลังได้จัดการหล่อกันขึ้นอีกรูป ๑ หน้าตักกว้าง ๕๘ ซม. ลงรักปิดทอง ใครเป็นผู้ปั้นหุ่นยังสืบไม่ได้ความทราบแต่ว่าหล่อไม่ทัน ฤกษ์ที่กําหนดว่าเดิมประดิษฐานในศาลาการเปรียญวัดระฆัง ต่อมาได้ย้ายมาไว้ที่ในพระวิหาร เวลานี้ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาหน้าพระอุโบสถ รูปหล่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ นี้ ทางวัดได้จัดทําพิธีแห่โดยทางเรือ (เป็นเหตุเรียกกันว่า “ชักพระ”) เป็นงานประจําปี กําหนดแรม ๓ ค่ํา เดือน ๑๒ เริ่มทําพิธีแห่แต่ท่าหน้าระฆังมาเข้าคลองมอญ ถึงสี่แยกบางเสาธง เลี้ยวขวาเข้าคลองบางขุนศรี (หรือคลองชักพระ) ไปออกคลองบางกอกน้อย พักแข่งเรือที่หน้าวัดสุวรรณคีรีพอควรแก่เวลา แล้วล่องมาตามคลองบางกอกน้อยกลับวัดระฆัง เล่ากันว่าในปีหนึ่งเมื่อจัดทําพิธีเสร็จแล้วพอเรือที่ประดิษฐานรูปหล่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ จอดเทียบท่าหน้าวัด จะเนื่องด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ รูปหล่อนั้นได้เลื่อนตกจากเรือจมลงไปในแม่น้ําเจ้าพระยา ต้องช่วยกันงมเอาขึ้นมาจัดการปิดทองและสมโภชกันอีกครั้งอย่างมโหฬาร ตั้งแต่นั้นมาพิธีแห่รูปหล่อเจ้าประคุณ สมเด็จฯ จึงงดไม่จัดทํากันสืบกันมาจนทุกวันนี้
 

อ่านต่อ>>

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้