สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้น ท่านนิยมการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุไว้ในสถานที่สําคัญที่เกี่ยวกับท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ หลายแห่ง โดยมากจะสร้างเป็นพระพุทธรูป ขนาดใหญ่เหมือนกับจะให้สมกับนามของท่านที่ชื่อ “โต” และสิ่งก่อสร้างของท่านบางอย่างมักมีลักษณะแปลกประหลาดไปจากสายตาของคนทั่วไป เหมือนสร้างขึ้นมาให้เป็นปริศนาธรรมสําหรับสอนคนในยุคหลัง
ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างเท่าที่สืบได้มีดังนี้
๑. พระพุทธไสยาสน์ วัดสะตือ พระนครศรีอยุธยา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รําลึกว่าท่านเกิด ณ ตําบลที่ได้สร้างพระนี้ เป็นพระนอนขนาดใหญ่มากองค์หนึ่ง ก่อด้วยอิฐถือปูนมีความยาว ๑ เส้น ๕ วา ความสูงจากพื้นถึงพระเกศ ๘ วา พระอาสนะยาว ๑ เส้น ๑๐ วา กว้าง ๔ วา และสูง ๒ ศอก พุทธลักษณะโปร่ง เบื้องพระปฤษฎางค์ทําเป็นช่องกว้าง ๒ ศอก สูง ๑ วา ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง บริเวณริมคูเขต อุปาจารของวัด ผินพระพักตร์ไปทางเบื้องตะวันตก
พระอุปัชฌาย์ (บัตร จนทโชติ) เจ้าอาวาสวัดสะตือ กล่าวว่า
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้สร้างพระนอนองค์นี้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เมื่อท่านพระอุปัชฌาย์ (บัตร) มีอายุได้ ๕ ขวบ คือท่านเกิดในปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ การก่อสร้างพระนอนนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้อาศัยแรงจากพวกทาสในตําบลบ้านไก่จ้นนั้น และจากตําบลอื่นๆ บ้างเป็นผู้ช่วยเหลือ และเมื่อได้สร้างสําเร็จแล้วท่านได้ขอร้องกับเจ้าของทาสทั้งหลาย ให้ปลดปล่อยพวกทาสเหล่านั้นเป็นอิสระทุกคน ในการก่อสร้างครั้งนั้น ได้มีการก่อเตาเผาอิฐขึ้นใชที่บริเวณเบื้องหน้าองค์พระ ซึ่งยังเคยมีซากปรากฏอยู่ พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ตั้งแต่สร้างมายังไม่เคยได้รับการปฏิสังขรณ์มาก่อน จนกระทั่งองค์พระและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ชํารุด ทรดโทรมลงมาก เดิมทีเดียวองค์พระมิได้ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งเช่นนี้ แต่อยู่ในศาลาโถงเสาก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องไทย ต่อมาหลังคาชํารุดปรักหักพังลงมา จึงได้รื้อทิ้งเสีย ยังมีชากเสาก่ออิฐปรากฏอยู่ทางบริเวณด้านพระบาท
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ จึงได้จัดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น โดยท่านเป็นผู้ลงมือทําเอง มีนายเรืองและภรรยาชาวบ้านตําบลวังแดง เป็นผู้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์นี้ เป็นเงินส่วนตัวของท่านทั้งสิ้น โดยมิได้มีการบอกบุญเรี่ยไรใดๆ เลย หากแต่มีชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาต่างนําอิฐทรายและปูนมาช่วยบ้างเท่านั้น ได้ใช้เวลาในการปฏิสังขรณ์ ๔ ปี จึงสําเร็จเรียบร้อยในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่ยังไม่ได้สร้างศาลาโถงกั้นองค์พระ คงให้อยู่กลางแจ้งเช่นที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ สิ้นปูนขาวเป็นจํานวน ๖๕ เกวียน และโดยเฉพาะสําหรับส่วนของพระเศียรนั้น ต้องใช้ปูนถึง ๑๐ เกวียน ส่วนค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นนั้นไม่ปรากฏ เพราะค่อยทําไปตามเงินที่หามาได้เป็นครั้งคราว
เมื่อการบูรณะเสร็จแล้ว วันหนึ่งจึงนัดหมายชาวบ้านมาประชุม นมัสการและปิดทองพระพุทธไสยาสน์ ในวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒ ปรากฏว่า มีประชาชนในท้องถิ่นและตําบลใกล้เคียงมานมัสการปิดทอง สมโภชพระและชมการละเล่นกันล้นหลาม จึงกลายเป็นงานนักขัตฤกษ์ประจําปีของวัดสืบมาจนบัดนี้
ในจดหมายเหตุเรื่องเสด็จประพาสต้น รัชกาลที่ ๕ ครั้งที่ ๒ มีความปรากฏความเกี่ยวกับพระพุทธไสยาสน์ว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้เสด็จแวะขึ้นเสวยกลางวันที่ วัดสะตือ ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า วัดท่า งาม เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) และในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จขึ้นทรงทําพระกระยาหารเสวยตรงบริเวณใต้พระเศียรของพระนอนใหญ่นี้ด้วย
วัดสะตือ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์นี้ ตั้งอยู่เหนือ ท่าเรือพระพุทธบาท ตําบลท่าหลวง อําเภอท่าเรือ เป็นสถานที่เกิดของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่เดิมพระอารามนี้มิได้ตั้งอยู่ ณ พื้นที่นี้ หากอยู่ ห่างไปทางตะวันตกเล็กน้อย ครั้นโอกาสเมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาสร้างพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ขึ้น วัดสะตือจึงได้ย้ายมาตั้งในบริเวณที่ประดิษฐานองค์พระและการที่มีนามว่า วัดสะตือ เพราะมีต้นสะตือใหญ่ขึ้นอยู่ในอุปาจารวัดอยู่ต้นหนึ่ง อนึ่ง พระอารามนี้มีชื่อปรากฏในตํานาน ว่า “วัดท่างาม” อันเป็นชื่อของตําบลที่ตั้งวัด ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสพระพุทธบาทท่าเรือ ได้เสด็จมาขึ้นที่ท่างามนี้ถึง ๒ ครั้ง ชาวบ้านถือเป็นมงคลจึงพากันเรียกนาม ตําบลนี้เสียใหม่ว่า “ท่าหลวง” เลยเป็นผลให้นามของวัดนี้ถูกเปลี่ยนเป็น “วัดท่าหลวง” ไปด้วย ในระยะต่อมาวัดนี้ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเดิมว่า “วัดสะตือ” อีกครั้งหนึ่ง
๒. พระมหาพุทธพิมพ์ วัดไชโยวรวิหาร อ่างทอง เป็นพระพุทธปฏิมากรขนาดใหญ่ที่ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้สถาปนาขึ้น เพื่อนิมิตหมายว่าท่านถูกสอน ให้นั่งได้ ครั้งเมื่อโยมมารดานําท่าน มาพํานักที่ตําบลนี้ พระพุทธรูป งค์นี้เป็นปางประทับนั่งมารวิชัย มีสัณฐานใหญ่โตมาก หน้าตัก กว้าง ๕ วา ๗ นิ้ว ส่วนสูง ๑๑ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนเช่นเดียวกัน แต่มิได้ลงรักปิดทอง เดิมนั้นประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร. ๕ ทรงเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ปีพ.ศ. ๒๔๒๑ เมื่อเรือพระที่นั่งผ่านวัดไชโย อ่างทอง ได้มีพระราชหัตถเลขาเล่าไว้ว่า
“วันจันทร์ เดือนสิบสอง ขึ้น ๑๐ ค่ํา เวลา ๒ โมงเช้า ออกเรือจากพลับพลาคลองกะทุง ล่องลงมาตามลําน้ํา ล่องลงไปอีกหน่อยหนึ่งถึง วัดไชโย ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์โต สร้างพระใหญ่ ขึ้นไว้ จอดเรือที่นั่น พระยาราชเสนา พระยาอ่างทอง หลวงยกบัตร ขึ้นไปดูที่ พระรูปร่างหน้าตาไม่งามเลย และดูที่หน้าวัดปากเหมือนท่านขรัวโตไม่มีผิด ถือปูนขาวมิได้ปิดทอง ทํานองท่านจะไม่คิดที่จะปิดทอง จึงได้เจาะท่อน้ําไว้ที่พระหัตถ์ แต่เดี๋ยวนี้มีผู้ไปก่อวิหารขึ้นค้างอยู่ ใครจะทําต่อไปไม่ทราบ”
ประวัติของวัดไชโยวรวิหาร นั้นเล่าว่าเป็นพระอารามโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระคุณ สมเด็จฯ ได้มาปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และสร้างหลวงพ่อโต “พระพุทธพิมพ์” ต่อภายหลังพระอารามทรุดโทรมร่วงโรยไปถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๖ คณะกรรมการเมืองอ่างทอง ได้มีใบบอกเข้ามายังเจ้า พระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) สมุหนายก ขอให้ทางราชการอนุเคราะห์ปฏิสังขรณ์ ท่านสมุหนายกบังเกิดจิตศรัทธา รับภาระเป็นผู้จัดการสร้าง วัดไชโยใหม่ พร้อมทั้งพระอุโบสถและวิหารพระโต ความปรากฏในหนังสือ ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ดังนี้
“วัดไชโยนี้ ต่อมาเจ้าพระยารัตนบดินทร ที่สมุหนายก มีศรัทธาสร้างใหม่พร้อมทั้งพระอุโบสถและวิหารพระโต แต่เมื่อกระทุ้งรากวิหาร พระพุทธรูปใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้าง ทนกระเทือนไม่ได้ พังลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสร้างพระโตใหม่เป็นของหลวง ตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสร้างพระโต วัดกัลยาณมิตร ต้นสกุลกัลยาณมิตร) ผู้เป็นบิดาของเจ้าพระยารัตนบดินทร์มาแต่ก่อน และทรงรับวัดไชโยเป็นพระอารามหลวงแต่นั้นมา”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ นายช่างไปอํานวยการช่างสนับสนุนแก่ท่านสมุหนายก แล้วทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ ปฏิสังขรณ์หลวงพ่อโตองค์นี้ด้วย ดังความในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ตอนหนึ่งว่า
“ณ วัน ๒ฯ ๔ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ เสด็จออกพระทวาร ริมซิตติ้งรูม เสด็จมาประทับห้อง ขุนนางฯ ทรงปิดทองพระ พระองค์ประดิษฐวรการเข้ามาเฝ้า ด้วยกลับมาจากสระเกศไชโย ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปกํากับปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปใหญ่ ที่สระเกศไชโย รับสั่งถามซึ่งการซ่อมแซมแล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง”
ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ได้โดยเสด็จ ร. ๕ ประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ คราวจําลองพระพุทธชินราช พิษณุโลก เมื่อเสด็จผ่านวัดไชโยโดยชลมารค ได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายเรื่อง การปฏิสังขรณ์วัดไชโย และหลวงพ่อโต มีความตอนหนึ่งว่า
“วัดไชโยนี้ เจ้าพระยารัตนบดินทร ที่สมุหนายก มีศรัทธาสร้างใหม่พร้อมด้วยพระอุโบสถและวิหารโต แต่เมื่อกระทุ้งรากพระวิหาร พระพุทธรูปใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โตสร้างทนกระเทือนไม่ได้พังลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสร้างพระโตใหม่เป็นของหลวง และทรงรับวัดไชโยเป็นพระอารามหลวงแต่นั้นมา”
การปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปใหญ่ที่วัดไชโย มีหมายรับสั่ง สารตรา และลิขิตเป็นหลักฐานสําคัญ ดังนี้
แซงซัน (Sanction) ที่ ๑ ฎีกาที่ 9
ฎีกา หลวงพจนวิลาศ เสมียนตรากรมมหาดไทย มายังท่านเจ้าพนักงานผู้จ่ายเงิน ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์
ด้วยเจ้าพระยารัตนบดินทร์ ที่สมุหนายก รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเจ้าพระยารัตนบดินทรที่สมุหนายก ทําพระพุทธรูปไชโยแขวงเมืองอ่างทองนั้นได้จ้างช่างไทย-จีน แลซื้อสิ่งของต่างๆ ทําการจํานวนปีกุนนพศก ศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) ท่าน เจ้าพระยารัตนบดินทร ที่สมุหนายก ให้หลวงพจนวิลาศเสมียนตราเบิกเงินแทน บัดนี้ข้าพเจ้าขอเบิกเงินให้ค่าสิ่งของแลค่าจ้าง ช่างไทย-จีนทําการต่างๆ มีรายการแจ้งต่อไปนี้
- ซื้อไม้ขอนสักยาว ๕ วา ๔ กํา ๑๐ ต้นๆ ละ ๒๔ บาท
เงิน ๓ ชั่ง
- ซื้อไม้ไผ่สีสุก ๒๐๐ ลํา ราคาร้อยละ ๑๒ บาท เงิน ๒๔ บาท
- ซื้อไม้ไผ่ป่า ๕๐๐ ลํา ราคาร้อยละ ๖ บาท เงิน ๓๐ บาท
- ซื้อไม้หลักแพ ๒๐ ต้นๆ ละ ๕ บาท เงิน ๓ ชั่ง ๒๐ บาท
- ซื้อศิลากันคราก ๓๒๐ แผ่นๆ ละ ๒ บาท เงิน ๔ ชั่ง
- ซื้อเหล็กตัวอย่าง ๑๗ หาบๆ ละ ๒๕ บาท เงิน ๕ ชั่ง ๒๕ บาท
- ซื้อน้ําอ้อย ๑๔,๐๐๐ ทะนาน ราคาร้อยทะนาน เป็นเงิน ๗ บาท ๙ อัฐ ๑๐ เบี้ยเงิน ๑๒ ชั่ง ๓๙ บาท ๕๕ อัฐ
- ชื้อปูนซิเมนต์ ๔๐ ถังๆ ละ ๑๐ บาท เงิน ๕ ชั่ง
- ซื้อทราย ๑,๒๐๐ เกวียนๆ ละ ๓ ๒ อัฐ เงิน ๗ ชั่ง ๔๐ บาท
- ซื้อหวายพัสเดา ๑๕๐ ขด ราคาร้อยขดเป็นเงิน ๑๒ บาท เงิน ๑๘ บาท
- ซื้อปอหนัก ๕ หาบๆ ละ ๕ บาท เงิน ๒๕ บาท
- ซื้ออิฐ ๕๐๐,๐๐๐ แผ่น ราคา หมื่นละ ๕๐ บาท เงิน ๓๐ ชั่ง ๒๐ บาท
- จ้างค่าแรงจีนก่อองค์พระ เงิน ๓๐ ชั่ง
- จ้างช่างไทยถือปูนปั้นองค์พระ เงิน ๓๐ ชั่ง
- รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๒๓๑ ชั่ง ๒๑ บาท ๕๔ อัฐ
ถ้าเจ้าพนักงานรับฎีกานี้แล้ว จ่ายเงินสองร้อยสามสิบเอ็ดชั่ง ยี่สิบเอ็ดบาท ห้าสิบแปดอัฐ ให้ตาม
ฎีกาๆ มา ณ วันที่ ๒ฯ ๗ ค่ํา นพศก ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓o)
วัน ๕ ฯ ๗ ค่ํา ปีกุนนพศก ท่านเสมียนตราได้สลักหลัง ฎีการับเงินรายนี้จากเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติเงิน ๒๓๑ ชั่ง ๒๑ บาท ๕๘ อัฐ
ด้วย ณ วัน ๓ ๔ ค่ํา พระยาอนุรักษ์ฯ รับพระราชโองการใส่เกล้าฯ สั่งว่า กําหนดก่อพระฤกษ์พระพุทธรูปใหญ่ วัดไชโย ณ วัน ๘ ๑ ค่ํา ปีกุนนพศก (พ.ศ. ๒๔๓๐) พระสงฆ์ ๑๐ รูปจะได้ พระพุทธมนต์ ครั้นรุ่งขึ้น ณ วัน ๘ ๒ ค่ำเวลาเช้า พระสงฆ์ ๑๐ รูป จะได้รับพระราชทานฉันแล้วเจ้าพนักงานจะได้วางแผน อิฐ นาก ทอง เงิน ตาม พระฤกษ์เหมือนอย่างเคย อนึ่ง ให้คลังวิเศษช่างรัก ไปคอยรับแผ่นอิฐที่หลวงเสนาภิมุขมาเช็ดรัก ตั้งทูลเกล้าฯ ถวายตามเคยให้ทันกําหนด อนึ่งให้ศุภรัตในซ้ายจัดผ้าสบง ๑๐ ผืน ร่ม ๑๐ คัน รองเท้า ๑๐ คู่ ไปให้แก่ท่านเจ้าพระยารัตนบดินทรให้ทันเวลา อนึ่ง ให้หลวงโลกทีปจัดโหร มีชื่อไปกับท่านเจ้าพระยารัตนบดินผู้หนึ่ง ไปให้ทันพระฤกษ์ตามเคยให้ทันกําหนด อนึ่ง ให้แตร สังข์ ฆ้องชัย ไปลงเรือที่บ้านท่านเจ้าพระยารัตนบดินทรไปคอยประโคมเมื่อเวลาพระสงฆ์สวด - ฉันตามเคยให้ทันกําหนด อนึ่งให้เจ้าพนักงานคลังทอง จัดทําทองคําเปลว นาก เงิน ไปตั้งทูลเกล้าฯ ถวายทรงเป็นแผ่น อิฐให้ทันกําหนดเวลา
-------------------------
ที่ ๑/๑๐๙ กรุงเก่า ๑ ศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย
วันที่ ๒ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)
หนังสือ หลวงพจนวิลาศ เสมียนตรากรมมหาดไทย มายังพระไชยวิชิตประสิทธิศาสตร์เทศนาธบิดี ผู้รักษากรุงทราวดี ศรีอยุธยาโบราณ
ด้วยพณฯ ท่านสมุหนายกมีบัญชาสั่งว่าจะขึ้นไปจัดการ แลทําการพิธีให้ช่างเบิกพระเนตรพระพุทธรูปใหญ่ ณ วัดไชโย แขวงเมืองอ่างทอง ขอให้หลวงสุนทรภักดีผู้ช่วยกรุงเก่าขึ้นไป ณ วัดไชโยด้วยนายหนึ่ง แต่กรมการนอกจากหลวงสุนทรภักดีนั้น จะสมัครขึ้นไปหรือไม่ขึ้นไปสุดแต่สมัคร กําหนด พณฯ ท่าน สมุหนายกจะได้กราบถวายบังคมลาขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ณ วันที่ ๒๐ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ตรงกับวัน ๒ฯ ๒ ๖ ท่าน พระยาไชยวิชิตขึ้นไปกับพณฯ ท่านสมุหนายก ณ วัดไชโยให้ทันกําหนดตามบัญชา
(ประทับตรามาเป็นสําคัญ)
-------------------------
ที่ ๒/๑๐๙ อ่างทอง ๑
ศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย
วันที่ ๒ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙
หนังสือ หลวงพจนวิลาศ เสมียนตรากรมมหาดไทย มายังท่านพระยาวิเศษไชยชาญญาณยุติธรรมโกศล สกลเกษตรวิสัย ผู้ว่าราชการเมืองแลผู้ช่วยรักษาเมืองกรมการ เมืองอ่างทอง
ด้วยพณฯ ท่านสมุหนายกมีบัญชาสั่งว่า จะขึ้นมาจัดการแลให้ช่างทําการพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธรูปใหญ่ ณ วัดไชโย แขวงเมืองอ่างทอง กําหนดพณฯ ท่านจะได้กราบถวายบังคมลา ขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ณ วันที่ ๒๐ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ตรงกับวัน ๒ฯ ๒ ๖ ค่ำ ปีขาลโทศก ๑๒๕๒ เป็นแน่ ขอให้ พระยาวิเศษไชยชาญ แลผู้รักษาเมืองกรมการแต่งกรมการไปจัด ที่พักแลคอยรับรอง ณ วัดไชโย ตามเคยมาแต่ก่อนให้ทันกําหนด อย่าให้เสียราชการได้
(ประทับตราเป็นสําคัญ)
---------------------------
ที่ ๓/๑๐๙ อุไทยธานี ๑ สรรคบุรี ๑ ศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย
วันที่ ๒ เมษายน รัตนโกสิทรศก ๑๐๙
หนังสือ หลวงพจนวิลาศ เสมียนตรา กรมมหาดไท มายังพระยาอุไทยธานี ผู้ว่าราชการเมืองอุไทยธานี ๑ พระยา สรรคบุรานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสรรคบุรี ๑
ด้วยพณฯ ท่านสมุหนายกมีบัญชาสั่งว่าจะขึ้นมาจัดการ แลให้ช่างทําการพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธรูปใหญ่ ณ วัดไชโย แขวงเมืองอ่างทอง ให้พระยาอุไทยธานี พระยาสรรคบุรานุรักษ์ ลงไปช่วยในการเบิกพระเนตรพระพุทธรูปใหญ่ที่วัดไชโยด้วย กําหนดพณฯ ท่านสมุหนายกจะได้กราบถวายบังคมลา ออกจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาที่วัดไชโย แขวงเมืองอ่างทอง ณ วันที่ ๒๐ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ตรงกับวัน ๒ ฯ ๒ ๖ ค่ํา ปีขาล โทศก ๑๒๕๒ เป็นแน่น ให้พระยาอุไทยธานี พระยาสรรคบุรานุรักษ์ ปลงใจลงในกองการกุศลรีบลงไปคอยรับรอง และช่วยจัดการที่วัดไชโยแขวงเมืองอ่างทองให้ทันกําหนดตามบัญชาอย่าให้เสียราชการได้
(ประทับตรามาเป็นสําคัญ)
ด้วยเจ้าพระยารัตนบดินทร ที่สมุหนายกรับพระบรม ราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าให้ช่างรัก ขึ้นไปลงรักพระมหาพุทธปฏิมากรวัดไชโยแขวงเมืองอ่างทอง ถ้าช่างรักลงรักเสร็จแล้วกําหนดจะปิดทองในเดือนสิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ นั้น ให้เจ้าพนักงานชาวพระคลังทองจัดหาทองคําเปลวประมาณ ๕-๗ แสน เตรียมไว้ให้พอปิดพระพุทธรูปใหญ่วัดไชโยให้ทันกําหนด อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่งหมายมา ณ วันที่ ๕ ที่ ๑๐ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (ปีขาล โทศก ๑๒๕๒ พ.ศ. ๒๕๓๓)
-------------------------
ที่ ๓๐๘
ศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย
วันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔ สารตรา เจ้าพระยาจักรีฯ มาถึงพระยาวิเศษไชยชาญ กรมการเมืองอ่างทอง
ด้วยมีพระบรมราชโองการดํารัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่าง (ส) สถาปนาพระพุทธปฏิมากรใหญ่วัดไชโย เสร็จแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร์ ที่สมุหนายก ขึ้นมาจัดการปิดทองพระพุทธปฏิมากร วันที่ ๒๔ ธันวาคม รศ. ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) เวลาบ่ายพระสงฆ์ ๑๐ รูป จะได้เจริญ พระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๐ เวลาเช้า พระสงฆ์จะได้รับพระราชทานฉัน เจ้าพนักงานนายช่างจะได้ลงมือปิดทองตามฤกษ์ ให้พระยาวิเศษไชยชาญ กรมการนิมนต์ พระสงฆ์สวดฉัน 90 รูป จัดอาสนะกระโถนขันน้ําไปแต่งตั้งแลจัดสํารับคาว-หวาน เภสัชอังคาส พระสงฆ์สวด-ฉันทั้ง ๒ เวลา ให้ทันกําหนดแล้วให้ปลูกศาลเทวดาสําหรับโหรบูชาเทวดา ฤกษ์ด้วยศาล ๑ จัดกาบ-ก้านกล้วย ทําบัตรพระเกตุ ๙ ชั้น ๒ บัตร, ทําบัตร ๓ เหลี่ยม ๒ บัตร, ทําบัตร ๔ เหลี่ยม ๔ บัตร, เครื่องหยิบบัตรสําหรับศาล ๑๘ กระทง, เทียนเล่มละ ๔๘ เล่ม, ผ้าขาว โหรนุ่ง, ห่ม ๒ สําหรับปูรองศาล ๔ ท่อน ส่งให้โหรแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม เวลาบ่าย แล้วให้จัดบายศรีทอง ๓ ชั้น ๒ สํารับ ศีรษะ สุกร ๒ ศีรษะ เทียนเบิกบายศรีหนักส่งให้กับโหรวันที่ ๒๕ ธันวาคม เวลาเช้า สําหรับจะได้บูชาเทวฤกษ์ตามเกณฑ์กับให้พระยาอ่างทอง กรมการ จัดพิณพาทย์ กลองแขก ฆ้องชัย มาคอยเตรียมประโคมเมื่อพระสงฆ์สวด-ฉันตามพระฤกษ์ทั้ง ๒ เวลา ถ้าสงสัยสิ่งใดให้ไต่ถามโหรที่ขึ้นบูชาพระฤกษ์เสียก่อน จะได้ทําตามให้ถูกต้องตามอย่างธรรมเนียม
(ประทับตราพระราชสีห์ใหญ่มาเป็นสําคัญ)
ในจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๕ ว่า ทําพิธียกเครื่องบนพระอุโบสถวัดไชโยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ร.ศ. ๒๔๓๒ เวลาเช้า ๓ โมงกับ ๒๓ นาที และว่าฉลองวัดไชโย เดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๑๔ พ.ศ. ๒๔๓๘ วันที่ ๕-๒๗ โปรดฯ พระราชทานของช่วยคือ ดอกไม้เพลิง ๑ ละครโรง ๑ หนังโรง ๑ กัลปพฤกษ์ ๒ ต้น ทั้ง ๓ วัน
-------------------------
ที่...
ศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย
วันที่ ๑๑ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) ข้าเจ้าพระยารัตนบดินทร ที่สมุหนายก กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นราธิประพันธ์พงศ์ รองเสนาบดีกระทรวงคลังมหาสมบัติ ทราบ
ด้วยเมื่อจํานวนรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าตั้งแซงค์ชั่นเบิกเงินค่าทองคําเปลวปิดองค์พระพุทธรูปใหญ่วัดไชโย แขวงเมืองอ่างทอง ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้ช่างคิดกะประมาณ ทองคําเปลว ๗๐๐,๐๐๐ แผ่น ราคาพันละ ๑๕ บาท ๓๒ อัฐ เป็นเงิน ๑๓๕ ชั่ง ๕๐ บาท ความแจ้งอยู่ในแซงค์ชั่นที่ ๑ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ นั้นแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้เจ้าพนักงานวางฎีกาเบิกเงินรายนี้ไปครบตามแซงค์ชั่นแล้ว ได้จัดซื้อทองคําเปลวตั้งแต่ ๖๐,๐๐๐ แผ่น ราคาพันละ ๑๕ บาท ๒๑ อัฐ เป็นเงิน ๑๑๖ ชั่ง ๒๐ บาท บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าให้คุมทองคําเปลว รายจัดซื้อเป็นทอง ๖๐๐,๐๐๐ แผ่นขึ้นไปปิดองค์พระพุทธรูป ราษฎรมีใจศรัทธาพากันนําทองคําเปลวมาช่วยอีก ๑๙,๕๐๐ แผ่น รวมทั้งทองที่จัดซื้อแล ทองของราษฎรช่วยเป็นเงิน ๖๑๙,๔๐๐ แผ่น ได้ใช้ปิดองค์พระ ทองหลวง ๓๒๔,๗๖๐ แผ่น ข้าพระพุทธเจ้าคิดเอาไว้เพื่อปิดฐานขององค์พระแลสําหรับช่อมอีก ๑๐๐,๐๐๐ แผ่น รวมเป็นทอง ๔๔๔,๑๖๐ แผ่น ทองคําเปลวที่ยังเหลือ ๑๕๕,๘๔๐ แผ่น เงินที่ราษฎรช่วยในการปิดทอง เป็นเงินตรา ๑๑ ชั่ง ๔๔ บาท ๖๐ อัฐ เงินรายเบิกยังเหลือ ๑๙ ชั่ง ๓๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๐ ชั่ง ๗๔ บาท ๖๐ อัฐ ข้าพระพุทธเจ้าจะให้พนักงานนําเงินส่งพระคลังมหาสมบัติ แต่ทองคําเปลวที่เหลือ ๑๕๕,๘๔๐ แผ่นนั้น จะควรนํามาส่งพระคลังไว้ใช้จ่ายราชการต่อไป หรือจะควรประการใดแล้วแต่จะโปรด
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
-----------------------
พระพุทธรูปสร้างขนาดใหญ่อย่างเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” นั้น จะสร้างเป็นพระที่นั่งขัดสมาธิอย่าง “พระเจ้าพนัญเชิง ที่พระนครศรีอยุธยา เป็นพระที่นั่งห้อยพระบาทอย่าง “พระป่าเลไลยก์” ที่เมืองสุพรรณบุรี หรือเป็นพระนอนอย่าง “พระนอนจักรศรี” ที่เมืองสิงห์บุรี โบราณเขาย่อมสร้างไว้กลางแจ้งอย่างเดียวกันกับพระเจดีย์ ไม่ทําวิหารบังองค์พระ การสร้างวิหารปกคลุมหลวงพ่อโตเป็นความคิดที่เกิดขึ้นชั้นหลัง ดังนั้นพระเจ้าพนัญเชิง พระนอนองค์ใหญ่ที่ไหล่เขามไหศวรรย์เมืองเพชรบูรณ์ เมื่อยังไม่มีวิหารนั้นได้เห็นองค์พระพุทธรูปงามเด่นแต่ไกล เมื่อทําวิหารจึงบังองค์พระให้เสียงามไป แม้พระขนาดโตซึ่งคิดประกอบกับแบบวิหารที่สร้างพร้อมกัน เช่น พระโตวัด กัลยาณมิตร และพระนอนที่วัดพระเชตุพนในกรุงเทพฯ เมื่อเข้าในวิหารก็ไม่เห็นองค์พระเหมาะตาด้วยที่ช่างโบราณเขาคิดสร้าง สําหรับทําอย่างหนึ่งมาทําเป็นอย่างอื่นจึงพาให้เสียงาม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงเทววงศ์วโรปการ ผู้สําเร็จราชการ ในคราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อปี ฉลู ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๕๕๔) เรื่อง การบูรณะวัดไชโย และหลวงพ่อโต ดังนี้
เมืองสิงห์บุรี
วันที่ 4 ตุลาคม รศ. ๑๒๐
ถึง กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ
ด้วยตั้งแต่หนังสือฉบับก่อน ขอบอกรายงานส่วนวันนี้ เวลาเช้า ๒ โมง ออกจากพลับพลาเมืองอ่างทอง มาจน ๕ โมงเช้า ถึงวัดไชโย ได้แวะขึ้นที่วัด วิหารทําดีถึงว่าต่อพระอุโบสถออกมาข้างหน้า ดูภายนอกรูปก็เป็นหลั่นลดกันดี ภายในก็สว่างตลอด งานที่ทําก็อยู่ข้างประณีตในพระอุโบสถปูศิลาแลเขียนภาพพอใช้ได้ เสียแต่พระประธานเป็นแม่ลูกอินอย่างปัจจุบันนี้ ห่มผ้ามีดอกดวงซึ่งนับกันว่าเป็นพระอย่างราคาแพง ในมุขหลังพระอุโบสถ รูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มีเค้าจําได้ แต่หนุ่มไปกว่าเมื่อเวลาถึงมรณภาพสักหน่อยหนึ่ง พระองค์ใหญ่ พระศอเล็ก พระพักตร์ยาว ถ้าหากว่าตั้งนั่งร้านขึ้นไปตรงพระพักตร์ เห็นจะยาวเกินขนาด แต่ดูก็เป็นการยากที่จะปั้นให้งามได้ เพราะที่แลดูต้องเห็นลูกคางก่อนอื่น เพราะต้องแหงนคอตั้งบ่า ถ้าไม่มีวิหารปั้นกั้นกลางแจ้ง จะค่อยหาที่ดูง่ายสักหน่อย พอนมัสการ แล้วกลับลงเรือ ฯลฯ
อ่านต่อ>>
** หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ชุดนี้ เขียนโดย อ. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เว็ปไซต์นี้จัดทำเพื่อการศึกษา ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์