สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๓.๓ ภาคชีวเถระประวัติ (ต่อ)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๓.๓ ภาคชีวเถระประวัติ (ต่อ)

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถวายพระพรว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มิได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า ทรงเป็นแต่เจ้าแผ่นดิน อาตมภาพจึงหนีพันเสียได้ ส่วนมหาบพิธพระราชสมภารเจ้า ทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน ไฉนอาตมภาพจะหนี้ได้พ้นเล่า”

เมื่อทรงสดับเช่นนั้นพระองค์ก็ทรงพระสรวล ในปฏิภาณโวหาร อันแยบคายของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ซึ่งมีความหมายว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนเสวยราชย์นั้น ทรงมีพระยศเพียง พระองค์เจ้าเท่านั้น มิได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า ดังเช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อเสร็จพระราชพิธีการแต่งตั้งแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ออกจากพระบรมมหาราชวังข้ามมาที่วัดระฆังฯ หอบเครื่องไทยธรรม ถือพัดยศและย่ามมาเอง ใครจะรับก็ไม่ยอมส่งให้ เที่ยวเดินไปรอบๆ วัด พลางร้องบอกกล่าวดังๆ ว่า

“ในหลวงท่านให้ฉันมาเป็นสมภารที่วัดนี้จ๊ะ”

บรรดาภิกษุสามเณรและชาวบ้านที่มาคอยรับท่านอยู่ที่ท่าน้ำ ต่างก็พากันเดินตามท่านไปเป็นขบวน ราวกับมีแห่เสร็จแล้วท่านก็ขึ้นกุฏิไปเงียบๆ หาได้มีการประชุมชี้แจงพระลูกวัด ให้เป็นกิจจะลักษณะอย่างใดต่อไปไม่

ต่อจากนั้นมาอีก ๒ ปี ในปีขาล จุลศักราช ๑๒๑๖ (พ.ศ. ๒๓๙๗) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะผู้ใหญที่พระเทพกวี

ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศถึงมรณภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อ ณ วัน พฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๘ ค่ํา ปีชวด กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗ นับเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ องค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ก่อนหน้านั้นได้มีสถาปนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ มาแล้ว ตาม ลําดับดังนี้

๑. พระพุทธาจารย์ (ไม่ทราบนาม) วัดอมรินทรราม (วัดบางหว้าน้อย) ได้รับพระราชทัณฑ์โบยและถอดสมณศักดิ์ พร้อมด้วย สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังฯ และ พระพิมลธรรม วัดโพธาราม ด้วยถวายวิสัชนาไม่ต้องพระราชอัธยาศัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วจึงทรงสถาปนาสมณศักดิ์คืนขึ้นตามเดิมทั้ง ๓ รูป

๒. พระพุทธาจารย์ (อยู่) เปรียญ วัดระฆังโฆสิตาราม (วัดบางหว้าใหญ่)

๓. พระพุทธาจารย์ (เป้า) เปรียญเอก วัดอินทราราม บางยี่เรือใต้

๔. สมเด็จพระพุทธาจารย์ (สน) ป. ๓ วัดสะเกศราชวรมหาวิหาร (วัดสระแก)

๕. สมเด็จพระพุฒาจาย์ (โต) ป. ๔ เปรียญยก วัดระฆังโฆสิตาราม (วัดบางหว้าใหญ่)

สมณศักดิ์นี้เดิมใช้คําว่า “สมเด็จพระพุทธาจารย์” ซึ่งคู่กับสมเด็จ พระพุทธโฆษาจารย์ เพิ่งจะเปลี่ยนมาใช้ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” อย่างปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ ๔

สําเนาประกาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรง แต่งตั้งนั้น ปรากฏความดังนี้

คําประกาศ

ศิริศุภมัศดุ พระพุทธศาสนากาลเป็นอดีตภาวกาลล่วงแล้ว ๒๔๐๗ พรรษา ปัจจุบันกาล สุนทรสังวัจฉร บุษยมาส สุกรปักษ์ มวมี ดิถีครูวาร ปริเฉทกาล กําหนด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏิ์ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดําริว่า พระเทพกวี มีพรรษายุกาล ประกอบด้วยรัตตัญญู มหาเถรธรรมยั่งยืนมานาน และมีปฏิภาณปรีชาตรปิฎกโกศษล และฉลาดในโวหารนิพนธ์เทศนา ปริวัตรวิธีและทํากิจในสูตรนั้นด้วยดีไม่ย่อหย่อน อุตสาหะสั่งสอนพระภิกษุสอนสามเณรโดยสมควร อนึ่ง ไม่เกียจคร้านในราชกิจบํารุงพระบรมราชศรัทธา ฉลองพระเดชพระคุณเวลานั้น สมควรที่จะเป็นอรัญญิกมหาสมณคณิศราจารย์พระราชาคณะผู้ใหญ่ มีอิสริยยศยิ่งกว่า สมณนิกรฝ่ายอรัญวาสี เป็นอธิบดีครูฐานิยพิเศษ ควรสักการบูชาแห่ง นานาบริษัท บรรรดานับถือพระบวรพุทธศาสนา จึงมีพระบรมวรโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดํารัสสั่ง ให้สถาปนาพระเทพกวี ศรีวิสุทธนายก ตรีปิฎปรีชา มหาคณิศรบวรสังฆารามวาสี เลื่อนที่ขึ้นเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เอนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกร มหาปริณายก ตรีปิฎกโกศลวิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัด ะฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวง มีนิจภัตรราคา เดือนละ ๕ ตําลึง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๔ รูป คือ

พระครูปลัด มีนิจภัตรเดือนละตําลึง ๒ บาท ๑

พระครูวินัยธร ๑

พระครูวินัยธรรม ๑

พระครูสัทธาสุนทร ๑

พระครูอมรโฆสิต ๑

พระครูสมุห์ ๑

พระครูใบฎีกา ๑

พระครูธรรมรักขิต ๑

ครั้นถึง เดือนยี่ ปีชวดนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานหิรัญบัตร ดั่งปรากฏความใน หมายรับสั่งรัชกาลที่ ๔ จุลศักราช ๑๒๒๖ (พ.ศ. ๒๔๐๗) เล่ม ๒๐ ว่า

“ด้วยพระศรีสุนทรโวหาร รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งว่า จะได้พระราชทานหิรัญบัตร สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆังโฆสิตาราม ณ วัน ๕ฯ ๒ ค่ํา เวลา 7 โมง อนึ่งให้ราชยานจัดเสลี่ยงงา ๒ เสลี่ยง ไปคอยรับหิรัญบัตรที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ไปลงเรือม่านที่ท่าขุนนางเสลี่ยง ๑ ให้ทันเวลา อนึ่ง ให้อภิรุมจัดสัปทนไปกั้นหิรัญบัตรที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ อันไปส่งที่ท่าเรือให้ทันเวลา อนึ่ง ให้พันพุฒ พันเทพราช จ่ายเลกให้ฝีพายฯ เรือม่านลาย ส่งหิรัญบัตรให้พอ ๑ สํา อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง”

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดสถาปนา สมเด็จ พระราชาคณะ ในสมัยก่อนนั้น ได้พระราชทานเป็น หิรัญบัตร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนเป็น สุพรรณบัฏ และในพระราชประเพณี แต่งตั้งสมณศักดิ์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานเป็น พัดยศ ส่วนสัญญาบัตรนั้น พระราชทานตามมาในภายหลัง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้นแม้จะได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ ตลอดจนถึงขั้นสมเด็จพระราชา ท่านก็ยังประพฤติแบบสมถะและนิยมการปฏิบัติเรื่องราวของท่านเช่นเดิมไม่เปลี่ยน โดยไม่คํานึงถึงฐานะตําแหน่งแต่ประการใด และผู้นับถือนิยมเรียก “ขรัวโต” ตลอดมา

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น มีผู้กล่าวสรรเสริญท่านเป็นอันมากว่า เมื่ออยู่ในฐานะศิษย์ท่านก็เป็นศิษย์ที่ดีของอาจารย์ มีความมานะพากเพียรในการเล่าเรียนศึกษา และแตกฉานปราดเปรื่อง ในวิชาการต่างๆ เป็นที่รักใคร่เมตตาของอาจารย์ผู้อื่น ก็นับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้รับอย่างกระจ่างแจ้งสิ้นข้อ กังขา เป็นที่เคารพสักการะของบรรดาศิษย์ทั้งหลายยิ่งนัก ในบรรดาศิษย์ทั้งหลายของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น ที่นับได้ว่าเป็นศิษย์เอกหรือทรง กิตติคุณโด่งดังเป็นที่เคารพนับถือในภายหลังนั้น มีอยู่ ๔ รูปด้วยกัน คือ

หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) ป. ๗ วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) วัดระฆังโฆสิตาราม

พระธรรมถาวร (ช่วง จนทโชติ) วัดระฆังโฆสิตาราม

พระครูธรรมานุกูล (ภู จนทสโร) วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ครองวัดเป็นเจ้าอาวาส วัดระฆังโฆสิตารามวรวิหาร องค์ที่ 5 นั้น นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ ด้วยวัดระฆังโฆสิตารามนั้น เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระอุปถัมภ์ค้ําจุน ทรงปรารภที่จะรื้อพระตําหนักและหอประทับนั่ง และมีพระราชประสงค์จะสร้างเป็นหอไตร โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร อํานวยการสร้าง นับเป็นวัดที่พระบรมวงศานุวงศ์อุปถัมภ์ และก่อสร้างปูชนียสถานสําคัญหลายแห่ง

สําหรับประวัติของวัดระฆังโฆสิตารามวิหาร มีเรื่องราวที่น่าสนใจดังนี้

วัดระฆังโฆสิตารามนี้เดิม เรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อยู่ริมลําน้ําเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือคู่กําปั่นหลวง คือ กรมอู่ทหารเรือเดี๋ยวนี้ ในเขตจังหวัดธนบุรี ตรงข้ามกับท่าช้าง วังหลวง จังหวัดพระนคร เป็น พระอารามหลวงชั้นโท อันดับ วรมหาวิหาร ทั้งสังฆมณฑลในประเทศมีอยู่ ๓ วัด คือ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดกัลยาณมิตร และ วัดจักรวรรดิราชาวาส

พุทธศักราช ๒๓๑๐ กรุงศรีฯ เสียแก่พม่าข้าศึก พระเจ้าตากสินให้กู้อิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่ เรียกว่า “กรุงธนบุรี” ในปีพุทธ ศักราช ๒๓๑๑

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ครองราชย์แล้ว พระองค์มีพระราชหฤทัยใฝ่ในการเป็นธุระบํารุงพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ยกวัดบางหว้าใหญ่ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พระเจ้าตากสินและอาราธนาพระเถรานุเถระผู้ทรงคันถธุระ และวิปัสสนาธุระมาประชุม ณ วัดบางหว้าใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะตามความรู้ความสามารถ และขอให้พระราชาคณะทั้งนั้นช่วยเป็นภาระธุระในพระพุทธศาสนา

พุทธศักราช ๒๓๑๒ ทรงมีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกคงจะกระจัดกระจายเสียหายไปมากเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา เพราะพม่าข้าศึกได้เผาบ้านเมืองวัดวาอารามพินาศลง มีพระประสงค์จะรวบรวม ชําระสอบทานเสียให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราช ซึ่งยังมีบริบูรณ์อยู่ เพราะพม่าข้าศึกยังไปเผาไม่ถึง นํามายังกรุงธนบุรี ในขบวนผู้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกนั้น พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระอาจารย์ “ศรี” ได้ร่วม เดินทางมาด้วย

อันพระอาจารย์ศรีนี้ เดิมอยู่วัดพนัญเชิง แขวงเมืองกรุงเก่า เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ทั้งเป็นผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ ในคราวที่กรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่พม่าข้าศึกนั้น ท่านได้หลบหนีไปพํานักอาศัยอยู่ที่นครศรีธรรมราช ประจวบกับพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปนครศรีธรรมราช ได้ทรงพบท่าน จึงทรงอาราธนาให้มาอยู่ที่วัดบางหว้าใหญ่และทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช เพราะทรงทราบในวิทยาคุณของท่านเมื่อครั้งยังอยู่ที่วัดพนัญเชิง

อนึ่ง ได้มีพระราชดํารัสสั่งให้พระเถรานุเถระมาประชุมกันที่วัดบางหว้าใหญ่อีก แล้วทรงอาราธนาให้พระเถระนุเถระทั้งหลาย มีสมเด็จพระสังฆราชศรี เป็นประธาน ทรงขอให้รับธุระชําระสอบทานพระไตรปิฎก จึงให้มีการสังคายนาพระไตรปิฏกจนสําเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์เป็นต้นฉบับที่ถูกต้องตามพระราชประสงค์ ณ วัดบางหว้าใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี

ขณะนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระชนม์ได้ ๓๒ พรรษา รับราชการอยู่ในพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระราชวรินทร์ ตําแหน่งเจ้ากรมพระตํารวจนอกขวา ทรงย้ายจากบ้านอัมพวา จังหวัด สมุทรสงครามมาตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้พระราชวังพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ กรมอู่ทหารเรือเดี๋ยวนี้

ต่อมา พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับสั่งให้เป็นแม่ทัพไปตีเมืองนครราชสีมา (โคราช) จึงรับสั่งให้รื้อหอพระตําหนักกับหอพระประทับนั่งมาปลูกที่วัดบางหว้าใหญ่ ณ ด้านตะวันตกของหลังพระอุโบสถ (โบสถ์เก่า เดี๋ยวนี้ยกเป็นพระวิหาร) หลังคามุงจาก ฝาสําหรวดกั้นห้องด้วยกระแซง ทั้งนี้ตามความตั้งพระทัยไว้แต่เดิมว่าจะยกถวายวัด

ปีพุทธศักราช ๒๓๒๓ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ได้เสด็จไปราชการสงคราม ณ กัมพูชาประเทศ ซึ่งได้เกิดการจลาจลขึ้นทางธนบุรี พระเจ้าตากสินฯ เกิดพระสัญญาวิปลาส นัยว่าทรงเจริญกรรมฐานด้วยพระวิริยะอันแรงกล้าเกินกว่าประมาณ จนถึงพระสติตามไม่ทัน ทรงสําคัญพระองค์ว่าบรรลุโสดาบัน มีรับสั่งให้ประชุมพระเถรานุเถระ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน มีพระราชปุจฉาว่า พระสมณศากยบุตร์จะกราบไหว้ฆราวาสที่เป็นพระโสดาบันกับบุคคลจะควรหรือไม่ พระสังฆราชศรี พระวิมลธรรมวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทร์) ต่างถวายพระพรเป็นอย่างเดียวกันว่าไม่ควร ทรงกริ้วรับสั่งให้ลงพระราชอาญาถอดเสียจากพระสมณฐานันดรศักดิ์ทั้ง ๓ องค์

ครั้นนั้นสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ได้รับความเดือดร้อน หาความปกติสุขมิได้

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ได้ทรงทราบจึงได้ยกทัพเสด็จกลับมาช่วยดับยุคเข็ญใน กรุงธนบุรีให้เป็นปกติสุขดังเก่า เมื่อล่วงรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ย้ายเมืองหลวงจากธนบุรีมาตั้งใหม่ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ําเจ้าพระยา เรียกชื่อว่ากรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ

เมื่อถึงคราวพระองค์จะทรงจัดตั้งพระราชาคณะ จึงมีพระราชปรารภถึงพระอาจารย์ศรีซึ่งถูกถอดแล้ว ได้หลีกขึ้นไปพักอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนามาอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่ตามเดิม และให้คงสมณฐานันดรศักดิ์ที่สมเด็จพระสังฆราชดังเก่า พร้อมด้วยพระพิมลธรรม และพระพุฒาจารย์ และมีพระราชดํารัสสรรเสริญว่า

“พระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ องค์นี้ มีสันดานสัตย์ซื่อ มั่นคงดํารงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิตควรเป็นที่นับถือไหว้นบสักการบูชา”

แล้วพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์วัดบางหว้าใหญ่และวัดโพธารามเข้ารับบิณฑบาตในพระราชวัง ผลัดเวรกันวัดละ ๗ วัน สมเด็จพระสังฆราชศรีนี้ จึงนับว่าเป็นปฐมสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงเจริญด้วยพระราชศรัทธา ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ เป็นค่าจ้างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานเป็นอักษรขอมเสร็จแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นําไปถวายไว้ตามพระอารามหลวงทุกพระอาราม ยิ่งกว่านั้นได้มีพระดําริว่า มูลฐานแห่งพระพุทธศาสนาคือ พระไตรปิฎก ควรจะได้ชําระสอบทานตู้พระไตรปิฎกเสียใหม่ อย่าให้อักขระพยัญชนะวิปลาสคลาดเคลื่อน ถ้าทิ้งไว้นานไป เบื้องหน้าสิ้นพระเถรานุเถระเหล่านี้แล้ว พระไตรปิฎกจะวิปลาส การพระศาสนาจะเสื่อมโทรม ฉะนั้นจึงมีพระราชดํารัสสั่งให้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ จํานวน ๓๐๐ รูป มายังพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยนั้น ทรงประเคนภัตตาหารเลี้ยงพระสงฆ์เสร็จแล้ว มีพระราชปุจฉาแก่พระเถรานุเถระเหล่านั้นว่า พระไตรปิฎกปัจจุบันนี้ยังถูกต้องบริสุทธิ์หรือวิปลาสคลาดเคลื่อนเป็น ประการใดพระเถรานุเถระทั้งหลายจึงถวายพระพรว่า พระบาลีอรรถกถา และฎีกาแห่งพระไตรปิฎกยังวิปลาสอยู่มิใช่น้อย ดังนั้นจึงมีพระราชดํารัสอาราธนาพระสงฆ์ทั้งนั้นให้มีใจอุตสาหะในการที่จะทําสังคายนา ส่วนพระองค์ทรงรับเป็นศาสนูปถัมภ์พระสงฆ์ทั้งปวงมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ก็รับที่จะสนองพระราชศรัทธาจึงได้เลือกพระภิกษุผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกได้ ๒๑๘ องค์ พระราชบัณฑิตอีก ๓๒ เป็นคณะที่จะทําสังคายนา และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ได้มีพระราชดํารัสสั่งให้จัดวัดนิพพานาราม ซึ่งเปลี่ยนเป็นวัดพระศรีสรรเพชรดาราม (วัดมหาธาตุ พระนคร) เป็นสถานที่สําหรับทำสังคายนา

ครั้น ณ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีวอก สัมฤทธิศก พุทธศักราช เวลาบ่าย ๓ นาฬิกา มีพระราชดํารัสสั่งให้อาราธนาพระสงฆ์การกะ มีสมเด็จพระสังฆราชศรีเป็นประธาน ประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถ วัดพระศรีสรรเพชรดาราม แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วย สมเด็จพระอนุชาธิราชได้เสด็จพระราชดําเนินไปยังพระอุโบสถ ทรงนมัสการพระรัตนตรัยเสร็จแล้วอาราธนาให้พระพิมลธรรมอ่านประกาศ ชุมนุมเทวดาในท่ามกลางสังฆสมาคม อัญเชิญเทวดาทั้งปวงให้อุปถัมภ์ การทําสังคายนาให้สําเร็จลุล่วงไปโดยสวัสดี แล้วให้จัดการแบ่งพระสงฆ์ ออกเป็น ๔ กอง

กองที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช เป็นแม่กองชําระพระสุตตันตปิฎก

กองที่ ๒ พระวันรัต เป็นแม่กองวินัยปิฎก

กองที่ ๓ พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชําระพระคัมภีร์สัททาวิเศษ

กองที่ ๔ พระธรรมไตรโลก เป็นแม่กองชําระพระอภิธรรมปิฎก

และได้ทรงอาราธนาให้ แยกกันชําระอีก ๔ กอง คือที่พระอุโบสถกอง ๑ ที่ศาลาการเปรียญกอง ๑ พระสงฆ์เถรานุเถระทั้งปวง พร้อมด้วยราชบัณฑิตประชุมกันชําระสอบทานพระไตรปิฎกสิ้นเวลาถึง ๕ เดือน จึงเสร็จการสังคายนาสมพระราชประสงค์ นับเป็นครั้งหนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งวัดบางหว้าใหญ่ได้เป็นประธานร่วมกิจพระศาสนาในครั้งนั้น

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เมื่อได้ทรงเป็นศาสนูปถัมภ์ในการสังคายนาแล้ว ได้ทรงปรารภถึงพระตําหนักและหอประทับนั่งที่ได้รื้อไปปลูกไว้ที่วัดบางหว้าใหญ่ ทรงใคร่จะปฏิสังขรณ์ปรับปรุงให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น และมีพระราชประสงค์จะให้เป็นหอไตร จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบถามเรื่องระฆังของวัดบางหว้าใหญ่ ซึ่งพระองค์ท่านได้ทราบมาว่าขุดได้ในวัดและมีเสียงไพเราะนัก ก็ได้ความว่าขุดได้ทางทิศพายัพของพระอุโบสถ (โบสถ์เก่า) จึงรับสั่งให้ขุดลงในที่ที่ขุดระฆังได้เป็นพระรูปสี่เหลี่ยมเรียงอิฐก่อด้วยดินเหนียว กรุไม้กั้นโดยรอบเพื่อกันทลาย แล้วรื้อพระตําหนักและหอประทับนั่งจากที่เดิมมาปลูกลงในสระเป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด ห้องกลางเป็นห้องโถง เปลี่ยนหลังคามุงจากเป็นมุงกระเบื้อง ชายคาเป็นรูปเทพนมเรียงราย เป็นระยะๆ เปลี่ยนฝาสํารวจกันกระแชงเป็นฝาไม้สักลูกสกลภายใน เรียบด้วยไม้สักเขียนรูปภาพ บานประตูห้องกลางโถงด้านตะวันออกแกะ เป็นลายนกวายุภักษ์ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานประตูนอกชานแกะ เป็นมังกรลายกนกดอกไม้ มีซุ้มข้างบนและเป็นลายกนกดอกไม้เหมือนกัน ภายนอกติดคันทวยสวยงาม ทรงสร้างตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่ เขียนลายรดน้ํา ๒ ประตู ประดิษฐานไว้ในห้องด้านเหนือและห้องด้านใต้ ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งดํารงอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยา เจ้าฟ้ากรมหลวง อิศรสุนทรเป็นผู้ทรงอํานวยการสร้าง โดยเฉพาะลายรดน้ํา และลายแกะ นัยว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน กับครูช่างที่มาจากกรุงศรีอยุธยา

เมื่อการปฏิสังขรณ์ซ่อมสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้จัดพระราชพิธีมหกรรม และเสด็จ พระราชดําเนินมาทรงบําเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงบําเพ็ญพระราชกุศลแล้วได้ทรงปลูกต้นจันทน์ไว้ในทิศทั้ง ๔ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงอิศรสุนทรและครูช่างอยุธยา เสร็จแล้วทรงประกาศพระราชอุทิศเป็นหอไตร แต่มีผู้เรียกกันว่า “ตําหนักต้นจันทน์” จนทุกวันนี้ กับได้ทรงขอระฆังเสียงดังดีไปไว้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ทรงสร้างระฆังมา พระราชทานแทนไว้ ๕ ลูก เพราะเหตุนี้วัดบางหว้าใหญ่จึงมีชื่อว่า วัดระฆังโฆสิตารามตั้งแต่นั้นมา มีเรื่องเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จะทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “คัณฑิการาม” แต่ชื่อนี้ไม่มีใครเรียก จึงเป็นชื่อวัดระฆังฯ ตามเดิม

ในยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดระฆังฯ นี้ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี พระนามเดิมว่า “สา” เป็นสมเด็จพระพี่นาง พระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงปฏิสังขรณ์ทั่วพระอาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้น ๑ องค์ ที่หน้าพระอุโบสถ (หลังเก่า) พระราชทานช่วยสมเด็จพระพี่นางพระองค์นั้น และได้มีพระราชดํารัส สั่งให้รื้อตําหนักปิดทองเรียกกันว่า “ตําหนักทอง” อันเป็นที่ประทับของ พระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ในพระราชวังเดิม มาปลูกที่วัดระฆังฯ ทางด้านใต้ของพระอุโบสถ ทรงอุทิศเป็นสังฆบูชา และให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชศรี

กรมพระราชวังบวรสถานภิมุขเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศ พระนามเดิมว่า “ทองอิน” เป็นพระราชโอรสในสมเด็จ เจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี ทรงถวายตําหนักแดง ๑ หลัง ฝาลูกสกล กว้างประมาณ ๔ วาเศษ ระเบียงกว้างประมาณ ๑ วา ๒ ศอก ยาวประมาณ 4 วาเศษ ฝาประจันห้องเขียนรูปภาพอสุภต่างชนิดมีภาพพระภิกษุเจริญอสุภกรรมฐาน เดี๋ยวนี้ภาพนั้นสูญหายหมดแล้วคงอยู่แต่ตัวตําหนักสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เคยเสด็จทอดพระเนตร ทรงประทานพระราชดํารัสไว้ว่า เป็นที่ประทับทรงกรรมฐานของพระเจ้า กรุงธนบุรี ตําหนักแดงนี้อยู่ด้านเหนือของพระอุโบสถ

พุทธศักราช ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังทรงดํารงพระอิสริยยศ เป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร มีพระชนม์ ๒๒ พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ทรงเสด็จพระราชดําเนินมาพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังฯ ได้มีพระราชดํารัสแก่ผู้เข้าเฝ้าใกล้ชิดว่า ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆังฯ พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที พระราชดํารัสนี้เป็นที่ซาบซึ้งได้เล่าสืบกันมาจนทุกวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทางวัดระฆังได้รับพระราชทาน และจดจําจารึกไว้เป็นส่วนพระราชมงคลพจน์

เศวตฉัตรองค์นี้ของเดิมเป็นผ้าตาดขาวเก่ามาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นผ้าขาวลายฉลุปิดทองโครงของเก่า  ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ นี้ จึงได้มีการเปลี่ยนผ้าตามแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเพราะเก่ามาก ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทางวัดระฆังฯ ได้รับพระราชทานและจําต้องจารึกไว้เป็นประวัติของวัดฯ

อนึ่ง เศวตฉัตรนี้เป็นฉัตร ๙ ชั้น มีผู้พูดกันต่อๆ มาว่ามีพระอัฐิ หรือพระอังคารบรรจุอยู่ใต้ฐานพระประธานแต่ก็ได้ความไม่แน่นอนว่าเป็นของเจ้านายพระองค์ใด ถ้าพิจารณาตามพระราชพิธีทักษิณานุปทาน สดับปกรณ์ผ้าที่คู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแล้ว เจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ มักประจําพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี บางปีก็เปลี่ยนเป็นประจําพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ผู้ทรงเป็นพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๑ ถึงพุทธศักราช ๒๕๐๓ รองเจ้าอาวาสวัดปฐมมหาชนกยังไม่ได้เปลี่ยนจึงขอยุติ เรื่องเศวตฉัตรไว้เพียงเท่านี้

ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างตําหนักเก๋ง ๑ หลังอยู่ทางทิศใต้ ปัจจุบันนี้ยังเหลือแต่รากฐานใต้ดิน เหตุที่ทรงสร้างตําหนักเก๋งมีเรื่องเล่าว่า ควาญช้างนําช้าง พระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกอาบน้ําในเวลาเช้าที่ท่าช้างวังหลวง เมื่อควาญได้อาบน้ําให้แล้ว ช้างไม่ยอมเข้าโรงวิ่ง อาละวาดไล่คนที่เดินผ่านไปมา ตั้งแต่ท่าช้างฯ ถึงหลักเมือง และวนเวียนอยู่แถวนั้นตั้งแต่เที่ยงเศษก็ยังไม่ยอมกลับโรง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ จึงมีพระราชดํารัสสั่งให้อาราธนาสมเด็จพระพนรัต (ทองดี) วัดระฆังฯ ให้ไปช่วย เพราะทรงทราบว่า สมเด็จพระพนรัตนี้มีความรู้ทางคชศาสตร์ และท่านก็ได้ไปช่วยจัดการนําช้างเข้าโรงได้อย่างง่ายดายสมพระราชประสงค์ และในการจัดการปราบช้างของสมเด็จพระพนรัต 

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประทับทอดพระเนตรอยู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่หน้าโรงทาน ข้างประตูวิเศษชัยศรี ได้ทรงเห็นความสามารถของสมเด็จพระพนรัต จึงเป็นเหตุให้พระองค์ท่านเกิดความเลื่อมใสในวิชาคชศาสตร์ ต่อมาจึงให้สร้างตําหนักเก๋งไว้ที่วัดระฆังฯ และเมื่อทรงผนวชแล้ว ได้เสด็จไปประทับจําพรรษาอยู่ที่ตําหนักที่สร้างนั้น สมเด็จกรมพระสมมตอมรพันธ์ และสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ได้ทรงประทานข้อสังเกตใน หนังสือตั้งพระราชาคณะกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงผนวชที่วัดระฆังฯ นี้ เพราะเหตุทรงนับถือในสมเด็จองค์นี้มาก”

วัดระฆังโฆสิตารามนี้ มีพิธีสวดกฐินแปลกจากวัดอื่นทั่วพระราชอาณาจักร คือ พระคู่สวด เมื่อจะสวดบัญญัติทุติยกรรม ย่อมยืนขึ้นสวด ตั้งแต่ต้นไปจนจบ เสียงสวดที่เป็นทํานองแบบสวดภาณยักษ์แต่เดิมมานั้นในสมัยสมเด็จพระสังฆราชศรี เป็นอธิบดีสงฆ์ การสวดกฐินนั่งสวดก่อน พอสวดถึง ยสุสน ขมติ โสภาเสยย พระคู่สวดต้องลุกขึ้นยืนสวดตั้งแต่ ทินนัง ไปจนจบ มาถึงสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นอธิบดีสงฆ์ ท่านขอให้ยืนสวดตั้งแต่ต้นไปจนจบที่เดียว จึงเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้

เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรวิหาร นั้นมีดังนี้

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)

พระพนรัต (นาค)

พระพุฒาจารย์ (อยู่)

สมเด็จพระพนรัต (ทองดี)

สมเด็จพระพนรัต (ฤกษ์)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมร์สี)

หม่อมเจ้าพระสมเด็จพุฒาจารย์ (ทัด เสนีย์วงศ์)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร)

พระเทพสิทธินายก (นาค โสภณเถระ)

พระราชธรรมภาณี

พระราชสุวัฒนาภรณ์ (ผัน)

จบประวัติของวัดระฆังโฆสิตาราม

อ่านต่อ>>

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้