สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๓.๒ ภาคชีวเถระประวัติ (ต่อ)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๓.๒ ภาคชีวเถระประวัติ (ต่อ)

การที่สามเณรโตได้เข้ามาอยู่ในสํานักของหลวงพ่อแก้ว (หรือพระอรัญญิกแก้ว) นั้น น่าจะเกิดจากเหตุที่หลวงพ่อแก้ว ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางกรรมฐานออกธุดงควัตรเป็นประจํามีผู้นับถือมาก ตาจึงได้ฝากเด็กชายโตเป็นลูกเลี้ยง หรือเป็นพ่อบุญซื้อ ครั้นเมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วจึงได้ไปอยู่ด้วยความหนึ่ง กับอีกความหนึ่งไปฝากบวชเป็นสามเณรโตในเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี หากเป็นเช่นนี้ก็มีความแตกต่างจากตํานานที่เล่ากันอย่างพิสดารหมด

เมื่อสามเณรโตได้มาอยู่ที่สํานักของหลวงพ่อแก้ว มีความระบุว่าวัดบางลําพูนั้นน่าจะเป็นวัดบางขุนพรหมนอก (คือ วัดอินทรวิหาร เดี๋ยวนี้) มากกว่า เพราะเป็นวัดที่เกี่ยวกับพระญาติทางเจ้าเขียวน้อย พระชายาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาล ที่ ๑ ดังนั้นคงจะไม่ต้องบอกว่าเหตุใดสามเณรโตจึงมาอยู่ที่วัดนี้ เพราะ "ตลอดมานั้นหลวงพ่อแก้วได้ดูแลเอาใจใส่สามเณรโตในความเป็นอยู่และ การเล่าเรียนศึกษาทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี จนหลวงพ่อได้นําสามเณรโตไปฝากกับ พระโหราธิบดี และคุณพระวิเชียร แห่งกรมราชบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียนทางพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น ซึ่งต่อมาได้มี นักปราชญ์ครูบาอาจารย์ได้เข้ามาช่วยเป็นครูอบรมสั่งสอนพระปริยัติ ธรรมอีก ๕ ท่านคือ เสมียนตราด้วง ขุนพรหมเสนา ปลัดเสนา ปลัดกรมนุทเสมียนบุญ และ พระกระแสร์ ซึ่งบุคคลทั้ง ๗ นั้นต่างพร้อมกัน เป็นโยมอุปัฏฐากและช่วยกันอุปถัมภ์บํารุงสามเณรโตเป็นอย่างดีเหมือนกับจะคอยดูแลต่างพระเนตรพระกรรณอยู่ห่างๆ

สามเณรโตนั้นมีความชํานิชํานาญในเรื่องเทศน์มากจนเป็นที่เลื่องลือไปทั้งตําบลบางขุนพรหมและบางลําพู เป็นที่โจษขานกว้างไกลถึงสามเณรน้อยนักเทศน์ไปยังตําบลต่างๆ ด้วยเหตุที่สามเณรโตมีความฉลาดปราดเปรื่องและลีลาในการเทศน์ สามารถทําเสียงเล็กเสียงแหลม ทําเสียงหวานแจ่มใส ทําเสียงใหญ่โฮกฮากตามเนื้อหาของการเทศน์มหาชาติได้ทุกกัณฑ์จึงเป็นที่รักใคร่ของโยมอุปัฏฐากทั่วไป จนเงินค่ากัณฑ์เทศน์มีจํานวนมากอย่างน่าพิศวง

ในครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ร.๒) มีพระชนมายุได้ ๒๘ พรรษา ได้ทราบชื่อเสียงของสามเณรโต และทรงโปรดปรานที่จะทํานุบํารุงพระสงฆ์หรือสามเณรที่มีสติปัญญา ปราดเปรื่อง พระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วง จึงเห็นว่า สามเณรโตน่าที่จะเป็นสามเณรหลวงและพระหลวงในโอกาสต่อไป จึงตกลงที่นําสามเณรโตขึ้นถวายตัว หลวงพ่อแก้วจึงได้อบรมการเข้าเฝ้าเจ้านายเพื่อเตรียมพร้อมที่จะนําเข้าถวายตัว

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้ทอดพระเนตรเห็นสามเณรโต ก็ทรงเห็นสามเณรโตเปล่งปลั่งรัศมี รัศมีกายออกมางามมีราศีเหตุด้วยกําลังอํานาจศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ หากอบรมสมกับผ้ากาสาวพัสตร์ และพระองค์ได้ทรงเห็นผ้ารัดประคด หนามขนุนอย่างขุนนางตรวจใหญ่คาดเป็นบริขารมาด้วย...(น่าจะเห็น แหวนด้วย)

พระองค์ทรงรับสั่งถามถึงอายุ ปีเกิด บ้านเกิด โยมบิดามารดา แล้วจึงได้ทรงทราบถึงผ้ารัดประคดนั้นว่าเป็นของผู้ใดแล้ว ก็ทรงยินดี และทรงอุปถัมภ์โดยทรงมีพระอักษรไปถึงสมเด็จพระสังฆราชมอบให้ พระโหราธิบดีนําไปถวายสมเด็จพระสังฆราช โดยมีรับสั่งว่า

“อย่าให้สามเณรต้องไปอยู่ที่วัดบางลําพูเลย ให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชเถอะ จะได้ใกล้ๆ กัน มีอะไรจะได้รู้กันได้ทันอกทันใจ”

สามเณรโตจึงได้ย้ายเข้าไปอยู่ปรนนิบัติวัตรฐานสมเด็จพระสังฆราชา  ที่วัดมหาธาตุ (สมัยนั้นเรียก วัดนิพพานนาราม) และได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนมีความรู้แตกฉาน สามารถถวายความเข้าใจในพระธรรมแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้อย่างแจ่มชัด)

ในระหว่างนั้นสามเณรโตปรากฏว่าเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงอิศรสุนทร เป็นอย่างมากทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ทุกประการ ถึงกับทรงประทานเรือกราบกันยาหลังคากระเบื้องให้ สามเณรโตไว้ใช้สอยในกิจส่วนตัว อันเป็นกรณีพิเศษซึ่งบุคคลสามัญชนไม่เคยปรากฏว่าจะได้รับพระกรุณาทํานองนี้มาก่อน ด้วยเป็นเรือหลวง สําหรับพระราชทานเฉพาะพระราชวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าเท่านั้น การทั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับสามเณรเป็นเหมือนพระญาติวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าจึงสามารถใช้เรือกราบกันยาหลังคากระแซงได้

พระราชธรรมภาณี (ลมูล สุตาคโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ได้เล่าว่า ท่านยังทันได้เห็นเรือกราบกันยาหลังคากระแซงของเจ้าพระคุณฯ สมัยที่ท่าน (พระราชธรรมภาณี) ยังเป็นพระบวชใหม่ เรือลํานี้ ยาวประมาณ ๕ วาเศษ พื้นทาสีน้ําเงิน (บางแห่งว่าสีแดง) ขอบเป็นลายกนก มีกระทงสําหรับนั่ง และมีช่องสําหรับสวมเสาติดตั้งขื่อโยงสี่มุม เพื่อประกอบหลังคากระแซง เรือลํานี้เกยไว้ที่ใต้ถุนกุฏิเจ้าคุณเฒ่า (พระธรรมถาวร) อยู่ในสภาพชํารุดทรุดโทรมมาก และกุฏิเจ้าคุณเฒ่า ซึ่งเก่าง่อนแง่นมากอยู่แล้ว จึงได้พังลงมาทับเรือ ทําให้เรือพลอยหัก ทําลายย่อยยับไปด้วย เจ้าพระคุณฯ ยังมีเรือเก๋งฝรั่งสี่แจวอีกลําหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ถวายเรือลํานี้มีลวดลายอย่างฝรั่ง มีหลังคาแข็งแรง และมีฝาในตัวประกอบด้วยหน้าต่าง ซึ่งเลื่อนบานปิดเปิดได้ เก็บไว้ใต้ถุนกุฏิเจ้าคุณเฒ่าเช่นเดียวกัน และถูกกุฏิพังทับเสียหายเช่นเดียวกับเรือกราบกันยาฯ เจ้าคุณเฒ่าเคยเล่าให้ฟังว่า

“ตามปกติเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มักจะไม่ค่อยได้ใช้เรือทั้ง ๒ ลํานี้ ท่านไปกิจธุระใดๆ ทางน้ําก็มักจะไปกับเรือจ้างของชาวบ้านเสมอ”

ในเรื่องการศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุกับสมเด็จพระสังฆราชนั้น น่าจะเป็นสามเณรโตไปมาปรนนิบัติระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดอินทรวิหาร ครั้นเมื่อรู้ครบจบประโยคของวัดมหาธาตุแล้วก็ได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งมีเรื่องเล่าในวันที่สามเณรโตจะมาอยู่ที่วัดระฆัง จากคําบอกเล่าของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) เปรียญเอก เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ซึ่งได้ฝันว่า

มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง ได้เข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านจนหมดสิ้น ท่านตกใจตื่น เมื่อพิจารณาความฝันอันประหลาดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ท่านก็คิดว่าชะรอยจะมีผู้นําเด็กที่มีสติปัญญาดีมาฝากเป็นศิษย์ศึกษาบาลีและถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เด็กคนนั้นต่อไปจะเป็นผู้มีคุณธรรมในด้านพระปริยัติอย่างวิเศษทีเดียว ด้วยความเชื่อมั่นในนิมิตอันนี้ ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงสั่งพระเณรในวัดไว้ล่วงหน้าว่า

“วันนี้ถ้ามีผู้นําเด็กมาฝาก หากท่านไม่อยู่ด้วยติดธุระจําเป็นด่วน หรือหลงลืมไป ก็ขอกําชับกับผู้ที่มาหานั้น ให้รอคอยพบท่านให้จงได้” และแล้วก็บังเกิดขึ้นจริงตามนิมิตฝันนั้นทุกประการ คือในวันนั้นพระอรัญญิก (แก้ว) ได้พาสามเณรโต มาแต่วัดอินทรวิหาร เพื่อมาถวายเป็นศิษย์พระปริยัติธรรมกับท่าน ท่านจึงมีความยินดีและรีบรับตัวไว้ทันที

“สามเณรโต” หรือ “พระมหาโต” จึงได้อยู่ที่วัดระฆังฯ ศึกษาพระบาลีปริยัติธรรมกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) พระอาจารย์ ผู้ปราชญ์เปรื่องในด้านคันถธุระที่หาตัวจับได้ยากในยุคนั้น ตลอดมาด้วยดี

“ขรัวโตลูกศิษย์ของเธอ เขามาแปลหนังสือให้ฉันฟังน่ะเขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก”

การศึกษาพระกรรมฐานนั้น เป็นการปฏิบัติทางด้านวิปัสสนาธุระ ซึ่งเป็นการศึกษาสําหรับพระภิกษุสามเณร คู่กับคันถธุระอันหลักสําคัญ ๒ ประการในพระพุทธศาสนา การศึกษาด้านวิปัสสนาธุระเป็นการปฏิบัติเจริญพระกรรมฐานได้แก่ สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน

การเจริญสมถกรรมฐานนั้น ได้แก่ การเพ่งกสินจนบังเกิดสมาธิเบื้องสูง คือ อัปปนาสมาธิ หรือ ฌาน และการเจริญสมาบัตินั้นจะมีผลทําให้เกิดอิทธิฤทธิ์ได้เรียกว่า “ฌานฤทธิ์” หรือ อภิญญา อันเป็นโลกียธรรมชั้นสูงสุด ต่อจากนั้นหากผู้ปฏิบัติปรารถนาพระนิพพานก็เลื่อนอัปปนาสมาธิลงมาสู่ระดับอุปจารสมาธิแล้วพิจารณาองค์ฌานนั้น ให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา จนในที่สุด ถ้าบารมีเกื้อหนุนก็จะบรรลุมัคคญาณและผลญาณ ผู้ปฏิบัตินั้นก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นพระอริยบุคคลทันที สําหรับการปฏิบัตินั้นเป็นภาระหนักและลึกซึ้งเป็นที่สุด และน้อยคนนักที่จะบังเกิดได้ ส่วนมากที่สุดปฏิบัติได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้นก็เพิกถอน เพราะไม่สามารถจะใช้ ความอุตสาหะต่อไปได้

การปฏิบัติพระกรรมฐาน (กรรมฐาน) ดังกล่าวมีความรุ่งเรือง มากในรัชกาลที่ ๒ ด้วยทรงทํานุบํารุงเป็นอันมาก ทรงโปรดให้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิทางวิปัสสนาธุระ ทั้งในกรุงและหัวเมืองฝ่ายเหนือ และใต้มารับพระราชทานถวายบาตร ไตร จีวร กลด และบริขาร อันควรแก่สมณะฝ่ายอรัญญวาสี และทรงแต่งตั้งเป็นพระอาจารย์บอกกรรมฐานแก่พระสงฆ์สามเณร และคฤหัสถ์

สามเณรโตได้ฝึกฝนเล่าเรียนพระกรรมฐานมาจากหลายสํานักด้วยกัน ได้แก่ สํานักพระอรัญญิก (แก้ว) วัดอินทรวิหาร และสํานักพระบวรวิริยะเถระ (อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม คือเริ่มศึกษามาตั้งแต่สมัยเป็นสามเณรเรียนอักขระสมัยนั่นเอง จากนั้นท่านก็ค้นคว้าปฏิบัติด้วยตนเองตลอดมา และเนื่องจากเชื่อกันว่าสามเณรโต มีปฏิปทาวิสัยเป็นพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏขึ้นในโลกเพื่อบําเพ็ญบารมี ดังนั้นการปฏิบัติของท่าน จะต้องดําเนินไปทางสมถกรรมฐาน ด้วยวิสัยของพระโพธิสัตว์นั้น จะไม่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยยังไม่ปรารถนาความหลุดพ้น หากประสงค์จะสร้างบารมีต่อๆ ไปในอนาคตชาติเพื่อบรรลุพุทธภูมิในที่สุด

ดังนั้นการที่ท่านบําเพ็ญตนเป็นพระเกจิอาจารย์สร้างพระเครื่องนั้น เป็นการสร้างสมบารมีประการหนึ่ง และเป็นงานฝ่ายสมถะโดยตรง พระโพธิสัตว์ในอดีตนั้นล้วนแล้วแต่นิยมในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์มาก่อนทั้งสิ้น

เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๙ (ประวัติ ระบุว่า พ.ศ. ๒๓๕๐) สามเณรโตหรือ พระมหาโต อายุได้ ๒๑ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ารับเป็นพระราชธุระในการอุปสมบทสามเณรโตเป็น นาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดย สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ในสมัยนั้นนับเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้เป็น นาคหลวงและอุปสมบทในพระอารามหลวง ของพระบรมมหาราชวัง

การอุปสมบทสามเณรโตเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้น มีความพิสดารออกไปอีกว่า เนื่องจากเจ้าเมืองพิษณุโลก ได้ปวารนาที่จะอุปถัมภ์ในการบวชสามเณรโตเป็นพระภิกษุตั้งแต่ครั้งที่ยังอยู่วัดไก่จ้นอยุธยา ตาและมารดายังถือสัจจะแม้ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงอิศรสุนทร จะทรงอุปถัมภ์ค้ําจุนอยู่ก็ตาม ก็มีกระแสรับสั่งให้พระโหราธิบดี ออกไปดําเนินการแทนพระองค์ด้วย และได้มีกระแสรับสั่งให้นําสามเณรโตไปบวชที่วัดตะไกรเมืองพิษณุโลก แต่มีบางแห่งบอกว่าบวชที่วัดแจ้ง เมืองพิษณุโลก โดยมีโยมตา โยมแม่ เจ้าเมืองพิษณุโลกเป็นเจ้าภาพ ร่วมกัน

แต่ในพระประวัติเล่าว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงอิศรสุนทร ทรงมอบกิจการทั้งปวงแก่พระโหราธิบดี พร้อมทั้งเงินที่จะใช้สอย ๔๐๐ บาท ทั้งเครื่องบริขารพร้อมและรับสั่งให้ทําขวัญนาค เวียนเทียนแต่งตัวอย่างแบบนาคหลวง แห่ตามคติชาวเมือง” พร้อมกับมีท้องตราให้เจ้าเมืองพิษณุโลก รับหน้าที่แทนพระองค์ในการจัดการบวชสามเณรโต และทรงกําชับว่า

“พระองค์มีพระประสงค์จะให้งานบรรพชาของสามเณรโตครั้งนี้ ยิ่งใหญ่นักในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง ในฐานะที่เป็นนาคหลวงของพระองค์” และทรงมีท้องตราให้เจ้าเมืองกําแพงเพชร เมืองพิจิตร เมืองพิชัย เมืองชัยนาท ได้ร่วมกันบวชสามเณรโตเป็นนาคหลวงด้วย ซึ่งกําหนดการบวชนั้น ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๔๐ โดยมี สมเด็จพระวันรัตเจ้าอาวาสวัดระฆัง เป็นผู้แทน สมเด็จพระสังฆราช เดินทางไปเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระครูแก้ว วัดบางลําพู เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอธิการวัดตะไกร เมืองพิษณุโลก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การบรรพชาสามเณรโตครั้งนี้นับเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ และได้เตรียมงานเป็นอย่างดี กล่าวคือ “พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง ก็จัดเรือญวนใหญ่ ๖ แจว ๑ ลํา เรือญวนใหญ่ ๔ แจว ๑ ลํา เรือครัว ๑ ล้า คนแจวพร้อม และจัดหาผ้าไตรคู่สวดอุปัชฌาย์ จัดเทียนอุปัชฌาย์คู่สวด จัดเครื่องทําขวัญนาคพร้อมยกตะล่อมพอกแว่นเทียนขันถม ผ้าคลุม บายศรี เสร็จแล้วเอาเรือ ๖ แจวไปรับสมเด็จพระวันรัตนลชาสามเณร จากสมเด็จพระสังฆราช แล้วนําลงแจว ๖ ลํา ส่วนพระโหราธิบดีและเสมียนตราด้วง ไปลงเรือ ๘ แจว” ขบวนเรือนี้ได้เดินทางสองวันสองคืน จึงเทียบเรือหน้าจวนเจ้าเมืองพิษณุโลก โดยมีท้องตราบัวแก้วรับทราบ พระราชประสงค์และดําเนินการจัดการงานบรรพชาสามเณรโตเป็นนาคหลวงอย่างมโหฬารและสนุกสนานไปทั่วเมือง

เรื่องบวชสามเณรโตเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีนั้น มีความทั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เป็น องค์อุปถัมภ์ จัดการอุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงมีท้องตราบัวแก้วให้เจ้าเมืองพิษณุโลก อุปสมบทที่วัดตะไกร เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดระฆังซึ่งเป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช ที่เดินทางไปเป็นประธานอุปสมบทสามเณรโตนั้นน่าจะ เป็นพระพนรัต (นาค) หรือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) มากกว่า

สําหรับสมเด็จพระสังฆราช วัดมหาธาตุ ที่สามเณรโตได้ไปอยู ปรนนิบัติและศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ด้วยนั้น น่าจะเป็นสมเด็จพระลังฆราช (สุก) ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในปี พ.ศ. ๒๓๓๖ ซึ่งพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๕๙ หากจะเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทด้วยน่าจะเหมาะสมกับเหตุและระยะเวลาซึ่งบางฉบับระบุว่า เป็นสมเด็จพระสังฆราช (มี) นั้น เมื่อสอบประวัติปรากฏว่าได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๕๙ ภายหลังที่สามเณรโตอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นี้เป็นองค์มหาสังฆปริณายกที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หากเป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทพระภิกษุโตก็จะต้องด้วยการเป็นศิษย์และอาจารย์ ซึ่งขณะนั้น สามเณรโตได้ศึกษาด้านปริยัติธรรมกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) อยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ดังนั้นการศึกษากับสํานักเรียนของสมเด็จพระสังฆราช จึงถือเป็นแหล่งที่แตกฉานในพระบาลีอันเป็นที่ปรารถนาของพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ส่วนสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ซึ่งเป็นองค์มหาสังฆปรินายกที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เป็นพระมหาเถระอีกองค์หนึ่ง เดิมอยู่ที่วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) และต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๖๓ และดำรงยศเป็นสมเด็จพระสังฆราช ได้ ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๔ (บางแห่งว่า พ.ศ. ๒๓๖๕) “พระมหาโต" หรือสามเณรโตนั้น ได้ศึกษาวิชากรรมฐานและมหาพุทธาคมจากท่านในขณะที่ดํารงสมณศักดิ์ เป็นพระญาณสังวรอยู่วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) ธนบุรี ทําให้ พระมหาโต ได้วิธีสร้างพระสมเด็จจาก พระสมเด็จอรหัง ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖-๖๕ ส่วนพระสมเด็จที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างนั้นได้ทําเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ หลังพระสมเด็จอรหังถึง ๔๖ ปี

ดังนั้น สมเด็จพระสังฆราชมหาเถระทั้งสองรูปนี้จึงสรุปว่าเป็น พระปรมาจารย์องค์สําคัญของ พระมหาโต พรหมรังสี นอกเหนือจาก พระอาจารย์ต่างๆ ที่ได้สอบอักขระสมัยและพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ ครั้งเป็นสามเณรโต และพระอาจารย์อีกองค์หนึ่งที่สําคัญมาก คือพระอาจารย์แสง วัดมณีชลขันธ์ เมืองลพบุรี ซึ่งเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาคมให้แก่ พระมหาโต พรหมรังสี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชวิจารณ์ ถึงพระอาจารย์แสง ในพระราชนิพนธ์ เสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ปีขาล พ.ศ. ๒๕๒๑ ว่า

“ขรัวตาแสง” คนทั้งปวงนับถือ กันว่าเป็นผู้มีวิชา เดินตั้งแต่เมืองลพบุรี เช้าลงมาฉันเพลที่กรุงเทพฯ ได้เป็นคนกว้างขวาง เจ้านายขุนนาง รู้จักหมด ได้สร้างพระเจดีย์สูงไว้องค์หนึ่ง ที่วัดมณีชลขันธ์ (วัดเกาะ) ตัวไม่ได้อยู่วัดนี้ หน้าเข้าพรรษาไปจําพรรษาอยู่ที่วัดอื่น ถ้าถึงออกพรรษาแล้วมาปลูกโรงอยู่ริมพระเจดีย์ ๒ องค์นี้ ซึ่งก่อเองคนเดียวไม่ยอมให้คนอื่นช่วย ราษฎรที่นับถือพากัน
ช่วยเรี่ยไรอิฐปูน และพระเจดีย์องค์นี้เจ้าของจะทําแล้วเสร็จตลอดไป หรือจะทิ้งผู้อื่นช่วยเมื่อตายแล้ว ไม่ได้ถามดูของเธอก็สูงดีอยู่

ด้วยเหตุที่ พระภิกษุโต พรหมรังสี ได้ศึกษาอย่างจริงจัง แต่พระอาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิในทุกด้าน จึงทําให้พระภิกษุโต พรหมรังสี เป็นผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมอย่างหาผู้ใดเปรียบได้ แต่เมื่อ พระภิกษุไม่ได้สนใจในการเข้าแปลหนังสือสอบเป็นเปรียญเช่นพระภิกุทั่วไป

การสอบในสมัยนั้นนิยมสอบเปรียญต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระสังฆราช ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการสอบปากเปล่า สุดแต่กรรมการจะถามหรือให้แปลบาลีตอนไหน ถ้าตอบไม่ได้หรือแปลให้ตลอดไม่ได้ ก็สอบตกเพียงแค่นั้น ถ้าสามารถทําได้ตลอดไม่ติดขัดก็สามารถสอบเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ภายในวันเดียว

พระภิกษุโต พรหมรังสี นั้นมีความรู้และปัญญาเฉลียวฉลาด จึงเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและองค์ประธานในการสอบ คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ซึ่งเป็นทั้งพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ปริยัติธรรมโดยตรง จึงทรงพระกรุณาต่อท่านเป็นอันมาก ถ้าท่านเข้าสอบในวันใด ก็จะได้เปรียญเอก ๙ ประโยคในวันนั้นอย่างแน่นอนที่สุด

ดังนั้นการที่ท่านไม่เข้าสอบนั้นจึงเข้าใจได้ว่า ท่านเป็นบุคคลที่สันโดษมักน้อยจริงๆ ไม่ยินดีในเกียรติยศชื่อเสียงแต่อย่างใด การได้ศึกษาต่างๆ นั้นก็เพื่อต้องการความรู้เท่านั้น นายพรหม ขะมาลา ได้บันทึกไว้ว่า

การเรียนของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้นว่าท่านเรียนจนไม่มีอาจารย์ให้ เพราะเมื่อไปเรียนกับท่านผู้ใดก็เท่ากับไปแปลหนังสือให้ฟังทั้งนั้น เมื่อไม่มีผู้ใดสอนให้แล้ว ในที่สุดจึงไปเรียนกับพระพุทธรูปในโบสถ์ เห็นว่าพอสมควรแล้วก็หยุด จึงกราบ ๓ ครั้ง แล้วก็จัดแจงเก็บหนังสือเทินศีรษะเดินไปจนถึงที่อยู่ของตน ประพฤติดั่งนี้เสมอมามิได้ขาด กางกากะเยียออกแล้วเอาหนังสือวางบนนั้น กราบ ๓ ครั้ง แล้วเปิดหนังสือ ออกแปลเมื่อแปลไป

“ครั้นถึงเวลาเปิดสนามหลวง ท่านก็บัญชีแปลทุกปี เพราะสมัยนั้นหาพระและเณรเข้าแปลในสนามหลวงได้ยาก ในวัดหนึ่งๆ จะมีสักสามองค์ หรือสื่องค์ก็ทั้งยาก ฉะนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านจึงเข้าแปลทุกปี เมื่อท่านแปลนั้น พวกกรรมการไม่มีใครทักเลยแม้แต่รูปเดียว คงจะเนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ จะเห็นว่าท่านเป็นพระหลวง และประการที่ ๒ จะเห็นว่าท่านมีความรู้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว เมื่อท่านแปลพอจวนจะลงประโยคแล้ว ท่านก็ชิงกราบลาไปเสียทุกที จนบางทีถึงกับกรรมการต่อว่าๆ “แน่พิลึกจริง ไม่เห็นมีใครว่าอะไรก็ลาไป เสียเฉยๆ นั่นเอง” และไม่ปรากฏท่านเป็นเปรียญ เพราะกล่าวกันว่าท่านไม่ยินดียินร้ายในลาภยศเลย”

คนทั้งหลายทั่วไปที่รู้จักจึงพากันเรียกท่านว่า “มหาโต” มาตั้งแต่ แรกบวชด้วยความศรัทธาและเลื่อมใสในความปราดเปรื่องของท่าน บางคนก็กล่าวถึงท่านในนามว่า “ขรัวโต” ด้วยเห็นกันว่าท่านมักชอบทําอะไรแปลกอยู่เสมอตามวิสัยของท่าน

ต่อมาท่านได้รับพระราชทานเป็นเปรียญยก กล่าวคือในบัญชีรายนามพระสงฆ์รับพระราชทานฉันและสดับปกรณ์รายร้อย ในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา รัชกาลที่ ๓ ลงวันแรม ๒ ค่ํา เดือน ๖ (ไม่ลงปี พ.ศ.) มีบันทึกนามของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไว้ตอนหนึ่งว่า “พระมหาโตเปรียญยก” และในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ตอนที่ว่าด้วยการตั้ง พระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ปรากฏนามของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่าเป็นเปรียญ ๔ ประโยคแรก คือ “ตั้งพระมหาโตเปรียญ ๔ ประโยคยก เป็น พระธรรมกิตติ” 

คราวหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ แปลพระปริยัติธรรมถวายในที่รโหฐานแห่งหนึ่ง ท่านได้แปลถวายตามพระราชประสงค์ ทรงพระดํารัสว่า ความรู้ของท่านถึงชั้นเปรียญเอก จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานพัดยศ เปรียญ ๙ ประโยค แต่ท่านทูลถวายพระพร

พระภิกษุโต พรหมรังสีนั้น โดยปกติปฏิปทาวิสัยของท่านเป็นสมณะที่สันโดษและมักน้อย ปราศจากคตินิยมในยศลาภสักการอัครฐานใดๆ แม้จะเชี่ยวชาญทางพระปริยัติธรรมสักปานใด ก็ไม่ปรารถนาจะเข้าแปลหนังสือสอบเป็นเปรียญ แม้จะไม่สามารถหนีการพระราชทาน ให้เป็นเปรียญยกได้ก็ตาม ในด้านสมณศักดิ์ก็เช่นเดียวกัน ท่านพยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงอยู่ตลอดมา

ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดําริ จะพระราชทานแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ เมื่อทรงตระหนักถึงอัธยาศัย ของท่านแล้วทรงเกรงพระทัย จึงได้ทรงปรารภกับท่านในประการนี้ ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้ถวายพระพรขอตัวเสีย และต่อมาเมื่อได้สดับว่าพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดําริเรื่องนี้ขึ้นเมื่อใด ท่านมักจะถือโอกาสหลบหนีไปอยู่วัดในชนบทที่ห่างไกลเสียเนื่องๆ บางทีก็เลยไปถึงประเทศเขมรก็เคยทําจึงไม่ได้แต่งตั้งสมณศักดิ์อย่างใดให้

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชปรารภเรื่องที่จะพระราชทานแต่งตั้งพระราชาคณะแก่ท่านขึ้นอีก ด้วยความเกรงพระราชหฤทัยเป็นอันมาก เนื่องด้วยมีความสนิทชิดชอบ ในส่วนพระองค์มาช้านานตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชและท่านได้เป็นพระพี่เลี้ยง ท่านจึงไม่อาจขัดพระกระแสรับสั่งได้ ต้องจํายอมรับสมณศักดิ์ครั้งนี้ เพื่อมิให้เป็นที่ขัดพระราชอัธยาศัย

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแต่งตั้งให้ พระมหาโต พรหมรังสี เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิตติ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๒๑๔ (พ.ศ. ๒๓๙๕) ขณะนั้นท่าน มีพระชนมายุได้ ๖๕ ชันษา แล้วมีความในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๔ จุลศักราช ๑๒๑๔ (พ.ศ. ๒๓๙๕)
เล่ม ๑๘ ว่า “อนึ่ง เพลา ๓ โมง นายพันตํารวจวังมารับสั่งว่า ด้วยพระยาประสิทธิศุภการรับพระบรม ราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งว่าทรงพระราชศรัทธาให้ถวายนิตยภัตพระธรรมกิตติ วัดระฆังฯ เพิ่มขึ้นไปอีก ๒ บาท ตั้งแต่เดือนยี่ ปีชวด จัตวาศก ไปจนทุกเดือนทุกปี อย่าให้ขาดได้” และ ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๔ ตอนที่ว่าด้วยการตั้งพระราชาคณะ มีข้อความว่า “ตั้งมหาโต เปรียญ ๔ ประโยคยก เป็น พระธรรมกิตติ"

ในโอกาสพระราชทานสมณศักดิ์ครั้งนั้นมีเรื่องเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปุจฉาเชิงสัพยอกเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า

“เหตุใดขรัวโต จึงพยายามหนีการแต่งตั้งในรัชกาลที่ ๓ ต่อที่นี้ ทําไมจึงยอมรับ ไม่หนีอีกเล่า?”

อ่านต่่อ>> 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้