สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๓.๑ ภาคชีวเถระประวัติ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๓.๑ ภาคชีวเถระประวัติ

ดวงชะตาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่มีหลักฐานอยู่ในหอสมุดแห่งชาตินั้น กําหนดวันชาตะในวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่่ำ เวลาประมาณย่ำรุ่ง ๙ บาท จุลศักราช ๑๑๕๐ ปีวอก สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ มีดวงชะตา ปรากฏดังนี้

ดวงชะตานี้ สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงคํานวณถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ เนื่องด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงทราบว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๘๐ ปี ขึ้นไปมีดวงชะตาเป็นอย่างไร แล้วพระราชทานไปยังสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ซึ่งได้ประทานให้กับพระยาทิพโกษา คัดลอกไว้อีกต่อหนึ่ง

ดวงชะตานี้ ไม่ปรากฏลัคนาสถิตราศีใด ดวงชะตาที่มีหลักฐานอยู่หอสมุดแห่งชาตินั้น โหรได้วางลัคนาไว้ในราศีเมษ ในที่อื่นวางลัคนาไว้ในราศีพฤษภ จึงใช้วิธีพิจารณาตามเกณฑ์ชะตาพื้นดวงของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ปรากฏว่าโหราจารย์ทั้งหลายยอมรับว่า ดวงชะตาของหอสมุดแห่งชาตินั้น ต้องศุฏเกณฑ์ของมหาทักษา จักรราศี เรือนพระเคราะห์ และมงคลโฉลกของพระเคราะห์ อันสมบูรณ์แบบแห่งพระอัจฉริยาจารย์โดยแท้ คือ

อาทิตย์ เป็น ศรี และ มหาอุจ กุมลัคน์

แสดงถึงว่าเป็นผู้ทรงกิตติคุณ ทรงสมณศักดิ์สูง และมหานิยมยิ่งนัก

จันทร์ เป็น มูละ และ ราชาโชค

เป็นผู้มีพื้นเพดี ได้รับความเคารพสักการะแก่มนตรี และราชูปถัมภ์แห่งท้าวพระยามหากษัตริย์

อังคาร เป็น อุตสาหะ และนิจ ในเรือนจันทร์

บ่งถึงอุตสาหะวิริยภาพอันแรงกล้า มือจบศรัทธาไม่หวั่นไหวในสมณธรรม

พุธ เป็นมนตรี นิจ และ ประเรือนพฤหัส

แสดงถึงความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ไม่ไหวหวั่นต่อโลกธรรม คือมีลักษณะเป็นนักปรัชญาหรือนักพรต

พฤหัสบดี เป็นบริวาร และอุจจาวิลาศ

หมายถึงเป็นผู้มีศิษยานุศิษย์มาก และมีศิษย์ที่ทรงกิตติคุณสูง รวมทั้งมีผู้เคารพสักการะโดยทั่วไป ทรงคุณปัญญายอดเยี่ยมแตกฉานในพระปริยัติธรรม เชี่ยวชาญอักขระสมัยไพรัชพากษ์ทั้งช่ำชองพระกรรมฐาน และเป็นเกจิอาจารย์ชั้นเยี่ยม

ศุกร์ เป็น เดช และ เกษตร แต่เป็น วินาศแก่ตนุเศษ

บ่งถึงเป็นผู้ถึงซึ่งอริยทรัพย์ สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม และปราศจากความกําหนัดยินดีในศฤงคารใดๆ

เสาร์ เป็น กาลกิณี และเกษตร

แสดงให้ประจักษ์ชัดขึ้นอีกว่า เป็นผู้ปราศจากการสะสมทรัพย์สมบัติใดๆ เลย ดํารงอัตภาพสมกับสมณชีวะโดยแท้

ราหู เป็น อายุ และ มหาอุจ

แสดงถึงความเป็นผู้มีชันษายั่งยืน และทั้งกอปรด้วยความเชี่ยวชาญในพุทธาคม และศาสตร์อันลี้ลับทั้งหลาย แสดงถึงความเป็นพระอัจฉริยาจารย์อย่างแท้จริง

ลัคนา เกาะ ปัญจมานวางค์ อาทิตย์ (ศรี) และ ทุติยตรียางค์ อาทิตย์ (ศรี) เสวยภรณีฤกษ์ที่ ๒ ประกอบด้วยมหัธโนแห่งฤกษ์ ต้อง ศุภเกณฑ์ พยากรณ์ว่า

เป็นผู้อุดมด้วยกิตติคุณอย่างยิ่ง ผลงานประดิษฐกรรม (คือพระสมเด็จ) ที่ได้สร้างสรรค์ไว้ ย่อมจะได้รับการสักการบูชาด้วยศรัทธาแห่งวิญญูชนทั้งหลายมิรู้เสื่อม สมเป็นพระเกจิอาจารย์เอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยแท้เชียว

ด้วยเหตุนี้จึงถือเอาดวงชะตานี้เป็นหลัก ส่วนวันชาตะ วันพุธ เดือน ๖ ปีวอก อัฏศก จุลศักราช ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙) เกิดหลัง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ๙ ปี คือ พระองค์พระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐ หากเชื่อตามความนี้ พระพุฒาจารย์ (โต) ต้องไม่ใช่บุตรของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงอิศรสุนทรแน่

แต่ถ้าถือว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์โต เกิด พ.ศ. ๒๓๓๑ ตาม ดวงชะตาแล้ว มีเหตุที่ค่อนข้างน่าจะเป็นไปได้ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งมีอายุได้ ๒๑ พรรษา จะมีพระราชโอรส และธิดาได้ คือ พระราชธิดาองค์แรกชื่อ พระองค์เจ้าหญิงจักจั่น ในเจ้าจอมมารดาสี ประสูติเมื่อ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๙, พระองค์เจ้าชาย ในเจ้ามารดาสวน ประสูติปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ และพระองค์เจ้าชายทับ (ร.๓) พระราชสมภพวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐ เป็นต้น

ดังนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ถ้าเกิดในพ.ศ. ๒๓๓๑ จึง เป็นไปได้ว่าเป็นบุตรอีกองค์หนึ่งได้ แต่เหตุการณ์จากตํานานและประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ ครั้ง อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่ายกทัพ ๓๕,๐๐๐ คน ล้อมเมืองพิษณุโลกนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่สมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งมีอายุเพียง ๗ พรรษาจะไปร่วมทัพสงครามด้วย แม้จะหาเหตุการณ์การสู้รบระหว่างไทยรบกับพม่าในครั้งหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับตํานานนั้นกลับมีเหตุการณ์เมื่อครั้งไทยยกกองทัพตีพม่าที่เมืองลําปางและลําพูน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ ที่พอจะสอดคล้องกับดวงชะตาเกิดของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่ระบุและเชื่อกันว่า พ.ศ. ๒๓๓๑ นั้นเป็นปีเกิด

แต่จะเกิดความตามตํานานที่เล่าไว้ไม่ได้ ด้วยมารดาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้นมีบ้านอยู่ที่สวนละมุด ที่เมืองพิษณุโลก และเมืองกําแพงเพชร หรือบ้านไก่จัน อําเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอพยพมาอยู่ภายหลังและคลอดบุตรชายที่นี่ จะมีความเป็นไปได้อย่างไรไม่ยุติศึก ส่วนพื้นเพของมารดาว่าเป็นคนจากหมู่บ้านเสม็ด เมืองจันทบูร หรือตําบลท่าอิฐ เมืองอุตรดิตถ์นั้น คงเป็นตํานานที่เก็บเป็นข้อมูลไว้ก่อน

ดังนั้นเหตุที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เกิดที่บ้านไก่จ้น ตําบล ท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงน่าจะได้รับการยอมรับมากกว่าที่อื่น ประเด็นหลักคือ ไม่ปรากฏชื่อผู้เป็น บิดา ทั้งสิ้น แต่ชื่อมารดา ว่า “งุด- หมุด - และ ละมุด” จนกระทั่งชื่อ “เกส - เกสร” ก็ดูจะมีชื่อมากชื่อกว่าคนธรรมดา จึงไม่น่ามีเหตุใดมาอ้างว่า ทําไมจึงไม่มีใครรู้ชื่อบิดาด้วย เว้นแต่ว่าจะมีความจําเป็นต้องปิดความ เพื่อความปลอดภัยของ ครอบครัวนี้ โดยเฉพาะการที่เป็นพระญาติกับบุคคลสําคัญ

ในภายหลังนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงตรัสเรียก “พระมหาโต” หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ว่า “หลวงพี่” จึงทําให้เข้าใจว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) น่าจะเป็นพระราชโอรสองค์หนึ่งของบุคคลสําคัญในราชวงศ์นี้ โดยเฉพาะสมเด็จพระชนกนาถ (รัชกาลที่ ๒)

เรื่องนี้น่าจะเนื่องมาจากเหตุที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ออกผนวชเป็นพระ “วชิรญาณภิกขุ” เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ นั้น ทรงมีพระมหาโต เป็นพระพี่เลี้ยง ขณะนั้นพระมหาโต คงจะมีอายุได้ ๓๖ พรรษา (ถ้าถือว่าเกิด พ.ศ. ๒๓๓๑) หรือ ๔๘ พรรษา (ถ้าถือเกิด พ.ศ. ๒๓๑๙) ซึ่งมีอายุแก่กว่าพระภิกษุฟ้ามงกุฎ หรือ “วชิรญาณภิกขุ” ถึง ๑๖ ปี หรือ ๒๘ พรรษา

ส่วนความที่เชื่อกันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ นั้น เป็นตำนานเล่าขานแต่งอย่างกับนวนิยายดังกล่าว หากสอบทาน เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้วจะเห็นว่า พ.ศ. ๒๓๑๗ ครั้งอะแซหวุ่นกี้ยกทัพพม่าล้อมเมืองพิษณุโลกนั้น เป็นช่วงที่เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วงหรือรัชกาลที่ ๑) ได้บัญชาการการทัพอยู่ในพื้นที่ เมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ผู้เป็นน้องชาย ซึ่งมีเมืองกําแพงเพช สุโขทัย และเมืองอุตรดิตถ์ ตลอดจนหัวเมืองทางเหนือ เป็นกําลัง

ดังนั้นการพบ “ละมุด หรือ หงุด” มารดาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงเป็นไปได้มากกว่า และเนื้อความตามตํานานได้ดําเนินเรื่องติดต่ออย่างเหมาะสม ทั้งระยะเวลาและอายุของบุคคลที่เกี่ยวข้อง

สําหรับที่ปรากฏเป็นประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ช่วงนี้ จึงเป็นเรื่องที่แตกต่างจากฉบับอื่นๆ เพราะเรียบเรียงตามที่เชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระราชบิดา จากหลักฐานข้อมูลที่หาได้ในปัจจุบัน ผิดถูกอย่างไรไปสอบสวนหาความจริงกันต่อไปได้อีก

ความตามตํานานจึงขอเล่าต่อว่า แม่นางละมุด หรือ มารดาจะได้ทราบข่าวว่า บิดาของหนูโต (ต้องเกิด พ.ศ. ๒๓๑๙) ได้รับแต่งตั้งมี ยศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่โต เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๐ หลังจากที่มีความดีความชอบไปตีเมืองจําปาศักดิ์และหัวเมืองบริวารต่างๆ ได้แล้วก็พลอยยินดีไปด้วย แต่ด้วยเหตุที่ไม่ได้พบกันมาตั้งแต่คราวนั้น ความหวังที่จะได้คุ้นเคยและพบกันบิดาของหนูโตนั้นจึงอยู่ในใจของนางตลอดเวลา เช่นเดียวกับการปิดความ เรื่องราวของบิดาของหนูโต ที่ไม่เคยแพร่งพรายให้ผู้ใดได้รู้

ด้วยเหตุนี้ ชื่อของบิดาของหนูโตจึงไม่มีใครได้เอ่ยปากบอก คงรู้อยู่เฉพาะพ่อแม่ที่เป็นตายายของหนูโต และคนใกล้ชิดไม่กี่คน ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ที่ ตําบลบ้านไก่จ้น จนหนูโตได้ ๗ ขวบ ตาจึงพาหนูโตไปขอบวช หนูโตเป็นสามเณรพร้อมกับเด็กอื่นๆ อีก ๙ คน

เรื่อง หนูโต บวชเป็นสามเณรนี้ ในเรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ กรุงรัตนโกสินทร์ ระบุว่า พระบวรวิริยเถร (อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๓ บวชเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ที่ วัดระฆัง แต่ในประวัติวัดระฆัง มีความกล่าวว่า

“จะบรรพชาที่วัดสังเวชฯ หรือวัดอินทรฯ สืบไม่ทราบแน่ แต่สันนิษฐานว่า เห็นจะบรรพชาที่วัดอินทรฯ ด้วยเป็นสํานักที่ท่านเคยอยู่ และศึกษาอักษรสมัยมาแต่แรก”

สรุปแล้ว สามเณรโต บวชที่วัดไก่จ้น หรือ วัดสังเวชฯ หรือ วัดอินทร์ ซึ่งเป็นเพียงข้อเชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้เท่านั้น

ความนี้ไม่สอดคล้องกับตํานานที่ว่า หนูโตบวชเป็นสามเณรที่ วัดบ้านไก่จ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีความว่า มารดากับตายายควรจะอยู่อาศัยที่ ตําบลบ้านไก่จ้น อยุธยามากกว่าจะอยู่เรือนแพที่ตําบลบางขุนพรหม เพื่อที่จะคลอดบุตร หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่า การอยู่ที่ตําบลบ้านไก่จันนั้นจะเป็นโอกาสให้ญาติทางตําบลบ้านไชโย อ่างทอง ได้เดินทางไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนได้ ซึ่งมีประวัติเล่าว่ามารดาได้พาหนูโตไปอยู่กับญาติ ที่ตําบลบ้านไชโย และสอนให้นั่งที่นั่น ส่วนที่ตําบลบ้านบางขุนพรหมนั้น ได้พาไปสอนยืนได้ที่นั่น

ดังนั้นการสรุปว่า เกิดที่ตําบลบ้านบางขุนพรหมนั้นก็มีเหตุอ้างว่า ตายายได้พามารดาซึ่งตั้งครรภ์อยู่นั้นเดินทางมาด้วย คือ เดินทางเรือขึ้นล่องค้าขายและจอดเรือหรือมีเรือนแพพักอยู่ ที่บ้านบางขุนพรหม ดังนั้นจึงอยู่ว่าจะถือความควรเป็นไปได้อย่างไร ส่วนบ้านไก่จ้นนั้นต้องถือว่า เป็นบ้านพักอาศัยประจํา บ้านบางขุนพรหม เป็นที่จอดพักเมื่อเดินทางมาค้าขายทางเรือ ส่วนจะให้หนูโต เกิดที่ใดนั้นจึงเป็นความพยายามลากข้างไปเอื้อประโยชน์กับพื้นที่ โดยยังมีไม่ข้อสรุปเป็นหลักฐานชัดเจน จึงเชื่อได้ทั้งสองประเด็น

ในช่วงที่เป็น หนูโต อยู่นั้น ตํานานเล่าว่า หนูโตได้เห็นแหวนของพ่อ คือ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) แต่ไม่ทราบอะไรมากไปกว่านี้ เรื่องแหวนทองราคา ๒๐ ชั่งนั้น ในตํานานเล่าว่า หลังจากที่นําเงิน ๒๐ ชั่ง มาให้แล้ว เจ้าพระยาจักรีได้ขอแหวนและสัญญาที่เป็นสินสอดคืน ส่วนการที่จะกลับมาอยู่ที่มารดาอีกนั้น น่าจะเป็นการเปลี่ยนมือจากแหวนที่มอบให้เป็นสินสอดกับพ่อแม่ (พ่อเฒ่าฉุนแม่เฒ่าผ่อง) เมื่อได้แหวนคืนมาแล้วก็มอบให้มารดาของหนูโตไว้แทนตัว เช่นเดียวกับสายรัดประคด ที่มอบไว้สําหรับบุตรที่เกิดมา เมื่อรู้ว่าเป็นบุตรชาย

หนูโตนั้นได้บวชเป็นสามเณรในช่วงที่ยาย (แม่เฒ่าผ่อง) เจ็บไข้ อาการทรุดหนัก สามเณรโตจึงปรารถนาที่จะเทศน์โปรดโยม จึงเริ่มหัดเทศน์บทสั้นๆ เมื่อเจ้าอาวาสมาเห็นสามเณรหัดเทศน์กับเก้าอี้ที่สมมุติเป็นโยมก็นึกเอ็นดู จึงสอนวิธีให้ศีล สอนแปลเป็นไทย และให้หัดท่องเรื่องสั้นๆ ไว้จนสามารถเทศน์ได้ในเดือนเดียว

ครั้นเมื่อตายายมานิมนต์ สามเณรโตจึงได้เทศน์โปรดโยมตายาย และมารดาสมกับที่ตั้งใจไว้ ตอนเทศน์นั้นสามเณรโต ตั้งนะโม ๓ จบ นําสวดนมัสการ ตั้งใจระลึกถึงพระพุทธ พระธรรมและพระอริยสงฆ์ ๓ จบ แล้วจึงให้ศีล ๕ พร้อมคําแปล และเทศนาว่า

“วันนี้เป็นวันพระขึ้น ๘ ค่่ำ อาตมาจะแสดงธรรมเรื่อง “โยมใจดี" ขอให้โยมจงตั้งใจฟังเถิดจะได้มีความสุขกายสุขใจ โยมใจดีคนนี้ ชื่อโยมผ่องใส โยมผ่องใสทําขนมเก่ง อร่อยด้วย ใครๆ ก็ทําสู้ไม่ได้ ทําแล้วแบ่งให้หลานโตนิดเดียว ที่เยอะๆ เอาไปถวายพระ พระท่านก็ว่าอร่อยจริง ขอให้โยมได้รับส่วนกุศลแล้ว ขอให้หายเจ็บหายไข้จะโยม เอวังก็มีด้วย ยังจําไม่ได้มากจ๊ะ”

การเทศน์ของสามเณรโตในครั้งนั้นทําให้เกิดความเอ็นดูไปทั้งตําบล ต่อมาสามเณรโต ได้พยายามหัดอ่านหัดเขียนและถามเจ้าอาวาสอยู่เสมอ ถึงเรื่องที่จะเทศน์โปรดธรรมแก่โยมยาย หลวงปู่ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสนั้นได้ชี้ว่า

“คนเจ็บป่วยนั้นต้องให้พิจารณาสังขาร ร่างกายให้เห็นด้วยกับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”

คืนวันหนึ่งสามเณรโต ได้พยายามนึกถึงอนิจจัง อยู่จนหลง ฝันเห็นพระเถระองค์หนึ่งมาเทศนาสอนว่า

“อนิจจัง ไม่ใช่เป็นตัวตนเหมือนอย่างตัวคน อนิจจัง คือ ความไม่แน่นอนของคน หรือของสรรพสิ่งต่างๆ เช่น ผมของคนหนุ่ม พอแก่หน่อยก็กลายเป็นแดงๆ ดําๆ แล้วก็กลายเป็นขาวตามอายุขัย อย่างนี้เรียกว่า อนิจจังไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงตามความชรา ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นจริง เข้าใจหรือยังพ่อเณร ทบทวนดู ไม่เข้าใจก็ถาม อย่าไปเทศน์ผิดๆ ถูกๆ เขาจะว่าไม่มีครู เข้าใจแล้วหรือยัง เห็นไหมตัวอนิจจังนั้นคือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์และกาลเวลา มันเป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม มันไม่มีรูปร่างตัวดําๆ อะไรอย่างนั้นดอกนะ คนเกิดแล้วเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม แล้วก็ต้องตายทุกคน เพราะอย่างนั้นอย่าประมาทว่าเรายังเด็ก ยังหนุ่มสาวอยู่ ต้องแก่และ ต้องตายทุกคน มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้นเพราะ อนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน สังขารของคนทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงไป จําได้นะพ่อเณร วันนี้เอาแต่ตัวอนิจจังก่อน”

ความฝันครั้งนั้นทําให้สามเณรโตแจ่มใสและได้เทศน์โปรดธรรมแก่โยมยาย โดยให้โยมยายพิจารณาร่างกายให้เห็นตัวอนิจจังแล้วสอนให้ละความทุกข์ ความกังวลใจ เพราะความทุกข์ ความสุข เป็นอนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงเหมือนกัน มันกลับไปมาได้ ให้โยมยายนึกถึงพระพุทโธ พระธัมโม และพระสังโฆไว้ ท่องไว้ทุกเวลา อย่าคิดอย่าห่วงลูก อย่าห่วงหลาน นึกถึงแต่พระพุทธเจ้าไว้เสมอๆ หายใจเข้า หายใจออก “พุทโธ” เอาไว้อย่าลืมนะจ๊ะ โยมยายรักเณร โยมยายต้อง “พุทโธ” ไว้ เพราะเดี๋ยวนี้เณรโตอยู่กับพระพุทโธแล้วนะจ๊ะ ขอให้โยมทุกคน จงเป็นสุขอยู่ด้วย “พุทโธ” เถิดจ๊ะ

โยมยายจึงได้ระลึกถึงธรรมและท่องพุทโธอยู่เสมอ และก่อนจะถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา ผู้เป็นยายได้บอกกับมารดาของสามเณรโตว่า

“เมื่อตอนที่เจ้าพระยาจักรีมาสู่ขอพ่อแม่นั้น ไม่กล้าชักถามว่าเขามีลูกมีเมียมากี่คนแล้วมีความเกรงใจเขามาก เดี๋ยวนี้ปรากฏว่าเขามีเมียแล้วและมีลูกมาก ทําให้แม่เสียใจและสงสารลูกจนเจ็บไข้ได้ทุกข์ ขอให้ลูกได้ตัดใจเสียเถิด นึกว่าเป็นเคราะห์กรรมของเราแม่ลูกแต่เพียงเท่านี้ ตั้งแต่นี้ต่อไปลูกจงเอาทางพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งเถิด อย่าไปหวังพึ่งพา อาศัยเขาเลยนะลูก ทุกคนเกิดมาต้องพึ่งตัวเอง เขาเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เขามีราชการมากจนไม่มีเวลาส่งข่าวถึงเรา อย่าได้เสียใจเลย ให้แม่เสียใจเพียงคนเดียวเถิด”

จากนั้นมารดาของสามเณรโต ก็ตั้งใจทําบุญทานและอธิษฐานอยู่ ตลอดเวลาว่า

“ชาตินี้มีกรรมแล้ว เราแม่ลูกต้องถูกเขาละทิ้ง ขอให้ลูกได้บวชอยู่นานๆ ให้เก่งในทางธรรม จะได้เทศน์สอนให้คนมีศีลมีธรรม ขอให้ลูกชายได้เป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ เพื่อเป็นกําลังสําคัญของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ครั้งหลังสุด มารดาของสามเณรโตนั้นได้ข่าวว่า “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้สถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อปีกลายนี้ และพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งพระญาติวงศ์ทั้งที่สนิทและญาติใกล้ไกล ต่าง ก็ได้รับการแต่งตั้งมากมาย ทางเมืองพิษณุโลกนั้น สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้แต่งตั้งให้พระยาพลเทพ เจ้าเมืองพิษณุโลก เป็นเจ้าพระยาพลเทพ พระชัยบูรณ์ ปลัดเมืองพิษณุโลก เป็นพระยากลาโหมราชเสนา พระพล เมืองพิษณุโลก เป็นพระยามณเฑียรบาล และนายทองอิน ข้าหลวงเดิมเมืองพิษณุโลก เป็นพระยาเสน่หาภูธร จางวางมหาดเล็ก เป็นต้น”

เมื่อเจ้าเมืองพิษณุโลก ได้ทราบข่าวถึงมารดาของสามเณรโต ก็แจ้งข่าวขอเป็นโยมบวชนาคให้สามเณรโต เรื่องบิดาของสามเณรโตนั้น เป็นเรื่องที่พูดกันมาก บ้างก็เชื่อและไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จนเป็นเหตุให้สามเณรโต ได้ขอให้โยมมารดาเล่าเรื่องให้ฟังหลังจากที่ปิดความมานาน ซึ่งนางก็ได้นําแหวนและเครื่องประดับที่มีอยู่ทั้งสร้อยข้อมือ สร้อยคอ ต่างหูและจี้ ที่ทําด้วยทองคําและเพชรซีกน้ำขาวใสมาแสดง เป็นหลักฐานพร้อมกับเล่าให้ฟังว่า

“เมื่อเก้าปีก่อน แม่อายุได้ ๒๖ ปี บ้านเราอยู่ที่เมืองพิษณุโลก แต่บ้านเกิดอยู่เขตเมืองจันทบูร ที่ต้องอพยพมานั้น เนื่องจากบ้านเมืองเกิดจลาจล หลังจากที่พม่าเข้าเมืองพิษณุโลกแล้ว เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้พาทหารหนีออกจากเมืองไปพักอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์นั้น วันหนึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ขี่ม้ามากับทหาร ๒ คน ว่าหนีพม่ามอญ ซึ่งมีตั้ง ๕๐ คน ตอนนั้นเจ้าพระยาจักรีได้แต่งตัวอย่างชาวบ้านเพื่อออกมาตรวจดูว่าพวกพม่ามอญจะยังแอบซุ่มอยู่แถวไหน พอดีออกมา จากป่าใกล้ทางกําลังมากกว่าจึงหลบมา และมาพบบ้านโยมตาจึงขอน้ําดื่มและนั่งพัก เนื่องจากข้อเท้าแพลง ซึ่งโยมตาได้ทําการรักษาอยู่หลายวัน คราวนั้นพ่อได้สู่ขอแม่ โยมตาท่านเกรงใจจึงยอมยกให้ พ่อกับแม่จึงแต่งงานกันเงียบๆ สิ่งของนี้พ่อบอกว่าเป็นของพระราชทานจากพระชนนีนกเอี้ยง ซึ่งเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าตากสิน ได้พระราชทานฝากไปให้ตอนที่พ่ออดข้าวอยู่ในเมืองพิษณุโลก แต่ไปติดอยู่กับนายทหารที่รับฝาก เพิ่งได้รับตอนที่พม่าเข้า เมืองพิษณุโลกแล้ว พ่อเล่าว่า พระชนนีนกเอี้ยงนั้นรักท่านพ่อเพราะเป็นทหารเอกของพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานให้ พ่อไม่ได้ไปรบเมืองนี้แล้วเอาของเขามา สิ่งของนี้พ่อได้มอบให้เป็นสินสอดทองหมั้น ซึ่งหมั้นวันนั้นก็แต่งงานวันนั้น ไม่ได้บอกใคร เพราะยังไม่หมดศึก พอแต่งแล้วได้เดือนกว่าพ่อจึงได้รับคําสั่งให้คุมทหารไปขับไล่พวกพม่าที่ยังตกค้างอยู่ทางเมืองสุโขทัย เมืองกําแพงเพชร และเมืองชัยนาท เมื่อพ่อจะจากแม่ไปนั้นได้ถอดแหวนวงนี้ แล้วสั่งว่าไว้ให้ลูกถ้าเป็นชาย พอเติบโตรู้ความแล้วให้บอกความจริงได้ ดังนั้น เมื่อสามเณรยังเล็กอยู่จึงต้องปิดไว้ก่อน ด้วยบ้านเมืองยังมีการรบกันอยู่ พ่อบอกว่าจะรับแม่กับลูกไปอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า”

ส่วนเหตุที่ครอบครัวนี้ไม่ได้ไปอยู่ด้วยกันนั้น นางก็เล่าตามคําบอกของโยมยายและตัดใจที่จะอยู่ตามลําพังโดยไม่ได้เปิดเผยชื่อ บิดาของสามเณรโตตลอดไป จนมีการคาดเดาในภายหลังจนถึงวันนี้

สามเณรโตได้เรียนพระกรรมฐานและบําเพ็ญทางสมาธิวิปัสสนากับพระอาจารย์วัดไก่จัน พอถึงช่วงนี้ มีความเล่าที่น่าสนใจอีก กล่าวไว้ว่า

หลวงพ่อแก้ว วัดบางลําพูได้รับเด็กชายโตเป็นลูกเลี้ยงเนื่องจากเป็นเด็กที่ชะตาสูง เกรงว่าผู้เป็นแม่จะเลี้ยงไม่ได้จึงนําไปฝากอาจารย์ที่นับถือ หลังจากนั้นหลวงพ่อแก้วได้ฝากกลับไปเลี้ยง ซึ่งครอบครัวนี้ได้เดินทางไปอยู่ยังเมืองพิจิตร เนื่องจากมีอาชีพซื้อขายสินค้าล่องเรือไปมาระหว่างเมืองทางเหนือและตําบลบ้านบางขุนพรหม จึงเป็นไปได้ที่จะเรียนหนังสือและบวชเป็นสามเณรที่วัดใหญ่เมืองพิจิตร ซึ่งตอนบวชเณรนี้มีเรื่องสายรัดประคดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นเมื่อสามเณรโต อายุ ๑๕ ปี พระครูสํานักวัดใหญ่จึงได้ฝากสามเณรโตเรียนวิชาคาถาอาคมกับพระครูที่เมืองชัยนาท ก่อนที่จะเข้ามาศึกษาที่หลวงพ่อแก้ว วัดบางลําพู (น่าจะเป็นวัดบางขุนพรหมนอก)

ดังนั้น สามเณรโตจึงมีทั้งเรื่องบวชเป็นสามเณรที่ วัดไก่จ้น อยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ วัดอินทรวิหาร ตําบลบางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๓ และวัดใหญ่ เมืองพิจิตร พ.ศ. ๒๓๓๒ ความตรงนี้ดูสับสน ไม่ชัดเจน ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าหากสามเณรโตบวชที่ วัดใหญ่เมืองพิจิตร เส้นทางลงมาเรียนกับ พระครูที่เมืองชัยนาท น่าจะเกิดขึ้นได้

หากบวชเป็นสามเณรที่วัดไก่จ้น ก็น่าจะเดินทางลงมาเรียนอยู่กับ หลวงพ่อแก้ว และที่ว่าบวชเป็นสามเณรที่วัดอินทรวิหาร (วัดบาง ขุนพรหมนอก) เป็นเพียงเข้าใจว่า พระบวรวิริยเถระ (อยู่) เจ้าอาวาส วัดสังเวชวิศยาราม คือวัดบางลําพูบน นั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ ในประเด็นหลังทําให้สงสัยว่า ในเมื่อหลวงพ่อแก้ว รับเป็นลูกเลี้ยงหรือพ่อบุญธรรมดังกล่าวแล้วไฉนจึงต้องอาศัย พระบวรวิริยเถระ (อยู่) เป็นผู้บวชให้สามเณรโต

การศึกษาของสามเณรโตนั้นมีความกล่าวกันว่า เรียนอักขระสมัยเบื้องต้นคือ เรียนภาษาขอมและภาษาไทย ที่วัดใหญ่เมืองพิจิตรบ้าง เรียนที่วัดไชโยบ้าง สําหรับวิชาที่ได้ตั้งแต่เป็นสามเณรก็คือเวทมนตร์ คาถาสําหรับเป่าสิงสาราสัตว์ให้งงงันพากันจังงัง ไม่ว่าจะเป็นเสือสาง ช้างกระทิง มะหิงสา จระเข้และสัตว์ป่านานาชนิด สามเณรโตได้คุณวิเศษจนปฏิบัติได้เช่นเดียวกับคาถามหานิยม ที่ทําให้คนรักใคร่ ศรัทธาเลื่อมใส สําหรับเหตุที่ให้เรียนกับพระครูเมืองชัยนาทนั้นเพราะต้องการศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระไตรปิฎก เรียนแปลจากตํารับตําราภาษาต่างๆ โดยมีโยมตาเป็นผู้ปรนนิบัติ เมื่อศึกษาจบแล้ว สามเณรโตต้องย้อนกลับขึ้นไปยังพระครูวัดใหญ่ เมืองพิจิตรอีก ก่อนที่ โยมตาจะเดินทางมาส่งกับหลวงพ่อแก้ว ที่วัดบางลําพู ตรงนี้ทําให้เข้าใจได้ว่าทั้งโยมตาและโยมมารดานั้นอยู่ ที่เมืองพิจิตร

หลวงพ่อแก้ว นี้น่าจะเป็นพระเถระรูปเดียวกับ พระอรัญญิก (แก้ว) ผู้ปฏิสังขรณ์วัดอินทรวิหาร ซึ่งมีข้อมูลระบุไว้ดังนี้

พระอรัญญิก (แก้ว) เป็นพระภิกษุชาวเวียงจันทน์ที่เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิทางวิปัสสนากรรมฐาน มีผู้เลื่อมใสมากได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยโดยการอาราธนาของเจ้าอินทร์ ราชตระกูลจากเจ้าทางเวียงจันทน์ ผู้ซึ่งปฏิสังขรณ์วัดอินทรวิหาร (วัดบางขุนพรหมนอก) เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์เรียบร้อยแล้วจึงได้อาราธนาให้ท่านมาครองวัด ท่านได้อัญเชิญพระไตรปิฎกภาษาลาวเข้ามาใน ครั้งนั้นด้วย ซึ่งยังรักษาไว้ทั่วจนบัดนี้ ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระอรัญญิก ด้วยเป็นพระอาจารย์กรรมฐานที่นิยมการรุกขมูลธุดงควัตรเป็นประจําปี

สําหรับวัดอินทรวิหารนี้ ประวัติวัดว่าเป็นพระอารามโบราณ มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นวัดเล็กๆ มีนามตามตําบลที่ตั้งว่า “วัดบางขุนพรหมนอก” กล่าวกันว่า เจ้าอินทร์ น้าชายของเจ้าเขียวน้อย พระชายาในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๑ ในสมัยของนครเวียงจันทน์ (ศรีสัจนาคนหุต) อยู่ในขอบขัณฑราชสีมา แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้มีพระญาติวงศ์พร้อมด้วยข้าทาสของ เจ้าเขียวน้อยพระราชชายาติดตามเข้ามา รวมทั้งได้มีครัวเรือนชาวลาว เข้ามาไว้ในพระนครด้วยเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน บริเวณเรือนพํานักอยู่ บริเวณนั้นแต่เดิมเรียกว่า “ตําบลไร่พริก” ครั้นเมื่อเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวเวียงจันทน์แล้ว จึงเรียกกันว่า “บ้านลาว” และแบ่งออกเป็น ๒ ย่านคือ บางขุนพรหมใน และบางขุนพรหมนอก

พระองค์เจ้าอินทรวงศ์ ในกรมพระราชวังบวรมหาพลเสพย์ รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามนี้อีก แล้วเปลี่ยนนามเสียใหม่ว่า “วัดอินทราราม” แต่ภายหลังต่อมาในรัชกาลที่ ๖ คณะสงฆ์ได้ พิจารณาเห็นว่าเป็นนามที่พ้องกับวัดอินทราราม (วัดบางยี่เรือใต้) คลองบางกอกใหญ่ ธนบุรี จึงได้เปลี่ยนนามเสียใหม่ว่า “วัดอินทรวิหาร” สืบ มาจนบัดนี้

ดังนั้นการที่มีหลักฐานกล่าวว่า “เจ้าพระคุณสมเด็จพระ พุฒาจารย์ (โต) เป็นผู้สร้างพระอารามนี้” หมายแต่เพียงว่าท่านได้เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ในระยะหลังเท่านั้น คือระยะที่ท่านได้สร้างหลวงพ่อโตยืน (พระศรีอริยเมตไตรย) ขึ้นที่วัดนี้นั่นเอง

อ่านต่อ>>

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้