สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๒.๒ ตำนานชาติภูมิสมเด็จโต (ต่อ)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต - ๒.๒ ตำนานชาติภูมิสมเด็จโต (ต่อ)

“ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าพระยาจักรีขี่ม้ากั้นสัปทน ยกพลทหารออกไปยืนม้าให้อะแซหวุ่นก็ดูตัว อะแซหวุ่นกี้จึงให้ล่ามถามถึงอายุว่าเท่าใด บอก ปว่าอายุได้สามสิบเศษ จึงถามอายุอะแซหวุ่นกี้บ้าง ล่ามบอกว่าอายุได้ เจ็ดสิบสองปี แล้วอะแซหวุ่นกี้พิจารณาดูรูปดูลักษณะเจ้าพระยาจักรี แล้วสรรเสริญว่ารูปก็งามฝีมือก็เข้มแข็ง สู้รบเราผู้เป็นเฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแน่แท้ แล้วให้เอาเครื่องม้าทองสํารับหนึ่งกับสักหลาดพับหนึ่ง ดินสอแก้วสองก้อน น้ำมันดินสอง หม้อ มาให้เจ้าพระยาจักรี แล้วว่าจงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคง เราจะตีเอาเมืองพิษณุโลกให้จงได้ในครั้งนี้ ไปภายหน้าพม่าจะมาตีเมืองไทยไม่ได้อีกแล้ว...”

ด้วยเหตุที่เมืองพิษณุโลกขาดแคลนเสบียงอาหารและถูกล้อมอยู่นานเกินไป เจ้าพระยาจักรีจึงมีใบบอกกราบทูลให้ พระเจ้าตากสิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ พร้อมกับคิดอ่านออกอุบายที่จะ ทหารหนีออกจากเมืองโดยเร็ว โดยให้ทหารระดมยิงปืนใหญ่หนักกว่าทุกวันตั้งแต่เช้าจนเย็น และให้เล่นดนตรีรื่นเริงบนเชิงเทินทําทีเหมืิอนมีกําลังเข้าไปเสริมอย่างมหาศาล โดยให้ทหารนั้นร้องรําทําเพลงอวดทหารพม่าจนเชื่อสนิทใจ

พอตกค่ำประมาณยามเศษ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้แบ่งทหารออกเป็น ๓ กอง กองหน้าเป็นหทารที่แข็งแรง กองกลาง คุมครอบครัว และกองหลังรั้งท้ายคอยระวังภัย เจ้าพระยาจักรี ได้ขึ้นมาตรวจไพร่พลตามกองต่างนั้นพบว่ากองหน้านั้น องค์ กับอาจ ทหารอาสาสมัครสองพี่น้องยังเป็นทหารอาสาสู้รบอยู่ เจ้าพระยาจักรีจึง ตวาดว่า

“กูให้มึงกลับบ้านแล้ว ทําไมไม่ไป”

อาจ นั้นตกใจจนตัวสั่น แต่ องค์ หรือ ละมุดที่อยู่ในชุดทหาร แบบชายตอบด้วยอาการปกติว่า

“พ่อสอนว่า ในเวลาคับขันไม่ให้ทิ้งเจ้านาย” เจ้าพระยาจักรีจึงนิ่ง ไม่ต่อว่าอะไร

ครั้นเวลาสองยาม เจ้าพระยาทั้งสองก็พาทหารเปิดประตูเมืองด้านตะวันออก ให้ทหารกองหน้ารบฝ่าหักด่านพม่าที่ตั้งล้อมอยู่ออกไปก่อน แม้ทหารในค่ายพม่าจะยิงปืนใหญ่ต่อสู้ กําลังทหารไทยก็สามารถตีแหวกวงล้อมออกไปได้

การสู้รบครั้งนี้ได้สู้ตะลุมบอนฟันแทงกันถึงอาวุธสั้น จนขบวนครอบครัวทหารไทยพากันแตกพลัดกระจัดกระจายพรากจากกัน ส่วนที่ติดตามเป็นกําลังทหารของเจ้าพระยาทั้งสองไปได้ก็มีอยู่บ้าง ส่วนกําลังที่อ่อนแอก็ถูกกวาดต้อนและพลัดไปเข้าในกองทัพของพม่าก็มี

เจ้าพระยาทั้งสองรีบเดินทัพไปทางบ้านมุงดอนชมภู ขณะที่เดินทางไปนั้นไม่เห็นเด็กหนุ่มสองพี่น้อง ก็คิดว่าคงตายหรือไม่ก็พลัดพราก ถูกพม่าจับไปแล้ว นึกสลดใจไปตลอดทางจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ จึงตั้งทัพหาเสบียงอาหารและขับไล่พม่าที่ตกค้างอยู่ในแถบนั้น

วันหนึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ออกตระเวนสอดแนมดูว่ากําลังทหารพม่ายังเหลืออยู่ที่ใดบ้าง เจ้าพระยาจักรีและทหาร ๕ คนนั้นต่างแต่งตัวเป็นชาวบ้านขี่ม้าตรวจพื้นที่ พอเวลาเที่ยงระหว่างทางพบว่ามีทหารพม่าขี่ม้า ๕๐ คน พร้อมด้วยอาวุธปืนและดาบ เจ้าพระยาจักรี จึงสั่งให้แยกกําลังออกจากกัน

“แยกกันเอง ๓ คนไปทางพิจิตร ข้ากับไอ้คงจะไปทางซ้าย แยกตรงกอไผ่ ให้มันตามพวกใดพวกหนึ่งไป แยกหลบเข้ายังกอไผ่ก่อน”

กําลังพม่านั้นเหมือนจะรู้การหลบหนีของฝ่ายไทย จึงแยกกําลังติดตามออกเป็นสองพวก เจ้าพระยาจักรีและทหารชื่อ “คง” ได้ควบม้าหลบพม่ามาเป็นระยะทางไกลจนเข้าเขตเมืองพิษณุโลกไม่รู้ตัว

เมื่อไม่เห็นพม่าติดตามแล้วต่างก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อย จึงมองหาบ้านเรือนผู้คน ซึ่งมองเห็นหลังคาบ้านอยู่ไกล จึงขี่ม้าตรงไปยังบ้านหลังนั้น ครั้นเมื่อถึงบ้านหลังนั้นแล้วก็ลงจากหลังม้า แต่เนื่องจากอ่อนเพลีย เจ้าพระยาจักรีในเครื่องแต่งกายสามัญชนจึงสะดุดขาล้มลงจนข้อเท้า แพลง จงต้องเกาะบ่า “คง” ทหารติดตามเดินไปที่ประตูรั้ว

เจ้าของบ้านได้ยินเสียงหมาเห่าก็ออกมาพบแขกผู้มาเยือนในยามเย็น

แม่นายจํา เจ้านายของข้าตีนแพลง จะขอเข้ามาอาศัยพักได้ไหม”

เจ้าของบ้านได้เชื้อเชิญและนําเสื่อมาปู พร้อมกับจัดขันน้ำฝนใส่ดอกมะลิและพัดใบตาลมาวางไว้ให้ อาการเท้าแพลงของเจ้าพระยาจักรีนั้นทําให้ทหารคงได้เข้าบีบนวดด้วย ด้วยอาการทุลักทุเล จนเจ้าของบ้านต้องออกไปตามผู้เป็นพ่อมาช่วยดูแลแทน ชายผู้เฒ่าที่เข้มแข็งได้นําน้ำมันมาทาที่ข้อเท้า แล้วให้ลูกสาวเอาหมอนมาให้คนไข้เอนหลัง พร้อมกับบอกให้ลูกสาวไปบอกแม่ให้ทําลูกประคบมาประคบข้อเท้าที่แพลงให้จนเจ้าพระยาจักรีหลับไปด้วยความอ่อนเพลียและกรําศึก โดยเจ้าของ บ้านยังไม่ได้ถามไถ่เรื่องราวแต่อย่างใด

หลังจากอาหารเย็นวันนั้นแล้ว พ่อเฒ่าเจ้าของบ้านก็ออกมาคุยด้วยว่า

“ขาแพลงอย่างนี้ต้องอยู่นิ่งๆ สัก ๓-๔ วัน ใช้น้ำมันประคบทุกวัน วันละ ๒ หน ก็จะหายได้ บ้านเจ้าอยู่ที่ไหน ถ้าไกลนักก็พักอยู่ด้วยกันก่อนก็ได้ หายแล้วค่อยไป ถ้าจะไปตอนนี้ต้องนั่งเกวียนไป”

“จะพักอยู่ก็เกรงใจ อยากจะรบกวนขอเช่าเกวียนดีกว่า ไม่ทราบ ว่าจะมีบ้างหรือไม่”

“ถ้าอย่างนั้น ข้าจะให้ลูกชายไปตามเกวียนมาให้” ผู้เฒ่าได้เรียกลูกชายเข้ามา พร้อมกับบอกว่า

“อาจมานี่ ช่วยไปตามเกวียนให้หน่อย คนเจ็บขาแพลงจะจ้างให้ไปส่งเขตเมืองเพชรบูรณ์” พ่อเฒ่านั้นรู้จากทหารคงมาก่อนว่าอยู่เพชรบูรณ์ เป็นพ่อค้า เดินทางมาดูเมืองพิษณุโลกว่าจะมีอะไรค้าขายบ้าง จึงออกมาคุยกับคนเจ็บ

“อาจ” เพิ่งกลับไร่ พอเห็นคนเจ็บที่พ่อเรียกให้ช่วยไปตามเกวียนแล้ว “อาจ” ต้องชะงักดูอีกครั้งจนได้ยินเสียงคนเจ็บร้องว่า

“ไอ้หนุ่ม เอ็งอยู่นี่หรือ”

“อาจ” หายตกตะลึง รีบตรงเข้าไปกราบ แล้วว่า “ท่านเจ้าพระยาเป็นอย่างไร จึงมาถึงบ้านพ่อข้า”

“เออ ข้าขี่ม้ามากัน ๕ คน พบพวกพม่ามอญเกือบ ๕๐ คน จึงได้หลบมาเพราะพวกมันมาก”

พ่อเฒ่านึกรู้ทันทีว่า คนเจ็บเป็นใคร จึงบอกให้อาจไม่ต้องไปหาเกวียน รอให้คนเจ็บอยู่สัก ๒-๓ วัน พอหายแล้ว พ่อจะขับเกวียนไป ส่งเอง เกวียนของเราก็มีอยู่

เจ้าพระยาจักรีจึงพักอยู่ที่บ้านหลังนั้น ให้พ่อเฒ่าฉุนนวดรักษาเท้า จนหาย ส่วนทหาร “คง” นั้นได้ให้กลับไปส่งข่าวให้เจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้น้องทราบเรื่องราว

การที่แม่ทัพคนสําคัญมาพักที่บ้านครั้งนี้ จึงเป็นเหตุให้ละมุด ไม่กล้าออกมาพบแม้ว่าอาจ น้องชายจะเข้าไปรบเร้าถึงในคร้วว่า

“ทําไมพี่ไม่ไปไหว้ท่านแม่ทัพใหญ่ ประเดียวได้เรื่องแน่ เจ้านายมาถึงเรือนชานแล้ว ยังมัวแอบอยู่ในครัวเสียนี้”

“อาจ ไหว้ท่านแล้ว ก็เหมือนกัน”

“จะเหมือนอย่างไร นี่มือฉันก็ไหว้ นั่นมือพี่ก็ไปไหว้ชิ มือแข็งไปได้ พ่อรู้เข้าจะโกรธนะ เสียแรงที่ท่านดีกับเรา ยอมให้เรากลับบ้านได้ เมื่อตอนศึกจวนตัวอย่างวันนั้น”

ส่วนเจ้าพระยาจักรีนั้นก็นึกขึ้นได้ว่า ตอนที่อาจไปเป็นอาสาสมัครช่วยรบนั้นมีพี่หรือน้องอีกคนหนึ่ง จึงถามพ่อเฒ่าฉุน ว่่าอีกคนไปไหน พ่อเฒ่าจึงร้องเรียก “ละมุด” ให้ตักน้ำมาให้เพื่อจะได้ออกพบเจ้าพระยาจักรี ครั้นเมื่อละมุดออกมาแล้ว

เจ้าพระยาจักรี รู้สึกสงสัยที่เห็นเป็นผู้หญิง

“คนนี้แหละ เขาใจกล้า ชอบนักเรื่องดาบสองมือนี้ หัดมาตั้งแต่ ๗ ขวบแล้ว”

“คิดว่าผู้ชาย เห็นว่าหน้าตายังเด็กนัก จึงไล่ให้กลับแล้ว เมื่อตอนตีหักค่ายพม่าออกมา ก็เห็นมาด้วยกัน พอพ้นภัยแล้วหันมาดูก็หายไปทั้งสองพี่น้อง นึกสลดใจมากอยู่ ไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร”

“กลับมาเลือดโชกหัวมาทั้งสองคน ละมุดคนที่ออกมาไหว้เมื่อกี้นี้หัวแตกกลับมา เจ้าอาจคนน้องทั้งหัวแตกและแขนถูกดาบฟันเป็นแผลยาว แต่มันชาติเสือไม่ร้องสักแอะเดียว เอาแผลมาให้พ่อแม่รักษา มันบอกว่า มันได้ตอบแทนบุญคุณบ้านเมืองแล้ว หัวแตกแขนฉีกไม่เป็นไร”

เจ้าพระยาจักรีนึกชื่นชมอยู่ในใจถึงละมุด พี่สาวและ อาจ น้องชาย ทั้งสองพี่น้องที่กล้าหาญนัก ส่วนทหาร “คง” นั้นเมื่อแจ้งข่าวก็กลับมาเล่าข้อราชการให้เจ้าพระยาจักรีฟังว่า

“เจ้าพระยาสุรสีห์ต้องคุมทหารออกติดตามพวกพม่ามอญที่เหลืออยู่ สงครามใหญ่นั้นหยุดพักไปแล้ว ด้วยเหตุที่เจ้าเมืองพม่าตายทําให้อะแช่หวุ่นกี้ต้องยกกองทหารกลับไป จึงทําให้ทหารไทยที่ เจ็บไข้นั้นได้พักผ่อนเต็มที่ เวลานี้เจ้าพระยาสุรสีห์ให้มาแจ้งข่าวให้พระยาจักรีทราบ และขอให้พักรักษาตัวให้หายก่อน เมื่อกลับมาแล้วจะมาเยี่ยมพร้อมกับได้ฝากของมีค่าของเจ้าพระยาจักรีมาให้ด้วยเพื่อจะได้ใช้สอย”

เจ้าพระยาจักรีได้อยู่พักรักษาเท้าแพลงกับพ่อเฒ่าฉุนอยู่ ๓ วันก็หาย จึงได้เดินทางกลับเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อเจ้าพระยาจักรีไปถึงจึงได้แจ้งได้รับใบบอกพร้อมกับห่อสิ่งของ ใบบอกนั้นได้แจ้งว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งมาว่า ตอนนี้ศึกใหญ่ได้สงบลง ซึ่งอะแซหวุ่นกี้นั้นได้ยกกําลังกลับเมืองแล้ว ถ้าเจ้าพระยาจักรียังไม่หายก็ทรงโปรดให้อยู่พักรักษาตัวไปได้ ๑ เดือน ส่วนสิ่งของที่ส่งมานั้น เป็นของพระชนนี (คือ พระราชมารดานกเอี้ยง) ได้พระราชทานมาให้นานแล้ว ตั้งแต่เมืองพิษณุโลกถูกพม่าล้อมอยู่ เผอิญการรบพุ่งติดพันกันอยู่จึงเลยลืมไป พอนึกได้ก็รีบฝากมา หากจะจําเป็นซื้อขายช่วยตัวเอง หรือจะเก็บไว้ทําอย่างไรก็ตามใจเถิด”

สิ่งของพระราชทานจากพระราชชนนีนั้นเป็นสร้อยข้อมือทองคํา ประดับเพชรซีกและต่างหูเพชร จึงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และเจ้าพระยาจักรี รู้สึกขอบพระคุณที่พระราชชนนีที่รู้ว่าถึงเวลาที่จะได้ใช้สิ่งของนี้แล้ว หลังจากที่เจ้าพระยาจักรีได้ตรวจงานการรบแล้วเห็นว่าไม่มีอะไรมากนัก และทหารก็สมควรจะได้พักผ่อน ประกอบกับเท้าที่แพลงอยู่ยังบวมระบมอยู่ เจ้าพระยาจักรีและทหาร “คง” จึงพากันเดินทางกลับไปที่บ้านพ่อเฒ่าฉุนอีก

เจ้าพระยาจักรีได้มาเยี่ยมพักรักษาตัวอยู่ ๓ วัน ได้สังเกตุใจคอพ่อเฒ่าฉุนและแม่เฒ่าผ่อง ตลอดจนละมุดลูกสาว อาจลูกชาย สองพี่น้อง ก็เห็นว่ามีเพื่อนบ้านไปมาหาสู่ นับว่าเป็นครอบครัว นับถือเป็นคนดีสม่ําเสมอในการบุญกุศลนับว่าน่านิยม ดังนั้นจึงได้โอกาสพูดกับพ่อเฒ่าฉุนว่า

“พ่อเฒ่า ข้าสังเกตดูพ่อเฒ่าแล้วเป็นคนน่านับถือ ข้าขอฝากตัวเป็นลูก ไม่ทราบว่าจะรังเกียจหรือไม่”

พ่อเฒ่าฉุนพาชื่อตอบเสียตรงใจว่า

“ถ้าจะฝากตัวเป็นลูกศิษย์แล้ว ข้าไม่มีความรู้อะไรจะสอน แต่จะเป็นลูกเขยก็ต้องถามเจ้าตัวมันก่อน บ้านนี้ไม่เคยบังคับลูก ไม่ว่าคนไหน โดยเฉพาะแม่ละมุดคนนี้ เป็นคนถือตัวมาตั้งแต่เล็กแล้ว ไม่เคยมีใครกล้ามายุ่งเกี่ยว เป็นคนเข้มแข็งและเอาจริง ถ้าเกี่ยวกับช่วยชาติบ้านเมืองแล้ว เจ้าเมืองกําแพงเพชรมาชวนไปฝึกดาบก็จะไปทันที เรื่องจะออกเรือนนั้นไม่สนใจ จึงอยู่มาจนป่านนี้ พี่สาวน้องสาวเขาแต่งงานออกเรือนไปหมดแล้วตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี อยู่ที่เมืองกําแพงเพชร ท่านเจ้าเมืองก็เคยชอบใจอยากได้เป็นหลานสะใภ้ นางก็หนีมาและไม่ไปช่วยทัพอีก”

เจ้าพระยาจักรี นั้นกลับจําได้ถึงเหตุการณ์ครั้งก่อน จึงเล่าถึงความหลังว่า

“พ่อเฒ่าคงจําได้ เมื่อ ๑๓ ปีก่อนนั้น ข้าอายุได้ ๒๖ ปี ท่านรองปลัดเมืองได้พาข้าไปดูตัวแม่ละมุด ตอนนั้นพ่อเฒ่ายังอยู่ที่เมืองจันทบูร ข้าชอบใจจึงให้ท่านรองปลัดสู่ขอให้ แต่พ่อเฒ่าบอกว่านางละมุดยังเด็ก เพิ่งอายุได้ ๑๓ ปี ยังไม่ยอมให้ พอดีข้าต้องรีบกลับไปแต่บอกให้แม่นางละมุดรอข้า ข้าจะมาสู่ขอใหม่ ข้าต้องกลับไป เพราะข้าต้องเข้ารับใช้ราชการแล้ว ข้าจึงได้ว่าข้าชอบแม่นางละมุดมาตั้งแต่อายุน้อยแล้ว  เมื่อมาพบคราวนี้ข้าขอแต่งงานด้วย พ่อเฒ่าตกลงใจเถิด เพราะข้ายังมีงานรับใช้ราชการอยู่ จะได้หยุดพักก็ตอนนี้ ต่อไปไม่รู้ว่าจะมีงานใหญ่อีกหรือไม่”

คืนวันนั้น พ่อเฒ่าฉุนกับแม่ผ่องได้ปรึกษาหารือกันถึงเจ้าพระยาจักรีจะขอเป็นลูกเขยซึ่งแม่เฒ่าก็บอกว่า ตามใจพ่อเถิด ลูกเราก็คงมีน้ำใจอยู่เหมือนกัน เมื่อก่อนดูเหงา แต่วันนี้ดูร่าเริงสดใส นางเป็นคนถือตัวจึงไม่แสดงออก อันที่จริงเขาก็เคยสู่ขอมาแล้ว หากไม่ตกลงแล้วลูกเราก็ไม่ยอมแต่งงานกับใคร จึงได้อยู่มาจนเดี๋ยวนี้

วันแต่งงานระหว่างเจ้าพระยาจักรีกับแม่นางละมุดจึงเป็นเพียงงานทําบุญบอกแต่ญาติพี่น้อง ซึ่งพากันรู้เพียงว่านางละมุดแต่งงานกับทหารธรรมดา ด้วยยามนั้นต้องพากันระมัดระวังอยู่แล้ว เจ้าพระยาจักรี จึงได้เอาสร้อยข้อมือทองคําประดับเพชรซีกและต่างหูเพชรซีกที่พระชนนีพระราชทานให้มานั้นมอบเป็นสินสอดทองหมั้น และจัดงานแต่งงานรดน้ำเสร็จในวันเดียว เจ้าพระยาจักรีจึงได้อยู่กินกับแม่นา ละมุดเป็นแรมเดือน จนนางมีทีท่าว่าจะตั้งครรภ์

เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ให้ทหารนําความมาบอกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์นํากําลังทหารออกไปขับไล่พวกพม่าที่เหลืออยู่ที่เมืองสุโขทัย ทําให้เจ้าพระยาจักรี ต้องจากนางละมุดไปรับใช้ราชการทัพ ซึ่งก่อนจากกันนั้นเจ้าพระยาจักรี ได้ถอดแหวนจากนิ้วมอบให้แม่นางละมุดพร้อมกับบอกว่า

“แหวนนี้เคยเป็นกษัตริย์นักรบ ข้าให้เจ้าไว้ดูต่างหน้า ถ้าไม่ตายคงจะได้พบกัน เจ้าเก็บเอาไว้ให้ดี เมื่อลูกของเราโตขึ้น ถ้าเป็นผู้ชาย เจ้าจงเอาแหวนนี้ให้และบอกให้รู้ว่าพ่อเป็นใคร แต่ตอนเล็กนักอย่าเพิ่งบอก เพราะบ้านเมืองนั้นวุ่นวายอยู่ ยังมีอันตราย จึงขอเจ้าจงรักษาตัว รักษาลูกไว้ให้ดี ข้าไม่ลืมเจ้า อย่าได้ร้องไห้ อย่าเสียใจ ข้าไปสู้รบ หากต่อไปข้าไม่ตายจะกลับมารับเจ้าแม่ลูกไปอยู่ด้วยกัน ข้าเป็นทหารที่มอบชีวิตจิตใจให้กับบ้านเมือง ในยามบ้านเมืองแตกแยกอย่างนี้ไม่มีความสุขได้หรอก คนเป็นทหารต้องออกไปจัดการให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข จึงจะสมกับหน้าที่รับใช้ชาติ เจ้าเป็นเมียทหารและตัวเองก็เป็นทหารอยู่ ยามตัวไปทัพ เมียต้องหมั่นสวดมนต์ไหว้พระ ทําบุญกุศลให้ผัวจึงจะได้ดี มีความสุข เจ้าต้องดูแลลูกของข้าให้ดี ข้าคิดว่าลูกข้าจะต้องเป็นคนดี และเป็นคนใหญ่โต เป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย เจ้าจงอยู่ดีเถิด”

เจ้าพระยาจักรีลาพ่อเฒ่าฉุนและแม่เฒ่าผ่อง พร้อมกับฝากนางละมุดภรรยาไว้กับผู้เฒ่าทั้งสอง ก่อนที่จะขึ้นม้าเดินทางไปพร้อมกับกองทหารที่มารับให้เดินทางไปราชการทัพทางเมืองสุโขทัย

ความจากตํานานที่เล่าเหมือนนวนิยายนี้ มีความไม่ตรงกับบันทึกของมหาอํามาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ถึงชื่อผู้เฒ่าทั้งสองนั้นระบุว่า ชื่อ ตาผล ยายลา เป็นพ่อแม่ของ นางงูด ตอนเล่าตอนที่เจ้าพระยาจักรีไปพบ นางงุด ดังนี้

ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรี ตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกําแพงเพชร เวลาเช้าวันหนึ่งออกลาดตระเวนกองทัพทั้งปวงเพื่อบัญชาการและชักม้าวกลัดเพื่อตัดทาง ม้าก็เลยพาท่านเข้าป่าฝ่าพงจําเพาะมายังบ้านปลายนาใต้ เมืองกําแพงเพชรเป็นเวลาเย็น จึงและเห็นโรงหนึ่งตั้งอยู่ปลายทุ่งนา เจ้าคุณแม่ทัพผู้นั้นจึงได้ชักม้าไปถึงโรงนั้นไม่เห็นมีคนผู้ใหญ่อยู่ ได้เห็นแต่หญิงสาวคนหนึ่งเดินออกมา เจ้าคุณแม่ทัพผู้นั้นจึงบอกแก่นางสาวคนนั้นว่า ข้ากระหายน้ำ เจ้าจงตักน้ำมาให้ข้ากินสักขันล้างหน้าใบหนึ่ง แล้วจ้วงตักน้ำในหม้อกลั่นแล้วล้วงหักดอกบัวหลวงในหนองน้อยข้างโรงน้ำนั้นสองสามดอก แล้วฉีกกลีบเด็ดเอาแต่เกสรบัวโรยลงไปในขันน้ำนั้นจนเต็ม แล้วนําไปส่งบนหลังม้า เจ้าคุณแม่ทัพรับเอามาเป่าเกสรเพื่อแหวกหาช่องน้ำ แล้วต้องเอาริมฝีปากเบื้องบนเม้มเกสรไว้แล้ว ดูดดื่มน้ำจนหมดขันด้วยกําลังอยากกระหายน้ำ ครั้นดื่มน้ำหมดแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพจึงถามนางสาวคนนั้นว่า

“เราอยากกระหายน้ำสู้อุตส่าห์บากหน้ามาขอน้ำเจ้ากิน เหตุไฉน จึงแกล้งเราเอาเกสรบัวโรยลงส่งให้เราดื่มน้ำของเจ้าลําบากนัก เจ้าแกล้งทําเล่นแก่เราหรือฯ” นางสาวคนนั้นตอบว่า “ดิฉันจะได้คิดแกล้งท่านนั้นก็หาไม่ ที่ดิฉันเอาเกสรบัวโรยลงในขันน้ำให้เต็มนั้น เพราะดิฉันเห็นว่าผาดแดดแผดลมเหนื่อยมา และกระหายน้ำด้วย ก็เพื่อจะป้องกันเสียซึ่งอันตรายแห่งท่าน เพื่อจะกันสําลักน้ำ และสะอึกน้ำ และกันจุกแน่นแห่งท่านผู้ดื่มน้ำของดิฉัน ถ้าท่านไม่มีอันตรายในการดื่มน้ำแล้ว น้ำจะได้ทําประโยชน์แก้กระหายแห่งท่าน ดิฉันจะพลอยได้ประโยชน์ เพราะให้น้ำแก่ท่าน ท่านสมปรารถนาแล้วก็จะเป็นบุญแก่ดิฉัน เหตุนี้ดิฉันจึงโรยเกสร”

เจ้าคุณแม่ทัพฟังคํานางสาวตอบอย่างไพเราะอ่อนหวาน ถ้อยคําที่ให้การมานั้นก็พอฟัง จึงลงจากหลังม้าแล้วถามว่า “ตัวของเจ้าก็เป็นสาวเต็มเนื้อแล้วมีใครๆ มาหมั้นหมายผูกสมัครรักใคร่เจ้าบ้างแล้วหรือยัง” นางสาวบอกว่า “ยังไม่เห็นมีใครๆ มารักใคร่ หมั้นหมายดิฉัน และดิฉันก็ยังไม่ได้ไปเที่ยวบอกกับใครว่าเป็นสาวมัวแต่หลบหัวซ่อนตัวอยู่ ด้วยบ้านเมืองเกิดยุ่งนุงถุงมานานจนกาลบัดนี้ จึงมิได้มีใครเห็นว่าดิฉันเป็นสาว” เจ้าคุณแม่ทัพว่า “ถ้ากระนั้นเราเองเป็นผู้ที่ได้มาเห็นเจ้าเป็นสาวก่อนคนอื่น เจ้าจะต้องเป็นคู่ร่วมรักของเราสืบไป เจ้าจะพร้อมใจยินยอมเป็นคู่รักของเราโดยสุจริตหรือว่าประการใดฯ”

นางสาวตอบว่า “การที่ท่านจะมาเป็นคู่รักของดิฉันนั้น ก็เป็นพระเดชพระคุณยิ่งอยู่แล้ว แต่ทว่าการจะมีผัวเมียกันตามประเพณีนั้น ดิฉันไม่ทราบเรื่องจะว่าประการใด ผัวการเมียนั้นท่านต้องเจรจากับผู้ใหญ่ จึงจะทราบการ” เจ้าคุณแม่ทัพถามว่า “ผู้ใหญ่ของเจ้าไปไหน นางสาวตอบว่าไปรดน้ำถั่วจวนจะกลับแล้ว" เจ้าคุณแม่ทัพขยับ นางสาวไพล่วิ่งปร์อออกไปแอบที่หลังโรงเลยไม่เข้าหา ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็ลงนั่งเฝ้าโรงคอยท่านบิดามารดาของนางสาวต่อไป ตะวันตกดินจวนค่ำฯ

ฝ่ายตาผล ยายลา กลับมาถึงโรงแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพได้เห็นจึงยกมือขึ้นไหว้ตายายก็น้อมตัวก้มลงไหว้ด้วย ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก้มลงไหว้ให้ต่ําลงไปอีก ตายายก็หมอบลงไปไหว้อีก ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็หมอบไหว้อยู่นั้น ต่างคนต่างหมอบแต้วกันอยู่นั่นทั้งสองฝ่าย ฝ่ายยายแกเป็นคนปากเร็วแกนึกขัน และประหลาดใจแกจึงเปิดปากถาม ก่อนว่า “นี่ท่านเป็นขุนนางมาแต่บางน้ำบางกอก เหตุไฉนจึงมาหากราบไหว้ ข้าเจ้าเป็นชาวบ้านนอกเป็นชาวทุ่งชาวป่า เป็นคนยาก ท่านจะหมอบไหว้ข้าเจ้าทําไม” เจ้าคุณแม่ทัพบอกว่า “ฉันจะสมัครเข้ามาเป็นลูกเขยท่านทั้งสองจ้ะ”

ยายถามว่า “ท่านเห็นดีเห็นงามอย่างไร เห็นลูกสาวฉันเป็นอย่างไร ท่านจึงจะมายอมตัวเป็นลูกเขยเล่า” เจ้าคุณแม่ทัพว่า “ฉันเห็นบุตรสาวท่านดีแล้วพอใจแล้วจึงเข้ามาอ่อนน้อมยอมตัวเป็นลูกเขยท่าน แล้วเจ้าคุณแม่ทัพเล่าถึงกาลแรกมาขอน้ำ แลนางเอาเกสรบัวโรยลง และได้ต่อว่า นางได้โต้ตอบถ้อยคําน่าฟังน่านับถือจึงทําให้เกิดความรัก ความปรานีขึ้น และตั้งใจจะเลี้ยงดูจริงๆ จึงต้องทนอยู่คอยท่า เพื่อจะแสดงความเคารพและขอเป็นเขย ขอให้แม่พ่อมีเมตตากรุณาเห็นแก่ไมตรีที่ได้มาอ่อนน้อมพูดจาโดยเต็มใจจริงๆ ไม่ได้มีแยบยลอะไร ตั้งใจช่วยทะนุบํารุงนางสาวกับพ่อแม่ให้บริบูรณ์ฎลเถิด ไม่เลิกร้างจริงๆ ตามวาจาที่ว่ามานี้ทุกอย่าง ขอพ่อแม่ได้โปรดอนุญาตยกนางสาวลูกนั้นให้เป็น ๒๐ ชั่งด้วยแหวนวงนี้ ตกลงยกลูกสาวให้ตามปรารถนา”

เจ้าคุณแม่ทัพก็จัดแจงยืมพานปากกระจับทองเหลืองมาmแล้วเขียนสัญญาถ่ายแหวนแล้วเอาใบตองรองกันพานแล้ววางแหวนที่ว่านั้นลงบนใบตองรองใบพานเชิญเข้าไปคุกเข่าส่งให้ตายายๆ ก็ให้พรเป็นต้นว่า “ขอให้พ่อมีความเจริญขึ้นด้วยลาภและยศ ให้เป็นเจ้าคนนายคนเถิด” แล้วจัดแจงหุงข้าวต้มแกงพล่า ตําน้ำพริก ต้มผัก เผาปลา เทียบสํารับตามป่าๆ แล้วให้เชิญให้อาบน้ำทาดินสอพอง ยายตาก็อาบน้ำ ลูกสาวก็อาบน้ำตาม ตักน้ำให้ม้ากิน พาไปเลี้ยงให้กินหญ้า ครั้นคุณแม่ทัพอาบน้ำทาดินสอพองแล้ว ลูกสาวทาขมิ้นแล้ว ยายก็ยกสํารับ ปูเสื่อลําแพน แล้วเอาผ้าขาวม้าปูบนเสื่อลําแพน ยายเชิญคุณแม่ทัพให้รับประทานฯ ยายตาก็รับประทานพร้อมกัน นางงุดนั้นให้กินภายหลัง ครั้นรับอาหารแล้ว ต่างคนนั่งสั่งสนทนากัน ครั้นเวลาสี่ทุ่ม จึงพาลูกสาวออกมารดน้ำรดท่าเสกแล้วก็ส่งตัวมอบหมายฝากฝังตามธรรมเนียมของชาวเมืองกําแพงเพชร อันเคยทําพิธีมาแต่กาลก่อนฯ

ส่วนเจ้าคุณแม่ทัพรับตัวแล้วก็หลับนอนอยู่ด้วยนางงุดในกระท่อมในโรงนา จนรุ่งสางสว่างฟ้าแล้ว ตื่นขึ้นอาบน้ำรับประทานอาหารแล้วก็ลายายตาขึ้นม้ามาบัญชาการที่กองทัพ พอเวลาค่ำสั่งการเสร็จสรรพ แล้วห่อเงิน ๒๐ ชั่งมาสู่โรงบ้านปลายนา ถ่ายแหวนคืนสัญญา แล้วก็หลับนอน เช้ากลับค่ำไปหา เป็นนิยมมาดังนี้ แม่ทัพนายกองทั้งปวงจะได้ล่วงรู้และร่ำลือให้อื้อฉาวก็เป็นอันว่าหามิได้ แต่บุตรชายของเจ้าคุณแม่ทัพซึ่งนอนอยู่ในค่ายมีอายุ 4 ขวบโดยปี จะรู้ก็เข้าใจว่าไปดูแลตรวจ ตราบัญชาการแต่เป็นอยู่ดังนี้นานประมาณเดือนเศษ ตามสังเกตรู้ว่า นางงุดตั้งครรภ์ ต่อแต่นั้นก็เพียงแต่ไปมาถามข่าวฯ

ครั้นมีท้องตราหากองทัพกลับเจ้าคุณแม่ทัพก็ไปร่ำลาและสั่งสอน กําชับกําชาโดยนานัปการ จนนางเข้าใจราชการตลอดรับคําทุกประการ แล้วท่านก็คุมกองทัพกลับกรุงธนบุรีฯ

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นชื่อ นางจุด หรือ หมุด หรือ แม่นางละมุด สําเนียงออกจะใกล้เคียงกัน เดิมนั้นมีบ้านและเกิดที่เมืองจันทบูร ต่อมาได้อพยพขึ้นมาอยู่กับพ่อแม่ที่เมืองกําแพงเพชร ๓ ปี แล้วจึงมาอยู่บ้าน ทําสวนในเขตเมืองพิษณุโลกจนพบกับเจ้าพระยาจักรี นางจึงเป็นคนทั้งเมืองกําแพงเพชรและเมืองพิษณุโลกได้ตามที่จะเล่าขานกันมา

ส่วนอีกความหนึ่งดูจะไม่เหมือนกัน คือ เป็นชื่อนางเกศ หรือ เกสร บุตรสาวนายชัย เดิมเป็นชาวบ้านตําบลท่าอิฐ อําเภอท่าโพธิ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งย้ายลําเนามาอยู่ที่บ้านตําบลไก่จัน อําเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏชื่อสามีของนางเกศ ความนี้น่าจะเกิดจากเหตุที่สร้างวัดแล้วใช้ชื่อ เกศไชโย ส่วนความจะยุติกัน อย่างไรนั้น ไม่มีข้อตัดสินชัดเจน นอกจากจะรู้กันตามตํานานทั้งเรื่องเล่าในทางโลกและเรื่องเล่าในทางวิญญาณอยู่ที่ว่าจะเชื่อเรื่องไหน

เรื่องในตํานานนั้นยังมีความเล่ารายละเอียดต่อไปอีกว่า ด้วยเหตุที่มีกองทหารออกมารับเจ้าพระยาจักรีที่บ้านของแม่นางละมุด เขตเมืองพิษณุโลกนั้น จึงเป็นเหตุทําให้ชาวบ้านแตกตื่นและรู้ความถึงแม่นางละมุด นั้นเป็นภรรยาของแม่ทัพคนสําคัญ เจ้าเมืองพิษณุโลกและเจ้าเมืองกําแพงเพชร จึงพากันมาเยี่ยมเยียนดูแลไม่ขาด เมื่อแม่นางละมุดกําลังตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลอย่างดีและได้รับข่าวสามีอยู่เสมอ ภายหลังข่าวคราวของเจ้าพระยาจักรี แม่ทัพนั้นได้ขาดหายไปด้วยเหตุที่ยาม นั้นบ้านเมืองวุ่นวายอยู่กับการสู้รบในสงครามจนไม่สามารถติดตามข่าวได้

พ่อเฒ่าฉุนและแม่เฒ่าผ่อง จึงตัดสินใจพาแม่นางละมุด มาอยู่เสียที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อติดตามข่าวคราวเจ้าพระยาจักรี โดยอาศัยปลูกเรือนหลังเล็กอยู่ใกล้ๆ ผู้เฒ่าอุ่นเรือน ซึ่งน่าจะเป็นบ้านอยู่ที่ตําบล ไก่จ้น แขวงอยุธยา เมื่อแม่นางละมุดอยู่ที่บ้านไก่จ้นได้ประมาณ ๓ เดือนก็เจ็บครรภ์คลอดบุตรออกมาเป็นผู้ชาย

บุตรชายคนนี้ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มี ความระบุว่าเกิด เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จ.ศ. ๑๑๕๐ ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ ในรัชกาลที่ ๑ นั่นคือ หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ (หรือ เจ้าพระยาจักรี) สร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ๗ ปี

แต่ก็มีความบางแห่งสันนิษฐานว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์โต นั้น น่าจะเป็นบุตรของเจ้าพระยาสุรสีห์มากกว่าเจ้าพระยาจักรี และยังมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบุตรของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ร.๒) ในคราวที่ออกมาช่วยพระราชบิดารบกับพม่า ดังนั้นเหตุการณ์ พบกับมารดาของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต จึงอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๙-๒๓๓๐ ในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมากกว่า รัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์สงครามทาง เมืองพิษณุโลกที่ทําให้คนทั้งสองพบกันตามตํานานดังกล่าว นอกเสียจากว่า เป็นคนละเหตุการณ์ เพิ่งแต่งงานกันภายหลังเมื่อประมาณ ๒๓๒๙-๒๓๓๐ หรือไม่ก็เป็นบุคคลอื่นที่ ไม่ใช่บุคคลสําคัญในราชวงศ์นี้

ความบันทึกของ มหาอํามาตย์ตรีพระยาทิพโกษา (สอน โลหะ นั้นมานํามาสอบเหตุการณ์และทบทวนดู ได้ความว่า นางงุดแต่งงาน ในเดือนแปด ปีมะแม สัปตศก แล้วก็คลอดบุตรเป็นชาย ในวัน เดือนหก ปีวอก อัฏศก จุลศักราช ๑๑๓๔ (พ.ศ. ๒๓๑๙) ซึ่งแตกต่าง วันเกิดของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่เชื่อและใช้อ้างอิงกันข้างต้นอยู่ถึง ๑๒ ปี ดูระยะเวลายาวนานเกินปกติ

ดังนั้นถ้าตํานานเล่าว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นบุตรของ เจ้าพระยาจักรีแล้วน่าจะเกิด พ.ศ. ๒๓๑๙ ส่วนจะสอดคล้องกับสถานที่เกิด ซึ่งอ้างกันทั้งเกิดที่ บ้านตําบลไก่จ้น อําเภอท่าเรือ จังหวัด พระนครศรีอยุธยา และเกิดที่บ้านบางขุนพรหม กรุงเทพนั้น ต่างมีเหตุผลแตกต่างกันคือการเชื่อว่าเกิดที่บ้านบางขุนพรหมนั้น ก็เนื่องจากครอบครัวนี้ได้เปลี่ยนอาชีพมาเดินเรือค้าขาย โดยซื้อสินค้าบรรทุกเรือ ขึ้นล่องระหว่างบ้านบางขุนพรหม แล้วขึ้นไปทางหัวเมืองทางเหนือ ตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ ขึ้นไปจนถึงเมืองกําแพงเพชร จนมีฐานะดีก็ปลูกเรือนแพสองหลังแฝดอยู่เหนือบ้านนายทอง นางเพียน จนนางงุด ได้มาคลอดบุตรที่นี่ จึงมีการสร้างพระยืนเหมือน ยืนได้ที่นี่

ส่วนบ้านวัดไก่จัน อําเภอท่าเรือ อยุธยานั้น น่าจะถือเอาเหตุที่มี พระนอนสร้างไว้โดยหมายเอาว่า ท่านนอนแบเบาะอยู่ที่นี่ ส่วนความ จริงว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เกิดที่ใดนั้น...ไม่มีหลักฐานระบุ ชัดเจน...นอกจากความเล่าทั้งสองแห่ง

สําหรับบุตรชาย คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่ระบุว่าเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ ก็น่าจะฟังขึ้นในส่วนที่จะให้เป็นบุตรชายของเจ้าพระยา ซึ่งต้องปิดความและสอดคล้องกับเหตุการณ์จริงตามพงศาวดาร ก็มีเรื่องเล่าเสริมไปว่า

ในขณะที่แม่นางละมุดท้องแก่อยู่ที่บ้านตําบลไก่จัน เมืองอยุธยา ที่ต้องย้ายมาอยู่ที่นี่ด้วยความต้องการที่จะรู้ข่าวของเจ้าพระยาจักรี ซึ่งได้ข่าวว่าเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ถูกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ให้คุมไพร่พลไปทํานาทะเลตมอยู่ทางด้านตะวันออกของกรุงธนบุรี และสืบข่าวจนได้ความว่าเจ้าพระยาจักรีนั้นคุมทหารออกไปทํานาจริงตามรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ใช่ถูกทําโทษตามข่าว ส่วนเรื่องการตามจับพวกพม่านั้นจับได้แต่ไม่มากนักด้วยพม่าหนีออกไปก่อน

เจ้าพระยาจักรีนั้นคุมกําลังทํานาไปได้พักหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้คุมกองทัพร่วมกับเจ้าพระยาสุรสีห์ไปยังเมืองนครราชสีมา และเข้าไปตีเมืองจําปาศักดิ์ เรื่องนี้เมื่อพ่อเฒ่าฉุน เดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยา ไปถามข่าวคราวกลับมา ก็พบว่าแม่นางละมุดนั้นได้คลอดบุตร เป็นผู้ชายแล้ว

เมื่อเฒ่าฉุนเห็นหลานชายรูปร่างแข็งแรง มีลักษณะดีหน้าผาก กว้าง รูปหน้ากว้างผึ่งผายก็ถามแม่นางละมุดว่า “ตั้งชื่อเจ้าหนูนี้ว่า อะไร”

แม่นางละมุด ตอบว่า “ให้ชื่อว่า โต” ผู้เฒ่าจึงอวยพรหลานว่า “เออ ดี ชื่อโต จะได้โตวันโตคืน ชื่อเสียงจะใหญ่โต มีคนรู้จักเคารพนับถือให้โตสมชื่อนะหลาน”

ต่อมาทหาร “คง” ได้เข้ามาแจ้งข่าวกับพ่อเฒ่าฉุนแม่นางละมุดว่า เจ้าพระยาจักรีนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ให้ไปนครราชสีมา แล้วยกทัพไปตีเมืองจําปาศักดิ์ เมืองโขง เมืองอัตปื้อ ได้ทั้งสามเมืองแล้วยังได้เกลี้ยกล่อมเมืองเล็กเมืองน้อยเข้าสวามิภักดีอีก สมเด็จพระเจ้าอยู่ ทรงพอพระราชหฤทัยมาก จึงรับสั่งให้กองทัพเดินทางกลับเมื่อเดือน พ.ศ. ๒๓๒๐ แล้วพระองค์ได้โปรดแต่งตั้งให้เจ้าพระยาจักรีขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้รับพระราชทานเครื่องยศเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม เป็นใหญ่ยิ่งกว่าท้าวพระยาทั้งหลาย

และทหารคงได้บอกต่อไปว่า ที่รู้ข่าวว่าพ่อเฒ่าย้ายมาอยู่อยุธยา ก็จากเจ้าอาจ จึงเที่ยวตามแม่นางละมุด นี่ถ้าท่านเจ้าพระยารู้ว่า แม่นางได้บุตรชายชื่อ “โต” คงจะดีใจมาก ซึ่งได้ยินเจ้าพระยาพูดอยู่ว่า

“ป่านนี้คงได้ลูกแล้วคงจะเป็นชาย เพราะข้าเคยฝันว่า ได้เห็นพระห่มจีวรสีเหลืองสดสว่างแจ้งไปทั้งห้อง” พร้อมกับได้ฝากจดหมาย และสิ่งของมาเยี่ยม (สิ่งของสําคัญน่าจะเป็นรัดประคดที่เจ้าพระยาจักรีใช้เป็นเครื่องรางของขลังสําหรับออกศึกสงคราม) ซึ่งทหาร “คง” ยังได้กระซิบบอกต่อไปอีกว่า

“ด้วยเหตุที่เจ้าพระยาฯ นั้นมีเมียใหญ่อยู่ มีลูกด้วยกันหลายคน นางเป็นคนดุเหลือเกินและขี้หึง ถ้ารู้ว่ามีเมียน้อยอยู่ที่ไหนก็จะตามรังแก จึงต้องปิดความบ้านนี้ไว้ ขอให้ระวังอย่าให้เรื่องอื้อฉาวนักจะได้ไม่เดือดร้อน”

แม่นางละมุด มารดาของ โต นั้นจะยังคงอยู่ที่บ้านตําบลวัดไก่จ้น จนบุตรชายได้บวชเป็นสามเณรที่วัดไก่จ้น (บางแห่งว่าวัดใหญ่ เมือง พิจิตร) หรือ ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่บางขุนพรหมใกล้กรุงธนบุรี นั้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษาสืบค้นต่อเช่นเดียวกัน

อ่านต่อ>>

** หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ชุดนี้ เขียนโดย อ. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เว็ปไซต์นี้จัดทำเพื่อการศึกษา ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้