สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หรือขรัวโตนั้น เป็นพระเถระที่ไม่ปรารถนาในยศศักดิ์ แม้จะเชี่ยวชาญทางพระปริยัติธรรมก็ตามก็ไม่ยอมเข้าสอบเพื่อเป็นเปรียญธรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเคยโปรดเกล้าฯ จะแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ สมเด็จโตก็ขอตัวไว้ เล่ากันว่าสมเด็จโตเกรงว่าจะได้รับสมณศักดิ์ดังกล่าว จึงทําให้สมเด็จโตหาเหตุออกธุดงค์หลีกเร้นไปยังจังหวัดต่างๆ ให้ห่างไกลอยู่เนืองๆ โดยถูกเรียกว่า มหาโต หรือ ขรัวโต อยู่จนสิ้นรัชกาล
ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จโตมีอายุ ๖๕ พรรษา อาจด้วยเป็นพระเถระที่มีอายุมากขึ้นแล้ว สมเด็จโตจึงไม่ขัดข้องที่จะรับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งตั้งสมณศักดิ์ให้เป็นพระธรรมกิตติโสภณ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ โดยทําให้พระเถระชั้นผู้น้อยได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นตามกัน
ต่อมาสมเด็จโตก็ได้เลื่อนเป็นพระเทพกวีใน พ.ศ. ๒๓๙๗ และเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ํา ปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ ในที่สุด
นับเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสูง ที่ยังปฏิบัติสมณวัตรเช่นเดิม คือ เป็นขรัวโต พระธรรมดาของชาวบ้านทั่วไป ความเป็นธรรมดาสามัญนั้นถือเป็นธรรมปัญญาที่เป็นลักษณะพิเศษของสมเด็จโต กล่าวคือ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่พ้นจากความพิเศษทั้งปวง นอกเหนือจากความสันโดษและไม่ถือยศถือศักดิ์ตามสังคมมนุษย์แล้ว ยังมีความกล้าหาญที่สมเด็จโตนั้นไม่เพียงแต่จะสอนธรรมให้กับชาวบ้านเท่านั้นยังกล้าที่จะตักเตือนสอนธรรมพระเจ้าแผ่นดิน โดยไม่กลัวว่าพระองค์จะทรงกริ้วหรือไม่โปรดปราน ดังจะเห็นได้จากการหลีกหนีสมณศักดิ์และตําแหน่งทางสงฆ์มาตลอด
การสอนธรรมปัญญาให้กับสังคมบ้านเมืองนั้น สมเด็จโตก็มีวิธีการเฉพาะตน เป็นพระเถระที่ไม่ติดสุขหรือสมณศักดิ์ส่วนตน นับว่าเป็นพระเถระที่หาได้ยากยิ่ง แม้จะได้รับสมณศักดิ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ไม่ยินดี สมเด็จโตจึงมีเมตตาและพร้อมที่จะเป็นขรัวโต พระธรรมดาสอนธรรมปัญญาให้ชาวบ้าน
สมเด็จโตจึงเป็นต้นแบบให้พระเถระรูปสําคัญได้เจริญสมณวัตร ตามอย่าง เช่น ครูบาศรีวิชัย ท่านพุทธทาส ท่านปัญญานันทมุนี หลวงพ่อเกษม เขมโก หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นต้น
อ่านต่อ>>
** หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ชุดนี้ เขียนโดย อ. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เว็ปไซต์นี้จัดทำเพื่อการศึกษา ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์