สมเด็จโตนั้นปกติมักรับนิมนต์ไปเทศนาธรรมประจําอยู่เนืองๆ วันหนึ่งเจ้าคุณ (พระยา - ไม่ทราบชื่อ) ซึ่งเป็นขาประจํานิมนต์สมเด็จโตมาเทศนาธรรมเกิดปรารถนาจะฟังเทศน์กัณฑ์ จตุราริยสัจ (คือ พระอริยสัจ ๔) เจ้าคุณจึงให้บ่าวคนหนึ่งไปนิมนต์สมเด็จโตที่วัดระฆังโฆสิตารามมาเทศน์ในค่ำวันนั้น
แต่ด้วยเหตุที่เจ้าคุณไม่ได้เขียนเป็นข้อความฎีกาบอกเรื่องจตุราริยสัจให้บ่าวนําไปนิมนต์สมเด็จโตให้รู้เรื่องเสียก่อน ดังนั้นเมื่อบ่าวรับคําสั่งแล้วก็ไปนิมนต์สมเด็จโตที่วัด โดยนิมนต์ว่า “พระคุณเจ้าขอรับ เจ้าคุณได้ให้มานิมนต์เจ้าพระคุณไปแสดงธรรมที่บ้านตอนค่ำวันนี้ขอรับ"
สมเด็จโตจึงถามว่า “คราวนี้เจ้าคุณจะให้เทศน์เรื่องอะไรเล่าจ๊ะ” บ่าวผู้นิมนต์เกิดลืมชื่อจตุราริยสัจจําไม่ได้จึงนึกคะเนเอาว่าน่าจะเป็น ๑๒ นักษัตร ด้วยมีคําว่า สัจ - ษัตรใกล้เคียงกัน จึงได้กราบเรียนว่า “๑๒ นักษัตรขอรับ” แล้วก็กราบลาออกจากวัด สมเด็จโตนั้นคงรู้ด้วยธรรมปัญญาว่าเจ้าคุณนั้นปรารถนาจะให้เทศน์อริยสัจ ๔ แต่บ่าวเกิดลืมชื่อเรื่องไป จึงมาบอกว่า ๑๒ นักษัตร
พอถึงเวลาค่ำสมเด็จโตพร้อมด้วยลูกศิษย์ ได้เดินทางไปแสดงธรรมเทศนาที่บ้านเจ้าคุณ ซึ่งภายในบ้านนั้นมีพวกอุบาสก อุบาสิกามาคอยฟังอยู่ด้วยกันจํานวนมาก สมเด็จโตเมื่อประทับบนธรรมาสน์ ก็ให้ศีลบอกพุทธศักราช ตั้งนโม ๓ จบแล้วจึงว่า จุณณียบท สิบสองนักษัตรว่า
มุสิโก อุสโภ พยคโฆ สโส นาโค สปโป อสโส เอฬโก มกกโฎ กุกกุโฎ สุนโข สุกโร (แปลเป็นภาษาไทยว่า มุสิโก - หนู, อุสโภ - วัว, พยคโฆ - เสือ, สโส - กระต่าย, นาโค - งูใหญ่, สปโป งูเล็ก, อสโส - ม้า, เอฬโก - แพะ, มกุกโฏ - ลิง, กุกกุโฎ - ไก่, สุนโข - สุนัข, สุกโร - สุกร) ฝ่ายเจ้าคุณเจ้าของกัณฑ์กับพวกทายกทายิกาเมื่อฟังเทศน์แล้วก็มีความ สงสัยว่า ทําไมเจ้าประคุณสมเด็จโตจึงมาเทศน์ ๑๒ นักษัตร ดังนี้เล่า สงสัยว่าบ่าวจะไปนิมนต์สมเด็จโตแล้วให้ชื่ออริยสัจนั้นผิดไปกระมัง
เจ้าคุณจึงเรียกบ่าวผู้นั้นมาถามว่า “เจ้าไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จ เทศน์เรื่องอะไร”
บ่าวจึงกราบเรียนเจ้าคุณว่า “นิมนต์เทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรขอรับ”
เจ้าคุณจึงว่า “นั่นประไรเล่า เจ้าลืมชื่ออริยสัจไปเสียแล้ว ไปคว้า เอา ๑๒ นักษัตรเข้าให้ เจ้าพระคุณสมเด็จจึงมาเทศน์ตามเจ้านิมนต์ไว้นะแล้ว" สมเด็จโตได้เห็นอาการเจ้าพระคุณกับบ่าวดังนั้น ก็ใช้ธรรมปัญญาเทศน์โดยอรรถาธิบายเทศนาธรรมหน้าธรรมาสน์นั้นว่า
“อาตมภาพก็นึกอยู่แล้วว่า ผู้ไปนิมนต์จะลืมชื่ออริยสัจเสีย ไปบอกว่าโยมให้นิมนต์เทศน์ ๑๒ นักษัตร อาตมภาพก็เห็นว่า ๑๒ นักษัตรนี้ คือ เป็นต้นทางของอริยสัจแท้ที่เดียว ยากที่บุคคลจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรสักครั้งสักหน เทศน์ที่ไหนๆ ก็มีแต่เทศน์อริยสัจทั้งนั้น ไม่มีใครจะเทศน์ ๑๒ นักษัตรสู่กันฟังเลย ครั้งนี้เป็นบุญลาภของโยมเป็น มหัศจรรย์ เทพยเจ้าผู้รักษาพระพุทธศาสนาจึงได้ดลบันดาลให้บ่าวเคลิบเคลิ้มไป ให้บอกว่าเทศน์ ๑๒ นักษัตร
ดังนี้อาตมภาพก็มาเทศน์ตามผู้นิมนต์ เพื่อจะให้สาธุชนแลโยมเจ้าของกัณฑ์ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตร อันเป็นต้นทางของอริยสัจทั้ง ๔ จะได้ธรรมสวนานิสงส์อันล้าเลิศ ซึ่งจะได้ให้ก่อเกิดปัจจเวกขณญาณในอริยสัจ ทั้งแท้ที่จริงธรรมเนียมนับปี เดือน วัน คืนนี้นักปราชญ์ผู้รู้โหราศาสตร์แต่ครั้งโบราณ ต้นปฐมกาลในชมภูทวีปบัญญัติตั้งแต่งขึ้นไว้ คือกําหนดหมายเอาชื่อดวงดาราในอากาศเวหามาตั้งเป็น ชื่อปีเดือนวันดังนี้คือ
๑. หมายเอาชื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาว พฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ รวม ๗ ดาว มาตั้งเป็นชื่อวันทั้ง ๗ วัน แลให้นับเวียนไปเวียนมาทุกเดือนทุกปี
๒. หมายเอาชื่อดวงดาวรูปสัตว์ แลดาวรูปสิ่งอื่นๆ มาตั้งเป็น ชื่อเดือนทั้ง ๑๒ เดือน มีดังนี้
เดือนเมษายน - ดาวรูปเนื้อ
เดือนพฤษภาคม - ดาวรูปวัวผู้
เดือนมิถุนายน - ดาวรูปคนคู่หนึ่ง
เดือนกรกฎาคม - ดาวรูปปูป่าหรือปูทะเล
เดือนสิงหาคม - ดาวรูปราชสีห์
เดือนกันยายน - ดาวรูปนางสาวที่น่ารักใคร่
เดือนตุลาคม – ดาวรูปคันชั่ง
เดือนพฤศจิกายน - ดาวรูปแมงป่อง
เดือนธันวาคม - ดาวรูปธนู
เดือนมกราคม - ดาวรูปมังกร
เดือนกุมภาพันธ์ - ดาวรูปหม้อ
เดือนมีนาคม - ดาวรูปปลา (ตะเพียน)
รวมเป็น ๑๒ ดาวหมายเป็นชื่อ ๑๒ เดือน
๓. หมายเอาดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดาว ที่ประจําอยู่ในท้องฟ้าอากาศ เป็นชื่อปีทั้ง ๑๒ ปี ดังนี้คือ
ปีชวด - ดาวรูปหนู
ปีฉลู - ดาวรูปวัวตัวผู้
ปีขาล - ดาวรูปเสือ
ปีเถาะ - ดาวรูปกระต่าย
ปีมะโรง - ดาวรูปงูใหญ่คือนาค
ปีมะเส็ง - ดาวรูปงูเล็กคืองธรรมดา
ปีมะเมีย - ดาวรูปม้า
ปีมะแม - ดาวรูปแพะ
ปีวอก - ดาวรูปลิง
ปีระกา – ดาวรูปไก่
ปีจอ - ดาวรูปสุนัข
ปีกุน - ดาวรูปสุกร
รวมเป็นชื่อดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดวง ตั้งเป็นชื่อปี ๑๒ ปี ใช้เป็นธรรมเนียมเยี่ยงอย่างนับปีเดือนวันคืนนี้ เป็นวิธีกําหนดนับอายุกาลแห่งสรรพสิ่งสรรพสัตว์ในโลกทั่วไป ที่นับของใหญ่ๆ ก็คือ
นับอายุโลกธาตุ นับเป็นอันตรกัลป์ มหากัลป์ ภัทรกัลป์ เป็นต้น แลนับอายุชนเป็นรอบๆ คือ ๑๒ ปี เรียกว่ารอบหนึ่ง แล ๑๒ รอบเป็น ๑๕๕ ปี แต่มนุษย์เราเกิดมาในกลียุคครั้งนี้ กําหนดอายุเป็นขัยเพียง ๑๐๐ ปี แลในทุกวันนี้อายุมนุษย์ก็ลดถอยลงน้อยกว่า ๑๐๐ ปีก็มีมาก ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไปถึง ๑๕๐ หรือ ๒๐๐ ปีก็มีบ้างในบางประเทศ ตามจดหมายเหตุของประเทศต่างๆ ได้กล่าวมา แต่มีเป็นพิเศษแห่งละ ๑ คน ๒ คน หรือ ๓ คน ๔ คนเท่านั้น หาเสมอทั่วกันไปไม่ แต่ที่อายุต่ํากว่า ๑๐๐ ปีลงมานั้น มีทั่วกันไปทุกประเทศ
จึงเป็นที่สังเกตได้ว่า คําเรียกว่ากลียุคนี้เป็นภาษาพราหมณ์ ชาวชมภูทวีปแปลว่าคราวชั่วร้าย คือว่าสัตว์เกิดมาในภายหลัง อันเป็นครั้งคราวชั่วร้ายนี้ย่อมทําบาปอกุศลมาก จนถึงอายุสัตว์ลดน้อยถอยลงมากด้วยสัตว์ที่เกิดในต้นโลกต้นกัลป์นั้น เห็นจะมากไปด้วยเมตตากรุณาแก่กันและกัน ชักชวนกันทําบุญกุศลมาก อายุจึงยืนหลายหมื่นหลายพันปี แลยังจะต่อลงไปข้างปลายโลก บางที่สัตว์จะทําบาปอกุศลยิ่งกว่านี้
อายุสัตว์บางทีก็จะเรียวน้อยถอยลงไปจนถึง ๑๐ ปีเป็นชัย แลสัตว์มีอายุเพียง ๕ ปี จะแต่งงาน เป็นสามีภรรยาต่อกันก็อาจจะเป็นไปได้ แลในสมัยเช่นนี้อาจจะเกิดมิคสัญญี ขาดเมตตาต่อกันแลกัน อย่าง ประหนึ่งว่านายพรานสําคัญในเนื้อจะฆ่าฟันกันตายลงเกลื่อนกลาด ดังมัจฉาชาติต้องยาพิษทั่วไปในโลก แต่สัตว์ที่เหลือตายนั้นจะกลับบ่ายหน้าเข้าหาบุญก่อสร้างการกุศล ฝูงคนในครั้งนั้นจะกลับมีอายุยืนยิ่งๆ ขึ้นไป จนอายุตลอดอสงไขย ซึ่งแปลว่านับไม่ได้นับไม่ถ้วน
ภายหลังสัตว์ทั้งปวงก็กลับตั้งอยู่ในความประมาทก่อสร้างบาป อกุศลรุ่นๆ ไปอีกเล่า อายุสัตว์ก็กลับลดน้อยถอยลงมาอีกตามธรรมดาของโลกเป็นไปดังนี้
สมเด็จพระพุทธเจ้าของเราผู้เป็นพระสัพพัญญู ตรัสรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง พระองค์จึงทรงแสดงธรรมที่จริง ๔ ประการ ไว้ให้สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งคือ
๑. ความทุกข์มีจริง
๒. สิ่งให้เกิดทุกข์มีจริง
๓. ธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง
๔. ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง
นี่แลเรียกว่าอริยสัจ ๔ คือเป็นความจริง ๔ ประการ ซึ่งเพิ่มอริยเจ้าอีกคําหนึ่งนั้น คืออริยแปลว่า พระผู้รู้ประเสริฐอย่างหนึ่ง พระผู้ไกลจาก กิเลสอย่างหนึ่ง รวมอริย สัจจะ สองคําเป็นนามเดียวกัน เรียกว่าอริยสัจ
แลเติมจตุรสังขยานามเข้าอีกคําหนึ่ง แลแปลงตัว ะ เป็นตัว า เพื่อจะให้เรียกเพราะสละสลวยแก่ลิ้นว่า จตุราริยสัจ แปลว่าความจริงของพระอริยเจ้า ๔ อย่าง ซึ่งท่านอ้างว่าความจริง ๔ อย่างนี้เป็นของพระอริยะนั้น อธิบายต่อว่าเป็นพระอริยเจ้าจึงจะเห็นจริง คือพระอริยเจ้า
เห็นว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งสัตว์เวียนว่ายทนรับความลําบากอยู่ในวัฏฏสงสารนั้นให้เกิดความทุกข์จริง ตัณหาคือ ความอยากความดิ้นรนของสัตว์นั้นให้เกิดความทุกข์จริง พระอมตมหานิพพานไม่มีเกิดแก่เจ็บตายเป็นที่ดับทุกข์จริงแลสุขจริง ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์มีจริง พระอริยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเห็นจริงแจ้ง ประจักษ์ในธรรม ๔ อย่าง ดังนี้ แลสั่งสอนสัตว์ให้รู้ความจริงเพื่อจะให้ละทุกข์เข้าหาความสุขที่แท้จริง
แต่ฝ่ายปุถุชนนั้นเห็นจริงบ้างแต่เล็กน้อยไม่เห็นความจริงแจ้งประจักษ์เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งปวง พวกปุถุชนเคยเห็นกลับไปว่า เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดก็ดีไม่เป็นทุกข์อะไรนัก บ้างก็ว่าเจ็บก็เจ็บ สนุกก็สนุก ทุกข์ก็ทุกข์ สุขก็สุข จะกลัวทุกข์ทําไม
บ้างว่าถ้าตายแล้วเกิดใหม่ ได้เกิดที่ดีๆ เป็นท้าวพระยามหาเศรษฐี มั่งมีทรัพย์สมบัติมากมายแล้ว ก็หากลัวทุกข์อะไรไม่ขอแต่อย่าให้ยากจนเท่านั้น
บ้างว่าถ้าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ ได้เสวยทิพยสมบัติ มีนางฟ้านับพันแวดล้อมเป็นบริวาร เป็นสุขสําราญชื่นอกชื่นใจดังนั้นแล้วถึงจะตาย บ่อยๆ เกิดบ่อยๆ ก็ไม่กลัวทุกข์กลัวร้อนอะไร
บ้างก็ว่าถ้าไปอมตมหานิพพานไปนอนเป็นสุขอยู่นมนานแต่ผู้เดียว ไม่มีคู่เคียงเรียงหมอนจะนอนด้วยแล้ว เขาก็ไม่อยากจะไป เขาเห็นว่าอยู่เพียงเมืองมนุษย์กับเมืองสวรรค์เท่านั้นดีกว่า เขาหาอยากไปหาสุขในนิพพานไม่ พวกปุถุชนที่เป็นโลกิยชนย่อมเห็นไปดังนี้
นี่แลการฟังเทศน์อริยสัจ จะให้รู้ความจริง แลเห็นธรรมที่ดับทุกข์ เป็นสุขจริงของพระอริยเจ้าทั้ง ๔ อย่างนั้น ก็ควรฟังเทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรเสียก่อน จะได้เห็นว่าวัน คือ เดือน ปี ซึ่งเป็นอายุของเราย่อมล่วงไปทุกวัน ทุกเวลา ประเดี๋ยวก็เกิด ประเดี๋ยวก็แก่ ประเดี๋ยวก็เจ็บ ประเดี๋ยวก็ตาย เราเวียนวนทนทุกข์อยู่ด้วยความลําบาก ๔ อย่างนี้แลไม่รู้สิ้นรู้สุด
เมื่อเราสลดใจเบื่อหน่ายต่อความเกิดแก่เจ็บตายในโลกแล้ว เราก็ควรรีบเร่งก่อสร้างบุญกุศจนกว่าจะได้มีบารมีแก่กล้า จะได้ความสุข ในสรวงสวรรค์แลความสุขในอมตมหานิพพานในภายหน้า ซึ่งไม่มีความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสุขเที่ยงแท้ถาวรอย่างเดียว ไม่มีทุกข์มาเจือปนเลย
แลเรื่อง ๑๒ นักษัตร คือดาวชื่อเดือน ๑๒ ดาว และดาวชื่อปี ๑๒ ปี แลดาวชื่อวันทั้ง ๗ วันนี้ เป็นที่นับอายุของเราไม่ให้เราประมาท
แลให้คิดพิจารณาเห็นความจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนเราไว้ให้รู้ตามนั้นที่เดียว สาธุชนทั้งหลายผู้มาได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรกับอริยสัจ ๔ ด้วยในเวลานี้ ไม่ควรจะโทมนัสเสียใจต่อผู้ไปนิมนต์ ควรจะชื่นชมโสมนัสต่อผู้รับใช้ไปนิมนต์อาตมภาพมาเทศน์ด้วย ถ้าไม่ได้อาศัยผู้นิมนต์เป็นต้นเป็นเหตุดังนี้แล้ว ที่ไหนจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรเล่า ควรจะโมทนาสาธุการอวยพรแก่ ผู้ไปนิมนต์จงมาก เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ฝ่ายเจ้าคุณเจ้าของกัณฑ์กับสัปบุรุษทายกทั้งปวงนั้น เมื่อได้ธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรกับอริยสัจทั้ง ๔ ของสมเด็จฯ แล้วต่างก็ชื่นชมยินดีในความสมปรารถนาจึงมีอารมณ์แจ่มใส
เจ้าคุณจึงว่า “ข้าขอบใจเจ้าคนนิมนต์แท้เชียว ขอให้เจ้าได้บุญมากๆ ไปด้วยกันเถิด”
สําหรับผลงานคําสั่งสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตนั้น เป็นการเทศนาธรรมเป็นส่วนใหญ่และไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หากจะมีก็เป็นเพียงคํากลอนหรือบทธรรมสั้นๆ อยู่ตามสมุดหรือในที่อื่นๆ ที่ยังค้นหาไม่พบ ที่พบแล้วก็นํามาเล่าต่อหรือต่อความให้เห็นการสอนธรรมทุกเวลาของสมเด็จโตส่วนใหญ่มักมีเหตุการณ์ประกอบและจดจํากันมา
ดังนั้นจึงมีเรื่องเล่าขานกันมากมายหลากหลายความ ธรรมปัญญาของสมเด็จโตนั้นจึงมีทั้งส่วนที่เป็นโลกธรรมและโลกวิญญาณ ซึ่งเป็นผลมาค้นคว้าทางจิตขึ้นในภายหลัง ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้ที่ศึกษาค้นคว้าไว้ ธรรมปัญญาหรือคําสอนของสมเด็จโตที่รวบรวมไว้มากหลายแห่ง
อ่านต่อ>>
** หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ชุดนี้ เขียนโดย อ. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เว็ปไซต์นี้จัดทำเพื่อการศึกษา ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์