ธรรมปัญญาสมเด็จโต - ๒. กรณีศึกษาชาติภูมิของสมเด็จโต

ธรรมปัญญาสมเด็จโต - ๒. กรณีศึกษาชาติภูมิของสมเด็จโต

ชาติภูมิของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี แห่งวัดระฆังโฆสิตารามนั้นมีหลายความที่ไม่ตรงกัน จึงมีข้อศึกษาว่าการที่มีชื่อว่า “โต” นั้น ความเดิมเล่าว่าน่าจะเป็นด้วยเมื่อเป็นเด็กนั้นมีรูปร่างบอบบาง ผู้ใหญ่จึงตั้งชื่อให้ตรงกันข้ามกับรูปร่าง เป็นการแก้เคล็ดหรือข่มความด้อยไว้โดยให้ชื่อว่า “โต" หรือเป็นปกติที่บุตรคนแรกของครอบครัวมักให้ชื่อว่า โต หมายถึงคนโต กรณีหลังนี้ครอบครัวนั้นต้องมีบุตรหลายคนซึ่งมีการเรียกว่า คนโต คนเล็ก คนหัวปี คนสุดท้อง เป็นต้น

ส่วนฉายาว่า “พรหมรังสี” นั้นน่าจะสัมพันธ์กับวันเดือนปีเกิดโดยผู้เป็นอุปัชฌายาจารย์เป็นผู้ตั้ง ในตํานานประวัติกล่าวว่า สมเด็จโตเกิดในรัชกาลที่ ๑ หลังจากที่ได้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ๗ ปี แล้วคือ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ เวลาพระบิณฑบาต (คํานวณกันว่าตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑)

ไม่ตรงกับข้อมูลที่ว่า สมเด็จโตเกิดใน พ.ศ. ๒๓๑๙ ซึ่งตรงกับรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งมีความกล่าวต่อไปอีกว่า สมเด็จโตนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดในเมืองพิจิตร และบวชเป็นพระภิกษุที่วัดตระไกร เมืองพิษณุโลก จึงทําให้เกิดข้อศึกษาว่า สมเด็จโตนั้นควรจะเกิดที่เมืองไหน ระหว่าง เมืองพิจิตร เมืองกําแพงเพชร และเมืองพิษณุโลกกับบ้านตําบลไก่จ้น (หรือท่าหลวง) อําเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามประวัติที่เรียบเรียงโดยมหาอํามาตย์ตรีทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) (ดวงชะตา หน้า ๔๗)

เรื่องวันเกิดและชาติภูมินั้น ได้มีผู้รู้ตําราโหราศาสตร์ได้ผูกดวงชะตาของสมเด็จโตไว้ ซึ่งในหนังสือ “ประวัติขรัวโต” ของพระยาทิพโกษา (สอน) นั้นกล่าวว่า

ดวงชะตาของสมเด็จโตนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวรวิหาร ทรงคํานวณถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ด้วยมีพระประสงค์จะทรงทราบว่า ผู้มีอายุตั้งแต่ ๘๐ ปีขึ้นไปนั้นมีดวงชะตาเป็นอย่างไร แล้วพระราชทานไปให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ต่อมาดวงชะตานี้ได้ประทานให้พระยาทิพโกษา ลอกคัดเก็บรักษาไว้อีกต่อหนึ่ง

ดวงชะตาของสมเด็จโตนั้น ปรากฏว่าลัคนาสถิตย์ราศีใดหาทราบไม่ แต่ได้ค้นพบในเอกสารอื่นๆ ซึ่งอยู่ในหอพระสมุดแห่งชาติ ที่ปรากฏว่าโหราจารย์ได้วางลัคนาอยู่ในราศีเมษ แต่หลักฐานอื่น (ของมหาเฮง วัดกัลยาณ์) นั้นวางลัคนาอยู่ในราศีพฤษภ

ดังนั้นดวงชะตาดังกล่าวจึงถูกผูกขึ้นจากข้อมูลนี้ จึงมีการลงตําแหน่งดาวเพิ่มขึ้นจากเดิม ๓ ดวง คือ เนปจูน (น) พลูโต (พ) และ แบคค (บ) โดยวางลัคนาไว้ที่ราศีพฤษภ 

แต่ด้วยเหตุที่เวลาเกิดเป็นช่วงเวลาที่พระออกบิณฑบาตนั้น ได้ประมาณกันว่า กว่าสมเด็จโตจะออกจากวัดได้ก็น่าจะเป็นเวลาหกโมงเช้า และการพายเรือมายังบ้านโยมนั้นก็ใช้เวลาพายเรืออย่างน้อยเป็นชั่วโมง เพราะต้องรับบาตรตามรายทางเรื่อยมา ดังนั้นเวลาที่ลงไว้นั้นเมื่อวางลัคนา และเทียบกับอัตชีวประวัติ ตลอดจนอุปนิสัยของสมเด็จโตแล้ว จึงมีความเชื่อว่าน่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ใกล้เคียงตรงกับความเป็นจริงมากกว่านั้น โดยสรุปว่าวันเกิดน่าจะอยู่ในราศีเมษ

วันเกิดและชาติภูมิบ้านเกิดของสมเด็จโต แม้ไม่มีหลักฐานแต่ที่กําหนดให้ยึดถือกันนั้นเกิดจากการคํานวณและสันนิษฐานขึ้นในภายหลัง ตามที่ควรจะสอดคล้องกับอุปนิสัยและชะตาของพระเถระสําคัญรูปนี้ ด้วยเหตุที่ประวัติของสมเด็จโตนั้นมีผู้เรียบเรียงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการศึกษาและคําบอกเล่า ดังนั้นดวงชะตาที่อาศัยวิชาโหราศาสตร์คํานวณ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถเป็นกรณีศึกษายังไม่ได้เป็นข้อยุติเสียทีเดียว ดังนั้นหากยังไม่มีข้อมูลใดมาหักล้างก็ต้องยึดถือวันเกิดไปตามนี้ก่อนคือวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑

สําหรับสถานที่เกิดก็คงจะต้องถือว่า บ้านไก่จ้นหรือท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นภูมิลําเนาให้สอดคล้องกับวันเกิดดังกล่าว มากกว่าจะให้เป็นเมืองพิจิตร เมืองกําแพงเพชร หรือเมือง พิษณุโลก ซึ่งก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน

สําหรับเรื่องบิดาของสมเด็จโตนั้น เนื่องจากระบุว่าไม่ปรากฏชื่อ จึงทําให้มีความเชื่อกันว่าท่านเป็นบุตรของเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ บางตํานานว่า ท่านเป็นบุตรของเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ขณะที่สมเด็จโต เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ นั้น เจ้าฟ้าพระองค์นี้อุปสมบท ที่วัดสมอราย จึงมีความเชื่อน้อยกว่า เนื่องจากไม่มีเหตุการณ์ให้เชื่อมโยงถึงการไปพบกับมารดาของสมเด็จโต คือ ละมุด หรือ งุด สาวงามบ้านสวนที่อยู่นอกเมืองกําแพงเพชร

ส่วนมารดาของสมเด็จโตนั้น ชื่อ งุด หรือ ละมุด เป็นบุตรีของ พ่อฉุนและแม่ผ่อง คนบ้านเสม็ด เมืองจันทบุรี ต่อมาครอบครัวนี้ได้ย้ายไปอยู่กับญาติที่บ้านไก่จ้น อยุธยา แต่ในประวัติสมเด็จโตของพระยาทิพ โกษา (สอน) ว่า นางงุดนั้นเป็นบุตรีของพ่อผลและแม่ลา และอีกตํานาน หนึ่งว่า มารดาของสมเด็จโตนั้นชื่อ เกศ หรือเกศร เป็นบุตรของนายชัย ชาวตําบลท่าอิฐเมืองอุตรดิตถ์ แล้วย้ายมาอยู่ที่บ้านไก่จ้น อยุธยา

ดังนั้นการที่เชื่อว่า สมเด็จโต เป็นบุตรของนางละมุด หรืองุด หรือหมุด สาวชาวสวนละมุดกับแม่ทัพคนสําคัญที่ปราบปรามข้าศึกแล้วแวะหลงมาขอดื่มน้ําระหว่างทาง ณ บ้านสวนชายป่านอกเมืองกําแพงเพชรนั้น จึงทําให้บ้านเกิดของสมเด็จโตเป็นไปได้ทั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่าง เมืองพิษณุโลก กําแพงเพชร และพิจิตร ด้วยสอดคล้องกับความเล่าว่า ครั้งแรกนั้นสมเด็จโตบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดในเมืองพิจิตร เข้าถึงกลับมาเป็นนาคหลวงบวชเป็นพระภิกษุที่วัดตระไกร เมืองพิษณุโลก ประเด็นศึกษาก็คือ เรื่องการบวชเป็นนาคหลวงนั้น น่าจะเกี่ยวข้องกับ แม่ทัพคนสําคัญในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก

แม่ทัพคนสําคัญที่มีบทบาทในเมืองพิษณุโลกสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น รู้กันดีว่าก็คือ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ผู้ซึ่งต่อมานั้นได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี จึงเป็นคําตอบในกรณีสมเด็จโตได้เป็นนาคหลวงในการบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อตรวจสอบกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็พบว่าเป็นช่วงเวลาที่อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่ายกทัพตีเอาหัวเมืองทางเหนือเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยฝ่ายไทยนั้นได้ส่งเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เป็นแม่ทัพ ขึ้นไปช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เจ้าเมืองพิษณุโลก รบกับข้าศึกและป้องกันเมืองพิษณุโลกจนมีการขอดูตัวกันขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นข้อศึกษาถึงเหตุที่สมเด็จโตเกิดในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ ซึ่งแตกต่างกับวันเกิด พ.ศ. ๒๓๓๑ ถึง ๑๒ ปี

ดังนั้นตํานานประวัติระบุว่าสมเด็จโตเกิดใน พ.ศ. ๒๓๓๑ จึงมีน้ำหนักมากเพื่อให้บ้านไก่จ้นนั้นเป็นบ้านเกิดและเป็นวัดที่สมเด็จโตบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๗ ปี (พ.ศ. ๒๓๓๘) ดังนั้นวันเกิดและบ้านเกิด จึงมีข้อมูลให้ศึกษาอยู่ ๒ ประเด็นคือ

๑. สมเด็จโตเกิด พ.ศ. ๒๓๑๙ ที่บ้านสวนละมุดชายป่า ซึ่งเป็นไปได้ว่าอยู่ในพื้นที่ของเมืองกําแพงเพชร - พิษณุโลก – พิจิตร

๒. สมเด็จโต เกิดปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ที่บ้านไก่จ้นหรือท่าหลวง พื้นที่ของอยุธยา ซึ่งมีเหตุการณ์สู้รบกับพม่าที่ท่าดินแดง ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ และสงครามตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริด ใน พ.ศ. ๒๓๓๐ ซึ่งแม่ทัพคนสําคัญนั้นได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว จึงไม่มีเหตุการณ์ให้แม่ทัพได้พบกับมารดาของสมเด็จโต โดยเฉพาะการสู้รบก็ห่างไกลมากขึ้นทั้งที่อยุธยา กําแพงเพชร และพิษณุโลก ดังนั้น จึงทําให้บางตํานานมีชื่อบิดาของสมเด็จโตหรือไม่ปรากฏชื่อเสียเลย มาแทนความเชื่อดังกล่าว ซึ่งยังกังขาต่ออีกว่าทําไมไม่มีชื่อบิดาให้ชัดเจน เช่นเดียวกับชื่อมารดา

ภายหลังมีการสร้างรูปหล่อ โยมพ่อ โยมแม่ ขึ้น จึงไม่ได้หมายว่าจะเป็นผู้ใดให้ชัดเจน เพื่อทําให้เกิดความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพื้นที่ตามตํานานประวัติแต่ละฉบับจึงมีการให้ครอบครัวของสมเด็จโตนั้นต้องย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะวัดที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่มักเรียกว่า หลวงพ่อโต เช่น วัด (เกศ) ไชโย เมืองอ่างทอง วัดสะตือ เมืองอยุธยา วัดกลางคลองข่อย เมืองราชบุรี วัดอินทารามและและวัดใหม่อมตรสบางขุนพรหม ที่กรุงเทพฯ วัดกฎีทอง (วัดพิดเพียน) ที่อยุธยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายวัดได้โยงความเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ (หลวงพ่อโต) ให้หมายว่า สมเด็จโตเกี่ยวข้องด้วยเข้ามาอยู่ด้วย จึงกลายเป็นการตามรอยสมเด็จโตใหม่ให้เพิ่มไปจากตํานานประวัติ และเป็นการค้นหากรุพระสมเด็จขึ้นอีกกรุหนึ่งในวัดต่างๆ เช่น วัดขุนอินทประมูล ที่อ่างทอง วัดใหม่ทองเสน ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรื่องของศรัทธาและการนับถือพระสมเด็จมากกว่า ไม่เป็นเรื่องเสียหายแต่เป็นเรื่องเสียเงินที่ต้องเช่าพระสมเด็จราคาแพงจากความเชื่อ

ปัจจุบันพระสมเด็จเป็นที่นิยมกันมาก จึงมีการสร้างขึ้นใหม่ตามตําราเดิมในวัดต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมกันก็มีพระสมเด็จพิมพ์แปลกๆ ให้แตกต่างจากพิมพ์มาตรฐานของเดิม เป็นการจูงใจให้ศรัทธาและดูหายากขึ้น เช่นเดียวกันก็มีข้อสงสัยให้ชวนศึกษาถึงมวลสารและการสร้างพระสมเด็จ

หากเชื่อว่าสมเด็จโตนั้นสร้างพระเครื่อง “พระสมเด็จ” ทุกเวลาที่ครองวัดอยู่ ไฉนเลยจะไม่มีพระสมเด็จของเดิมนั้นอยู่ในที่ต่างๆ อีก จึงเป็นเรื่องน่าสนใจด้วยพบว่า ยังมีพระสมเด็จที่มีมวลสารและพิมพ์พระของเดิมอยู่จํานวนหนึ่งโดยติดไว้ใต้ฐานรูปหล่อที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕-๖ นอกเหนือจากบรรจุไว้ในกรุเจดีย์ต่างๆ

สําหรับศักราชตามความเชื่อถือในปัจจุบันนั้น ในหนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ซึ่งเรียบเรียงโดย พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้สรุปศักราชที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จโตไว้ดังนี้
(คัดจากหนังสือ หน้า ๒๓๖ - ๒๗ ล้อมกรอบ)

                               ประวัติสมเด็จโต

พ.ศ. ๒๓๓๑      ชาตะวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ํา ปีวอก
                          จุลศักราช ๑๑๕๐ วันที่ ๑๗ เมษายน   
                           พ.ศ. ๒๓๓๑

รัชกาลที่ ๑       สามเณร มี พระบวรวิริยเถระ (อยู่)
                          วัดบางลําพู (สังเวชวิศยาราม)
                          เป็นอุปัชฌาย์จารย์  เรียนพระปริยัติธรรม
                          ที่วัดระฆังโฆสิตาราม
                          บวชเป็นพระ พ.ศ. ๒๓๕๐
                          รัชกาลที่ ๑ อุปถัมภ์เป็นนาคหลวง
                          วัดพระแก้ว เรียก มหาโต
                          มีสมเด็จพระสังฆราช (สุก)
                          วัดมหาธาตุเป็นอุปัชฌาย์จารย์

รัชกาลที่ ๒       ไม่รับสมณศักดิ์ ไม่เป็นเปรียญ

รัชกาลที่ ๓        ไม่รับถานานุกรม เรียก มหาโต หรือ ขรัวโต

รัชกาลที่ ๔        พระธรรมกิตติ (๖๕ ปี) ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕
                           พระเทพกวี (๒๕ ปี) พ.ศ. ๒๓๙๗
                           สมเด็จพระพุฒาจารย์ วันพฤหัสบดี
                           เดือน ๑๐ ขึ้น ๔ ค่ํา ปีชวด พ.ศ. ๒๕๐๗
                           มีถานานุกรม ๗ รูป

รัชกาลที่ ๕         มรณภาพ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ อายุ ๘๕ ปี

ข้อมูลจากที่อื่น (จากรอยเขียนบนวัตถุมงคล?)
                            พระครูโต ๒๓๖๙
                            พระครูปริยัติธรรม ๒๓๘๑
                            พระราชปัญญาภรณี ๒๓๙๖
                            พระเทพกวีศรีวิสุทธินายก ๒๓๙๐
                            พระธรรมกิติโสภณ ๒๓๙๕
                            สมเด็จพระพุฒาจารย์ ๒๔๐๗

หมายเหตุ ใช้เป็นข้อมูลศึกษา จึงไม่ยืนยันว่าถูกต้อง

ดังนั้นอัตชีวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จึงต้องอาศัยข้อมูลจากหนังสือที่เรียบเรียงไว้ก่อนแล้วเป็นแนวทางศึกษา และเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบกัน แต่คงสรุปเอาเองไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไร และไม่อาจสรุปให้ชัดเจนได้นอกจากจะเสนอข้อมูลให้เป็นสาธารณะเพื่อการศึกษาเรียนรู้ (คือต้องไม่หวงแหนข้อมูลจนกลายเป็นปัญหาลิขสิทธิ์และปิดกั้นการเรียนรู้ต่อจากความนิสัยใจแคบและเห็นแก่ตัว) เพราะสังคมวันนี้ไม่มีใครที่จะเกิดทันจนรู้เรื่องของสมเด็จโตได้ดีไปกว่าข้อมูลเก่าและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมสมัยที่เสียชีวิตไปแล้ว

การสืบค้นข้อมูลจึงเป็นเรื่องจําเป็นสําหรับการทํางานสารคดีที่ต้องมีการศึกษาแก้ไขอยู่เสมอ เมื่อมีการค้นพบสิ่งใหม่หรือข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถแก้ไขให้เกิดการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้จนเป็นข้อมูลศึกษาเรียนรู้กันมากขึ้น ซึ่งเป็นแบบอย่างของการทํางานสารคดีบนพื้นฐานของผู้มีจิตสาธารณะ ทําให้มีการเผยแพร่และสืบค้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา...ความสําเร็จและการได้มาของข้อมูลทั้งปวงนั้นจึงเป็นงานสาธารณะ เพื่อการศึกษาเรียนรู้เหมือนการได้ข้อมูลจากข่าวหนังสือพิมพ์ จากหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ มาเรียบเรียงใหม่โดยไม่ทําซ้ําตามต้นฉบับเดิม ให้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์การพิมพ์ ดังนั้นจรรยาบรรณของการเขียนสารคดีจึงไม่มีการละเมิดข้อมูลและสาระของข้อเท็จจริง เพราะข้อมูลเก่า ก็อาจจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมความรู้ใหม่ได้เสมอ หากเป็นข้อมูลที่ก่อความเสียหายก็คงสงวนปกปิดไว้เฉพาะไม่เผยแพร่อยู่แล้ว

เพื่อเป็นมารยาทที่อาจล่วงละเมิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงขอนอบน้อมผู้ที่ได้ศึกษาข้อมูลเรื่องสมเด็จโตมาก่อนแล้ว ด้วยการเรียบเรียงใหม่ก็มุ่งหวังอย่างเดียวเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ เช่นเดียวกับครูบาอาจารย์ ที่ถ่ายทอดความรู้ให้ศิษย์และผู้อื่นในชุมชน

เรื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต และธรรมะของสมเด็จโต ตลอดจนข้อความที่สืบเนื่องกันนั้นก็เช่นเดียวกัน คือจําเป็นต้องอาศัยความรู้จากผลงานและผู้ที่ศึกษามาก่อนแล้วเช่นกัน เพื่อช่วยให้การเรียบเรียงนั้นได้ส่งเสริมธรรมปัญญาของสมเด็จโตให้แพร่หลายอย่างถูกต้องในสังคมปัจจุบันสืบไป งานสารคดีนั้นแม้จะไม่เป็นรายได้ขายดีเหมือนการเขียนนวนิยายทั้งหลาย แต่ก็เป็นเรื่องสาระความรู้ที่สร้างให้มีสาระของการเรียนรู้มากกว่าจากข้อเท็จจริง ดังนั้นการรวบรวมข้อมูล เพื่อสร้างความสมบูรณ์และให้สารประโยชน์ต่อการอ่านในชีวิตประจําวันจึงมีความสําคัญไปพร้อมกับการมีธรรมปัญญาให้จิตงดงามตลอดไป

อ่านต่อ>>
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้