สมเด็จโต เป็นนามของพระเถระรูปสําคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ถูกเรียกขานกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ พระเถระรูปนี้มีสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า โต ฉายา พรหมรังสี นับว่าเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
โดยเฉพาะการสร้างประติมากรรมขนาดใหญ่ จนถึงประติมากรรมขนาดเล็กคือ พระเครื่อง ซึ่งรู้จักในชื่อ พระสมเด็จ เป็นวัตถุมงคลขนาดเล็กสําหรับใช้บูชาและพกติดตัว ด้วยคุณวิเศษจากผงพุทธคุณและการสร้างที่เป็นรูปแบบเฉพาะของพระพิมพ์ พร้อมด้วยพิธีปลุกเสกด้วยพระคาถาศักดิ์สิทธิ์ ชื่อ ชินบัญชรคาถา ซึ่งทําให้เป็นสิ่งหายากและมีคุณค่ายิ่ง
ประกอบกับพระคาถาชินบัญชรของสมเด็จโตนั้น ต่อมาได้กลายเป็นพระคาถาที่มีควาศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง พระเถรานุเถระทั้งหลายต่างมีความศรัทธาและประสบผลสําเร็จเป็นอย่างดี จึงได้พากันนิยมใช้พระคาถานี้สําหรับสวดปลุกเสกวัตถุมงคล จนกลายเป็นพระคาถาสําคัญที่การสร้างคุณวิเศษและสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่วัตถุมงคลนั้นขาดไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้
สมเด็จโตกับพระคาถาชินบัญชร จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณวิเศษคู่กัน ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้เลย สมเด็จโต หรือ ขรัวโต พระเถราจารย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์รูปนี้ ถือกําเนิดในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ (บางแห่งว่า พ.ศ. ๒๓๓๑) ในปลายรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นมีอายุได้ ๑๓ ปี สมเด็จโตได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดในเมืองพิจิตร ต่อมาเมื่ออายุครบอุปสมบท ๒๐ ปี จึงได้บวชเป็นนาคหลวงที่วัดตะไกร จ.พิษณุโลก ได้ศึกษาหาความรู้กับพระอาจารย์ต่างๆ จนจบครบถ้วน และได้เดินทางมาศึกษากับพระอาจารย์ที่มีชื่อในกรุงเทพฯ โดยจําพรรษาอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม
พระภิกษุโตนั้นได้เป็นพระพี่เลี้ยงและครูสอนหนังสือขอมรวมทั้งคัมภีร์มูลกัจจายน์ เมื่อครั้งเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๒ ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิราช เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ นั้น พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งครองวัดบวรนิเวศวรวิหารอยู่นั้นได้ลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระภิกษุโตได้มีสมณศักดิ์สูงขึ้นจนได้เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ นับเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่รอบรู้พระธรรมวินัย และธรรมปฏิบัติอย่างแตกฉาน ด้วยมีความเป็นเลิศในการเทศนาสั่งสอนพุทธศาสนิกชน จนได้รับการยกย่องสรรเสริญถึงสติปัญญาและปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม ประกอบกับการที่เป็น พระเถระผู้เปี่ยมด้วยจิตเมตตากรุณาสูงแก่ผู้ตกยาก และมักน้อยถือสันโดษ จึงใกล้ชิดชาวบ้านและมีความนิยมในขรัวโตอย่างแพร่หลาย
สมเด็จโตนั้นนับว่าเป็นอัจฉริยเถระที่ได้รับการเคารพนับถือมากที่สุด ด้วยเป็นพหูสูตผู้รอบรู้ทั้งทางโลกทางธรรม มีความเจนจบทั้งพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ เป็นพระเถระนักเทศน์ที่มีคารมหาตัวจับยากในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสามารถเทศน์ให้หัวเราะ- ร้องไห้ได้ เทศน์ให้คนทําบุญได้ นอกจากนี้ยังเป็นนักโหราศาสตร์ ทํานายดวงชะตาได้แม่นยํานัก แม้แต่หวยก็มักจะออกตรงตามที่ใบ้ให้จนกลายเป็นนักใบ้หวย ที่โด่งดังมาก
ด้วยเหตุที่เป็นพระเถระที่มีอายุยืนยาวอยู่ในรัชกาลถึง ๕ แผ่นดิน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ จึงเป็นที่เคารพนับถือตั้งแต่ พระเจ้าแผ่นดิน (รัชกาลที่ ๓ - ๔) ตลอดจนขุนนาง ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะพระเครื่องที่สมเด็จโตได้สร้างขึ้นเพื่อแจกตอบแทนให้กับญาติโยมโดยไม่มีข้อจํากัด ภายหลังพระสมเด็จนั้นได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หายากและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ทั้งที่ต้นแบบของพระสมเด็จนั้นมาจากสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัด ไก่เถื่อน
"พระสมเด็จ” นั้น เป็นพระเครื่องที่สมเด็จโตสร้างขึ้นเพื่อใช้สืบสานพระศาสนาตามอย่างพระเถระโบราณที่นิยมสร้างพระพิมพ์ขึ้นบรรจุในปูชนียสถาน เป็นการสืบต่ออายุพระศาสนาให้ถาวรตลอดกาล
ดังนั้นสมเด็จโตจึงได้สร้างพระสมเด็จจํานวน ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับจํานวนพระธรรมขันธ์ โดยสมเด็จโตคิดค้นแบบพิมพ์และวิธีการสร้างตามแบบครูบาอาจารย์ และได้ถือปฏิบัติในข้อธุดงควัตรทุกประการ คือ ฉันอาหารในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค์ เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรมอยู่เป็นนิตย์จนวาระสุดท้าย
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันเสาร์ แรม ๒ ค่ํา เดือน ๙ ปีจอ เวลา ๒ ยาม รวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี
อ่านต่อ>>