ธรรมปัญญาสมเด็จโต - ๑๑. ตามรอยตํานาน พระคาถาชินบัญชร

ธรรมปัญญาสมเด็จโต - ๑๑. ตามรอยตํานาน พระคาถาชินบัญชร

ส่วนประวัติของการค้นพบพระคาถาของเก่าจนเป็นพระคาถาชินบัญชรนั้น มีความเล่ากันไว้ว่า

เมื่อครั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้เดินทางไปธุดงค์ตามโบราณสถาน ที่รกร้างในเมืองเก่าต่างๆ นั้น สมเด็จได้ไปที่วัดเก่าแห่งหนึ่งในเมืองกําแพงเพชร ซึ่งมีโบราณสถานสําหรับใช้เป็นสํานักสงฆ์ในสมัยโบราณ (อรัญวาสีสมัยสุโขทัย) ได้พบว่ามีโบราณสถานที่ชํารุด ทรุดโทรมและกรุบรรจุสิ่งของสําหรับบูชาอยู่หลายแห่ง ในกรุนั้นสมเด็จโตได้พบคัมภีร์เก่าแก่ผูกหนึ่งบรรจุอยู่ในเจดีย์ยอดหักองค์หนึ่ง

สมเด็จโตจึงได้นําคัมภีร์ผูกนั้นมาเก็บรักษาไว้ที่กุฏิวัดระฆังโฆสิตารามอยู่เป็นเวลานาน

ต่อมาสมเด็จโตได้มีจิตปรารถนาที่จะสร้างพระเครื่องเพื่อประทานให้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระราชโอรสในรัชกาล ที่ ๔ ประสูติ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖) เพื่อเป็นสิ่งวิเศษอนุสรณ์ คุ้มครองพระองค์ในรัชสมัยที่พระองค์จะได้ทรงครองราชย์แต่ยังทรง พระเยาว์ (พ.ศ. ๒๔๑๑ )

ตอนกลางคืนระหว่างที่สมเด็จโตจําวัดหลับอยู่นั้น เวลาประมาณ ยาม ๓ (๓.๐๐ น.) สมเด็จโตเกิดนิมิตว่าท่านได้ตื่นขึ้นมาและพบเห็นชาย หนุ่มรูปงามมายืนอยู่ที่หัวนอน ในชุดนุ่งขาวห่มขาวมีรูปลักษณ์งดงามหาที่ติมิได้เลย

สมเด็จโตได้มองร่างชายหนุ่มนั้นก็บังเกิดจิตนิมิตรู้ด้วยญาณปัญญาว่า หนุ่มรูปงามผู้นี้ไม่ใช่มนุษย์อย่างแน่แท้ สมเด็จโตจึงได้ถามว่า

“ท่านผู้เจริญ การที่อาตมาได้มีโอกาสเห็นท่านนั้น นับว่าเป็นขวัญตาเหลือเกิน ท่านมาในสถานที่แห่งนี้ด้วยประสงค์สิ่งใดเล่า หรือมีสิ่งใดที่อาตมาปฏิบัติผิดพลาดในหลักพระพุทธศาสนา ขอท่านจงประสาทประทาน การสอนให้อาตมาได้แจ่มแจ้งในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเถิด”

ชายหนุ่มรูปงามได้กล่าวด้วยน้ําเสียงที่กังวานเย็นจับใจว่า

“ท่านขรัวโต วิธีการที่ท่านดําเนินงานอยู่นี้คล้ายกับองค์สมณโคดมดีอยู่แล้ว แต่การที่ท่านคิดจะสร้างพระให้เป็นสิ่งที่ระลึกของมนุษย์นั้น สร้างแล้วสิ่งนั้นจะต้องดี หากท่านขรัวโตเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ จึงควรจะได้ปฏิบัติตามหลักแห่งโลกวิญญาณ คือการตั้งพิธีให้ถูกหลักการของการปลุกเสก”

สมเด็จโตในนิมิตนั้นได้กล่าวต่อไปว่า

"ท่านผู้เจริญ ขรัวโตนี้รับฟังความคิดเห็นของทุกคน หากแม้นท่านโปรดอาตมาแล้ว ก็ขอได้โปรดบอกมาเถิด จะว่ากล่าวตักเตือนอาตมาก็ยอมรับไม่ว่า”

ชายหนุ่มรูปงามในนิมิตผู้มีความสงบจนแลดูเป็นที่เลื่อมใสนั้น ได้แนะนําวิธีการต่างๆ ถึงเรื่องทิศทางว่าทิศใดเป็นทิศมงคล และการวาง เทียน ธูป ดอกไม้ เทียนชัย ให้ตรงตามหลักแห่งโลกวิญญาณอันเป็น พรหมบัญญัติ

ระหว่างนั้นสมเด็จโตได้คุมสติสัมปชัญญะให้รู้ตัวอยู่ทุกขณะจิต ได้ถามหนุ่มรูปงามนั้นว่า “ท่านผู้รูปงามนี้ มีนามว่ากระไร”

ชายหนุ่มรูปงามนั้นได้กล่าวตอบว่า “ตัวฉันนี้เป็นศิษย์แห่งองค์พระโมคคัลลานะ ตัวฉันนั้นสําเร็จเป็นอรหันต์เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ แต่ด้วยต้องทิ้งสังขารเสียก่อนอายุขัย จึงมิได้สู่แดนอรหันต์ ยังคงอยู่ในแดนพรหมโลก ด้วยฉันนั้นไม่อยากติดสตรี ไม่ชอบอิตถีสตรี เพราะได้ทําลายพรหมจรรย์ของฉัน ทําให้ตัวฉันต้องทิ้งสังขารเสียก่อน ทางโลกวิญญาณนั้น ถือว่าได้สิ้นก่อนอายุขัย จึงอยู่เป็นพรหมรูป ถ้าขรัวโตต้องการปรึกษาจากตัวฉันแล้ว ก็จงระลึกถึง (คาถา) ชินนะบัญชะระให้จงได้"

เมื่อนิมิตนั้นหายไป สมเด็จจึงรําลึกถึงพระคัมภีร์โบราณที่นํามาจากกรุเก่าเมืองกําแพงเพชร จึงนํามาศึกษาและเรียบเรียงใหม่ ซึ่งครั้งก่อนเคยเปิดอ่านแล้ว แม้ข้อความจะลบเลือนขาดหายไปบ้างก็เคยสะดุดคําว่า ชินนะปัญชะเรติ ปรากฏอยู่ตอนท้าย จึงได้แต่สงสัยค้างอยู่และลืมนึกไปด้วยมีงานอื่นที่จะต้องคิดต่อ

ดังนั้นสมเด็จโตจึงหยิบพระคัมภีร์นั้นมาศึกษาอีกครั้งโดยละเอียด พร้อมกับค้นหาความที่ขาดหายไป คัมภีร์นั้นเขียนด้วยภาษาสิงหล (มาจาก ลังกาทวีป - อินเดียใต้) มีข้อความได้ความบ้าง มิได้ความบ้าง จับใจความ ได้ว่าเป็นชื่อของอรหันต์ ๘๐ องค์ สมเด็จโตจึงได้ตัดต่อแก้ไขเพิ่มเติม โดยรจนาขึ้นใหม่ให้ง่ายต่อการสวดพระคาถา เป็นพระคาถาที่แปลขึ้นใหม่ ใช้ชื่อ “คาถาชินะบัญจะระ” ตรงกับชื่อ ท้าวมหาพรหมชินนะบัญจะระ ต่อมาพระคาถานี้เรียกกันติดปากว่า ชินบัญชร (แผลง จะ เป็น ชะ ตาม สําเนียงไทย) สมเด็จโตเอาพระคาถาชินบัญชรเป็นการเทิดทูนท้าวมหาพรหมชินนะบัญจะระ เทพผู้แสดงรูปนิมิตช่วยเหลือในพิธีการตลอดมา

ตั้งแต่วันนั้นมาเมื่อสมเด็จโตจะทํางานสิ่งใด จึงน้อมนําพระคาถาชินบัญชรมาระลึกถึงท้าวมหาพรหมชินนะบัญจะระทุกครั้ง ภาพนิมิตของท้าวมหาพรหมรูปนั้นก็ปรากฎร่างในทันที และทําการช่วยเหลือสมเด็จโตให้สามารถประกอบพิธีการต่างๆ ในการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สําหรับบรรจุพระเครื่องและสร้างพระเครื่องจํานวนมาก ทําให้เครื่องรางของขลังในพิธีของสมเด็จโตมีความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น

สมเด็จโตสร้างพระเครื่องและปลุกเสกพระสมเด็จรุ่นสุดท้าย ๘๔,๐๐๐ องค์ เรียกว่า สมเด็จอิทธิเจ โดยใช้พระคาถาชินบัญชรที่แปล พระคาถาจากคัมภีร์ที่พบจากกรุโบราณสถานนั้น

พระคาถาชินบัญชรบทนี้ได้เป็นบทสวดในการนั่งปลุกเสกพระอิทธิเจรุ่นสุดท้าย โดยสมเด็จโตนั่งสวดพระคาถาปลุกเสกพระสมเด็จรุ่นนี้อยู่เพียงรูปเดียว

ก็เห็นจะต้องค้นกันต่อแล้วว่า “พระคาถาชินบัญชร” ซึ่งเป็นพระคาถาที่นักสวดมนต์ไทยนิยมสวดมากที่สุด ประวัติความเป็นมานั้นจะเชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้ แต่เมื่อมีความสําคัญแล้วก็ขอค้นหาข้อมูลมาศึกษากัน คือ มีการสันนิษฐานว่า พระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้นก็คงจะคล้าย พระเถระที่แต่งคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์นั่นแหละ

เชื่อว่าพระคาถานี้เป็นพระคาถาสําคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานอยู่ในพระราชพิธีจักรพรรดิราชาธิราช ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับให้สมบูรณ์ขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม สมัยรัชกาลที่ ๔

ไปๆ มาๆ ก็เกิดว่าพระคาถาสวดแบบชินบัญชรนี้ ยังพบว่ามีการสวดในพม่าและศรีลังกา โดยเฉพาะศรีลังกานั้นเป็นต้นเค้าที่จะถูกนํามาใช้ในสุโขทัย แต่ก็มีอีกความกล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรได้ทรงเขียนคําอธิบายไว้ว่า “คาถาชินบัญชรนี้ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้เคยนํามาขอให้แปลเพื่อพิมพ์ในหนังสือประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมุรสี) ครั้งหนึ่งเมื่อนานปีมาแล้ว

หากเป็นเช่นนี้ก็ต้องหาหลักฐานมาสอบกันว่าเป็นของสมเด็จโตจริงหรือไม่ ด้วยปรากฏว่าพระคาถาชินบัญชรนี้มีหลายความผิดๆ ถูกๆ แตกต่างกัน อีกทั้งยังใช้กันอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพุทธจะเหมาเอาว่าพระคาถาเก่ามาจากที่เดียวกันคือ ภาษาสิงหล เมื่อผ่านไปสําเนียงใดก็ว่าไปตามนั้นก็ได้

แต่พระคาถาชินบัญชรของสมเด็จโตฉบับนี้จะให้เป็นอย่างไร สมเด็จโตได้เรียบเรียงขึ้นเองหรือได้ต้นฉบับมาจากกรุใด ในประวัติก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นพระคัมภีร์เขียนภาษาสิงหลมาจากลังกามากกว่าอินเดียตอนใต้ และตรงความกับฉบับลังกาอยู่ด้วย

เมื่อศึกษาก็เห็นว่าข้อความนี้จะเป็นคําตอบได้คือ"การกําเนิดขึ้นของชินบัญชรคาถามีผลสืบทอดต่อมาจากการสวดปริตต์การสวดเพื่อดับทุกข์เข็ญของประเทศชาติ ประชาชน โดยเริ่มครั้งแรกในสมัยอาณาจักร อนุราธปุระตอนกลาง ตรงกับสมัยพระเจ้าอุปติสสะที่ ๑ (พ.ศ. ๙๐๔ -๙๕๙) ในสมัยนั้นการสวดปริตต์เป็นที่นิยมแพร่หลาย คณะพระเถระได้ แต่งคัมภีร์สําหรับสวดปริตต์ โดยรวบรวมพระสูตรจากพระไตรปิฎกที่ เหมาะสมจะเป็นบทสวดเรียกว่า “จตุภาณวารบาล”

ในยุคอาณาจักรต่อมาการสวดปริตต์เป็นที่นิยมสูงสุด โดยเฉพาะประเพณีสวดพระปริตต์ตลอดคืนจนถึงเช้า ขณะที่เนื้อหาในพระสูตร จํานวน ๒๒ บท ที่กําหนดไว้ในคัมภีร์คงไม่เพียงพอกับเวลาอันยาวนาน จึงเพิ่มพระสูตรขึ้นให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่สวด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “มหาชินปัญชระ” บทสวดว่าด้วยการเชิญพระพุทธเจ้าทั้งปวงและพระมหาสาวกมาประดิษฐานทั่วสรรพางค์กาย นิยมสวดเพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตราย” (จากข้อเขียนของลังกากุมารในศิลปวัฒนธรรม)

มหาชินบัญชร ภาษาสิงหลมาอยู่เมืองเก่ากําแพงเพชรตามประวัติได้อย่างไร จึงต้องค้นต่อความให้กล่าวคือเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ นั้นพญาลิไทได้อุปถัมภ์พุทธศาสนา ได้นิมนต์พระมหาสวามีสังฆราชมาจากนครพัน ซึ่งอยู่ทางพม่าตอนใต้ ซึ่งเป็นพุทธฝ่ายลังกา มาจําพรรษาและบํารุงพุทธศาสนา มีจารึกว่า “มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีไร่มีนา มีถิ่นมีฐาน มีบ้านใหญ่ บ้านเล็ก” ปู่ครู พระมหาเถร หรือพระมหาสวามี ตําแหน่ง พระเถระผู้ใหญ่ในเมือง ใน พ.ศ. ๑๘๙๒ พญาลิไท สร้างหอเทวาลัย มหาเกษตร และพระเจ้าของพราหมณ์ ๓ องค์ พ.ศ. ๑๙๐๐ สร้างพระธาตุที่นครชุมเป็นพระธาตุองค์ใหญ่ และทํานุบํารุงวัดทั้งหลายโดยเฉพาะศูนย์กลางศาสนาที่เมืองกําแพงเพชร ซึ่งเป็นบริเวณอรัญวาสี ซึ่งก่อนนั้นมีพระเถระสําคัญจากลังกาเข้ามาในสุโขทัย - กําแพงเพชรไม่ขาด ดังนั้น คัมภีร์มหาชินบัญชรจึงถูกประดิษฐานในสยามประเทศและนําบรรจุกรุ จนมีการค้นพบตามตํานาน ในที่สุดสมเด็จโตก็ไปพบอยู่ในกรุหรือออกจาก กรุมาให้ไม่รู้จะลองหาว่าน่าจะเป็นเจดีย์ไหน

การสวดคาถาชินบัญชรนั้นนิยมสวดในวันพฤหัสบดี (วันครู) มีดอกไม้ ๓ สี หรือดอกบัว ๙ ดอก หรือดอกมะลิ ๑ กํา จุดธูป ๓, ๔ - ๕ ดอก เทียน ๒ เล่ม โดยธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ตั้งนโม ๓ จบ ต่อด้วยบท พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จากนั้น ก็ตั้งจิตนึกถึงสมเด็จโต...และสวดพระคาถาชินบัญชร

เรื่องกรุโบราณที่สมเด็จโตพบพระคัมภีร์เก่าที่วัดในเมืองกําแพงเพชร อันเป็นต้นฉบับพระคาถาชินบัญชรนั้น จึงเป็นกรณีศึกษาว่าน่าจะพบ ณ โบราณสถานแห่งใด กล่าวคือบริเวณส่วนที่เป็นวัดโบราณในเขตอรัญวาสีของเมืองกําแพงเพชรเก่า ในสมัยก่อนนั้นถือเป็นศูนย์กลางพระพุทธ ศาสนาที่สําคัญแห่งหนึ่งในสมัยสุโขทัย ด้วยมีพระมหาเถระรูปสําคัญและพระสงฆ์จําพรรษาอยู่จํานวนมาก ด้วยมีพระธาตุเจดีย์สําคัญอยู่หลายแห่งที่สร้างแต่ครั้งสุโขทัย หากจะประมาณว่าพระคัมภีร์โบราณภาษาสิงหลนั้นบรรจุไว้ ณ แห่งใดแล้วก็ยากที่จะสรุปได้ มีความอีกตํานานเล่าถึงสถานที่นั้นว่า

เมื่อครั้งสมเด็จโตเดินทางไปกําแพงเพชรเพื่อเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ท่านได้ไปที่วัดเก่าแห่งหนึ่งชื่อ วัดเสด็จ มีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่บนฝั่งแม่น้ําปิง พบคัมภีร์โบราณผูกหนึ่งเป็นภาษาสิงหลฝังอยู่ในเจดีย์นั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็หยิบใส่ย่ามมาและเก็บไว้ที่กุฏิแดง วัดระฆังฯ

ถ้าเป็นตามความนี้ก็ต้องเชื่อไว้ก่อนว่า พระบรมธาตุนี้คือพระธาตุนครชุมองค์เดิมที่สร้างเป็นทรงเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ มี ๓ องค์ ซึ่งชํารุด ทรุดโทรมมาแต่เดิมตั้งแต่สมัยอยุธยา พระบรมธาตุนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ โดยพญาลิไท สร้างสมัยหลังกลุ่มโบราณสถานหรือวัดต่างๆ ในเขตอรัญวาสี คือวัดในอรัญวาสีนั้นสร้างในสมัยพ่อขุนรามคําแหง มีเจดีย์ทรงลังกาและมณฑปพระพุทธรูปทําด้วยแลง ไม่มีเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์สมัยพญาลิไท

นอกจากพระบรมธาตุที่นครชุมซึ่งยอดหักจนใช้การไม่ได้ พญาตระก่า ได้ขอพระราชานุญาตสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ โดยบูรณะใหม่ด้วยการรวมเจดีย์ ๓ องค์นั้นสร้างเป็นเจดีย์แบบพม่าอย่างปัจจุบัน

ด้วยเหตุเดิมนั้นพระบรมธาตุเจดีย์ ๓ องค์สร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา พระรัตนตรัย ดังนั้นการบรรจุสิ่งของในพระบรมธาตุจึงมีความแตกต่างกัน คือ พระบรมสารีริกธาตุ หมายถึง พระพุทธเจ้า พระคัมภีร์โบราณ และ ตําราธรรมต่างๆ หมายถึงพระธรรม และเครื่องพุทธบูชาอัฐบริขารสําคัญ ของพระเถระที่นับถือ หากเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มาจากลังกา หมายถึง พระสงฆ์

ดังนั้นจึงเข้าเค้าว่า พระมหาชินนะบัญชระนั้น สมเด็จโตคงได้ไปจากพระบรมธาตุที่แห่งนี้

เรื่องพระบรมธาตุหรือเจดีย์พระธาตุนั้นต้องขอทําความเข้าใจให้ทราบเสียก่อนว่า พระธาตุ หมายถึง อัฐิ (กระดูกที่เผาแล้ว) ของ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ถ้าเป็นอัฐิของ พระพุทธเจ้า เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมธาตุ ถ้าเป็นอัฐิพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเรียกรวมๆ ว่า พระธาตุ

ในเมืองไทยนิยมอัญเชิญพระธาตุบรรจุไว้ในเจดีย์หรือพระปรางค์ จึงเรียกรวมไปถึงพระสถูป หรือพระปรางค์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระธาตุไว้ภายในด้วย ซึ่งเรียกว่า ธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธเจดีย์ ทั้งสี่ ซึ่งได้แก่

พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุอินเดียเรียกเจดีย์ประเภทนี้ว่า สรีริกสถูป พระธาตุเจดีย์ รวมถึงเจดีย์ที่บรรจุธาตุของพระอรหันตสาวกด้วย ถ้าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะก็จะเรียกว่า พระมหาธาตุ พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ ถ้าเรียกพระธาตุส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะก็จะเรียกชื่อตามนั้น เช่น

• พระทันตธาตุ หรือพระทาฒธาตุ (ฟัน หรือเขี้ยวของพระพทุธเจ้า)

• พระเกศธาตุ (เส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้า)

• พระอุรังคธาตุ (พระธาตุส่วนที่เป็นกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า

บริโภคเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุของใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า ได้แก่ อัฐบริขาร มีบาตรและจีวร เป็นต้น นอกจากนั้นยังรวมไปถึงสถานที่อันเป็นสังเวชนียสถานทั้งสี่ คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน) ตรัสรู้ (พุทธคยา) แสดงปฐมเทศนา (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน) และ ปรินิพพาน (เมืองกุสินารา) รวมพระแท่นที่บรรทมตอนปรินิพพาน อินเดีย เรียกเจดีย์ประเภทนี้ว่า บริโภคสถูป

พระธรรมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุ หรือจารึกพระธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เช่น หอพระไตรปิฎก และส่วนที่เป็นพระไตรปิฎกเอง ไม่ว่าจะจารึกในรูปแบบใด เดิมได้เลือกเอาหัวใจพุทธศาสนา จารึกเป็นตัวอักษรประดิษฐานไว้สําหรับบูชา มีความว่า

“เย ธมฺมา เหตุปปุภวา เตส เหตุ ตถาคโต เตสญจ โย นีโรโธ จ เอวัง วาที มหาสมโณ”

อุทเทสิกเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่ทําเป็นพุทธบัลลังก์ พระแท่นพระพุทธเจ้า รวมถึงพระพุทธฉายด้วย อินเดียเรียกเจดีย์ประเภทนี้ว่า อุทเทสิกสถูป สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา

รวมความได้ว่า พระเจดีย์เป็นที่ทํา หรือบรรจุสิ่งที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า อันเป็นสิ่งที่ควรแก่การสักการะบูชา

สําหรับพระธาตุเจดีย์สําคัญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้น มีเจดีย์วัดช้างล้อม ซึ่งมีฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่มีบันไดขึ้น ๔ ด้าน รอบฐานนั้นล้อม รอบด้วยช้างปั้นบนฐานนั้นสร้างเจดีย์ตั้งอยู่และยอดหักจนเห็นโพรงภายใน นอกนั้นมีมณฑปพระสี่อิริยาบถ และเจดีย์ทรงลังกาหลังวิหารพระนอนก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นกรุโบราณให้พบพระคัมภีร์ได้ และโบราณสถานขนาดใหญ่คือวัดเจ้าอาวาสใหญ่ ก็ถือเป็นวัดสําคัญที่มีพระสงฆ์ จําพรรษาอยู่จํานวนมากกว่าวัดอื่น ส่วนจะใช้บรรจุพระคัมภีร์โบราณ หรือไม่นั้นก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ด้วยมีบ่อขุดขนาดใหญ่และสร้างกุฎีมากมาย และมีมณฑปอยู่ก็ใช่จะเป็นกรุโบราณได้

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพระคาถาบทใดที่นําไปจากพระคัมภีร์โบราณ เช่นพระคาถาพระไตรปิฏกจากเมืองศรีสัชนาลัย หรือพระคาถาชินบัญชร จากเมืองกําแพงเพชร และพระคาถาอื่นๆ เมื่อได้นําไปสวดมนต์บูชา เวียนเทียนรอบโบราณสถานในวัดสําคัญของเมืองเก่านั้น จึงย่อมเกิดความมหัศจรรย์และเป็นคุณแก่ผู้ได้กราบไหว้บูชา เนื่องจากโบราณสถาน ที่ถูกทิ้งร้างมานานนับร้อยปีพันปีนั้นไม่ได้รับการสวดมนต์เวียนเทียนมา ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ - ๗๐๐ ปีแล้ว

พระคัมภีร์โบราณ เช่น พระคาถาชินบัญชร พระคาถาพระไตรปิฎก ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ได้อัญเชิญจากเมืองเก่าในอดีตจึงมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ตลอดกาล

ภาพการเวียนเทียนสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโบราณสถาน ย่อมเกิดสิ่งมหัศจรรย์และบันดาลให้ผู้สักการะได้รับรู้ต่อการคุ้มครองป้องภัย อันตรายได้เสมอ ดังภาพตัวอย่างซึ่งถ่ายโดย พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ในวันแรกเมื่อคราวนํานักท่องเที่ยวตามรอยเสด็จประพาสต้นซึ่งสํานักงาน ท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัยและอุทยานแห่งชาติกําแพงเพชร กรมศิลปากร ได้จัดให้มีพิธีสักการบูชารอบพระสี่อิริยาบถ ที่เมืองกําแพงเพชร

อ่านต่อ>>

** หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ชุดนี้ เขียนโดย อ. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เว็ปไซต์นี้จัดทำเพื่อการศึกษา ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้