ธรรมปัญญาจากขรัวโต (๘.๑)

ธรรมปัญญาจากขรัวโต (๘.๑)

ธรรมปัญญาจากขรัวโตเข็นเรือ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระเถระที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รอบรู้พระปริยัติธรรม และแตกฉานในพระไตรปิฎก ทั้งๆ ที่ไม่ได้สอบเปรียญ ๙ ขณะเดียวกันสมเด็จโตยังมีความเชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระจนเลื่องลือกันว่า เป็นพระเถระที่มีคุณวิเศษทางวิทยาคมจึงทําให้สมเด็จโตถูกกล่าวถึงในเรื่องอภินิหาร

เรื่องอภินิหารนั้นถือว่ายังเป็นเรื่องของโลกิยะ และสูงขึ้นไปก็เป็นโลกุตระ ที่หมายถึงการอยู่เหนือโลก ซึ่งโลกธรรมทั้งหลายนั้นไม่อาจฉาบย้อมได้

ด้วยธรรมปัญญาธิคุณนั้น ทําให้สมเด็จโตได้เพียรบําเพ็ญและแสดงให้เห็นตลอดชีวิตว่า สามารถสละโลกียะได้แน่นอน ดังปรากฏว่า การไม่ใส่ใจกับสมณศักดิ์พัดยศ ซึ่งสมเด็จโตเห็นเป็นแค่ “หัวโขน เท่านั้น

ดังมีเรื่องเล่ามาว่า พระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์อย่างสมเด็จโตนั้น ย่อมมีศิษย์วัดที่จะช่วยแจวเรือให้ในเวลาเดินทาง แต่เนื่องจากสมเด็จโตชอบประพฤติตนอย่างพระอนุจร (พระลูกวัด) ดังนั้นเมื่อใดที่สมเด็จโตเห็นศิษย์แจวเรือเหนื่อยเมื่อยล้า สมเด็จโตก็มักจะให้หยุดนั่งพักเสีย แล้วท่านก็แจวเรือนั้นแทน

ครั้งหนึ่งสมเด็จโตรับนิมนต์ไปงานที่จังหวัดนนทบุรี ขากลับเจ้าภาพได้ให้บ่าว ๒ คนผัวเมียแจวเรือมาส่ง ระหว่างทางผัวเมียคู่นี้เกิดทะเลาะกันอย่างรุนแรง สมเด็จโตเห็นเช่นนั้นจึงขอให้คนทั้งสองเลิกวิวาทกัน และให้เข้ามานั่งพักอยู่ในประทุนเรือแล้วสมเด็จโตก็ถกจีวรแจวเรื มาเองจนถึงวัดระฆังโฆสิตาราม เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็นเรื่องปกติสําหรับขรัวโต

แต่เรื่องที่เล่าขานกันมากก็เหตุการณ์ที่สมเด็จโตเดินทางไปสวดมนต์ที่สวนแห่งหนึ่งในเขตราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรี สวนแห่งนี้ต้องพายเรือเข้าคลองเล็ก ครั้งนั้นสมเด็จโตเดินทางด้วยเรือสําปั้นกับศิษย์ โดยเอาพัดยศไปด้วย

บังเอิญเวลานั้นน้ําในคลองแห้งเรือจึงเข้าคลองไม่ได้ สมเด็จโตจึงลงเข็นเรือกับศิษย์ ชาวบ้านเห็นก็ร้องบอกกันว่า “ดูสมเด็จ เข็นเรือ”

สมเด็จโตได้ยินก็ร้องตอบไปว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จดอกจ้ะ ฉันชื่อ ขรัวโตจ้ะ สมเด็จท่านอยู่ในเรือจ้า” ว่าแล้วสมเด็จโตก็ชี้มือไปที่พัดยศ ซึ่งวางนอนอยู่ในเรือ”

สักพักหนึ่งชาวบ้านก็พากันลงมาช่วยสมเด็จโตเข็นเรือเข้าไปในคลองจนสามารถแจวเรือไปถึงบ้านงาน

ธรรมปัญญาเรื่องนี้สอนให้เห็นตัวตนที่แท้จริง ไม่ติดยึดตัวกูของกู เห็นยศศักดิ์นั้นเป็นเพียงหัวโขน ซึ่งเมื่อถอดหัวโขนวางลงเมื่อใดก็ทําอะไรไม่ได้ ดังนั้นการไม่ยึดติดกับสมณศักดิ์นั้น ได้ทําให้สามารถผ่านพ้นอุปสรรคได้ง่าย เช่นเดียวกับขรัวโตลงเข็นเรือให้ผ่านคลอง

 
ธรรมปัญญาจากการเรียนรู้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้รับการนับถือว่าเป็นพระเถระที่รอบรู้และเชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก แม้สมเด็จโตจะไม่เคยเข้าสอบแปลหนังสือเป็นเปรียญ ชาวบ้านก็พากันเรียกมหาโตมาตั้งแต่บวช

แม้ว่าสมเด็จโตจะเคยเข้าไปในสํานักเรียนวัดมหาธาตุสมัยที่ยังเป็นพระหนุ่ม แต่ก็มีคํายืนยันจาก สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุว่า

“ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก”

สมเด็จโตนั้นมิใช่พระเถระที่แม่นยําในตัวหนังสือหรือเคร่งคัมภีร์ หากแต่สมเด็จโตนั้นได้น้อมนําธรรมะนั้นมาเรียนรู้ด้วยตนเองจนเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างธรรมปัญญาให้เกิดในตัวของท่านได้

ดังนั้นชีวิตของสมเด็จโตจึงอุดมไปด้วยจิตที่มีความโปร่งเบาและเป็นอิสระโดยไม่ติดกับกฎระเบียบประเพณี อีกทั้งไม่ถือเอาความนิยมของผู้อื่นเป็นใหญ่ด้วย


ธรรมปัญญาจากพระในวัด


ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ พระสงฆ์สามเณรในวัดระฆังโฆสิตาราม มักโต้เถียงกันถึงขั้นด่าท้าทายกัน เป็นเหตุการณ์ที่พระเณรประพฤติล่วงพระวินัยบ่อย สมเด็จโตฯ ไม่กล่าวห้ามปรามหรือลงโทษทัณฑ์แต่อย่างไร

วันหนึ่งพระสงฆ์สองรูปเกิดทะเลาะกัน ทุ่มเถียงกันอยู่ที่หน้าวัด ส่งเสียงเถียงกันดังลั่นไปหมด เถียงกันไปเถียงกันมาก็กลายเป็นท้าชกเมื่อฝ่ายหนึ่งถูกท้าต่อยตี เช่นนั้นก็บอก

“พ่อไม่กลัว...พ่อก็ไม่กลัว”

เหตุการณ์ทําท่าจะเกิดพระชกต่อยกัน สมเด็จโตขณะนั้นเป็นพระเทพกวีได้คอยดูเหตุการณ์อยู่ก็เดินเข้าไปในกุฏิ จัดดอกไม้ธูปเทียน ใส่พาน แล้วเดินเข้าไปในระหว่างพระคู่วิวาทนั้นแล้วลงนั่งประนมมือเอาดอกไม้ธูปเทียนส่งให้พระทั้งคู่ พร้อมกับกล่าวว่า

“พ่อเจ้าพระคุณ พ่อจงคุ้มฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่าพ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้แท้ พ่อเจ้าประคุณ ฝากตัวด้วย นึกว่าเอ็นดูฉันเถิดนะจ๊ะ พ่อเจ้าพระคุณ”

การกระทําเช่นนั้นเป็นผลให้พระสงฆ์ในวัดทั้งสองรูปหยุดทะเลาะวิวาทกัน แล้วหันมาคุกเข่ากราบสมเด็จโต สมเด็จโตก็รับไหว้ตอบ พระสงฆ์ทั้งสองรูปนั้นได้หมอบกราบและหมอบกันอยู่นาน แล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับกุฏิ ต่อมาเกิดความละอายและเสียใจมากจึงได้เข้าไปกราบให้ปฏิญาณกับสมเด็จโตว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีกต่อไป

ต่อจากนั้นมาพระสงฆ์ในวัดระฆังโฆสิตารามไม่กล้าที่จะทะเลาะวิวาทกันอีกเลย

ครั้งหนึ่งสมเด็จโตมีกิจธุระจึงพร้อมด้วยนายเทศ ขณะที่เดินผ่าน หลังโบสถ์วัดระฆังโฆสิตารามนั้น ได้พบว่ามีพระกลุ่มหนึ่งกําลังเตะตะกร้อกันอยู่

สมเด็จโตจึงเอาพัดด้ามจิ๋วคลี่ออก แล้วยกขึ้นบังหน้า ทําเป็นที่ว่าไม่เห็น นายเทศถามว่า “ทําไมท่านจึงไม่ห้าม”

“ถึงเวลาเลิก เขาเลิกกันเองแหละ ถ้าไม่ถึงเวลาเลิก แม้เราจะห้าม เขาก็ไม่เลิก” สมเด็จโตพูดแล้วยกพัดบังเดินไปยังกุฎิ

ต่อมาพระกลุ่มที่เคยเตะตะกร้อนั้นได้เล่นกันอีก คราวนี้สมเด็จโตได้ให้ไปตามพระกลุ่มนั้นมาแล้วให้ฉันน้ําร้อนน้ําชาผสมน้ําตาลทราย แล้วสมเด็จโตได้ถามเป็นทํานองอยากรู้ว่า

“เตะตะกร้อนี้ ต้องฝึกหัดกันนานไหมเล่าจ๊ะ”

“เตะลูกข้าง ลูกหลัง อันไหน เตะยากกว่ากัน”

พระนักเตะตะกร้อเข้าใจถึงเจตนาของสมเด็จโตว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นกิจของสงฆ์ที่จะต้องกระทํา ก็เกิดความละอายจึงพากันเลิกไม่เตะตะกร้อกันแต่นั้นมา

สมเด็จโตนั้นมีสิ่งที่รู้สึกอึดอัดใจทุกครั้งคือ ไม่ว่าท่านจะทํากิจการใดๆ ในวัดระฆังโฆสิตารามแล้ว เมื่อปรึกษาหารือกับภิกษุในวัดก็มักจะได้รับคําตอบว่า สิ่งที่สมเด็จโตทํานั้นสมควรแล้วดีแล้วทุกครั้งไปโดยไม่เสนอความคิดเห็นร่วมกันให้งานเป็นไปด้วยดี

วันหนึ่งมีญาติโยมนําแกงร้อนวุ้นเส้นชามใหญ่มาถวายสมเด็จโต ท่านจึงสั่งให้ศิษย์วัดนั้นยกไปเอากระทะใบบัวขนาดใหญ่มาตั้งแล้วใส่น้ําจนเต็มกระทะ เมื่อต้มน้ําในกระทะจนเดือดพล่าน ก็ให้นําแกงร้อนชามนั้นเทลงในกระทะ

แล้วให้ศิษย์วัดไปเก็บผักบุ้งในคลองข้างวัดมาล้างทําความสะอาด แล้วหั่นใส่ลงไปในแกงร้อนนั้น แล้วนําอาหารอีกหลายอย่างที่มีผู้นํามาถวายเทใส่รวมลงไปจนหมด ซึ่งแลดูแล้วไม่น่าจะฉันได้เลยแม้แต่น้อย

เมื่อปรุงเสร็จแล้วก็ให้ศิษย์วัดตีกลองเป็นสัญญาณให้ภิกษุ สามเณรต่างๆ นําปิ่นโต ถ้วยชามมาแบ่งอาหาร โดยท่านกําชับให้บอกภิกษุสามเณรทุกรูปว่าเป็นแกงร้อนที่ท่านปรุงเอง ภิกษุทั้งวัดระฆังจึงได้ฉันแกงร้อนฝีมือสมเด็จโตในเพลวันนั้นอย่างทั่วถึง

ครั้นตกเวลาเย็น ภิกษุทุกรูปลงโบสถ์เพื่อร่วมทําวัตรค่ำพร้อมกัน สมเด็จโตไปยืนอยู่ตรงหน้าประตูโบสถ์ คอยถามภิกษุทุกรูปที่เดินผ่านเข้าไปในโบสถ์ว่า

“แกงร้อนของฉันเมื่อตอนเพลเป็นอย่างไรบ้าง”

ปรากฏว่าภิกษุทุกรูปตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อยดีมาก”

สมเด็จโตถามภิกษุทุกรูปเรื่อยมาจนกระทั่งถึงภิกษุชรารูปหนึ่ง ซึ่งบวชจําพรรษาอยู่วัดระฆังโฆสิตารามมานานหลายสิบพรรษาเดินผ่านมา สมเด็จฯ จึงถามเหมือนเดิมว่า

“ขรัวตา แกงร้อนของฉันเมื่อตอนเพลเป็นอย่างไรบ้าง ฉันลงมือทําเองที่เดียวนะ”

ขรัวตาหยุดชะงักนิดหนึ่งแล้วตอบว่า

“ไม่ไหวขอรับ พระเดชพระคุณท่าน กระผมเทให้หมา มันยังไม่กินเลย”

สมเด็จโตยิ้มด้วยความพอใจ แล้วประนมมือไหว้ขรัวตารูปนั้นแล้วว่า

“สาธุ สาธุ ขรัวตานี่แหละ ศีลบริสุทธิ์โดยแท้ ควรแก่การเคารพ สาธุ”

ธรรมปัญญาที่สมเด็จโตได้ทําขึ้นครั้งนี้เพื่อจะค้นหาความจริงใจในการแสดงความเห็นที่บริสุทธิ์ เนื่องจากพระทุกรูปมักมีความเห็นดีไปเสียทุกครั้ง จึงไม่มีความเห็นอื่นที่ทําให้เกิดสิ่งดีขึ้นในวัด เป็นการค้นหาศีลบริสุทธิ์ ปรากฏว่าพระชรารูปนั้นได้เป็นพระเถระที่สมเด็จโตคบหาเป็นกัลยาณมิตรด้วย

ธรรมปัญญาจากการให้

สมเด็จโตนั้นขึ้นชื่อในเรื่องไม่ถือตัวหรือติดในยศศักดิ์แล้วยังไม่ยึดติดในทรัพย์นอกกายด้วย จากความมักน้อยถือสันโดษนั้น ทําให้ลาภสักการะใดๆ ที่ได้มาจากการเทศน์หรือกิจนิมนต์นั้นไม่ได้ถูกเก็บสะสมไว้ สมเด็จโตมักนําไปสร้างปูชนียวัตถุ เช่น พระพุทธรูป และอื่นๆ อยู่เสมอ แม้ใครขอก็ยินดีบริจาคให้โดยง่าย แม้กระทั่งมีโจรเข้าวัดมาลัก ขโมยสิ่งของ สมเด็จก็ยังช่วยให้ความสะดวกแก่โจร ด้วยมีธรรมปัญญา มุ่งการให้เป็นหลัก ซึ่งมีเรื่องเล่าขานต่อๆ กันมา ดังนี้

ครั้งหนึ่งในขณะที่สมเด็จโตกําลังนอนจําวัดอยู่ในกุฏินั้น ได้มีโจรขึ้นมาขโมยสิ่งของโดยหมายจะหยิบตะเกียงลานในกุฏิ แต่บังเอิญหยิบไม่ถึง สมเด็จโตตื่นลืมตาพบเหตุเข้า จึงช่วยเอาไม้เขียสิ่งของนั้นให้โจร พร้อมกับบอกให้โจรรีบหนีไปเสีย

อีกความมีเรื่องเล่าว่าขณะที่สมเด็จโตจําวัดอยู่ในกุฏิของท่านที่วัดระฆังโฆสิตารามนั้น ได้มีขโมยเจาะพื้นกุฏิเพื่อจะล้วงเอาสิ่งของที่วางเกลื่อนอยู่ในกุฏิ แต่ขโมยนั้นเอามือล้วงไม่ถึงสิ่งของ สมเด็จโตเห็นเข้าก็ช่วยเอาไม้เขียสิ่งของนั้นให้เข้าไปใกล้มือของขโมย

ธรรมปัญญาสมเด็จโต

ครั้งหนึ่งมีขโมยเข้ามาเป็นเรือพายที่อยู่ใต้ถุนกุฏิ สมเด็จโตได้ยินเสียงจึงเปิดหน้าต่างออกไป เมื่อเห็นว่ามีคนกําลังเป็นเรืออยู่ จึงสอนขโมยนั้นว่า

“เข็นเบาๆ หน่อยจ้ะ ถ้าดังไปพระท่านได้ยินเข้าท่านจะตีเอา เจ็บเปล่าจ๊ะ เข็นเรือบนที่แห้งนั้น เขาต้องเอาหมอนรองให้ข้างท้ายเรือโด่งก่อนจะถึงจะกลิ้งสะดวกดี เรือก็ไม่ช้ำไม่รั่วนะจ๊ะ”

ขโมยที่กําลังเป็นเรือจึงรู้สึกเกรงใจจึงเลิกไม่ลักเรือนั้นไป

อีกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า สมเด็จโตไปเทศน์ต่างจังหวัดโดยเดินทางไปทางเรือ ได้เครื่องกัณฑ์เทศน์ มีเสื่อ หมอน และสิ่งของหลายอย่าง ขากลับนั้นสมเด็จโตต้องเดินทางพักแรมระหว่างทาง คืนนั้นได้มีโจรพายเรือเข้ามาเทียบกับเรือของสมเด็จโต

ขณะที่โจรล้วงหยิบเอาเสื่ออยู่นั้น สมเด็จโตได้ตื่นขึ้นมาเห็นจึงร้องบอกว่า “เอาหมอนไปด้วยซิจ๊ะ" โจรได้ยินดังนั้นก็ตกใจกลัว รีบพายเรือหนีไป สมเด็จโตจึงเอาหมอนนั้นโยนไปทางโจร โจรเห็นว่าท่านยินดีให้จึงพายเรือกลับมาเก็บเอาหมอนนั้นไปด้วย

บางครั้งลูกศิษย์ของสมเด็จโตก็กลับมาก่อเรื่องเสียเอง กล่าวคือ เมื่อครั้งสมเด็จโตกลับจากการเทศน์พร้อมกับเครื่องกัณฑ์เทศน์มากมายนั้น ได้มีศิษย์ ๒ คนพายเรือหัวท้ายได้ตั้งหน้าตั้งตาแบ่งเครื่องกัณฑ์กัน แต่ตกลงกันไม่ได้ คนหนึ่งว่ากองนี้ของข้า อีกคนก็ว่ากองนั้นเป็นของข้า

สมเด็จโตจึงร้องถามว่า “ของฉันกองไหนเล่าจ๊ะ”

เมื่อพายเรือกลับถึงวัดระฆังโฆสิตารามแล้ว ศิษย์ทั้งสองคนต่างก็ขนเอาเครื่องกัณฑ์เทศน์ไปจนหมด สมเด็จโตมิได้ว่ากล่าวแต่อย่างใด

ธรรมปัญญาในข้อไม่ยึดติดสิ่งของนอกกาย จึงสามารถสละได้ ทุกสิ่งอย่างง่ายดาย สมเด็จโตจึงเป็นพระเถระที่มีความเสียสละเป็นทานมากที่สุด

ธรรมปัญญาจากเหตุอัศจรรย์

สําหรับเรื่องความแปลกมหัศจรรย์นั้นมีเกิดขึ้นกับสมเด็จโตองหลายครั้ง มีความเล่ากันหลายเรื่อง เช่น

เรื่องที่ ๑

สมเด็จโตแจวเรือจากวัดกุฏิมุ่งหน้าไปทําภารกิจ โดยแจวเรือผ่านไปตามคลองนั้น ชาวบ้านเมื่อเห็นขรัวโตเข้าก็พากันพูดขอหวยจากสมเด็จโตต่างๆ นานา จนเป็นที่รู้กิตติศัพท์ว่า ท่านให้หวยแม่น ด้วยความที่สมเด็จสงสารคนจนนั้น เมื่อเวลาไปเทศนาธรรมที่ใด สมเด็จโตได้เงินกัณฑ์เทศน์มาก็จะนํามาแจกให้ชาวบ้านและเด็กจนๆ แม้แต่สตางค์แดงเดียวก็มิเอากลับวัด

ตอนขากลับวัด สมเด็จโตก็ซื้อหม้อขนมาเต็มลําด้วยเจตนารมณ์ จะบอกใบ้ให้ชาวบ้านจนๆ ตีปริศนาไปแทงกัน เพราะรู้ว่าหวยจะต้องออก “ม” มอม้า วันนี้จึงซื้อหม้อมาเต็มลําเรือ

บังเอิญชาวบ้านที่สมเด็จโตแจวเรือนั้น พายผ่านมาตามริมคลอง ชาวบ้านแลเห็นเข้าต่างก็ตะโกนพูดว่า “ท่านขรัวโตเป็นอะไร ทําไมถึงซื้อหม้อมาเสียเยอะแยะนะ” แต่ก็มีชาวบ้านที่ฉลาดตีความได้ถูก

วันนั้นพอเห็นสมเด็จโตซื้อหม้อเยอะแยะก็รู้ว่าหวยออก ม. มอม้า จึงรีบไปแทงครั้นพอหวยประกาศออกมาปรากฏว่า ตัวหวยออก ม.มอม้า

การใบ้หวยของสมเด็จโตนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่วจนมีคนมาคอยเฝ้าดูสมเด็จโตอยู่ประจํา

เรื่องที่ ๒

สมเด็จโตได้ไปในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในรัชกาล ที่ ๔ ที่พระนครคีรี เมืองเพชรบุรี พร้อมกับบรรจุพระบรมธาตุในพระเจดีย์ศิลา เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ ตอนขากลับสมเด็จโตได้ออกเรือจากปากอ่าวบ้านแหลมจะข้ามมาทะเลมาอ่าวแม่กลอง เวลานั้นได้เกิดคลื่นลมจัดมาก ชาวบ้านห้ามสมเด็จโตท่านก็ไม่ฟัง แล้วสมเด็จโตจึงออกมายืนที่หน้าเก๋งเรือโบกมือไปมาไม่ช้านักคลื่นลมที่เกิดขึ้นก็สงบราบคาบ

เรื่องที่ ๓ 

งานก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดระฆังโฆสิตาราม วันนั้นเกิดมีเมฆฝนตั้งมืดครื้ม คนทั้งหลายเกรงฝนตก จึงไปกราบเรียนปรารภกับสมเด็จโต สมเด็จโตกล่าวพร้อมกับโบกมือว่า “ตกที่อื่นๆ” เป็นที่ว่าน่าประหลาด ในวันนั้นปรากฏว่าฝนไปตกที่อื่นหาได้ตกที่ในตําบลศิริราชพยาบาลไม่

เรื่องที่ ๔

มีญาติโยมนิมนต์สมเด็จโตไปในงานพิธีโกนจุกที่จังหวัดอ่างทอง สมเด็จโตเริ่มออกเดินทางไปก่อนถึงกําหนดเวลาเพียง ๓ ชั่วโมง (ขณะนั้น การเดินทางทางเรือซึ่งต้องใช้เวลามากเป็นวันๆ) มีผู้สงสัยว่า สมเด็จโตนั้นจะไปทันเวลากําหนดได้อย่างไร ถึงกับได้สอบถามไปยังเจ้าภาพในภายหลัง ก็ได้รับคําตอบว่าสมเด็จโตไปทันเวลาตามฎีกาทุกประการ

เรื่องที่ ๕

สมเด็จโตแจวเรือเดินทางไปในกิจนิมนต์ทางแขวงจังหวัดนนทบุรี ตอนขากลับได้แจวมาถึงปากคลองสามเสน ลูกศิษย์คนหนึ่งได้เอากะโหลก (กะลาใหญ่) ออกไปตักน้ํา บังเอิญเกิดกะโหลกหลุดมือด้วยเหตุใดไม่ปรากฎ กะโหลกน้ํานั้นพลัดจากมือจมลงไปในแม่น้ํา

สมเด็จโตพูดว่า “งมที่นี้ไม่ได้เพราะน้ําลึก ต้องไปงมที่หน้าวัดระฆังจึงจะได้" เมื่อถึงวัดระฆังโฆสิตาราม สมเด็จโตจึงให้ลูกศิษย์นั้นลงไปงมที่ท่าหน้าวัด แล้วก็ได้กะโหลกจริงดังที่สมเด็จโตบอก


เรื่องที่ ๖ 

มีคนชอบไปขอหวยกับสมเด็จโตเป็นประจํา มีครั้งหนึ่งได้มีหญิงคนหนึ่งมาขอหวยสมเด็จโตโดยใช้วิธีแอบมานัดกับเด็กวัดซึ่งแนะน่าให้ขึ้นไปทําที่นวดให้สมเด็จโตบนกุฏิ จากนั้นเด็กวัดชวนให้พูดพร้อมกับบีบนวดด้วย

เด็กวัดถามสมเด็จโตว่า “ขรัวตา ขรัวตา หวยงวดนี้มันจะออกอะไร หรือขอรับ”

สมเด็จโตได้ยินดังนั้น ก็ตอบว่า “ข้าตอบไม่ได้โว้ย เดี๋ยวหวยของ ข้าจะลอดร่อง”

บังเอิญหญิงคนนี้แอบอยู่ใต้ถุนได้ยินสมเด็จโตพูดอย่างนั้น จึงรีบหลบออกไปไม่กลับมา
เกรงการล่วงรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 
เรื่องที่ ๗

มีความกล่าวกันว่า สมเด็จโตนั้นไม่มีเงินติดตัวด้วยท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยมักน้อยไม่เก็บสะสม แต่น่าประหลาดที่สมเด็จโตสามารถสร้างปูชนียวัตถุสถานใหญ่โตให้สําเร็จหลายแห่งได้ แม้ว่าจะมีบางแห่งสร้างทิ้งค้างไว้ เช่น พระโตวัดอินทรวิหาร ก็มีนัยว่าท่านประสงค์จะให้ผู้อื่นได้สร้างต่อบ้าง แต่การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั้นมีผู้พยายามสังเกตนักหนาแล้วแต่ก็ไม่ทราบว่าสมเด็จโตเอาเงินมาจากไหน

พระเทพราชแสนยาเล่าว่า คราวหนึ่ง จีนช่างปูนไปขอเงินค่าจ้างก่อสร้างจากสมเด็จโต ๑ ชั่ง (๔๐ บาท) สมเด็จโตได้บอกให้หลวงวิชิต รณชัย หลานชาย ไปเอาเงินใต้ที่นอนของท่าน หลวงวิชิตฯ ไปแล้วกลับมากราบเรียนว่า ได้ไปค้นหาดูทั่วแล้วไม่เห็นมีเงินอยู่เลยท่านสมเด็จโตจึงสั่งให้ไปค้นหาใหม่ ก็ได้เงิน ๑ ชั่ง เรื่องนี้หลวงวิชิต วิชิตรณชัยเล่าว่า น่าประหลาดนักหนา

เรื่องที่ ๘

สมเด็จโตได้ทําไว้ที่วัดระฆัง คือสระน้ํามนต์ ซึ่งเล่ากันว่าสมเด็จโต ได้ปลุกเสกลงเลขยันต์ศิลา ๓ ก้อน ก้อนหนึ่งเอาไปไว้ที่ในสระหลังวัด สระนี้ตื้นเขินไปแล้ว ก้อนหนึ่งเอาไว้ในสระกลางน้ําสระนี้ยังอยู่ อีกก้อนหนึ่งเอาไว้ในแม่น้ําตรงหน้าวัด (ห่างจากเขื่อนราว ๒ วา ประมาณว่าอยู่ ตรงกลางโป๊ะท่าเรือ โดยบอกว่า น้ําในที่ทั้งสามแห่งนั้น มีคุณานุภาพ ศักดิ์สิทธิ์ต่างกัน คือ น้ำที่สระหลังวัด อยู่ยงคงกระพันชาตรี น้ำที่สระกลางวัดมีคุณทางเมตตามหานิยม และน้ำที่หน้าวัดทําให้น้ำเสียงไพเราะ

ดังนั้นหากจะตักน้ำที่หน้าวัดให้ตักตามน้ำห้ามตักทวนน้ํา ถ้าน้ำนิ่งให้ตักตรงลงไป

ธรรมปัญญาจากสุนัข

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นพระเถระที่มีกิริยาวาจาอ่อนละไมเป็นปกติ พูดจาปราศรัยกับใครทั้งผู้ใหญ่และเด็กมักใช้คํารับ คําขานว่า จ๊ะ จ๋า แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ประพฤติเช่นเดียวกัน ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่า ในวันหนึ่งสมเด็จโตไปพบสุนัขนอนขวางทางอยู่ สมเด็จโตได้พูดกับสุนัขนั้นว่า

“โยมจ๋า ขอฉันไปทีเถิดจ้ะ”

ว่าแล้วสมเด็จโตก็ก้มกายหลีกทางไป จึงมีผู้ถามสมเด็จโตว่าทําไมขรัวโตจึงทําเช่นนั้น

สมเด็จโตตอบว่า “ฉันรู้ไม่ได้ว่าสุนัขนี้จะเคยเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อนหรือไม่ใช่"

อ่านต่อ>>


** หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ชุดนี้ เขียนโดย อ. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เว็ปไซต์นี้จัดทำเพื่อการศึกษา ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้