ความเมตตาต้องรู้อภัย (๒)

ความเมตตาต้องรู้อภัย (๒)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระเถระที่อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีพระชันษาแก่กว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (ประสูติ พ.ศ. ๒๓๓๓ - สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๙๖) วัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ กับท้าวทรงกันดาล (จัย) อยู่ ๒ ปี

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ (ใน พ.ศ. ๒๓๙๔) อยู่ ก่อนที่สมเด็จโตได้เป็น พระธรรมกิติโสภณ ดังนั้นพระเถระทั้งสองรูปจึงมีคุณวิเศษแตกต่างกัน กล่าวคือ กรมสมเด็จฯ มีพระปรีชาญาณด้านพุทธศาสนา มีพระนิพนธ์สําคัญหลายเรื่อง เช่น พระปฐมสมโพธิ์ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น

เนื่องจากสมเด็จโตเป็นพระเถระที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือในเรื่อง การสร้างพระเครื่องคือ พระสมเด็จ มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ แล้ว จึงไม่ค่อยมีผู้ใดได้กล่าวถึงเรื่องธรรมปัญญาของสมเด็จโตที่เกิดจากการ เป็นนักเทศนาสอนธรรมให้สาธุชนได้ประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไป

ด้วยคุณธรรมของสมเด็จโตที่มีเมตตาเผื่อแผ่ไปอย่างกว้างขวางนั้น ธรรมปัญญาที่ได้ถูกสั่งสอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แทบจะเรียกว่าไม่มีครั้งใดเลยที่สมเด็จโตจะไม่ให้ธรรมปัญญาแก่ผู้ไปหา แต่เนื่องจากไม่มีใครใส่ใจมากไปกว่าเรื่องพระเครื่อง ดังนั้นคําสั่งสอนจึงปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกเล่าขานต่อกันมา ไม่เพียงแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับขุนนาง หรือผู้คนทั่วไปเท่านั้น ยังมีเรื่องราวเผื่อแผ่ไปถึงหมู่สัตว์ทั้งหลายด้วย

กล่าวคือ มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จโตได้รับกิจนิมนต์ไปงานบ้านแห่งหนึ่งในเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จโตได้เดินทางทางเรือแจวไปยังเมืองสุพรรณบุรี ครั้นเรือแล่นเข้าแม่น้ําที่เป็นทางอ้อมสมเด็จโตจึงขึ้นบกเดินลัดทุ่งนาไปด้วยหมายจะให้ไปถึงเร็ว โดยปล่อยให้ศิษย์แจวเรือไปตามลําพัง ระหว่างทางนั้นสมเด็จโตได้เห็นว่านกกระสาตัวหนึ่งติดแร้วอยู่ จึงแก้บ่วงปล่อยนกนั้นไป แล้วสมเด็จโตก็เอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วงของแร้วแทน

เมื่อศิษย์แจวเรือมาถึงบ้านงาน จึงได้ไต่ถามได้ความว่า สมเด็จโตนั้นเดินทางขึ้นบกเดินลัดมาก่อนนานแล้ว เจ้าภาพจึงได้ให้คนออกติดตามสืบหา จึงพบว่าสมเด็จโตนั้นติดแร้วอยู่ พอผู้คนจะเข้าไปแก้บ่วงแร้ว สมเด็จโตได้ร้องห้ามว่า

“อย่า อย่าเพิ่งแก้ ขรัวโตยังมีโทษอยู่ ต้องให้เจ้าของแร้วเขาอนุญาตเสียก่อนจ้ะ”

เมื่อเจ้าของแร้วได้กล่าวอนุญาตแล้ว สมเด็จโตจึงบอกให้เจ้าของแร้วนั้นกรวดน้ํา แล้วสมเด็จโตก็กล่าวคําอนุโมทนาสวดคาถา “ยถา สพพีฯ” เสร็จแล้ว สมเด็จโตก็เดินทางต่อไปจนถึงบ้านงานเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ธรรมปัญญาข้อนี้ก็คือ

การทําใจให้รู้สึกเมตตา

และมองเห็นทุกข์ของสัตว์โลกนั้นเป็นทุกข์ของตน

อีกทั้ง

ยังสอนให้ผู้ก่อเหตุแห่งทุกข์นั้น ไม่ติดในโทษที่จะทําร้ายผู้อื่น

โดยพร้อมที่จะให้อภัยแก่ผู้ก่อเหตุ

หรือเสียสละตนเพื่อปลดทุกข์ให้ผู้อื่นในทุกโอกาส


อ่านต่อ>>


** หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ชุดนี้ เขียนโดย อ. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เว็ปไซต์นี้จัดทำเพื่อการศึกษา ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้