ในปีกุน โทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ (พ.ศ. ๒๓๙๓) วันพุธ ขึ้น 9 ค่ํา เดือน ๕ เวลาค่ํา ๔ ทุ่ม ๕ บาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา กับ ๑๑ วัน ดํารงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี ๗ เดือน ๒๓ วัน ขณะนั้นสมเด็จโตอายุได้ ๖๔ ปี ๔๒ พรรษา ยังเป็นพระมหาโต หรือ ขรัวโต ตามที่ชาวบ้านเรียก ไม่ได้รับสมณศักดิ์อะไร และจําพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุ ซึ่งน่าจะคุ้นเคยกับพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎมาแต่ครั้งอยู่วัดมหาธาตุ
เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ได้ทูลอัญเชิญเสด็จพระวชิรญาณ (พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ) พระราชาคณะซึ่งเป็นเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวรวิหาร ลาผนวชแล้วนิวัตกลับไปเถลิงราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ นั้น พระมหาโตได้หลบออกธุดงค์หนีหายไปจากวัดมหาธาตุหลายเดือน
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ทรงระลึกได้ จึงมีรับสั่งให้หาตัวพระมหาโต แต่ก็ไม่พบตัวทําให้พระองค์ทรงกริ้ว สังฆการีรับสั่งว่า
“ท่านเหาะก็ไม่ได้ ดําดินก็ไม่ได้ แหกกําแพงจักรวาลหนีก็ยังไปไม่ได้” แล้วพระองค์จึงรับสั่งให้พระญาณโพธิออกติดตามก็ไม่พบ
พระองค์จึงรับสั่งว่า “ฉันจะตามเอง” ครั้นถึงเดือนเจ็ดปีนั้น มีกระแสรับสั่งถึงเจ้าเมืองฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ทั่วพระราชอาณาจักร ให้จับพระมหาโตส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ และให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ตก ออก ออกค้นหาพระมหาโต จึงถือเป็นเรื่องใหญ่
ด้วยฝ่ายพุทธจักร ฝ่ายอาณาจักรนั้น แม้จะมีท้องตรารับสั่งเร่งรัด อย่างไรข่าวพระมหาโตก็ยังเงียบอยู่ เจ้าเมือง เจ้าหมู่ฝ่ายพระนั้นร่วมใจกันจับพระอาคันตุกะทุกรูปที่มีรูปร่างคล้ายพระมหาโตส่งยังที่ว่าหัวเมืองต่างๆ
เรื่องโกลาหลเช่นนี้เกิดจากพระมหาโตลองวิชาเปลี่ยนหน้าทําให้คนรู้จักกลับจําไม่ได้ เห็นเป็นพระรูปอื่น บางครั้งก็ปล่อยท่านไปก็มี คาถาอาคมชนิดนี้ คือ พระคาถานารายณ์แปลงรูป
ต่อมาสมเด็จโตได้มาพิจารณาเห็นว่า นายด่าน นายตําบล เจ้าเมือง กรรมการ จับพระภิกษุไปอดเช้าบ้างอดเพลบ้าง ตากแดด ตากฝน ได้รับความลําบากทําให้เกิดความทุกข์ยากแก่พระสงฆ์คงไม่ดีแน่ พระมหาโตจึงแสดงตนให้กํานันบ้านไผ่รู้จัก จึงส่งตัวมายังที่ทําการเมือง
เจ้าเมืองจึงมีใบบอกมายังกรมสังฆการี เจ้ากรมบอกส่งไปวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนฯ) และให้พระญาณโพธิขึ้นไปดูตัวก็จําได้ แล้วคุมตัวลงมาเฝ้า ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ท่ามกลางขุนนางข้าราชการน้อยใหญ่
ครั้นเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นพระญาณโพธินําพระมหาโตเข้าเฝ้า จึงมีพระราชดํารัสว่า
“เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดิน สีต้นต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน”
แล้วมีพระบรมราชโองการให้กรมสังฆการีวางฎีกา ตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม พระมหาโตก็เข้าไปตามฎีกานิมนต์ จึงทรงถวายสัญญาบัตรตาลปัตรแฉกหักทองขวาง ด้ามงา เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มีฐานานุกรม ๓ องค์ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตําลึง ๑ บาท ทั้งค่าข้าวสาร เมื่อออกจากพระบรมราชวังแล้ว ท่านแบกพัดไปเอง ถึงบางขุนพรหมและบางลําภูบอกลาพวก
สัปปุรุษที่เคยนับถือ มีเสมียนตราด้วงและพระยาโหราธิบดีเก่าและผู้อื่นอีกมาก แล้วท่านก็กลับมาวัดมหาธาตุ ลาพระสงฆ์ทั้งปวง ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระพุทธเลิศหล้า ข้ามไปกับเด็กช้างผู้เป็นหลาน ท่านถือบาตร ผ้าไตร และบริขาร ไปบอกพระวัดระฆังว่า
“จ้าวชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นพระธรรมกิตติ มาเฝ้าวัดระฆังนี่จ้ะ”
สมเด็จโตในสมณศักดิ์พระธรรมกิตติ แบกตาลปัตรพัดแฉก สะพายถุงย่ามสัญญาบัตร ไปเก้ๆ กังๆ พะรุงพะรัง จนพระในวัดพากันนึกขบขันจะช่วยท่านถือ เจ้าคุณธรรมกิตติก็ไม่ยอม พระเลยสนุกเดินตามมุงดูกันแน่น แห่กันเป็นพรวนเข้าไปแน่นในโบสถ์ บางรูปก็จัดโน่นทํานี่ ต้มน้ำบ้าง ตักน้ำถวายบ้าง ตะบันหมากบ้าง ทําให้เป็นที่กิตติศัพท์เกรียวกราวตลอดกรุง ทําให้คนพากันมาเยี่ยมพากันมาดู เลื่อมใสในสมณวัตรที่ง่ายและเลื่อมใสในสมณศักดิ์บ้าง
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกงานลอยกระทงหลวง ขณะที่พระองค์ประทับที่ตําหนักแพ พร้อมด้วยฝ่ายในเป็นอันมากนั้น พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นสมเด็จโตแจวเรือข้ามฟากมา จนเจ้ากรมเรือต้องนําเรือไปขวางเอาไว้
ครั้นเมื่อพระองค์รู้ว่าเป็นเรือแจวของสมเด็จโต จึงได้รับสั่งถามว่า “จะไปไหน” สมเด็จโตได้ตอบว่า “ตั้งใจมาเข้าเฝ้า”
“ทําไม สีต้นเป็นถึงสมเด็จแล้ว ต้องแจวเรือเอง เสียเกียรติยศแผ่นดิน”
“ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพทราบว่า เจ้าชีวิตเสวยน้ำเหล้า สมเด็จก็ต้องแจวเรือ”
พระองค์ได้รับฟังเช่นนั้น จึงได้สติแล้วตรัสว่า “อ้อ จริง จริง การกินเหล้าเป็นโทษ เป็นมูลเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติยศแผ่นดินใหญ่โตทีเดียว ตั้งแต่วันนี้ไป โยมจะถวายพระคุณเจ้า จักไม่กินเหล้าอีกแล้ว”
ต่อมาก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก คราวนี้สมเด็จโตได้จุดไต้ เดินเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ในเวลากลางวันแสกๆ ท่ามกลางความฉงนสนเท่ห์ของข้าราชบริพาร
เมื่อเดินไปจนพอใจล้า สมเด็จโตก็เอาไต้นั้นทิ่มไว้ที่กําแพงวังจนดับ ก่อนเดินทางกลับวัดระฆังโฆสิตาราม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็น ก็นึกรู้ในเหตุการณ์ จึงตรัสว่า
“ขรัวโต เขารู้แล้วๆ”
ธรรมปัญญาในการจุดไต้เข้าวังหลวงเวลากลางวันนั้น ปฐมเหตุมาจากสมเด็จโตมีความวิตกตามข่าวลือว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงหมกมุ่นมัวเมาในกามคุณมากเกินไป จึงทําอุบายถือไต้เข้าไปในวังหลวงเวลากลางวัน แล้วทิ้งให้เป็นปริศนาธรรมประหนึ่งว่าในพระราชฐานนั้นกําลังมืดมิดในเวลากลางวัน
ส่วนความกล้าหาญของสมเด็จโต ที่วัดพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นได้เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เช่น
คราวหนึ่งสมเด็จโตได้ถวายเทศน์ในเขตพระราชฐานเป็นเวลา ๓ วันติดต่อกัน แต่ด้วยมีเหตุบังเอิญเกิดขึ้นในวันที่ ๒ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นมีพระราชประสงค์จะสดับฟังเทศน์แต่พอสังเขปด้วยมีพระราชกิจอื่นอยู่ (นัยว่าเจ้าจอมจะประสูติ) แต่หาได้ตรัสไว้ก่อนอย่างใดไม่ ครั้งนั้นปรากฏว่าสมเด็จโตถวายพระธรรมเทศนาเสียยืดยาว จนทําให้พระพักตร์ของพระองค์กระวนกระวาย
ครั้นถึงวันต่อมา พอสมเด็จโตตั้งนโมเสร็จ ท่านก็กล่าวถ้อยคําสั้นๆ
พระธรรมเทศนาหมวดใดๆ มหาบพิตรก็ทราบหมดแล้ว เอวังก็มีด้วย ประการฉะนี้ แล้วสมเด็จโตก็ลงธรรมาสน์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสถามว่า “เหตุใดวันก่อนสีต้นจึง ถวายเทศน์มาก วันนี้กลับถวายน้อย”
สมเด็จโตถวายพระพรว่า
“เมื่อวานนี้มหาบพิตรมีพระราชหฤทัยขุ่นมัว จะทําให้หายขุ่นมัวได้ ด้วยทรงสดับพระธรรมเทศนาให้มาก วันนี้มีพระราชหฤทัยผ่องใส จะไม่ทรงสดับก็ได้"
อีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วสมเด็จโตมาก ด้วยเหตุที่สมเด็จโตถวายเทศนาธรรมเกี่ยวกับเมืองกบิลพัสดุว่า
“พี่เสกน้อง น้องเอาพี่ เอากันเรื่อยมาไม่ว่ากัน เพราะถือว่าบริสุทธิ์ ไม่เจือไพร่ จนถึงประเทศสยามก็เอาอย่าง เอาพี่เอาน้อง ขึ้นราชาภิเษกแล้ว ก็สมรสกันเป็นธรรมเนียมมา”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงไม่พอพระราชหฤทัยอย่างมาก ถึงกับไล่สมเด็จโตลงจากธรรมาสน์ แล้วตรัสว่า
“ไป ไป.. ไปให้พ้นพระราชอาณาจักร ไม่ให้อยู่ในดินแดนของฟ้า...ไปให้พ้น”
ครั้งนั้นสมเด็จโตออกจากวังแล้วกลับไปวัดระฆัง เข้าไปนอนในโบสถ์ ไม่ออกมาบิณฑบาต อยู่แต่ในโบสถ์ ไม่ลงมาบนพื้นดิน
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถวายพระกฐินที่วัดระฆังโฆสิตาราม ก็พบสมเด็จโตในโบสถ์ จึงมีรับสั่งว่า
“อ้าว ไล่แล้ว ไม่ให้อยู่ในราชอาณาจักร ทําไมยังขึ้นอยู่อีก”
“ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่ได้อยู่ในพระราชอาณาจักร อาศัยอยู่ในพุทธจักรตั้งแต่วันมีพระราชโองการ ไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย"
“แล้วก็กินข้าวที่ไหน ไปถานที่ไหน”
“ขอถวายพระพร บิณฑบาตบนโบสถ์นี้ ถานในกระโถน เทวดาเป็นคนนําไปลอยน้ำ”
“โบสถ์นี้ไม่ใช่อาณาจักรสยามหรือ”
“โบสถ์เป็นวิสุงคาม เป็นส่วนหนึ่งจากพระราชอาณาจักรกษัตริย์ ไม่มีอํานาจขับไล่ได้ ขอถวายพระพร”
“ขอโทษ ขอโทษสีต้น”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายผ้าพระกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงมีรับสั่งใหม่ให้สมเด็จโตนั้นอยู่ในอาณาจักรสยามได้
ดังนั้นโบสถ์เป็นของพระพุทธเจ้าฉันใด สมเด็จโตก็ถือว่าท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าฉันนั้น พระสงฆ์ก็เช่นเดียวกันหาได้เป็นของในหลวงไม่ แม้สมเด็จโตจะเป็นชั้นพระราชาคณะก็ตาม ด้วยเหตุนี้สมเด็จโตจึงกล้าเตือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างไม่หวั่นเกรงด้วยมีธรรมปัญญา เป็นสําคัญ จนสามารถมีรับสั่งให้คืนกลับมาตามเดิมได้
อ่านต่อ>>
** หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ชุดนี้ เขียนโดย อ. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เว็ปไซต์นี้จัดทำเพื่อการศึกษา ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์